Release Date
22/09/2022
ความยาว
6 ตอน ตอนละประมาณ 1 ชั่วโมง
Our score
6.5Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง
จุดเด่น
- ทีมงานสร้างที่แข็งแรงมาก ๆ เวลาในการเล่ามากกว่าเรื่องอื่นและให้รายละเอียดได้มาก ได้ทีมหมูป่าตัวจริงมาปรากฏตัว และผลงานชิ้นสุดท้ายของบีม-ปภังกรที่น่าจดจำ
จุดสังเกต
- บทบาทตัวละครสมมติไม่ได้ทำให้หนังดูสนุกขึ้นแต่กลายเป็นดูไม่สมเหตุสมผลมากกว่า ความยาวที่มากเกินไปกับเรื่องราวที่คนดูรู้มาดีแล้ว ก็กลายเป็นดาบสองคมที่รู้สึกเยิ่นเย้อและมุ่งไปผิดเป้าหมายหลายที
-
บท
7.0
-
โปรดักชัน
9.0
-
การแสดง
7.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
6.0
-
ความคุ้มค่าการรับชม
6.5
เรื่องย่อ: แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงอันน่าเหลือเชื่อของ ‘หมูป่าอะคาเดมี’ ทีมฟุตบอลเยาวชนที่ประสบภัยติดอยู่ด้านในของ ‘ถ้ำหลวง’ หนึ่งในถ้ำที่ซับซ้อนที่สุดของโลก เรื่องราวที่ไม่เคยบอกเล่าที่ไหนมาก่อนจากเบื้องลึกของ 13 ครอบครัวทีมหมูป่าที่เฝ้ารอด้วยความหวัง รวมถึงทุกหัวใจของคนไทย และเหล่าอาสาสมัครจากทั่วทุกมุมโลก ที่ร่วมมือกันต่อสู้กับธรรมชาติและการแข่งขันกับเวลาเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการกู้ทั้ง 13 ชีวิต
อีกหนึ่งผลงานแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงระดับโลกที่เกิดขึ้นในเมืองไทยอย่าง 13 ชีวิตทีมหมูป่าแห่งถ้ำหลวง และถ้าว่าตามองค์ประกอบการสร้างนี่อาจเป็นโปรเจกต์ที่น่าคาดหวังมาก ไม่ต่างจากชื่อเรื่องภาษาไทยของซีรีส์ที่ว่า ‘ภารกิจแห่งความหวัง’ แต่อย่างใดเลย
ไม่ว่าจะเป็นผลงานจากเน็ตฟลิกซ์ที่ทุ่มทุนไปสู้ล่าลิขสิทธิ์เรื่องราวถ้ำหลวงผ่านทางรัฐบาลไทย คือได้เรื่องราวฝั่งคนในพื้นที่แบบเต็มที่เพียงเจ้าเดียว ซึ่งแต่เริ่มต้นมันก็เป็นดาบสองคมที่ทีมสร้างรับมาถือไว้ มองในแง่หนึ่งมันจะน่าสนใจและสมบูรณ์มากหากดราม่าฝั่งเด็กและครอบครัวทำงานดี และเรื่องราวของพวกเขาน่าสนใจพอจะแบกหนังให้คนอิน โดยไม่ต้องไปแข่งกับเรื่องภารกิจการช่วยชีวิตมากนัก
โดยตั้งผู้กำกับดังอย่าง จอน เอ็ม. ชู (Jon M. Chu) จาก ‘Crazy Rich Asians’ (2018) มารับบทโปรเดิวเซอร์ และพัฒนาบทซีรีส์ด้วยคู่หูนักเขียนมากฝีมือคือ ไมเคิล รัสเซล กันน์ (Michael Russell Gunn) และ ดานา เลอดูกซ์ มิลเลอร์ (Dana Ledoux Miller) ที่เคยมีผลงานเขียนบทซีรีส์ระดับโลกทั้งใน ‘The Newsroom’ และ ‘Designated Survivor’ มาแล้ว
และเพื่อเติมเต็มความแข็งแกร่งจากมุมมองแบบคนไทยที่มีความสากลด้วย จึงไปดึงผู้กำกับไทยที่ผลงานกำลังอยู่ในช่วงที่ขึ้นหม้อสุดอย่าง บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ จาก ‘ฉลาดเกมส์โกง’ และ ‘One For The Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ’ มาผลัดมือกันกำกับ กับผู้กำกับระดับอินเตอร์สายเลือดไทย เควิน ตันเจริญ จาก ‘Agents of S.H.I.E.L.D.’ โดยได้นักแสดงชั้นนำฝั่งไทยอย่าง ญาญ่า – อุรัสยา เสปอร์บันด์ และนักแสดงชายผู้ล่วงลับที่เคยมีผลงานโดดเด่นในเน็ตฟลิกซ์อย่าง บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ มาร่วมแสดงนำด้วย
เอาที่ว่ามา ประกอบกับความเป็นซีรีส์ถึง 6 ตอนทำให้มีเวลาเล่าเรื่องมากกว่าคู่แข่งที่เป็นหนังเรื่องยาว ก็ต้องบอกว่านี่คือผลงานถ้ำหลวงที่คนไทยจะคาดหวังมากที่สุดก็ไม่แปลกเลย
รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง? หรือ มาทีหลังพังกว่า?
น่าสนใจว่าด้วยความมาทีหลังจึงต้องหาความแตกต่าง จะเน้นความสดก็สู้ ‘The Cave นางนอน’ (2019) ที่ออกมาก่อนใครเพื่อนไม่ได้ จะเน้นเรื่องราวที่สมจริง (กว่า) เพราะได้สิทธิ์เต็มในเรื่องราวโดยเฉพาะฝั่งพวกเด็ก ๆ และโค้ชเอก แต่ก็คงสู้พวกหนังสารคดีที่ได้เรื่องราวฝั่งภารกิจสุดตื่นเต้นของทีมต่างชาติผู้มาช่วยชีวิตในหนัง ‘The Rescue’ (2021) ไม่ได้อีก หรือจะไปทางเน้นซีเนมาติกเป็นบันเทิงฮอลลีวูดไปเลย เอาดาราชั้นนำของไทยอย่างญาญ่ามาขาย แต่ก็ไม่น่าจะไปวัดรอยเท้า ‘Thirteen Lives’ (2022) ฉบับของผู้กำกับออสการ์ รอน โฮเวิร์ด (Ron Howard) ที่ชิงตัดหน้าไปก่อน แถมได้ทั้งดาราระดับฮอลลีวู้ดผสมแนวหน้าของไทยจนทิ้งห่างไปเลยเรื่องดารา มองแล้วสิ่งที่ ‘ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง’ ยังมีเหลือพอให้เด่นจึงอาจเป็นแค่ความเป็นซีรีส์ที่มีเวลาในการเล่ามากกว่าเพื่อน
จุดแข็งจุดอ่อนเหล่านี้ทีมสร้างที่ฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดาทีมนี้ก็รู้ดี และพวกเขาก็สามารถเลือกช่องที่จะแทรกตัวให้มีที่ยืนในบรรดาหนังภารกิจถ้ำหลวงได้ นั่นคือเอาแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงบางส่วนมาผสมกับการอธิบายสถานการณ์ให้รอบด้านหลายแง่มุมแทนที่จะมองไปที่ทีมช่วยเหลือใดทีมหนึ่ง ก็นำเสนอทุกทางเลือกที่มีเลยจะเจาะถ้ำจากด้านบน จะเอาน้ำออกจากถ้ำให้แห้ง จะทำที่พักชั่วคราวในถ้ำรอจนหมดหน้ามรสุม หรือจะฝึกให้พวกเด็กดำน้ำออกมาเหมือนพวกนักดำน้ำ ฯลฯ แล้วเอาแนวทางแบบดราม่าการเมืองที่เน้นการตัดสินใจและล็อบบี้ในวอร์รูมห้องประชุมมาเป็นสถานที่หลักของเรื่อง แทนที่จะไปให้ความสนใจแค่ในถ้ำอย่างเดียว ซึ่งก็คงเหมาะสมกับทีมเขียนบทอย่างกันน์และมิลเลอร์ที่ช่ำชองพิสูจน์ตัวในแนวหนังแบบนี้มาก่อนแล้ว
แต่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่สับสนอลหม่าน มีผู้เกี่ยวข้องหลักพันคนไม่ใช่เรื่องง่าย ประกอบกับสิทธิ์ในเรื่องฝั่งครอบครัวของทีมฟุตบอลมันได้แค่ดราม่าแต่มันไม่ได้เรื่องความสนุกน่าติดตาม ทีมสร้างจึงน่าจะตัดสินใจว่ามันต้องการฟันเฟืองช่วยเล่าเรื่องให้สนุกขึ้นนั่นคือ ตัวละครสมมติ และเรื่องราวสมมติบางฉากให้มันประสานเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ไหลลื่นขึ้น และนี่คือจุดเริ่มต้นของดาบสองคมอีกเล่มที่ผู้สร้างปักใส่ซีรีส์
ผลของดาบสองคมสองเล่มที่ปักลงมา ในแง่ที่ดีคือ
ผู้กำกับบาสและเควินรู้ว่าต้องเอาดราม่าให้อยู่ และไม่ต้องโฟกัสกับส่วนอื่น ต้องปั้นตัวละครหลักคือโค้ชเอก (บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์) กับพวกเด็กให้เด่น และต้องหาซีนเด่นให้จดจำได้ครบทุกคน และตัวละครที่เหลือก็เน้นเฉพาะที่สำคัญอย่างตัวผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ (เอก-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์) ที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของวอร์รูมอันเป็นสถานที่หลักของเรื่อง ที่จะช่วยเชื่อมตัวละครอื่น ๆ เข้าด้วยกัน ทั้งพวกพ่อแม่ของเด็กที่ติดถ้ำ ทั้งผู้มาช่วยเหลือจากต่างชาติ และฝั่งข้าราชการต่าง ๆ
พอโฟกัสน้อยลง ก็สามารถปั้นหนังได้เต็มที่และออกมาสวยงามมาก โปรดักชัน การจัดแสง ถ่ายภาพออกโทนดราม่าซึ้ง ๆ ตั้งแต่ติดตามพวกเด็ก ๆ จากบ้านของพวกเขา จนมาถึงภาพสเกลการถ่ายทำขนาดใหญ่ในถ้ำที่ทำได้อย่างน่าชื่นชม ถ้าวัดตามมาตรฐานหนังไทยนี่คือสูงกว่าพอควร ทำให้เรารู้เลยว่าถ้ามีทุนถึงไทยเราทำหนังสเกลใหญ่ได้ดีทีเดียว
นอกจากนี้นี่อาจเป็นซีรีส์ที่ให้รายละเอียดหลายแง่มุมที่สุด และพยายามอธิบายแต่ละทางเลือกแบบเป็นวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจง่ายมาก ๆ ด้วย ซึ่งก็ต้องอาศัยความเข้าใจสถานการณ์และการขยายความเกินตัวหนังเข้าช่วยอยู่บ้าง แต่ถ้ามองในแง่การฝึกให้คิดตามเป็นเหมือนคนที่ต้องตัดสินใจด้วย มากกว่าแค่นั่งดูหนังไปเรื่อย ๆ คิดว่าซีรีส์ทำออกมาได้น่าชื่นชมทีเดียว
ผลของดาบสองคมในแง่ที่ร้ายคือ
ซีรีส์มันน่าเบื่อ เรื่องราวของฝั่งพวกเด็ก ๆ ที่ผลาญเวลาปูเรื่องราวพวกเขาไปทั้งตอนแรกมันก็ไม่ได้มีเสน่ห์พอให้เราอยากจะติดตาม ลองนึกภาพทางเลือกระหว่างเดินตามเด็กซื่อ ๆ บ้าน ๆ โนบอดี้กลุ่มหนึ่งเข้าไปติดถ้ำนั่งรอความช่วยเหลือ (ถ้าดิ้นรนจนหนีตายออกมาได้ก็คงน่าสนุกอยู่) กับให้ตามนักดำน้ำระดับโลกมาอยู่ท่ามกลางปัญหาอันตรายและเสี่ยงตายเข้าไปช่วยชีวิตคนอีกซีกโลกหนึ่ง เราอยากจะตามไปดูฝั่งไหน ที่สำคัญด้วยความเคารพ เรื่องราวของพวกเด็ก ๆ และครอบครัวไม่ใช่ดราม่าที่น่าสนใจขนาดนั้นเลย ถึงจะพยายามเสนอทั้งดราม่าครอบครัวแตกแยก ครอบครัวไร้สัญชาติ อะไรเข้ามาแล้วก็ตาม แต่ใครที่อยากดูเรื่องภารกิจช่วยชีวิตจะมาสนล่ะ ยิ่งยัดเข้ามาเป็นสัดส่วนอาจจะถึงครึ่งหนึ่งของทั้งเรื่องเลยด้วย ว่ากันตรง ๆ ดราม่าที่ดีที่สุดของเรื่องนี้คือเรื่องจ่าแซมที่ ต๊อก-ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ มารับบทแค่ไม่กี่ฉากเสียด้วยซ้ำ
นอกจากนั้นการให้เห็นแง่มุมทางเลือกอื่น ๆ มันอาจจะเป็นหนังที่ดีได้เลย ถ้าเราไม่รู้ปลายทางของเรื่องอยู่แล้วว่าสุดท้ายเด็กรอดมาได้จากการวางยาสลบแล้วพาดำน้ำออกมา ทำให้การอธิบายทางเลือกที่ว่ามันเหมือนพาเดินเส้นทางอ้อมขดไปมาจนเยิ่นเย้อ ซึ่งคนไม่เคยรู้ไม่เคยเดินก็คงสนุกดีที่ยังไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นยังไง แต่กับคนที่เคยดูเคยรู้เหมือนไปทางลัดมาแล้ว ก็จะรู้สึกรำคาญคนนำทางมากกว่า คำถามคือมีสักกี่คนในโลกนี้ที่ยังไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้จบยังไงก่อนมาชมเรื่องนี้ กลุ่มเป้าหมายที่ซีรีส์ทำงานเต็มที่คือคนที่ยังไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลยและไม่มีเน็ตฟลิกซ์ดูด้วย เลยอาจมีน้อยมากหรืออาจไม่มีอยู่จริงเลยก็ได้
และเพื่อทำลายการคาดเดาของคนที่รู้เรื่องมาก่อน ก็เลยมีการใส่ตัวละครสมมติเข้ามา ทั้งจากการเปลี่ยนเพศบุคคลที่มีอยู่จริงอย่างวิศวกรด้านน้ำที่แนะนำเรื่องการสูบน้ำลงทุ่งนา มาเป็น เคลลี่ ตัวละครลูกครึ่งที่ไม่แน่ใจว่าเข้าใจภาษาไทยหรือไม่เข้าใจภาษาไทยที่ ญาญ่า – อุรัสยา เสปอร์บันด์ รับบท หรือตัวละครเจ้าหน้าที่ป่าไม้อย่าง พิม ที่ได้ โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล มารับบท ที่เหมือนทั้งอุทยานจะมีทำงานอยู่คนเดียวและอยากมีส่วนเกี่ยวข้องไปกับทุกเรื่องทุกคน เพียงเพื่อช่วยคนเขียนบทในการพาผู้ชมไปเชื่อมต่อตัวละครต่าง ๆ
นุ่น
แต่ตัวละครสมมติไหนก็ไม่น่าหงุดหงิดและไม่เข้าท่ามากที่สุดได้เท่า นุ่น (แนนซี่-ดารินา บุญชู) นักศึกษาฝึกงานในกรมอุตุนิยมวิทยาที่รับบทเหมือนนักดูดาวสมัครเล่นที่พบว่าอุกกาบาตจะพุ่งชนโลกในพวกหนังฮอลลีวูด เธอสงสัยว่าจอภาพจากดาวเทียมไม่ทำงานและมันจะต้องมีพายุเข้ามาแน่ ๆ เธอพยายามเตือนทุกคนในกรมขนาดใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยเพื่อนฝึกงานอีก 2 คน และหัวหน้าที่เหมือนเป็นลูกน้องสายตรงกับรัฐมนตรี (น่าจะระดับอธิบดีกรม)
และกรมที่ใหญ่ขนาดนี้ของประเทศไทยก็ไม่สามารถเช็กข้อมูลกับหน่วยงานย่อยในพื้นที่หรือแม้แต่หน่วยงานในประเทศอื่น ๆ ได้ ต้องอาศัยนักศึกษาฝึกงานช่วยคิดหาวิธี ด้วยการโทรไปถามญาติทางภาคเหนือ และเมื่อเธอมั่นใจว่ามีพายุเข้าแน่ ๆ สิ่งที่เธอรีบทำคือ โทรไปเตือนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเรื่องระวังน้ำป่าดินถล่มบ้านของชาวบ้าน? เปล่าครับ นุ่นโทรไปหาที่ทำการอุทยานแห่งชาติขุนน้ำนางนอนเพื่อบอกให้ปิดที่ทำการก่อน!
นุ่นไม่น่าจะเป็นนักศึกษาฝึกงานธรรมดาเพราะเธอวิ่งเข้าไปโวยใส่อธิบดีกรมได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และเธอยังมีพลังมองเห็นอนาคตว่าพายุใหญ่เข้ามารอบนี้จะมีผลกระทบแค่เด็ก ๆ ที่เข้าถ้ำหลวงไปเท่านั้นด้วย น่าสนใจมาก นุ่นและเรื่องราวของเธอจัดเป็นความตลกใหญ่ของซีรีส์ที่ทุกครั้งเธอปรากฏตัว เราจะได้มีอารมณ์ร่วมด้วยการตะโกนใส่จอไปว่า หยุดเถอะนุ่น หยุดทำลายตรรกะเหตุผลดี ๆ ในซีรีส์เรื่องนี้สักที
จริง ๆ เราไม่สามารถโทษนักแสดงได้ แต่ต้องบอกว่าการพยายามหยอดดราม่าอุปสรรคผ่านการกระทำของตัวละครที่ไม่ฉลาดนักก็ต้องโทษไปที่คนเขียนบทมากกว่า และการแสดงของนักแสดงที่มันอาจเยอะเกินกว่าฉากนั้น ๆ ก็น่าจะเป็นความรับผิดชอบของผู้กำกับทั้งสองคนที่ทำให้มันดูไร้เหตุผลมากขึ้น ยังไม่นับการพูด วิธีพูดของหลายตัวละครที่ไม่เป็นธรรมชาติเหมือนอ่านบทไม่เข้าปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโค้ชเอกที่เป็นคนบ้าน ๆ ธรรมดาแต่ใส่บทพูดเหมือนเล่นอยู่ และผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ที่วิธีการออกเสียงแกเหมือนเอาอาฉีเสียงหล่อมาพากย์ทับทั้งเรื่อง ไม่แน่ใจว่าจะเอาเก๊กติดหล่อไปไหนเหมือนกัน
ด้วยสิ่งที่ว่ามาจึงเป็นเหตุผลว่าบางทีถ้าหนังบอกว่าเป็นภารกิจสมมติใหม่ ไม่ใช่ถ้ำหลวง ตัวละครที่ติดถ้ำก็มีแค่ไม่กี่คนเพื่อโฟกัสอารมณ์ท่วมท้นมีดราม่าเอาให้หนักหน่วง อาจจะกลายเป็นหนังที่ดีเรื่องหนึ่งเลยก็ได้ แต่เนื่องจากมันจะขายเรื่องจากเหตุการณ์จริง ก็ขอแนะนำคนที่เหมาะสมในการดูว่า ถ้าคุณเพิ่งเคยได้ยินว่าเคยมีทีมฟุตบอลติดถ้ำหลวงในประเทศไทยแล้วออกมาไม่ได้ และคุณก็ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น
เรื่องนี้คือหนังที่ดีมาก ๆ ที่สุดที่ห้ามพลาดเลยครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส