Release Date
06/01/2023
แนว
ดราม่า/ลึกลับ/ระทึกขวัญ
ความยาว
2.10 ช.ม. (130 นาที)
เรตผู้ชม
R (16+)
ผู้กำกับ
สก็อตต์ คูเปอร์ (Scott Cooper)
SCORE
7.4/10
Our score
7.4The Pale Blue Eye | เดอะ เพล บลู อาย
จุดเด่น
- ออกแบบคาแรกเตอร์และบทให้ตัวละครมีความน่าสงสัยและไม่น่าไว้ใจได้อย่างดี
- โปรดักชัน งานด้านภาพ คอสตูม โลเกชัน ถ่ายทอดบรรยากาศนิวยอร์คในศตวรรษที่ 19 ที่ปกคลุมด้วยหิมะออกมาได้สวยงาม แต่ก็ชวนให้รู้สึกถึงความเก่า ผสมความเวิ้งว้างหม่นหมองเขย่าขวัญได้น่าสนใจ
- สะท้อนเรื่องราวประเด็นนฉาวโฉ่ของระบบอำนาจนิยมที่แฝงอยู่ในระบบทหาร รวมทั้งประเด็นด้านศาสนา ความเชื่อ ได้เฉียบคม
- คริสเตียน เบล คือตัวแบกของหนังแบบไม่ต้องสงสัย ฝีมือการแสดงเฉียบขาด โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายของหนัง
- แฮร์รี เมลลิง รับบทกวีหนุ่มได้มีชีวิตชีวาน่าสนใจมาก
- ครึ่งแรกของหนังให้บรรยากาศการสืบสวนสอบสวนได้ตื่นเต้น บรรยากาศลึกลับชวนลุ้น
- เสียงพากย์ไทยหม่นมาก อย่างกับ 'Dark Knight' 555 ยิ่งคาแรกเตอร์พี่เบลแกดูเป็นนักสืบหม่น ๆ ที่มีปมอดีตชีวิตบัดซบอยู่แล้วด้วยนี่คือทรงอย่างแบท (แมน) แซดอย่างบ่อยชัด ๆ
จุดสังเกต
- มีฉากโหด เลือด ความรุนแรง ติดเรต R ไม่เหมาะนั่งดูกับเด็ก
- ไดอะล็อกมีความเจ้าบทเจ้ากลอน เลียนศัพท์แสงภาษาเขียนสไตล์โบราณทั้งเรื่อง คนที่ไม่ชอบอาจเบื่อ
- ไม่ใช่หนังโปรดสำหรับคอหนังอาชญากรรมพ่วงแอ็กชัน หรือแนวสืบสวนสอบสวนไล่เก็บเบาะแสสายจริงจัง
- ครึ่งหลังมีอาการเนือยหนืดจากการเล่าเรื่องข้างเคียง หากกระชับได้กว่านี้ก็จะดีมาก
-
คุณภาพด้านการแสดง
7.7
-
คุณภาพโปรดักชัน
8.0
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
7.1
-
ความบันเทิง
6.8
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
7.2
Netflix ยังคงเข็นหนังแนวสืบสวนสอบสวนหลากแนวหลายสไตล์มาให้เหล่าสมาชิกได้ชมกันอยู่เรื่อย ๆ นะครับ เปิดศักราชด้วย ‘The Pale Blue Eye’ เรื่องนี้นี่แหละ โดยมีจุดขายอยู่ที่เป็นหนังแนวรหัสคดีสืบสวนสอบสวนแนวพีเรียดในช่วงศตวรรษที่ 18 พร้อมด้วยนักแสดงนำระดับ A-List อย่าง คริสเตียน เบล (Christian Bale) ซึ่งพอเปิดตัวมาก็ทำสถิติขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ของ Netflix กว่า 50 ประเทศได้ตั้งแต่วันแรกที่ฉาย
รวมทั้งการที่เรื่องราวส่วนหนึ่ง อ้างอิงมาจากชีวิตจริงของนักเขียนและกวีในตำนานอย่าง เอ็ดการ์ แอลลัน โพ (Edgar Allan Poe) ผู้บุกเบิกงานเขียนแนวสืบสวนสอบสวนและอาชญนิยายเป็นคนแรก เป็นนักเขียนและกวีที่ได้รับการยกย่องเป็นปรมาจารย์ด้านนิยายสยองขวัญ ซึ่งเรื่องราวในหนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือนิยายชื่อเดียวกัน ผลงานของ หลุยส์ เบยาร์ด (Louis Bayard) นักเขียนชาวอเมริกันที่ตีพิมพ์ในปี 2013
จนกระทั่งปี 2020 Netflix ก็ลงทุนทุ่มซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ล่วงหน้าด้วยเม็ดเงิน 55 ล้านเหรียญ หรือราว 1,690 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเม็ดเงินที่สูงมากสำหรับอุตสาหกรรมหนังของยุโรป ได้ สก็อตต์ คูเปอร์ (Scott Cooper) จาก ‘Crazy Heart’ (2009) มารับหน้าที่กำกับและเขียนบท และก็ดึงเอาพี่เบล ที่เคยร่วมงานกับคูเปอร์มาแล้วใน ‘Hostiles’ (2017) และ ‘Out of the Furnace’ (2013) กลับมาร่วมงานแสดงเป็นครั้งที่ 3 และยังรับหน้าที่โปรดิวเซอร์ร่วมกันอีกด้วย
ศูนย์กลางของเนื้อเรื่องทั้งหมดเริ่มต้นที่โรงเรียนเตรียมทหารเวสต์พอยต์ (West Point Academy) กรุงนิวยอร์ก ในช่วงฤดูหนาวปี 1830 เมื่อ นนร. ลีรอย ฟราย (Steven Maier) ถูกพบเป็นศพถูกแขวนคอบนต้นไม้ เพื่อไม่ให้ข่าวร้ายแพร่งพรายออกไปนอกรั้ว ร้อยเอกฮิตช์ค็อก (Simon McBurney) จึงได้เรียกตัว ออกัสตัส แลนดอร์ (Christian Bale) นักสืบท้องถิ่นผู้เกษียณงานวัยกลางคน ผู้มีปมอดีตหลังจากที่ แพตซี (Charlotte Gainsbourg) ลูกสาวของเขาหายตัวไป มารับหน้าที่สืบสาวต้นตอ แต่ที่แปลกก็คือ คนร้ายยังควักเอาหัวใจของเหยื่อไปด้วย นักเรียนนายร้อยก็แทบไม่มีใครยอมปริปากเพื่อให้ข้อมูล จะมีก็แค่ นนร. เอ็ดการ์ แอลลัน โพ (Harry Melling) นักเรียนนายร้อยผู้ใฝ่ในทางกวี ที่ยอมให้เบาะแส และอาสาช่วยแลนดอร์ในการไขคดีสุดเขย่าขวัญนี้ร่วมกัน
สิ่งที่น่าจะเป็นเสน่ห์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้ ในบรรดาหนังแนวรหัสคดีก็คือ การหยิบจับเอาบรรยากาศของนิวยอร์กในช่วงศตวรรษที่ 18 หรือเมื่อ 193 ปีที่แล้ว (ตรงกับปีที่ เอ็ดการ์ แอลลัน โพ เข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหารจริง ๆ พอดี) มาใช้ แถมยังเป็นช่วงหน้าหนาวอีก ธีมบรรยากาศโดยรวมทั้งงานภาพ โปรดักชัน โลเกชันจึงเต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบโบราณที่เวิ้งว้าง เงียบสงัด รู้สึกได้ถึงความมืด ๆ ชื้น ๆ ติดกลิ่นอายกอธิก (Gothic) ที่แทรกซึมลงมาในหนัง รวมทั้งเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับศาสนา และตัวหนังที่เต็มไปด้วยไดอะล็อกภาษาภาษาเขียนโบราณ ๆ มีความเป็นบทกวีหน่อย ๆ ซึ่งถ้าใครไม่อินก็คงไม่ชอบ แต่โดยรวมก็ถือว่าเซตบรรยากาศออกมาได้ออกมาดาร์กและสยองขวัญในระดับหนึ่งเลยแหละ
แต่ในครึ่งหลัง ตัวหนังกลับเริ่มค่อย ๆ ลดความ Suspense ลงอย่างเห็นได้ชัดครับ โดยเฉพาะช่วงกลาง ๆ เรื่องก่อนลากเข้าสู่ไคลแม็กซ์ ที่แม้ในพาร์ตนี้จะเป็นพาร์ตสำคัญที่เริ่มพุ่งเป้าหาตัวฆาตกร และเริ่มจับเบาะแสบางอย่างของฆาตกรได้บ้างแล้ว แต่ตัวหนังในช่วงนี้กลับหันไปเน้นการเล่าเรื่องข้างเคียง เช่นปูมหลังของตัวละคร และเรื่องราวประกอบอื่น ๆ ที่ไม่ได้ให้ข้อมูลในเชิงเบาะแสมากนัก เน้นปูคาแรกเตอร์ตัวละครหลักและตัวละครเสริมเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยทำให้ตัวหนังที่บิลต์ด้วยจังหวะเนิบช้า กลายเป็นช้าจนย้วยไปเลย ยังดีที่การแสดงของ คริสเตียน เบล (Christian Bale) ยังคงตรึงสายตาเอาไว้ได้
อีกจุดที่ผู้เขียนชอบโดยส่วนตัวก็คือ การที่ตัวหนังเอาเกร็ดประวัติเล็ก ๆ น้อย ๆ จากประวัติชีวิตของ เอ็ดการ์ แอลลัน โพ มาร้อยเรียงเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว และเป็น Easter Egg เอาไว้ได้น่าสนใจใคร่รู้มาก ๆ ถ้าใครรู้เกร็ดพวกนี้ก็จะเอ๊ะได้แน่ ๆ แหละ ซึ่งถ้าอิงตามประวัติ โพก็เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์เมื่อตอนอายุ 21 ปีจริง ๆ (แต่เรียนได้ไม่ถึงปีก็โดนไล่ออก) รวมทั้งการที่ชีวิตของเขามักจะผูกพันกับความตาย หรือแม้แต่ความเป็นหนอนหนังสือและเป็นเนิร์ดในด้านกวี ที่พอได้ แฮร์รี เมลลิง (Harry Melling) นักแสดงหนุ่มที่มีโครงหน้าคล้ายกับโพ รวมทั้งการแสดงแบบพูดเยอะพลางโบกไม้โบกมือมาแสดงบทบาทนี้ ก็เรียกได้ว่าลงล็อกกับคาแรกเตอร์ได้ดีทีเดียว
พอมารวมเข้ากับจังหวะการเดินเรื่อง โดยเฉพาะในครึ่งแรกที่ค่อย ๆ บิลต์บรรยากาศความดาร์กขึ้นมาทีละนิด ผสมกับกลิ่นอายความสยองขวัญด้วยการเผยให้เห็นภาพศพและบาดแผลแบบเรต R จนไม่เหมาะที่จะนั่งดูกับเด็ก รวมทั้งการปูเรื่องให้คนดูรู้สึกตะหงิด ๆ กับกลไกอำนาจนิยมภายในโรงเรียนเตรียมทหารแห่งนี้ และความโหดร้ายผิดมนุษย์ของฆาตกร ก็ยิ่งสร้างบรรยากาศความสยองขวัญ ความไม่น่าไว้วางใจยิ่งกว่าเดิม ยิ่งบทปูเรื่องให้บางตัวละครเข้าไปใกล้รูปคดีมากขึ้น ก็ยิ่งชวนให้ไม่ไว้ใจหนักเข้าไปอีก ทำให้ในครึ่งแรกของหนังสามารถสร้างบรรยากาศการสืบสวนออกมาได้เยือกเย็น และคลี่คลายไปสู่บรรยากาศหนังทริลเลอร์ที่มีความ Suspense ลอยอวลเต็มไปหมด
และการแสดงของเขาก็มาระเบิดเอากับ 30 นาทีสุดท้าย ที่ถือว่าเป็นการหักศอกที่เล่นเอาเหวอไปเหมือนกันนะครับ คือมันเป็นการหักศอกเรื่องราวทั้งหมดที่ปูมาได้แบบพลิกความคาดหมายสุด ๆ ซึ่งถ้านี่เป็นการหักศอกเพื่อปิดเรื่องราวในฐานะหนังดราม่าทริลเลอร์ อันนี้ถือว่าเป็นการหักมุมที่รุนแรงและ Epic มาก ๆ โดยเฉพาะการเฉลยเรื่องให้เห็นถึงมูลเหตุที่แท้จริงของฆาตกร โดยเฉพาะความเกลียดชังแค้นเคืองในระบบอำนาจนิยมทหารของตัวฆาตกร จนกลายเป็นมูลเหตุจูงใจในการฆ่า ซึ่งพอประกอบกับปูมหลังสุดบัดซบ มันก็ถือว่าเป็นแรงจูงใจที่มีน้ำหนัก และชวนให้สลดหดหู่ใจจนน้ำตาซึมได้ไม่ยากเลย
แต่ถ้ามองด้วยแว่นตาของหนังแนวรหัสคดี เอาตามตรงก็ต้องบอกว่า ตัวหนังเองออกแบบการวางเบาะแสและกลวิธีในการไขคดีเอาไว้อย่างไม่ซับซ้อนนะครับ ก็เลยทำให้กลวิธีในการไขคดีออกมาค่อนข้างเบาบาง ยิ่งพอถึงช่วงหักศอก แม้จะรู้สึกคาดไม่ถึงอยู่เนือง ๆ แต่มันก็ยังอยู่ในขอบข่ายที่ถ้าสังเกตคาแรกเตอร์และปูมหลังดี ๆ ก็จะพอจับทางได้ แต่แน่นอนว่า คอนิยายรหัสคดีสายจริงจังนั่งจับผิดก็อาจจะรู้สึกว่า เบาะแสที่ได้มันน้อยเกินไป จนขาดข้อมูลที่มีน้ำหนักพอที่จะล็อกเป้าชี้ตัวฆาตกรได้แม่น ๆ
ช็อตสุดท้ายของหนังเลยดูคล้ายกับเป็นบทสรุปมูลเหตุจูงใจในคดีความ เพื่อจะบิลต์อัปเรื่องไปสู่ไคลแม็กซ์ที่ผูกกับปมดราม่าชีวิตบัดซบของตัวละคร มากกว่าจะเป็นการเฉลยเบาะแสคดี ชี้ตัวคนร้ายให้คนดูคลายข้อสงสัยถึงความเกี่ยวพันกับเบาะแส และแรงจูงใจของฆาตกรแบบฉลาด ๆ เหมือนอย่างที่คุ้นเคยกันดีในหนังรหัสคดีเรื่องอื่น ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เขียน ‘The Pale Blue Eye’ ก็ถือว่าเป็นหนังแนวรหัสคดีและอาชญนิยายที่ยังมีความน่าสนใจและน่าติดตามนะครับ โดยเฉพาะการแสดงของ คริสเตียน เบล ที่ยังไงก็ไม่ผิดหวัง โดยเฉพาะ 30 นาทีสุดท้ายสุดหม่นหมอง รวมทั้งบรรยากาศภายใต้ธีมอันแสนหม่นหมองที่ชวนขนลุกไม่น้อย ถ้าหวังว่าจะดูเอาบันเทิง โดยเฉพาะความยาวหนัง 2 ชั่วโมงนิด ๆ ที่มีจังหวะตกท้องช้าง และความเชย ก็ถือว่าเป็นยาขมสำหรับสายแมสอยู่สักหน่อย แต่ตัวหนังก็ยังน่าติดตามด้วยลึกของการวางองค์ประกอบ เรียงร้อยเรื่องราว และประเด็นในการสะท้อนประเด็นเกี่ยวกับความดำมืดของจิตใจของมนุษย์ และชำแหละความน่าสยดสยองของอำนาจนิยมได้ออกมาน่ากลัวยิ่งกว่าฆาตกรฆ่าควักหัวใจเสียอีก
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส