Our score
6.4[รีวิวซีรีส์]The Midnight Club เปิดปมชวนติดตาม แต่ขาดแคลนความหลอน
จุดเด่น
- ปริศนาชวนติดตาม เส้นเรื่องหลักน่าสนใจ
- นำเสนอมุมมองชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ลึกซึ้ง
- คาแรกเตอร์ของตัวละครมีความชัดเจนและน่าสนใจ
จุดสังเกต
- เป็นซีรีส์สยองขวัญที่ไม่ค่อยมีความสยอง
- ปมบางอย่างไม่จำเป็นกับเนื้อเรื่อง
- มีจัมป์สแกร์เยอะ
-
บท
6.0
-
โปรดักชัน
6.5
-
การแสดง
7.0
-
การดำเนินเรื่อง
6.5
-
ความสนุกตามแนวซีรีส์
6.0
เรื่องย่อ: เรื่องราวของเด็กวัยรุ่นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 8 คน สมาชิกของชมรมสยองขวัญเที่ยงคืน ในแต่ละคืนพวกเขาจะผลัดกันเล่าเรื่องสยองขวัญ พร้อมทำข้อตกลงร่วมกันว่าหากมีคนใดคนหนึ่งในกลุ่มตาย คน ๆ นั้นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อกลับมาบอกคนที่เหลือว่าโลกหลังความตายเป็นอย่างไร สร้างจากหนังสือนิยายชื่อเดียวกันของ คริสโตเฟอร์ ไพก์ (Christopher Pike) ส่วนเวอร์ชันซีรีส์สร้างโดย ไมค์ ฟลานาแกน (Mike Flanagan) ร่วมกับ ลีอาห์ ฟง (Leah Fong)
‘The Midnight Club’ หรือ ‘ชมรมสยองขวัญเที่ยงคืน’ ซีรีส์สยองขวัญต้อนรับฮาโลวีนเรื่องใหม่ล่าสุดจาก Netflix สร้างโดยดัดแปลงมาจากนิยายของไพก์ และกำกับ 2 ตอนแรกโดยผู้กำกับที่ขึ้นชื่อเรื่องผลงานสยองขวัญลึกลับอย่างฟลานาแกน ส่วนตอนอื่น ๆ เขาจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนบทกับนักเขียนคนอื่นแต่ไม่ได้นั่งแท่นกำกับ นอกจากนี้ยังได้นักแสดงวัยรุ่น 8 คนที่น่าจับตามองมาสร้างสีสันในเรื่องด้วย เพราะคาแรกเตอร์ของแต่ละคนนั้นแตกต่างมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกันเลยทีเดียว
เริ่มกันที่ อิมาน เบนสัน (Iman Benson) รับบทอีลองก้า เด็กสาวผู้เปี่ยมไปด้วยความฝัน อนาคตของเธอสดใส มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกำลังรออยู่ แต่ทุกสิ่งก็พลิกผันเมื่อเธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งและการรักษาตลอดระยะเวลา 9 เดือนก็ไม่ช่วยอะไร จนกระทั่งเธอได้พบกับข้อมูลบางอย่างที่สถานดูแลไบรท์คลิฟท์ เธอจึงกลับมามีความหวังอีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมี อิกกี้ ริกนีย์ (Igby Rigney) รับบทเควินผู้เข้าอกเข้าใจอีลองก้าและมักให้กำลังใจเธอเสมอ, อันนารา ซีโมน (Annarah Cymone) รับบทแซนดร้า เด็กสาวผู้เคร่งศาสนา, รูธ คอดด์ (Ruth Codd) รับบทอันยา พี่ใหญ่ในสถานดูแลไบรท์คลิฟท์ที่มักอารมณ์เสีย ประชดประชัน และจิกกัดคนอื่น ๆ ตลอดเวลา, เอเดีย (Adia) รับบทเชอรี เด็กสาวที่เพื่อน ๆ ต่างบอกว่าเรื่องเล่าจากปากเธอต้องเอาพันไปหาร, คริส ซัมป์เตอร์ (Chris Sumpter) รับบทสเปนเซอร์ เด็กหนุ่มผู้มีปมทั้งเรื่องแม่และโรคร้ายที่เขาเป็น, อายะ ฟุรุคาวะ (Aya Furakawa) รับบทนัตสึกิ สาวญี่ปุ่นผมผู้เป็นมิตร และ ซอเรียน ซัปโคตา (Sauriyan Sapkota) รับบทอาเมช เด็กหนุ่มเกมเมอร์
มองความป่วยไข้ ความตาย และชีวิต ผ่านเรื่องเล่าสยองขวัญ
ซีรีส์ ‘The Midnight Club’ โปรโมตด้วยประโยคเด็ด “เมื่อความตายคือพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่าน” เราจะได้เห็นการรับมือกับอาการป่วย ความหวัง และความสิ้นหวัง ผ่านตัวละครเด็กวัยรุ่นทั้ง 8 คน ทั้งที่เป็นช่วงวัยที่ควรจะเปี่ยมพลังและมีอนาคตสดใส แต่พวกเขากลับต้องมาอยู่ที่สถานดูแลแห่งนี้ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “ทางเลือกสุดท้าย” แบบกลาย ๆ แต่ละคนมีปมชีวิตของตัวเอง พวกเขามีความหวังและความฝันของตัวเอง ซึ่งซีรีส์ไม่ได้เล่าแบบยัดเยียดแต่พาเราไปสัมผัสกับตัวละครแต่ละตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและเป็นธรรมชาติ ผ่านเรื่องเล่ายามเที่ยงคืนของแต่ละคน รวมถึงผ่านบทสนทนาและกิจวัตรประจำวันของพวกเขาในเวลาปกติด้วย
การแสดงออกและมุมมองความคิดของแต่ละตัวละครทำให้เราได้เห็นว่าแต่ละคนมีวิธีรับมือกับความป่วยไข้ของตัวเองแตกต่างกัน บางคนอาจแค่ทำใจยอมรับแล้วอยู่กับมัน บางคนหงุดหงิดอารมณ์ร้ายเพื่อปกป้องภายในที่เปราะบาง หรือบางคนอาจไม่ทิ้งความหวังและมองหาหนทางใหม่ ๆ ตลอดเวลา ไม่ต่างอะไรกับคนเราที่มีวิธีรับมือกับความกลัว ความเศร้า หรือความเจ็บป่วยแตกต่างกันออกไป
บรรยากาศลึกลับ ชวนติดตาม แต่ขาดความ “สยอง”
“To those before, to those after, to us now and to those beyond. Seen or unseen, here but not here.
แด่ผู้มาก่อน และมาทีหลัง แด่เราตอนนี้ และผู้อยู่โลกหน้า ยังอยู่แต่ไม่ใช่ที่นี่”
คำกล่าวก่อนเริ่มชมรมในแต่ละคืน เปรียบเหมือนพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่เด็กทั้ง 8 มีร่วมกัน ชมรมสยองขวัญแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไรไม่มีใครรู้ สิ่งที่รู้แน่คือข้อตกลงที่พวกเขาทำร่วมกัน ใครตายก่อนคนนั้นต้องทำทุกทางเพื่อกลับมาบอกคนที่เหลือให้ได้ว่าโลกหลังความตายเป็นอย่างไร แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่เคยมีคนที่ตายไปกลับมา แต่นี่ก็คือสิ่งที่พวกเขายึดถือร่วมกัน
หลายคนอาจจะคาดหวังว่า ‘The Midnight Club’ จะมีสไตล์คล้ายกับ ‘The Creepshow’ แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะสิ่งที่สัมผัสได้ในซีรีส์เรื่องนี้คือกลิ่นอายที่ดูลึกลับของสถานดูแลไบรท์คลิฟท์ ชมรมเก่าแก่ ปริศนาที่ชวนสงสัย ส่วนเรื่องเล่าที่เด็ก ๆ ผลัดกันมาเล่านั้นมีหลากหลายแนว ทั้งสืบสวน ลึกลับ ไซไฟ แฟนตาซี ใครชอบเรื่องสั้นสไตล์นิยายสยองขวัญแบบตะวันตกที่ลึกลับบางครั้งก็หักมุมก็อาจถูกใจ ส่วนคนที่หวังมาเสพความหลอน ความสยอง อะไรที่เป็นผีแบบเนื้อ ๆ ก็อาจไม่ตอบโจทย์เท่าไร เว้นแต่จังหวะจัมป์แสกร์ที่ใส่มาแบบเยอะมากในตอนแรก เยอะจนดูเหมือนประชด ซีนนี้ใครชอบก็อาจขำ ๆ แล้วถูกใจไปเลย ส่วนคนไม่ชอบอาจมีรำคาญได้เหมือนกัน (แน่นอนว่าใครที่ขวัญอ่อน ไม่ถูกกับเสียงดนตรีดัง ๆ และจัมป์แสกร์ก็ขอแปะ Warning Trigger เตือนไว้ให้ตรงนี้เลย)
แต่หลังจากจบตอนที่หนึ่ง จังหวะของซีรีส์ดูเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ไม่มีจัมป์สแกร์พร่ำเพรื่อแบบตอนแรก ถึงแม้เรื่องราวจะดูเอื่อยบ้างในบางตอน แต่เรื่องเล่าที่ชมรมสยองขวัญเที่ยงคืนเล่าในแต่ละตอนก็น่าสนใจแตกต่างกันไปจนทำให้ดูเพลิน ๆ ได้ สิ่งที่ดีจริง ๆ ในซีรีส์คือปริศนาชวนติดตามที่เกี่ยวเราเอาไว้ให้รู้สึกอยากดูจนจบ ส่วนผีหรือความหลอนก็ลืม ๆ ไปเถอะ เพราะเรื่องราวเน้นไปที่ความลึกลับและมุมมองชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้าย มากกว่าความสยองขวัญแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
โปรดักชันดีงามตามท้องเรื่อง
ในส่วนของโปรดักชันต้องขอบอกว่าทำออกมาค่อนข้างดี เนื่องจากเรื่องอยู่ในช่วงยุค 90s เราจะได้เห็นบรรยากาศแบบย้อนยุคสุดคลาสสิก ทั้งแฟชั่นของตัวละคร ยานพาหนะ หรือข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ นอกจากนี้โลเคชันหลักอย่างไบรท์คลิฟท์ยังเป็นคฤหาสน์ที่ดูสวยงามและลึกลับเหมาะกับเนื้อเรื่องด้วย
สรุป
‘The Midnight Club’ ไม่ใช่ซีรีส์สยองขวัญที่เต็มไปด้วยเรื่องผีหลอน ๆ ชวนขนหัวลุก แต่บรรยากาศภายในเรื่องจะมีความลึกลับ ปริศนา ชวนให้ค้นหาความจริงมากกว่า หากตัดจังหวะจัมป์สแกร์ที่ใส่มาค่อนข้างเยอะออกไปก็สามารถดูเพลิน ๆ ได้ นักแสดงมีความหลากหลายทำให้ตัวละครแต่ละตัวโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ แต่บางปมในเรื่องที่ใส่เข้ามาก็ดูจะไม่ค่อยจำเป็นเท่าไรแถมบางครั้งยังปล่อยจางจนทำให้คิดว่าตัดจบไปแบบดื้อ ๆ ส่วนด้านการนำเสนอปรัชญา มุมมองชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์และวิทยาศาตร์ ถือว่าทำออกมาได้ดีและน่าสนใจเลยทีเดียว
สามารถรับชม ‘The Midnight Club’ ทั้ง 10 ตอนได้ทาง Netflix
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส