[รีวิว] Smile – สุดแรงด้วยบรรยากาศยิ้มหลอน ก้ำกึ่งด้วยประเด็นเจือจาง
Our score
6.6

Release Date

29/09/2022

แนว

สยองขวัญ

ความยาว

1.55 ช.ม. (115 นาที)

เรตผู้ชม

R

ผู้กำกับ

ปาร์กเกอร์ ฟินน์ (Parker Finn)

SCORE

6.6/10

[รีวิว] Smile – สุดแรงด้วยบรรยากาศยิ้มหลอน ก้ำกึ่งด้วยประเด็นเจือจาง
Our score
6.6

Smile | ยิ้มสยอง

จุดเด่น

  1. สร้างบรรยากาศหลอนด้วยฉากโหด บรรยากาศสยองขวัญ สติแตก และ Jump Scare ทีเล่นทีจริงได้สะดุ้งน่ากลัวมาก
  2. ตัวหนังไล่สเกลความหลอนสยองขวัญได้ดีมาก เห็นคนยิ้มแล้วหลอนแน่นอน
  3. พล็อตและตัวละครเล่นกับปมปัญหาด้านจิตวิทยาได้น่าสนใจ

จุดสังเกต

  1. บทขาดการปูเรื่องที่ยังไม่มากพอ ทำให้ไม่รู้สึกถึงปมเรื่อง สาเหตุและอารมณ์ร่วมที่มากพอ
  2. บทสรุปของเรื่องที่เหวอและไม่ชวนให้ซื้อมากพอ
  3. ตัวหนังยังดำเนินเรื่องแบบสูตรสำเร็จหนังต้องคำสาป แม้ว่าการนำเสนอจะมีกลิ่นอายความอาร์ตก็ตาม
  • คุณภาพด้านการแสดง

    6.1

  • คุณภาพโปรดักชัน

    6.9

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    5.3

  • ความบันเทิง

    8.0

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    6.5


สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

ถ้าพูดถึงรอยยิ้ม อย่างที่ทราบว่า รอยยิ้มในภาษาหนังน่ะ มันมักจะเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกับความหมายปกติเสมอ ในหนังก็เลยมักจะมีการใช้รอยยิ้มในการสื่อไปถึงบรรยากาศที่ไม่น่าไว้วางใจ ความน่ากลัวที่แฝงไว้ภายใต้รอยยิ้ม ความกระหยิ่มยิ้มย่องอันร้ายกาจที่พร้อมจะทำลายทุกสิ่ง ตัวตลกเปื้อนยิ้มผู้โหดเหี้ยมทารุณ หรือรอยยิ้มฝืน ๆ ที่แฝงความทุกข์ตรมหม่นหมองไว้ภายใน อะไรทำนองนี้เป็นต้น

SMILE ยิ้มสยอง

‘Smile’ หรือ ‘ยิ้มสยอง’ หนังสยองขวัญสเกลเล็กเรื่องใหม่ของค่ายดาวภูเขา พาราเมาท์ พิคเจอร์ส (Paramount Pictures) เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เอาเรื่องของรอยยิ้มอันน่าสยดสยองมานำเสนอ ซึ่งหนังเรื่องนี้มีที่มาน่าสนใจมาก เพราะมันถูกพัฒนาโครงเรื่องดั้งเดิมมาจาก ‘Laura Hasn’t Slept’ (2020) หนังสั้นผลงานของ ปาร์กเกอร์ ฟินน์ (Parker Finn) ที่ลงมือเขียนบทและกำกับเองมาก่อน

SMILE ยิ้มสยอง

โดยหนังเรื่องนี้ได้ไปคว้ารางวัล Special Jury Recognition Prize จากสายการประกวด Midnight Short Award จากเทศกาลหนัง SXSW Film Festival 2020 และคว้ารางวัลจาก Fantastic Fest 2022 งานประกวดหนังสายแปลกมาก่อนหน้านี้ด้วย จนในที่สุด ฟินน์ก็ได้มีโอกาสนำเอาหนังสั้นเรื่องนี้มาพัฒนาต่อกลายเป็นหนังยาว โดยตอนแรกตัวหนังเรื่องนี้เกือบจะได้กลายเป็นหนังออริจินัลบนสตรีมมิง Paramount+ แต่ด้วยความที่ตอนฉายรอบ Test Screening กระแสกลุ่มคนดูค่อนไปทางบวก ผู้บริหารก็เลยไฟเขียวให้พัฒนาต่อไปเป็นหนังฉายโรงแทนอย่างที่เห็นกัน

SMILE ยิ้มสยอง

เนื้อเรื่องของ ‘Smile’ เริ่มต้นที่ ดร.โรส คอตเตอร์ (Sosie Bacon) จิตแพทย์สาวที่บังเอิญได้พบเจอเหตุการณ์ประหลาดสะเทือนใจของ ลอรา วีฟเวอร์ (Caitlin Stasey) นักศึกษาสาวผู้ป่วยจิตเวชคนหนึ่ง ที่มาพร้อมกับรอยยิ้มสุดสะพรึง เหตุการณ์นั้นทำให้เธอต้องประสบพบเจอกับเหตุการณ์สยองที่ครอบงำตามติดเธอเป็นเงา แถมยังไม่สามารถจะอธิบายให้ใครฟังได้ เธอจึงต้องเผชิญกับอดีตอันแสนสะเทือนใจ และพยายามหลบหนีสิ่งลี้ลับอันน่าสะพรึงกลัวที่มาในรูปแบบของรอยยิ้ม

SMILE ยิ้มสยอง

ถ้าให้สรุปภาพรวมแบบเร็ว ๆ ของหนังเรื่องนี้ ผู้เขียนคงสรุปว่า นี่ไม่ใช่หนังผีแบบตรง ๆ นะครับ แต่เป็นหนังสยองขวัญกึ่ง ๆ หนังคำสาป กึ่ง ๆ หนังทริลเลอร์อะไรแบบนี้มากกว่า ซึ่งโทนของหนังก็จะออกไปทางหนังต้องคำสาปแนวคล้าย ๆ กับ ‘It Follows’ (2014), ‘The Babadook’ (2014) หรือไม่ก็ย้อนไปไกลถึง ‘The Ring’ (2003) โน่นเลย เพียงแต่ว่าหนังเรื่องนี้เลือกที่จะเอาประเด็นเกี่ยวกับจิตวิทยามาเป็นธีมหลัก อาจจะยังไม่ถึงขั้นอาร์ตจ๋า ๆ ชวนตีความ แต่เป็นการหยิบเอาปัญหาด้านจิตวิทยามาเล่น เป็นปมให้ตัวเอกเผชิญกับการค้นหาที่มาของคำสาปยิ้มสยองซะมากกว่า

SMILE ยิ้มสยอง

ซึ่งจริง ๆ ก็ต้องชมล่ะนะครับว่าตัวหนังสามารถเอาประเด็นปมปัญหาด้านจิตวิทยามาสะท้อนผ่านตัวหนังได้ ทั้งประเด็นเกี่ยวกับรอยยิ้ม รวมทั้ง Conflict ในแง่ของการสะท้อนให้เห็นภาพอันย้อนแย้งของจิตแพทย์ที่คอยรักษาคนที่มีปัญหาด้านจิตว่าเป็นคนที่น่าจะควบคุม รู้ทัน มีทักษะมากพอที่จะควบคุมอารมณ์ของตัวเอง และน่าจะรับมือกับอาการสติแตกได้ แต่ดันต้องมาเผชิญกับสภาวะที่ชวนให้หดหู่ หวาดกลัว ผวา โดนอดีตตามหลอกหลอนจวนเจียนจะสติแตกซะเอง ยิ่งพอมาขมวดกับประเด็นของความที่คนรอบข้างเธอนั้นต่างก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่เธอเจอ และเธอเองก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายว่าไอ้คำสาปรอยยิ้มที่ทำให้คนตายนี่มันเป็นยังไง ก็ยิ่งชวนให้กดดัน สับสน ซึมเศร้า แปลกแยกหนักยิ่งขึ้นไปอีก

SMILE ยิ้มสยอง

แล้วพอหมอโรสเจอกับคำสาป ตัวหนังก็ยังสะท้อนสิ่งที่โรสเจอผ่านอารมณ์ ความย้อนแย้งด้วยอาการต่าง ๆ ที่จะว่าไปแล้วก็สามารถเชื่อมโยงกับสภาวะอาการป่วยทางจิตที่พบได้ในทางจิตวิทยา ทั้งสภาวะทางจิตหลังเจอเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจรุนแรง หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) โรคซึมเศร้า (Depression) โรคแพนิก (Panic Disorder) และโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD (Obsessive-Compulsive Disorder) ซึ่งสิ่งที่โรสกำลังเป็นหลังเจอเหตุการณ์นั้นก็ดูจะคล้ายกับรอยโรคที่บ่งชี้ให้ตีความได้ว่า เธอน่าจะกำลังมีอาการทางจิตอะไรได้บ้าง ซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นว่าตัวหนังฉลาดในการหยิบเอาประเด็นจิตวิทยามารื้อสร้างใหม่ และสร้างบรรยากาศกดดันชวนให้สติแตกได้เข้าท่าดีทีเดียว

SMILE ยิ้มสยอง

อีกความเจ๋งของตัวหนังก็คือ การสร้างบรรยากาศสยองขวัญแบบไต่ระดับได้ดีเกินคาดเลยครับ แม้ว่าตัวหนังเองจะใช้มุก Jump Scare ตามสูตรสำเร็จหนังสยองขวัญทั่วไปนั่นแหละ และยอมรับว่าผู้เขียนเองแอบจิ๊ปากตอนเห็น Jump Scare แรกในหนังที่ชวนให้เผลอคิดไปว่า มันจะเป็นหนังสยองขวัญห่วย ๆ ที่ชอบ Jump Scare พร่ำเพรื่อหรือเปล่า (วะเนี่ย) แต่พอดูไปผู้เขียนถึงรู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว อีตาผู้กำกับนี่ขี้แกล้งชะมัดเลย รวมทั้งการปูบรรยากาศสยอง ความไม่น่าไว้วางใจ (ว่าใครจะยิ้มเป็นรายถัดไป) การเล่นกับความมืด และฉากโหดสยองสุดเขตเรต R ที่กระซวกกันแบบจะ ๆ ทำให้กลายเป็น Jump Scare จังหวะนรกทีเล่นทีจริง ที่เล่นงานคนดูให้เสียวสะดุ้งสันหลังวาบได้ตลอดทั้งเรื่อง แม้จะรู้ทั้งรู้อยู่แล้วว่าโดนแกล้งก็ตาม

แม้ว่าไอเดียของหนังจะน่าสนใจ และการดำเนินเรื่องก็ถือว่าทำออกมาได้ไหลลื่นดูสนุกได้แม้ว่าจะยาวเกือบ 2 ชั่วโมง องก์แรกนำเรื่องด้วยจังหวะสยองขวัญทริลเลอร์โหด ๆ กลายเป็นหนังสืบสวนสอบสวนในองก์ที่สอง และผลักไปเป็นหนังสยองขวัญเต็มตัวในองก์สุดท้าย แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ตัวหนังก็ดูจะมีปัญหาใหญ่น่าคิดก็คือ เมื่อถอยออกมาดูไกล ๆ จะพบว่า จริง ๆ แล้วตัวหนังก็ถือว่าอยู่ในรูปสูตรสำเร็จหนังแนวต้องคำสาปนะครับ แม้ว่าตัวหนังจะพยายามเล่าและวางรูปแบบวิธีการแบบหนังสยองขวัญอาร์ต ๆ เฮี้ยน ๆ แต่ด้วยรายละเอียดนั้นเอาเข้าจริงก็ยังไม่ได้ถึงกับลึกซึ้งชวนให้ตีความหรือคิดต่อหลังดูจบ และเอาเข้าจริง ๆ แล้วมันก็เป็นหนังแมสที่ดูง่าย เชื่อมโยงเรื่องง่าย (และแอบเดาเรื่องง่าย) นั่นแหละครับ

SMILE ยิ้มสยอง

ปัญหาใหญ่อีกจุดที่สำคัญคือ ตัวหนังดูจะไม่ได้ให้น้ำหนักกับการให้รายละเอียดกับแก่นของเรื่อง และ Conflict ที่เกิดขึ้นระหว่างทางมากนัก ก็เลยทำให้การเล่าเรื่องหลาย ๆ จุดดูเหมือนจะกั๊ก ๆ และมันก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้ตัวหนังเหมือนจะเล่าไปได้ไม่สุด รายละเอียด ปมดราม่าของตัวโรสเอง อีกทั้งสัญญะและรายละเอียดเบี้ยบ้ายรายทางที่ควรจะนำมาขยี้และส่งต่อเพื่อปูเรื่องให้เคลียร์ว่า ไอ้คำสาปยิ้มสยองเนี่ย แท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่ และโรสน่าจะจัดการกับมันยังไงได้บ้าง ก็ยังไม่ได้รับการอธิบายคลายปมไว้มากพอ ส่งผลให้คนดูเองก็เข้าไม่ถึงปมของเรื่อง และเข้าใจ อยากเอาใจช่วยโรสได้ ยิ่งพอลากไปถึงฉากไคลแมกซ์เพื่อจะขมวดปมบทสรุปในองก์ที่สาม ก็ยิ่งพาให้เหวอจนงงหนักไปใหญ่ว่า ตกลงพี่จะเอาอาร์ต เอาดราม่า หรือจะอะไรครับเนี่ย ซึ่งหลายคนก็อาจไม่ชอบและไม่ซื้อบทสรุปแบบอย่างที่หนังเลือกจะเป็นไปเลยก็ได้

SMILE ยิ้มสยอง

ส่วนในแง่การแสดง อันนี้ก็ต้องพูดถึง โซซี เบคอน (Sosie Bacon) เป็นหลักนะครับ เพราะแทบจะเป็นตัวละครเดียวที่แบกหนังทั้งเรื่องเอาไว้ รวมทั้งการที่ตัวหนังไม่มีนักแสดงแม่เหล็กเลย แต่การแสดงของเธอก็ถือว่าน่าสนใจทีเดียวแหละ โดยเฉพาะสภาวะสติแตกของเธอที่ค่อย ๆ เผยตัวออกมาเรื่อย ๆ และถ้าสังเกตดี ๆ ท่าทางของเธอก็ดูจะบ่งชี้ถึงอาการทางจิตที่ผู้เขียนเล่าไปตอนต้นได้ด้วย แม้ว่าจะยังไม่ถึงกับเป็นบทบาทที่น่าจดจำ แต่ก็ถือว่าทำได้ไม่ผิดหวัง

SMILE ยิ้มสยอง

‘Smile ยิ้มสยอง’ โดยสรุปแล้วก็เป็นหนังแนวต้องคำสาปที่มีไอเดียน่าสนใจ และแก่นเรื่องเองก็น่าสนใจอยู่ เพียงแต่ว่ามันยังไม่ได้รับการขยี้คลี่คลายปมออกมามากพอ ตัวหนังดูสนุกด้วยการเล่าเรื่องที่ตื่นเต้น ฉากสยองติดตาที่ชวนสะดุ้ง และฉากโหดที่ห้ามพาเด็ก ๆ มาดูเด็ดขาด (ถ้าไม่อยากให้น้อง ๆ ร้องไห้ฉี่แตกรดเบาะและกลับบ้านนอนไม่หลับ) แม้หลายคนอาจซึ้งกับปมดราม่าที่ปูไว้นิดหน่อย บางคนอาจไม่ซื้อกับการขมวดสรุปปมที่ชวนให้ร้องว่า วดฟ. แต่ยังไงซะก็ถือว่าเป็นโปรแกรมที่น่าสนใจและเกินคาดสำหรับคอหนังสยองขวัญในช่วงฮาโลวีนนี้นะครับ หลังดูจบผู้เขียนเชื่อว่า อย่างน้อย ๆ ก็น่าจะทำให้มองรอยยิ้มของคนรอบข้างได้ไม่สนิทใจแน่ ๆ แหละ


SMILE ยิ้มสยอง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส