[รีวิว] The Good Nurse : ดราม่าระทึกขวัญ ที่โชว์ฝีมือนักแสดง เต็ม ๆ
Our score
7.0

กำกับ

โทเบียส ลินด์โฮล์ม

แนว

ดราม่า สืบสวนสอบสวน ระทึกขวัญ สร้างจากเหตุการณ์จริง

ความยาว

2 ชั่วโมง 3 นาที

ช่องทางรับชม

NETFLIX

[รีวิว] The Good Nurse : ดราม่าระทึกขวัญ ที่โชว์ฝีมือนักแสดง เต็ม ๆ
Our score
7.0

[รีวิว] The Good Nurse : ดราม่าระทึกขวัญ ที่โชว์ฝีมือนักแสดง เต็ม ๆ

จุดเด่น

  1. การแสดงของ เอ็ดดี้ เรดเมย์น ต้องบอกว่าเป็นที่สุดของเรื่องเลยก็ว่าได้ ขุมพลังมากมายถูกส่งออกมาจากตัวของผู้ชายคนนี้ อินเนอร์ที่จัดมานิ่ม ๆ แต่รุนแรงทำให้รู้สึกคุ้มที่สุดในการรับชม และฝีมือที่ไม่มีตกของ เจสซิก้า เชสเทน ก็เป็นอีกหนึ่งซัพพอร์ตดี ๆ ของหนังเรื่องนี้เช่นกัน

จุดสังเกต

  1. หนังเล่าเรื่องไปแบบราบเรียบ ที่หากใครชอบและสัมผัสการสื่อสารของหนังได้ก็จะไม่รู้สึกขัดใจนัก แต่สำหรับแฟนหนังสายระทึกที่ต้องการรับแรงกระแทกจากฆาตรกรโรคจิต สายซาดิสม์ขวัญผวา คุณจะไม่ได้สิ่งนั้นจากหนังเรื่องนี้
  • บท

    6.0

  • โปรดักชัน

    7.0

  • นักแสดง

    9.0

  • การดำเนินเรื่อง

    6.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.0

มีพยาบาลคนหนึ่งสงสัยว่า เพื่อนร่วมงานของเธออาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตอย่างลึกลับของผู้ป่วยหลายคน พยาบาลที่ดีอย่างเธอจึงไม่อาจอยู่เฉย ทำให้เรื่องราวระทึกขวัญเบา ๆ เกิดขึ้นแบบเลี่ยงไม่ได้ ‘The Good Nurse’ คือภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาจากเหตุการณ์จริง ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผลงานกำกับของ โทเบียส ลินด์โฮล์ม (Tobias Lindholm) ผู้กำกับที่มีผลงานเข้าชิงรางวัลออสการ์ และผลงานการแสดงของสองเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง เจสซิก้า เชสเทน (Jessica Chastain) และ เอ็ดดี้ เรดเมย์น (Eddie Redmayne) บอกเลยว่าเมื่อมือรางวัลมารวมตัวกันขนาดนี้ ไม่แวะดูไม่ได้แล้ว

The Good Nurse (2022)/ Netflix

The Good Nurse : เล่าเรื่องราวของ ‘เอมี่’ (เจสซิก้า เชสเทน) พยาบาลสาวใจสู้ที่ควบตำแหน่งคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว อีกทั้งยังมีภาวะโรคหัวใจร้ายแรงที่อาจถึงชีวิตได้ทุกเมื่อ แต่ด้วยความที่เธอเป็นเพียงคนเดียวที่ต้องดูแลลูกสาวน่ารักทั้งสองคน ทำให้เธอทุ่มเทอย่างหนักกับการทำงานในแผนกไอซียู แต่แล้วพยาบาลกะดึกอย่างเธอที่ทั้งเหนื่อยและอ่อนล้าก็ได้ ‘ชาร์ลี’ (เอ็ดดี้ เรดเมย์น) บุรุษพยาบาลผู้เอื้ออารีย์เข้ามาผ่อนแรงจนได้

Eddie Redmayne as Charlie Cullen / Netflix

เขาเข้ามาทำงานในแผนกเดียวกันกับเธอ จนสองคนสนิทสนม เป็นคู่หูเวรดึกของแผนกไอซียู ความสนิทสนมที่ว่าได้ก่อตัวอย่างแน่นแฟ้น จนคืบคลานเข้าไปถึงภายในครอบครัวของเธอ ชาร์ลีได้รับมิตรภาพที่ดีจากเด็ก ๆ ได้รับความไว้วางใจจากเอมี่ เรียกว่าเป็นเพื่อนซี้ที่แลกเปลี่ยนความรู้สึก ประสบการณ์ชีวิต อย่างเห็นอกเห็นใจกันและอบอุ่นจนกระทั่งเกิดการเสียชีวิตอย่างลึกลับของผู้ป่วยหลายคน นำไปสู่การสืบสวนพร้อมเบาะแสที่ชี้ว่าชาร์ลีคือผู้ต้องสงสัยคนสำคัญในคดีนี้ เอมี่จึงต้องเสี่ยงชีวิตของตัวเองและความปลอดภัยของลูก ๆ เพื่อค้นหาความจริง

อึดอัด ชวนลุ้นและได้บรรยากาศที่คาดไม่ถึง

เมื่อจั่วหัวไปที่ภาพยนตร์เขย่าขวัญชวนลุ้นระทึก ก็ทำให้อดไม่ได้ที่จะตั้งตารอคอยฉากชวนลุ้นที่คาดว่าจะต้องเกิดและมีปิดตาแน่นอน แต่สิ่งที่ได้กลับไม่เป็นเช่นนั้น กลายเป็นว่าเราได้เซอร์ไพรส์ใหม่มาแทนที่คือการที่หนังเลือกที่จะนำเสนอในบรรยากาศที่ทำให้ชวนนึกถึงหนังแนวนี้ในยุค 90s ปลาย ๆ ด้วยการปูเรื่องราวที่ราบเรียบและดำเนินไปอย่างช้า ๆ ให้ผู้ชมได้ซึมซับชีวิตของตัวแสดงไปเรื่อย ๆ และเพิ่มเลเวลไปทีละนิด ๆ จนถึงจุดพีคจนอึดอัดในที่สุด ซึ่งถือว่าไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่แต่ก็ไม่ได้เก่าจนล้าสมัย

The Good Nurse (2022). / Netflix

หนังเพิ่มเลเวลความอึดอัดที่ชวนลุ้นไปกับนางเอกของเรื่องขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผ่าน 30 นาทีแรกไปแล้ว ความเข้มข้นจะเป็นไปในแบบการเพิ่มพลังงานความน่าสนใจ อยากรู้ เฝ้าติดตาม แต่ไม่ได้หวือหวา จนทำให้เกิดบรรยากาศของหนังที่เป็นดราม่าสืบสวนสอบสวนที่ดูเหมือนจะไร้ลูกเล่น แต่กลับแอบเก็บซ่อนฉากเด็ดเอาไว้ให้คนดูตายใจ และสร้างความรู้สึกบีบคั้น ห่วงใย แอบลุ้นเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง จุดนี้ทำให้ภาพรวมของหนังกลายเป็นดราม่าสืบสวนสอบสวนที่หากไม่มีตัวแสดงอย่าง เจสซิก้า เชสเทน และเอ็ดดี้ เรดเมย์น ก็อาจจะทำให้หนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจเอาซะเลยก็เป็นไปได้

แอ็กติ้งระดับเทพ สมแล้วที่เป็นมือระดับรางวัล

ไม่มีใครเป็นเดอะแบกของหนังเรื่องนี้นะคะ ทุกอย่างผสมผสานลงตัวอย่างกลมกล่อม เพียงแต่เราอาจจะชินตามามากแล้วกับการนำเสนอในรูปแบบนี้ บทและการดำเนินเรื่องที่ค่อยเป็นค่อยไป การค่อย ๆ ส่งอารมณ์ของเรื่องราวและการแสดงถูกปล่อยพลังเบา ๆ มาถึงคนดูทีละนิด ๆ จนเพิ่มความกดดันขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หนังมีเสน่ห์ขึ้นมาอีกหน่อย และแน่นอนการแสดงของเจ้าของรางวัลออสก้าทั้งสองคนที่ต้องบอกว่า บทบาทนี้ไม่สามารถจับใครมาเล่นก็ได้แต่คงต้องเป็นเขาสองคนนี้เท่านั้นจริง ๆ

The Good Nurse (2022). / Netflix

ในด้าน เจสซิก้า เชสเทน ในบทบาทของเอมี่ที่ดูเหมือนจะราบเรียบและไม่ได้ปล่อยพลังสักเท่าไหร่ กลับทำให้เราเกิดความรู้สึกร่วมกับความรู้สึกของเอมี่ที่มีต่อชีวิตของตัวเอง ต่อความกดดันภายในใจที่ต้องตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้องแต่ยังคงมีความห่วงหาอาทรและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จนคำว่า Good Nurse ไม่ได้ห่างไกลไปจากตัวเอมี่เลยจริง ๆ บทที่ดูเหมือนจะเล่นง่ายแบบนี้ กลับไม่ง่ายเลยที่จะถ่ายทอดอารมณ์ทั้งหมดออกมาให้ผู้ชมสัมผัสได้ และ เจสซิก้า เชสเทน เธอทำมันสำเร็จแล้วอย่างยอดเยี่ยม

Jessica Chastain as Amy Loughren / Netflix

ในด้านของ เอ็ดดี้ เรดเมย์น ผู้รับบทชาร์ลี พยาบาลฆาตรกรที่ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองทำไปทำไม ผู้เขียนอยากทำถ้วยมอบให้เขาเป็นการส่วนตัวไปเลยละค่ะ อินเนอร์เบอร์แรงที่จัดใหญ่จัดเต็มมากระแทกความรู้สึกคนดูนั้น ทำให้ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมชื่อของเขาถึงเป็นที่กล่าวขวัญถึงในโลกภาพยนตร์ ถ้าหากจะบอกว่าการดูหนังเรื่องนี้โคตรจะคุ้มเพราะได้ดูฝีมือการแสดงของเขาก็ไม่ได้เป็นการออกตัวเชียร์ที่โอเวอร์เลยสักนิด เพราะประหนึ่งได้ดูพี่น้อย วงพรู สวมบทเป็นพยาบาลโรคจิต อย่างไรก็อย่างนั้น

ชั่วโมงปล่อยของกับโลกความเป็นจริง

ชั่วโมงปล่อยของที่ปล่อยออกมาเป็นระลอกในครึ่งเรื่องหลัง ที่ถึงจะไม่ได้สร้างความตื่นเต้นอะไรนัก แต่กลับลงลึกในความรู้สึกของตัวแสดงได้สมจริง ซึ่งหากเราคิดเทียบเคียงกับชีวิตจริงก็อาจจะเอ๊ะอ๊ะได้ง่าย ๆ เลยว่า ผู้ป่วยจิตเวชหลายคนที่แอบซ่อนอารมณ์ร้ายเอาไว้ลึก ๆ อาจมีพฤติกรรมแบบชาร์ลีก็เป็นได้ พฤติกรรมที่จะแสดงออกก็ต่อเมื่อถูกกระตุ้น บีบคั้นให้ต้องจนมุม แต่จะไม่มีวันเผยพฤติกรรมนั้นให้ใครเห็นในเวลาปกติอย่างแนบเนียน หนังพยายามถ่ายทอดความจริงนี้ออกมาให้เราได้สัมผัส หากคุณสัมผัสมันได้

The Good Nurse (2022). / Netflix

จนไม่แปลกใจเลยที่หนังสือในชื่อเรื่องเดียวกันของ ‘ชาร์ลส์ แกรเบอร์’ นักข่าวผู้นำเรื่องราวนี้มาถ่ายทอดสู่สายตานักอ่าน จะกลายเป็นเจ้าของรางวัลสื่อดีเด่น เพราะได้นำประเด็นนี้มาเขียนเป็นหนังสือได้น่าติดตาม จุดที่น่าเสียดายที่ขัดความรู้สึกชนิดที่เรียกว่าไม่ถึงใจ ก็เห็นจะเป็นฉากจบที่เป็นบทสรุปทำนองคนในข่าวไปสักหน่อย จุดจบของตัวละครที่ไม่มีความพีคแบบเอาใจคนดู แต่เน้นการส่งความรู้สึกจากเพื่อนถึงเพื่อนมากกว่า

เรียกว่าหนังได้ประคองบรรยากาศของการเล่าเรื่องที่ราบเรียบมาตั้งแต่ต้นจนจบเลยก็ว่าได้ ความตื่นเต้นที่ได้รับถูกกระตุ้นอารมณ์ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ และดำเนินมาถึงฉากจบที่ค่อย ๆ เงียบเสียงลงเหมือนการปิดม่านละครเวทีที่ไร้เสียงปรบมือของคนดู แต่เป็นการโบกมือลาเพียงเบา ๆ ยังไงยังงั้น

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส