[รีวิว] The Greatest Beer Run Ever : เหมาะแล้วล่ะที่สร้างมาสตรีมมิง
Our score
6.6

Rate : 15+

Runtime : 2h 6m

Director : Peter Farrelly

Writers : Peter Farrelly, Brian Hayes Currie, Pete Jones

Stars : Zac Efron, Russell Crowe, Jake Picking

[รีวิว] The Greatest Beer Run Ever : เหมาะแล้วล่ะที่สร้างมาสตรีมมิง
Our score
6.6

[รีวิว] The Greatest Beer Run Ever : เหมาะแล้วล่ะที่สร้างมาสตรีมมิง

จุดเด่น

  1. แซค เอฟรอน มีความละม้ายกับชิกกี้ตัวจริง นับเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม
  2. ทีมงานดัดแปลงบ้านเราให้ดูเหมือนเวียดนามได้สมจริง
  3. บทหนังสร้างความสมดุลได้ดีระหว่างเนื้อหาด้านความตึงเครียดของสงคราม และ ด้านเบาสมอง

จุดสังเกต

  1. รัสเซล โครว์ ในวันที่ตัวใหญ่อุ้ยอ้ายมาก ยังทำให้เชื่อไม่ได้ว่านี่คือนักข่าวสงครามผู้ช่ำชอง
  2. ประเด็นของหนังยังเบาไปกับความยาว 2 ชั่วโมงของหนัง
  3. หนังยังถ่ายทอดให้สัมผัสไม่ได้ถึงมิตรภาพความรัก ความผูกพันระหว่างเพื่อน
  • บทภาพยนตร์

    7.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    7.0

  • คุณภาพนักแสดง

    6.0

  • ความบันเทิงตามแนวหนัง

    6.5

  • คุ้มค่าเวลาในการรับชม

    6.5

หนุ่มนิวยอร์กนาม จอห์น ชิกกี้ โดโนฮิว (Chickie Donohue)สร้างวีรกรรมบ้าระห่ำด้วยการหอบเบียร์กระป๋องใส่กระเป๋าใบโต แล้วดั้นด้นเดินทางโดยเรือเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อเอาเบียร์ไปฝากเพื่อน ๆ ที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารไปรบในเวียดนาม เรื่องราวของเขานี้ เรียกได้ว่าเป็นตำนานที่ถูกเล่าขานกันมายาวนานตั้งแต่ปี 1967 ที่เขาก่อวีรกรรมในปีนั้น แล้วถูกเล่าต่อเป็นบทความในนิตยสารหลายเล่ม จนในปี 2017 เรื่องราวนี้ก็ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The Greatest Beer Run Ever: A Memoir of Friendship, Loyalty, and War เขียนโดยตัว ชิกกี้ โดโนฮิว เอง ร่วมกับ เจ.ที. มัลรอย (J. T. Molloy) อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ NY Daily News

หนังสือ The Greatest Beer Run Ever: A Memoir of Friendship, Loyalty, and War

ด้วยเหตุที่วีรกรรมของชิกกี้นั้น เป็นการกระทำที่ระห่ำ อาจหาญ และมีความคะนองของชีวิตวัยรุ่นที่เล่าต่อกี่ครั้งก็ยังสนุก แม้เรื่องราวจะผ่านมากว่า 50 ปีแล้วก็ตาม สมกับที่ชิกกี้เองก็บ่นว่าเบื่อที่จะเล่าเรื่องราวนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนชิกกี้บอกว่าพอกันที แต่ในปี 2015 วีรกรรมของชิกกี้ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งเมื่อทีมงาน Pabst Blue Ribbon ได้ถ่ายทอดตำนานนี้ออกมาในรูปสารคดี 13 นาที เนื่องในวันทหารผ่านศึก มีผู้ชมไปแล้วกว่า 1 ล้านครั้ง ถึงตรงนี้ ชิกกี้จึงตัดสินใจเล่าวีรกรรมของเขาออกมาเป็นหนังสือมันซะเลย แต่วีรกรรมสุดโต่งของเขาก็ยังไม่จบลงไปง่าย ๆ เมื่อสตูดิโอ Skydance Media ตกลงซื้อลิขสิทธิ์หนังสือมาสร้างเป็นภาพยนตร์

แซค เอฟรอน กับ ชิกกี้ ตัวจริงในวัย 80 ปี

ในฐานะที่ผู้เขียนได้เคยเขียนเรื่องราวการผจญภัยของชิกกี้มาแล้ว ก็เห็นว่าเป็นเรื่องราวที่ฟังดูเหลือเชื่อและน่าสนุกดี สมกับที่เรื่องราวนี้ไม่เคยห่างหายไปตลอด 50 กว่าปีที่ผ่านมานี่ แต่การที่เรื่องราวนี้จะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ได้นั้น ก็ยังสร้างความรู้สึกแคลงใจว่า เรื่องราวของหนุ่มนิวยอร์กหิ้วเบียร์มาฝากเพื่อนที่รบอยู่ในเวียดนามนั้น การเล่าสู่กันฟังแบบสั้น ๆ ก็ดูน่าสนใจดี แต่จะเล่าออกมาเป็นหนังยาวอย่างไรให้น่าสนใจ ก็จนกระทั่งได้ดูหนังแล้ว ถึงยอมรับว่าหนังอยู่ในมือของผู้กำกับและเขียนบที่ถูกคน เพราะ ปีเตอร์ ฟาเรลลี่ นั้นก็มีประสบการณ์ในการทำหนังที่ว่าด้วยการเดินทางไกลบนฉากหลังที่ประเด็นขัดแย้งเรื่องสีผิวกันมาแล้วใน Green Book พอมาครั้งนี้ใน The Greatest Beer Run Ever ก็ถือว่ามาในธีมที่ใกล้เคียงกัน เรื่องราวของมิตรภาพระหว่างเพื่อนกับประเด็นเรื่องความเห็นของประชาชนอเมริกันต่อสงครามเวียดนาม ที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายกันอย่างชัดเจน

ซ้าย : ภาพจากเหตุการณ์จริง / ขวา : ภาพจากภาพยนตร์

เป็นเรื่องปกติล่ะครับ เมื่อหนังสือไม่ว่าจะเป็นนิยายหรือบันทึกเหตุการณ์จริง เมื่อถูกดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ก็ย่อมมีการเสริมเติมแต่ง จุดประสงค์เพื่อให้เรื่องราวตรึงความสนใจผู้ชมให้อยู่กับหนังได้ตลอดรอดฝั่ง อย่างในเรื่องนี้หนังยังคงพล็อตเรื่องหลักไว้ว่า เหตุการณ์เกิดในปี 1967 ช่วงที่อเมริกาส่งกองกำลังไปรบในสงครามเวียดนาม ชิกกี้สังสรรค์กับเพื่อน ๆ ในบาร์ประจำ ซึ่งเพื่อน ๆ หลายคนที่เคยกินดื่มด้วยกันก็ถูกส่งไปรบในเวียดนาม บาร์เทนเดอร์ก็เลยเปรยขึ้นมาว่า คิดถึงหนุ่ม ๆ ที่เปรียบเสมือนลูกหลานแต่ต้องถูกไปส่งในเวียดนาม อยากให้หนุ่ม ๆ พวกนี้ได้ดื่มเบียร์ด้วยจัง ชิกกี้ก็เลยโพล่งออกมาว่า งั้นเขาจะรับอาสาเอาเบียร์ไปส่งให้เพื่อน ๆ เอง หนังก็เดินเรื่องเร็วครับ ไม่ถึง 30 นาที ชิกกี้ก็ไปถึงเวียดนามแล้ว เป้าหมายของชิกกี้คือเพื่อน ๆ 6 คน คนหนึ่งเสียชีวิตในสนามรบ อีกคนปลดประจำการกลับมาสหรัฐฯ แล้ว ที่ยังประจำการอยู่ 4 คนนั้น ชิกกี้ก็ดั้นด้นไปส่งเบียร์ได้ครบทั้ง 4 คน แต่เรื่องราวที่ถูกปรับแต่งในส่วนนี้ก็คือ ในเรื่องจริงนั้นชิกกี้อยู่ในเวียดนามถึง 2 เดือน แต่ในหนังนั้นมีการปรับระยะเวลาเหลือแค่ 3 วัน การจำกัดเวลาขึ้นมานั้นก็ได้ผลดี ชิกกี้เลยต้องปฏิบัติภารกิจแข่งกับเวลา ถ้าเลย 3 วันเรือที่เขาโดยสารมาจะออกจากท่า เขาจะไม่สามารถกลับนิวยอร์กได้

รัสเซล โครว์ ในบท อาเธอร์ โคตส์

รวมถึงการเพิ่มตัวละครนักข่าวสงครามอย่าง อาร์เธอร์ โคตส์ เข้ามา แล้วได้ รัสเซล โครว์ (Russell Crowes) มารับบทนี้ ซึ่งเดิมเป็นบทของ วิกโก มอร์เตนเซน ที่ถอนตัวออกไป หลังหนังตกมาอยู่กับ APPLE TV มอร์เตนเซนก็ถอนตัวออกไป เวลาของโคตส์บนหน้าจอนั้นแม้จะไม่มากนัก โผล่มาแค่ช่วงท้ายของหนัง แต่บทบาทของเขาก็มากพอดู ช่วยทำให้หนังมีฉากผจญภัยในเมือง ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ชิกกี้ที่เคยสนับสนุนบทบาทของกองทัพอเมริกันมาตลอดให้เปลี่ยนไป และด้วยแรงผลักดันของตัวละครชาวเวียดนามอย่าง โอคลาโฮมา ที่น่าจะสะเทือนใจผู้ชมพอดู

ในขณะที่บทหนังดูพยายามกับการสอดแทรกประเด็นด้านลบของสงครามเวียดนามนั้น ตัวหนังเองก็เหมือนจะลืมประเด็นสำคัญของเรื่องไป ที่อยู่ในคำโปรยด้วยว่า “Friendship Has No Last Call” เพราะนาทีที่ชิกกี้เจอเพื่อนทั้ง 4 นั้น เราไม่ได้สัมผัสได้เลยถึงความรัก ความผูกพันระหว่างเพื่อนที่มีต่อกัน เราเห็นแต่เพื่อนประหลาดใจที่ชิกกี้โผล่มา แต่กลับไม่ได้รู้สึกซาบซึ้งกับการที่ชิกกี้บุกบั่นมาเพื่อเจอพวกเขาแต่ละคนแต่อย่างใด

ด้วยหน้าหนังที่ว่าด้วยสงครามเวียดนามนั้น อาจจะทำให้คนดูคาดเดาไปว่าหนังน่าจะตึงเครียดพอดู แต่ปฏิบัติการของชิกกี้ที่ว่าด้วยการส่งเบียร์ ก็ดำเนินไปบนความคึกคะนองพอตัว ทีมเขียนบททั้งสามก็สามาถบาลานซ์พาร์ตจริงจังกับพาร์ตเบาสมองกันได้ลงตัวดี ชอบที่ทีมเขียนบทเลือกจะหยิบเอาประเด็นเล็ก ๆ ที่ว่าเจ้าหน้าที่ในกองทัพเข้าใจว่าเขาเป็น CIA จึงอำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี ช่วยทำให้หนังดูเบาขึ้นเยอะ และเรียกรอยยิ้มคนดูได้เป็นพัก ๆ ไม่ได้มีมุกถึงขั้นเรียกเสียงหัวเราะได้ดัง ๆ ส่วนประเด็นขัดแย้งของหนัง ที่ว่าด้วยการขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้านสงครามเวียดนาม ผ่านทัศนคติและมุมมองของเอฟรอนที่ได้มาประสบพบเห็นเหตุการณ์จริงและทำให้มุมมองต่อสงครามนั้นเปลี่ยนไป ก็ไม่ได้เน้นหนักประเด็นนี้จนตึงเครียดเกินไป และหนังก็ไม่ได้หลุดธีมที่วางหน้าหนังให้เป็นหนังอารมณ์ดี ถึงแม้จะมีฉากหลังเป็นสงคราม มีคนตายให้เห็น แต่ก็ไม่ได้นำเสนอภาพความรุนแรงของสงครามให้เห็นจนถึงขั้นหดหู่นัก

เดิมทีทีมงานวางตัว ดีแลน โอไบรอัน (Dylan O’brien) พระเอกจากไตรภาค Maze Runner ไว้ในบทชิกกี้ แต่โอไบรอันก็ลาโปรเจกต์ไปพร้อมกับมอร์เตนเซน ก็เลยได้ แชค เอฟรอน (Zac Efron) มารับช่วงต่อแทน ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนตัวที่ดูเหมาะกว่าเดิม ถ้าเทียบรูปร่างหน้าตาแล้ว เอฟรอนดูมีความละม้ายกับชิกกี้ตัวจริงมากกว่า และด้วยความที่เอฟรอนมักจะติดภาพพระเอกอารมณ์ดีมาในระยะหลัง ก็นับว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับบทนี้

เปรียบเทียบ แซค เอฟรอน กับ ชิกกี้ ตัวจริง

หนังยกกองมาถ่ายในบ้านเราเมื่อปีที่แล้วนี่ ไปถ่ายกันหลายที่มาก หัวหิน ดอยเชียงดาวที่เชียงใหม่ ราชบุรี เป็นช่วงที่ รัสเซล โครว์ มาถ่ายรูปตรงนั้นตรงนี้แล้วทวีตจนเป็นที่ฮือฮากันไปนั่นล่ะ ก็ต้องชื่นชมทีมงานครับ ดัดแปลงพื้นที่บ้านเราให้ดูเป็นเวียดนามปี 1967 ได้อย่างแนบเนียนมาก ๆ

โดยรวมก็ถือว่า The Greatest Beer Run Ever เป็นหนังที่มีครบทั้งสาระบันเทิง ทีมงานสร้างตัดสินใจถูกแล้วที่เลือกสร้างมาฉายทางสตรีมมิง เพราะดูแล้วถ้าฉายโรงไม่น่าจะได้กำไร ด้วยประเด็นของหนังยังไม่แข็งพอที่จะเรียกคนดูให้ออกจากบ้านไปซื้อตั๋วดูเรื่องนี้ในโรง หรือดูแล้วก็คงจะไม่ออกปากเชียร์ให้เพื่อน ๆ ไปดูอีกด้วยแหละ เพราะเนื้อหาหนังก็ไม่ได้เข้มข้นถึงกับต้องจดจ่ออยู่กับหน้าจอตลอด 2 ชั่วโมงของหนัง เดินไปเข้าห้องน้ำกลับมาดูต่อก็น่าจะยังตามเรื่องได้ทัน ได้ความบันเทิงพอประมาณครับ ดูไปทำนู่นทำนี่ไปด้วยได้ไม่เสียดายเวลา แต่ถ้าพลาดไปก็ไม่น่าเสียดาย