Release Date
05/10/2022
แนว
สารคดี
ความยาว
1.42 ช.ม. (102 นาที)
เรตผู้ชม
13+
ผู้กำกับ
ไพลิน วีเด็ล
SCORE
9.2/10
Our score
9.213 หมูป่า: เรื่องเล่าจากในถ้ำ | The Trapped: 13 How We Survived The Thai Cave
จุดเด่น
- เป็นการเล่ามุมมองต่อเหตุการณ์ถ้ำหลวงในมุมมองใหม่ที่ไม่เคยมีใครเล่ามาก่อน อาจจะมีเดจาวูบ้างแต่ถือว่าไม่ตีหัวเข้าบ้าน
- เรียบเรียงกราฟอารมณ์ของเรื่องราวได้น่าสนใจและน่าติดตาม
- โปรดักชันถือว่าทำได้ค่อนข้างดี ทั้งซีนบทสัมภาษณ์ ช็อต Insert ซีนจำลองเหตุการณ์ที่สมจริง และฟุตเทจที่เลือกใช้
จุดสังเกต
-
คุณภาพด้านการแสดง
8.7
-
คุณภาพโปรดักชัน
8.8
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
9.1
-
ความบันเทิง
9.2
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
10.0
หลายคนคงรู้สึกเช่นเดียวกับผู้เขียนว่า แม้เหตุการณ์ที่นักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชจากทีมหมูป่าอะคาเดมี หรือ ’13 หมูป่า’ ที่เข้าไปติดอยู่ภายในถ้ำ ภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2561 นั้นจะถูกนำเสนอออกมาในสื่อรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภาพยนตร์เอย ซีรีส์เอย สารคดีเอย พอได้ยินว่า Netflix กำลังจะมีสารคดี Original เรื่องใหม่ ’13 หมูป่า: เรื่องเล่าจากในถ้ำ’ (The Trapped 13: How We Survived The Thai Cave) ขึ้นมาอีกคำรบ หลายคนคงอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่า เล่าจนปรุไปหมดขนาดนี้แล้ว จะเอาแง่มุมไหนมาเล่าให้ไม่ซ้ำ ไม่ตีหัวเข้าบ้านด้วยสิ่งที่เคยมีมาแล้ว และไม่ซ้อนกับข่าวสาร ข้อมูล เกร็ดต่าง ๆ ที่คนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ง่ายแทบจะทุกแง่มุม
’13 หมูป่า: เรื่องเล่าจากในถ้ำ’ เป็นผลงานสารคดี Netflix จากฝีมือการสัมภาษณ์ โปรดิวเซอร์ และกำกับภาพยนตร์โดย ไพลิน วีเด็ล ผู้กำกับสารคดีคนแรกของไทยที่สามารถคว้ารางวัลสาขาสารคดียอดเยี่ยมจากงาน International Emmy Awards ครั้งที่ 49 จากผลงานสารคดี Netflix ‘ความหวังแช่แข็ง: ขอเกิดอีกครั้ง’ (Hope Frozen: A Quest to Live Twice) ซึ่งจะว่าไป สารคดีเรื่องนี้คือผลพลอยได้จากซีรีส์ Netflix ‘ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง’ (Thai Cave Rescue) ที่เพิ่งฉายไปไม่นานนี้เองล่ะนะครับ เบื้องหลังคือ ไพลินได้เข้าไปสัมภาษณ์กับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำงานด้านข้อมูลให้กับทางซีรีส์ จนกระทั่ง Netflix มองเห็นว่าน่าจะต่อยอดไปเป็นสารคดีจริงจังได้ เลยมีการถ่ายซีนจำลองเหตุการณ์ประกบการสัมภาษณ์ในภายหลัง ซึ่งถ้ำหลวงในซีนนั้นกับในซีรีส์ก็คือถ้ำหลวงจำลองอันเดียวกันนั่นแหละ
ตัวสารคดีจะพาเราไปสำรวจเรื่องราวของถ้ำหลวงจากมุมมองของ 13 หมูป่า นับตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุ สำรวจเบื้องหลังวิถีชีวิตในฐานะเด็กท้องถิ่น และในฐานะลูกชาย ที่ถ่ายทอดผ่านพ่อแม่ของเด็ก ๆ จนกระทั่งเข้าไปติดภายในถ้ำ ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาในสถานการณ์อันตรายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและความท้อแท้ที่ไม่เคยถูกเล่ามาก่อน รวมไปถึงเรื่องราวนอกถ้ำ ตั้งแต่ตำนานปรัมปราเก่าแก่ของถ้ำหลวง ข้อมูลด้านธรณีวิทยาของตัวถ้ำ รวมทั้งความรู้สึกของพ่อแม่ของเด็ก ๆ สำรวจปฏิบัติการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่อุทยานถ้ำหลวง นักสำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำหลวง ผู้บัญชาการหน่วยซีล นักประดาน้ำในถ้ำจากต่างประเทศ เลยไปสำรวจปรากฏการณ์สังคมในฐานะข่าวใหญ่ที่ดังไปทั่วโลก ผ่านมุมมองของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และปฏิกิริยาทางสังคมที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ณ เวลานั้นด้วย
ความน่าสนใจของสารคดีเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นการที่ตัวเรื่องไม่ได้เล่าจากมุมมองในเชิงข่าว ข้อมูลดิบ เทคนิค หรือนำเสนอแต่ความอันตรายภายในถ้ำหลวงที่น้ำท่วม ความตื่นตะลึงในปฏิบัติการที่เสี่ยงอันตรายในทุก ๆ ขั้นตอน แต่ประสบความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ หรือแม้แต่การตั้งคำถามกับระบบการจัดการและโครงสร้างของผู้มีอำนาจในการจัดการวิกฤติ แต่ตัวหนังเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย หรือจะเรียกว่าเป็น Trivia ส่วนตัวของ Subject หลักในเรื่อง นั่นก็คือตัวแทนเด็ก ๆ 13 หมูป่าตัวจริงทั้งโค้ชเอก, ไตตั้น, มิกซ์, ตี๋, เติ้ล, มาร์ก และ อดุลย์ ประกอบวางกับซีนสถานการณ์จำลอง และฟุตเทจจากข่าวบางส่วนแทน แน่นอนว่ามันอาจจะทำให้รู้สึกว่าเดจาวูเหมือนดูซ้ำเหตุการณ์เดิมที่รู้บทสรุปไปแล้วบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนเสริมเรื่องราวที่ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าตีหัวเข้าบ้านอะไรขนาดนั้น
นั่นก็เลยทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้พยายามตั้งตัวเป็นสารคดีบันทึกประวัติศาสตร์หรือจดหมายเหตุบันทึกข่าวถ้ำหลวงแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเหมือนกับไดอารี่ที่เด็ก ๆ 13 หมูป่าได้เล่าทุกอย่างตั้งแต่ก่อนวินาทีที่ 0 ที่ก้าวเข้าถ้ำหลวงด้วยซ้ำ รวมทั้งสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นวินาทีต่อวินาทีในระหว่างระหว่างติดถ้ำ ตั้งแต่ช่วงแรกที่ยังมีความหวัง ที่สะท้อนผ่านมุกตลกคุยเล่นคุยหัว แต่พอสถานการณ์เลวร้ายลง ความหวังเริ่มเปลี่ยนไปเป็นความหิว ความเครียด ความกดดัน การต่อสู้เอาตัวรอดแบบสับสนไร้เหตุผล เราจึงเริ่มรู้สีกได้ว่ากราฟของไดอารี่ฉบับนี้เริ่มดำดิ่งลงเห็น ๆ มุกตลกของพวกเขาเริ่มออกไปในทางมุกตลกร้าย ที่สะท้อนภาพความทุกข์และความสิ้นหวังที่กำลังครอบงำพวกเขาทีละนิด แม้จะมีความหวังอยู่บ้าง แต่เหมือนพวกเขาเองก็เริ่มเผื่อใจเจอกับสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าเอาไว้แล้วด้วย
ตัวสารคดีเองไม่ได้วางโครงเรื่องการเล่าให้ซับซ้อนเกินความจำเป็นนะครับ จริง ๆ มันก็เป็นท่าที (Format) สากลของภาพยนตร์สารคดีทั่ว ๆ ไปนั่นแหละ และประกอบกับเรื่องราวของถ้ำหลวงนั้นถูกเล่าจนปรุ และทุกคนต่างก็รู้บทสรุปของมันอยู่แล้ว แต่ก็ต้องชมตัวหนังว่า สามารถลำดับกราฟเรื่องออกมาได้น่าสนใจ เป็นกราฟเรื่องที่เล่าตามความรู้สึกของทุกคน ค่อย ๆ สวิงจากด้านบวกลงไปจนถึงความท้อแท้อย่างถึงที่สุด มุกร้าย ๆ ที่ออกมาจากปากของเด็กหนุ่มค่อย ๆ สะท้อนความรู้สึกที่ไม่ได้แค่เกิดจากความห่าม แต่มาจากความรู้สึกลึก ๆ ที่ยังอยากมีความหวังเอาตัวรอดออกไปจากถ้ำเสียมากกว่า ส่วนโค้ชเอกก็รู้สึกหวาดหวั่นในฐานะพี่ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบน้อง ๆ หรือแม้แต่ปูมหลังของเด็ก ๆ แต่ละคนที่เล่าโดยพ่อแม่ก็เป็นการเติมเต็มเรื่องราว ความรู้สึกนึกคิด และความเป็นมนุษย์ให้กับเด็ก ๆ และเติมความน่าสนใจให้กับตัวสารคดีมากยึ่งขึ้นกว่าที่เคยมีมา
จนเมื่อได้ออกมาจากถ้ำแล้ว แม้ทุกคนจะดีใจเปี่ยมสุข แต่ตัวหนังก็ยังตั้งคำถามกับพวกเขาในฐานะที่กลายมาเป็นที่รู้จักและได้รับโอกาสนับไม่ถ้วน ซึ่งสารคดีก็ได้สะท้อนเรื่องราวผ่านความรู้สึกกดดันของเขาต่อกระแสสังคมส่วนหนึ่งที่อาจมองพวกเขาว่าพวกเขาเป็นคนสร้างภาระขึ้นจากความบ้าบิ่น มากกว่าเป็นผู้ประสบเหตุ ความรู้สึกของโค้ชเอกที่กลัวพ่อแม่ของน้อง ๆ จะเข้ามาดุด่า รวมทั้งความรู้สึกผิดลึก ๆ ในใจที่พวกเขามองว่าตัวเองมีส่วนให้เกิดความสูญเสียหลาย ๆ อย่าง ทั้งเวลา ทรัพยากร และโดยเฉพาะกับนาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซม เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ ที่ทำให้พวกเขามีมุมมองต่อชีวิตที่เปลี่ยนไปจากตอนก่อนเข้าถ้ำอย่างเห็นได้ชัด
’13 หมูป่า: เรื่องเล่าจากในถ้ำ’ สำหรับหลายคนอาจเป็นสารคดีถ้ำหลวงอีกเรื่องหนึ่งนั่นแหละ แต่สำหรับผู้เขียน สารคดีเรื่องนี้ก็อาจจะชวนให้นึกถึงหนังแนว Coming of Age อยู่เหมือนกันนะครับ แต่แทนที่ตัวละครต้องออกเดินทางไกลเหมือนหนัง Coming of Age ปกติ พวกเขากลับเดินทางเข้าไปในถ้ำ เพื่อไปเจอสถานการณ์กระทบกระเทือนรุนแรง และได้กลับออกมาพร้อมกับคำตอบที่ว่า พวกเขารู้สึกกับเหตุการณ์อันจะเป็นเหตุการณ์ใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเขาอย่างไรบ้าง พวกเขาผ่านความรู้สึกโหดร้ายดำดิ่งมาได้อย่างไร และพวกเขามีความคิดที่เติบโตขึ้นอย่างไรบ้าง
ไม่ว่าคนภายนอกจะมองหรือเข้าใจพวกเขาในมุมมองอย่างไร แต่อย่างน้อย ๆ สารคดีเรื่องนี้ก็เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เติมเต็มเรื่องเล่าเล็ก ๆ ลงในเหตุการณ์ใหญ่ เป็นเหมือนไดอารี่ที่เติมเรื่องที่ไม่เคยถูกเล่าในฐานะของเด็กชายที่กำลังจะโตเป็นหนุ่มที่เคยผ่านสถานการณ์และความรู้สึกที่มืดมิดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตมาแล้ว เรื่องราวเหล่านั้นอาจเลือนหายสาบสูญไปตามเวลา หลายคนอาจยังไม่เข้าใจพวกเขาเหมือนเดิม แต่สิ่งที่พวกเขารู้สึกก็คือ ไดอารี่เล่มนี้จะเป็นบทบันทึกเล็ก ๆ ที่คอยย้ำเตือนให้พวกเขา (และพวกเรา) มองเรื่องราวเหล่านั้นไว้เป็นอดีต และย้ำเตือนว่า หากยังคงมีโอกาสที่สอง ทุกเหตุการณ์ในชีวิตล้วนเป็นบทเรียนที่สอนให้คนเราเติบโตขึ้นได้จริง ๆ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส