Release Date
16/09/2022
ความยาว
118 นาที
Our score
6.0Do Revenge
จุดเด่น
- การคัดเลือกนักแสดงที่มีเสน่ห์น่าสนใจไม่รู้สึกฝืนแบบโว้กเกินควร และพลอตของหนังที่ทำให้ดูมีอะไรน่าติดตามเกินกว่าหนังวัยรุ่นทั่วไปอยู่บ้าง
จุดสังเกต
- รวบรัดตัดความและขืนวิธีลงจนดูไม่ค่อยคล้อยตามได้นัก เพราะเอาเวลาไปเล่นการหักมุมแล้วตามอุดรอยรั่วในบทเสียมากแล้ว ความสนุกโดยรวมก็กลาง ๆ ดูก็ได้ ไม่ดูก็ไม่เสียดายอะไร
-
บท
6.0
-
โปรดักชัน
6.5
-
การแสดง
7.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
6.5
-
ความคุ้มค่าการรับชม
6.0
เรื่องย่อ: ได้เวลาเอาคืนแล้วจ้า! เมื่อสองสาวไฮสคูลเกิดทนไม่ไหวกับการโดนแกล้งสารพัด พวกเธอจึงขอสลับกันเอาคืนทุกคนที่เคยบูลลี่ แผนการแก้แค้นที่สุดแสนจะแซ่บจี๊ดเลยเปิดฉากขึ้น
หนังเน็ตฟลิกซ์กระแสแรงในขณะนี้ยกให้เรื่อง ‘Do Revenge แค้นนัก…สลับกันแก้’ ผลงานของ เจนนิเฟอร์ เคย์ทิน โรบินสัน (Jennifer Kaytin Robinson) กับการกำกับและเขียนบทหนังยาวหลังจากเพิ่งมีผลงานการเขียนบทหนังสุดป่วง ‘Thor: Love and Thunder’ (2022) มาไม่นาน ซึ่งหากดูผลงานที่ผ่านมาของเธอก็อาจพอกล่าวได้ว่าเธอถนัดในหนังแนววัยรุ่นพลังหญิงอย่างในเรื่องนี้มากกว่าพวกหนังฮีโรเสียอีก ทั้งการเขียนบทซีรีส์ ‘Unpregnant’ (2021) ที่ว่าด้วยเพื่อนหญิงที่ตั้งใจเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำแต่ดันพลาดตั้งท้องก่อน หรือซีรีส์ ‘Sweet/Vicious’ (2016) ที่บอกเล่าเรื่องราวของเพื่อนหญิงที่ทำตัวเป็นศาลเตี้ยเอาคืนพวกล่วงละเมิดทางเพศในรั้วมหาวิทยาลัย จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นหนังซีรีส์วัยรุ่นทั่วไป แต่โรบินสันก็มักมีแง่มุมบางอย่างที่แตกต่างมานำเสนอ
เช่นเดียวกันใน ‘Do Revenge’ มันเป็นเรื่องราวของ เดรดา วัยรุ่นละตินอเมริกันที่ฐานะทางบ้านธรรมดา แต่มีความฝันทะเยอทะยานเป็นคนพิเศษในสังคมมัธยมปลายสุดไฮโซเพื่อก้าวต่อไปสู่การเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ ซึ่งเธอก็ใช้ทั้งความฉลาดและการกดทับคนอื่นเพื่อเอาตัวรอดในโลกของวัยรุ่นสุดวุ่นวาย จนวันหนึ่งเธอถูกตีกลับจากคลิปหลุดจนเสียสถานะราชินีทางสังคมไป และก่อเกิดเป็นความคับแค้นที่เธอปักใจเชื่อเอาเองว่าเธอถูกกลั่นแกล้งจาก แม็กซ์ อดีตแฟนหนุ่มภาพลักษณ์ดีผู้เป็นพระราชาแสนรักของโรงเรียนแห่งนี้
บังเอิญอีกว่าเดรอาได้จับพลัดจับผลูมาพบกับ เอเลนอร์ สาวเฉิ่มเก็บตัวที่มีปมแค้นอดีตแฟนสาวเลสเบี้ยนของเธอเช่นกัน ทำให้เดรอาเกิดแผนสลับกันช่วยล้างแค้นแทนอีกฝ่าย เหมือนเป็นการเอาพล็อตหนังอาชญากรรมคลาสสิกเรื่อง ‘Strangers on a Train’ (1951) ของบรมครู อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) มาใส่ในฟอร์มของหนังวัยรุ่นได้อย่างน่าสนใจ
หนังอาจดูโดดเด่นจากพล็อตตั้งต้นแต่ก็ยังไม่หนีจากสูตรสำเร็จในหนังแนวนี้ที่ถึงช่วงหนึ่งหลังการแก้แค้นสุดแสบสันสะใจคนดู (ที่เอาจริงก็ยังไม่ค่อยรู้สึกสะใจเท่าไร อาจด้วยเรตที่มันเป็นหนังใส ๆ วัยรุ่นด้วย) เราก็คาดหมายได้ว่าที่สุดสองเพื่อนซี้เฉพาะกิจจะต้องมีดราม่าผิดใจกันแล้วไปคลี่คลายใจเพื่อจบปัญหาทั้งหมดอีกทีในท้ายสุดแบบสวย ๆ แต่โรบินสันก็พยายามดิ้นท่ายากอีกตลบหนึ่งเพื่อบอกว่านี่ไม่ใช่หนังวัยรุ่นที่เดาทางง่ายเบอร์นั้นหรอกนะ และทำให้อะไร ๆ ที่เล่าผ่านมาเริ่มดูย้อนแย้งและไร้เหตุผลมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถามว่าน่าสนใจมั้ยก็ทำให้จากหนังวัยรุ่นดูฆ่าเวลาแล้วลืมกันไป พอได้มีอะไรให้ติดคาในใจอยู่บ้าง แต่วิธีการเพื่อให้คนดูประทับใจนั้นก็กลายเป็นรสที่ไม่ค่อยเข้ากันดีกับวิธีการเล่าที่ดำเนินมาแต่แรกนัก
และด้วยความยาวของหนังเกือบ 2 ชั่วโมง ตลอดเวลาการดูก็ได้แต่ยิ่งสงสัยว่าหนังจะเอาตัวรอดจากความซับซ้อนวุ่นวายที่ผูกขึ้นมาเองได้อย่างไร และน่าเสียดายที่หนังก็หาวิธีลงได้แบบฝืดเคืองสีข้างเล็กน้อย ซึ่งมันก็พอรับได้ถ้ามันไม่รวบรัดตัดความ ก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของตัวละครไปแบบรวดเร็วเพื่อให้ทันกับเวลาที่เหลือไม่มากของหนัง เพราะดันเอาเวลาส่วนใหญ่ไปเล่นท่ายากหักมุมหลายตลบและพยายามสร้างฉากมาอุดบาดแผลที่มันเกิดขึ้นไปเสียแล้ว
และนั่นทำให้ฉากสุดท้ายของหนังเราต้องดูไปด้วยคำถามคาใจมากมายว่า เอาจริงดิ ถ้าเป็นเราจะยอมคบคนแบบนี้หรือแบบนี้อย่างสนิทใจต่อไปจริงสิ? โอ้วน่าเหลือเชื่อมาก ๆ หลังจากการเรียนรู้อันฝืนยัดและพัฒนาการตัวละครผ่านช่วงเวลาอันน่าเห็นใจอยู่เหมือนกัน คำตอบของพวกตัวละครหลักมันคือสิ่งนี้จริงสิ
หนังอาจมีข้อดีที่ทำให้พออภัยการสรุปจบได้บ้าง นั่นคือการนำเสนอตัวละครชายขอบที่รู้สึกไม่ฝืนอย่างในหนังอื่น ๆ ของเน็ตฟลิกซ์ ทั้งเดรอาที่เป็นเด็กละตินผิวน้ำตาลแต่เป็นดาวโดดเด่นของโรงเรียน สาวเฉิ่มผิวขาวผอมกะหร่องจืดชืดและเป็นเลสเบี้ยนที่ต้องเปลี่ยนลุคเป็นสาวสังคมสุดไฮโซทรงเสน่ห์ อาจเพราะการคัดเลือกนักแสดงที่เหมาะสมและส่งเสริมบทด้วยนั่นเองทั้ง คามิลา เมนเดส (Camila Mendes) จากซีรีส์ ‘Riverdale’ ที่ลุคเฉี่ยวคมของเธอเอาอยู่ในบทเดรอาที่มีทั้งด้านเหยื่อที่น่าสงสารและด้านนางร้ายที่น่าหมั่นไส้
ส่วนเอเลนอร์ที่ต้องประกบคู่ก็ได้ มายา ฮอว์ก (Maya Hawke) จากซีรีส์ ‘Stranger Things’ มานำเสนอความไม่เข้าที่เข้าทางของสาวห้าวเฉิ่มไร้เสน่ห์ที่ต้องเป็นสาวฮอตได้ด้วย แต่เสน่ห์ของการแสดงและรอยยิ้มของฮอว์กที่ถอดแบบมาจากคุณแม่อย่าง อูมา เธอร์แมน (Uma Thurman) และคุณพ่อ อีธาน ฮอว์ก (Ethan Hawke) ก็ทำให้สายตาเราจับจ้องเธออยู่ตลอดได้
และอีกหนึ่งนักแสดงที่สำคัญมาก ๆ แต่อาจไม่ค่อยรู้สึกคือ ออสติน เอบรามส์ (Austin Abrams) ในบทแม็กซ์ ตัวละครนี้คือตัวชี้ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของหนังได้เลย เพราะเอาจริงมันคือตัวที่ทำให้คนดูเกิดความสงสัยมากที่สุดว่าเขาเป็นคนอย่างไรกันแน่ เป็นแค่เหยื่อความเข้าใจผิดของการล้างแค้นหรือไม่ และเขาก็แสดงทั้งด้านที่อ่อนแอน่าสงสารและน่าหมั่นไส้ได้พอ ๆ กัน และถึงกระนั้นด้วยลุกที่ชวนนึกว่าไปเอา ทิโมธี ชาลาเมต์ (Timothée Chalamet) มาแสดงมันก็ทำให้เราแอบเอาใจช่วยเขานิด ๆ เหมือนกัน เรียกว่าขาดตัวนี้ไปหนังจะสนุกน้อยลงไปมาก
นอกจากนั้นถ้าสังเกตดี ๆ หนังเรื่องนี้ยังมีแขกรับเชิญอย่าง โซฟี เทอร์เนอร์ (Sophie Turner) จาก ‘Game of Thrones’ มารับบทเล็ก ๆ แต่น่าจดจำด้วย ต้องบอกว่าการคัดเลือกนักแสดงมาเล่นของเรื่องนี้น่าสนใจพอ ๆ กับพล็อตเลยเสียด้วยซ้ำ
อีกสิ่งที่หนังหยอดไว้ได้ดีคือวัยรุ่นเป็นวัยที่เหนื่อย ทุกตัวละครต่างติดกรงขังและกลายเป็นเหยื่อของอะไรบางอย่างเสมอ จากความฝันความคาดหวังของตนเองหรือคนรอบข้าง จากการต้องได้รับการยอมรับ จากระบบลำดับชั้นทางสังคม จากมาตรฐานศีลธรรมที่คนผิวขาวทำตัวแย่กับคนผิวสีอื่นก็อาจกลายเป็นปัญหาเหยียดผิวได้แม้คนผิวดำนั้นจะเป็นนังตัวดีขนาดไหนก็ตาม และอื่น ๆ ที่ต้องคิดปวดหัวมากมายจนน่าสงสาร
รวมถึงเรื่องของการล้างแค้นและการให้อภัย กับคำถามว่าแล้วมันจะสิ้นสุดลงที่ตรงไหนหรือจะแก้แค้นไปทำไมเพราะไม่มีใครที่มีความสุขจริง ๆ เลย แม้สุดท้ายหนังจะกลับไปสู่สูตรมาตรฐานที่ว่าหนังวัยรุ่นมันต้องเอาคืนให้สาสมและสนุกสนานกับชีวิตต่อไป และพวกบทเรียนชีวิตแบบผู้ใหญ่ที่ควรจะได้ถือเป็นเรื่องมองข้ามและให้อภัยคนสร้างไปได้เช่นกัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส