Release Date
01/01/2023
ความยาว
8 ตอน ตอนละประมาณ 45 นาที
ผลงานก่อนหน้าของผู้สร้าง
'Matchstick Men' (2003), 'Repo Men' (2010)
Our score
7.0kaleidoscope
จุดเด่น
- แนวทดลองการเล่าเรื่องที่ท้าทายผู้ชมสำหรับคนที่ชอบของแปลก ตัวเรื่องกับการแสดงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเลย
จุดสังเกต
- พึ่งดวงในการจะดูให้รู้เรื่องมากไป ตอนบังคับจบสีขาวก็ยังไม่ได้ว้าวขนาดนั้น ตอนสีชมพูเหมือนแถมยัดมามู้ดไม่เข้ากับใครเลย และสุดท้ายคุณภาพงานแปลพากย์ไทยค่อนข้างแย่เลยทีเดียว
-
บท
7.0
-
โปรดักชัน
6.5
-
การแสดง
7.5
-
ความสนุกตามแนวหนัง
7.5
-
ความคุ้มค่าการรับชม
7.0
เรื่องย่อ: การทรยศหักหลังของอดีตเพื่อนรักนักปล้น ที่นำมาสู่การล้างแค้นด้วยการปล้นตู้เซฟที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง ในอีก 24 ปีถัดมา
เน็ตฟลิกซ์ยังคงอาศัยความเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงเพื่อสร้างนวัตกรรมการเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ นับตั้งแต่การปล่อยผู้ชมเลือกเส้นทางของตัวละครนำในหนัง ‘Black Mirror: Bandersnatch’ (2018) จนถึงซีรีส์ที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมในการช่วยแบร์ กริลส์ (Bear Grylls) ออกผจญอันตรายในธรรมชาติอย่าง ‘You vs. Wild’ (20109) เป็นต้น
และสำหรับ ‘Kaleidoscope’ เป็นซีรีส์แนวดราม่าอาชญากรรมจำนวน 8 ตอน ที่ขายจุดเด่นตรงสุ่มเรียงลำดับตอนไม่เหมือนกันในแต่ละแอกเคาต์ที่รับชม และแทนที่จะใส่เป็นตัวเลขลำดับในแต่ละตอน แต่ละตอนจึงใช้เป็นชื่อสีต่าง ๆ แทน ตรงแนวคิดของซีรีส์ที่กล้องสลับลาย (Kaleidoscope) จะแปรเปลี่ยนลายไปทุกครั้งที่มีการเขย่าส่องดู โดยสีกับลายก็อิงตามวัตถุสีต่าง ๆ ที่บรรจุในกล้อง ผู้ชมแต่ละคนจึงได้รสชาติการรับชมซีรีส์นี้ที่แตกต่างกันไป
ความฉลาดของผู้สร้างสรรค์ซีรีส์อย่างนักเขียน อีริก การ์เซีย (Eric Garcia) ที่เคยมีผลงานหนังสือนิยายอย่าง ‘Matchstick Men’ (2003) ที่ได้ผู้กำกับ ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) ไปดัดแปลงเป็นหนัง รวมถึงนิยายที่กลายเป็นหนัง ‘Repo Men’ (2010) ด้วย ไอเดียของการ์เซียคือการให้แต่ละตอนแทนช่วงเวลาของเรื่องที่แตกต่างกัน ตอนหนึ่งเป็นช่วงหลายสัปดาห์ก่อนปล้น อีกตอนหนึ่งเป็นช่วงหลายปีก่อนนั้น โดยตอนสุดท้ายจะถูกบังคับให้เป็นตอนสีขาวที่เหตุการณ์ปล้นดำเนินจริง
ในแต่ละตอนเองก็จะมีการเปิดเผยความสัมพันธ์ของตัวละครหลายกลุ่มที่โยงกันไปมา โดยมีศูนย์กลางเดินเรื่องเป็นจอมโจรอัจฉริยะ เรย์ เวอร์นอน ที่แสดงนำโดยนักแสดงผิวดำมากฝีมือ จิอันคาร์โล เอสโปซิโต (Giancarlo Esposito) เวอร์นอนมีปมอดีตแค้นที่ยาวนานกับอดีตเพื่อนรักร่วมปล้นอย่าง เดวีส์ ที่รับบทโดย รูฟัส ซีเวลล์ (Rufus Sewell) จนทำให้เวอร์นอนต้องติดคุกหลายสิบปี ปล่อยฮันนาห์ลูกสาวที่ยังเล็กต้องกำพร้าทั้งพ่อและแม่
เหตุการณ์ผ่านมาหลายปีเดวีส์สร้างตัวตนใหม่ที่ชื่อ ซาลาส เขาเป็นเจ้าของบริษัทรักษาความปลอดภัยชั้นนำ และรับฮันนาห์มาเป็นพนักงาน เวอร์นอนที่ยังเจ็บแค้นยิ่งไม่พอใจที่เดวีส์ได้ทุกอย่างที่เป็นของเขาไปแม้แต่ความรักของลูกสาวตัวเอง เขาจึงรวมอาชญากรมากความสามารถมาวางแผนปล้นตู้เซฟที่เจาะยากระดับโลกของเดวีส์เพื่อชิงเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์และทำลายชื่อเสียงของอดีตเพื่อนรักไปพร้อมกัน
แน่นอนว่าระหว่างทางนั้นทีมปล้นเองก็ต้องเผชิญอุปสรรคหลายอย่าง เปิดโอกาสให้การ์เซียเขียนบทแต่ละตอนให้มีไฮไลต์เป็นของตนเอง อย่างเช่นตอนหนึ่งอาจมีเรื่องการชิงไหวพริบกับเอฟบีไอ บางตอนเป็นภารกิจย่อยที่ทีมต้องออกปล้นย่านค้าเพชรเพื่อหาเงินทุนมาทำแผนใหญ่ เป็นต้น ดังนั้นแต่ละตอนของซีรีส์จึงมีจุดแข็งของตัวเอง โดยปมใหญ่สุดที่พยายามเคลือบบรรยากาศไว้ในทุกตอนคือมีการชิงเหลี่ยมทรยศหักหลังภายในทีมปล้นที่ต่างคนก็มีความลับซ่อนไว้ ไม่รู้ว่าใครคือใครอยู่ด้วย
ว่ากันตามตรงส่วนตัวได้รับการสุ่มเรียงตอนที่ไม่ได้ถือว่าดีที่สุดนัก แต่ก็ยังพอดูได้สนุกบ้างเพราะเปิดตอนด้วยการแหกคุกเมื่อ 7 ปีก่อนของเวอร์นอน และเป็นตอนที่ทำให้เข้าใจบุคลิกของตัวละครนำดีกว่าตอนอื่นทำให้ค่อย ๆ รู้จักตัวละครอื่นแต่เนิ่น ๆ แต่สำหรับบางตอนก็ทำให้เรารู้เฉลยของจุดหักมุมบางอย่างไวเกินไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งถ้าใครโดนสุ่มไปเจอตอนเหตุการณ์หลังการปล้นมาเป็นตอนแรกที่ได้ชมก็ต้องบอกเลยว่า งงบรมแน่นอน เพราะไม่มีการเกริ่นปูตัวละครใดให้ก่อนทั้งสิ้น และจะเห็นแต่ผลลัพธ์สุดอลหม่านเกิดขึ้นแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุเลย
ถ้าแนะนำจริง ๆ เราควรเลือกชมตอนเองอาจจะดีที่สุด หากไล่เรียงตามลำดับเวลาของเรื่องราวให้ง่ายต่อความเข้าใจก็ควรไล่ไปจากตอนเมื่อ 24 ปีก่อนการปล้นไปจนถึงเหตุการณ์หลังการปล้น โดยเรียงจาก สีม่วง / สีเขียว / สีเหลือง / สีส้ม / สีฟ้า / สีขาว / สีแดง / สีชมพู
แต่ถ้าอยากจะให้เรียงอย่างมีชั้นเชิงหน่อยก็เรียง สีเขียวขึ้นก่อนสีม่วง ก็เก๋ขึ้นแล้ว และเมื่อลองดูแบบเรียงตรงเวลาเราก็จะพบว่าการเล่าเรื่องมันก็ไม่ได้สมบูรณ์นัก เสน่ห์บางอย่างหายไปแลกกับการดูให้รู้เรื่อง แล้วยังจะพบรอยโหว่แหว่งอยู่ที่ไม่เชื่อมประสานทั้งเรื่องให้เนียนเป็นเนื้อเดียวกันอยู่บ้างโดยเฉพาะตอนสีชมพูที่มู้ดการเล่าเรื่องไม่เข้ากับใครเลยกลายเป็นแนวตลกร้ายหลุดโลกเสียอย่างนั้น และว่ากันตามตรงถ้าตัดต่อตอนสีขาวที่บังคบจบเสียใหม่ด้วยก็อาจจะดีกว่านี้
เป็นอีกครั้งที่คงต้องบอกว่าเรื่องนี้ดูแบบแปลซับไทยอาจจะให้ความหมายถูกต้องมากกว่าแปลพากย์ไทยด้วย บางฉากนี่พากย์ไทยผิดความหมายน่าเกลียดและตลกมาก ก็อยากให้เน็ตฟลิกซ์ให้ความสำคัญพัฒนาคุณภาพในจุดนี้ด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส