![[รีวิว] Babylon – นครดารา กับประวัติศาสตร์ฮอลลีวูดฉบับเมายา](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2023/01/Babylon-บาบิลอน-374x540.jpg)
Our score
6.5Release Date
19/01/2023
แนว
ตลก/ดราม่า
ความยาว
3.08 ช.ม. (188 นาที)
เรตผู้ชม
R
ผู้กำกับ
เดเมียน ชาเซลล์ (Damien Chazelle)
SCORE
6.5/10
![[รีวิว] Babylon – นครดารา กับประวัติศาสตร์ฮอลลีวูดฉบับเมายา](https://www.beartai.com/wp-content/uploads/2023/01/Babylon-บาบิลอน.jpg)
Our score
6.5Babylon | บาบิลอน
จุดเด่น
- 3 นักแสดงหลักโชว์พลังสู้แรงหนังได้น่าประทับใจ โดยเฉพาะมาร์โกต์ ร็อบบี ที่ไปสุดทางจริง ๆ
- งานภาพ ลองเทค การตัดต่อ โปรดักชัน หวือหวาเร้าใจสุด ๆ
- เพลงสกอร์ที่เป็นเพลงแจ๊สเร้าหูเร้าใจมาก
- เก็บรายละเอียดฮอลลีวูดยุค 1920 ได้ละเอียดและละเมียดมาก คนรักหนัง คนเรียนฟิล์มต้องดู
จุดสังเกต
- ตัวหนังมีบางส่วนที่ยาวยืดเกินไป เน้นบางอย่างมากเกิน จนทำให้หนังบางส่วนมีความไม่ลงตัวนัก และทำให้ตัวหนังหาจังหวะลงได้ไม่ค่อยสวย
- มีพล็อตบางส่วนที่คัลต์จนแอบหลุดโทนหนังไปบ้าง
- พล็อตช่วงองก์ 2-3 มีมุกเชย ๆ ที่ไม่ทำงานอยู่ค่อนข้างเยอะ
-
คุณภาพด้านการแสดง
8.3
-
คุณภาพโปรดักชัน
7.2
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
6.1
-
ความบันเทิง
5.4
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
5.4

โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่า เดเมียน ชาเซลล์ (Damien Chazelle) คือผู้กำกับระดับออสการ์ที่มีรสมือดีนะครับ เพราะที่ผ่านมากับหนัง 3 เรื่องของเขา แฟน ๆ น่าจะคุ้นกับจริตการปรุงโน่นนิด เติมนี่หน่อย แต่ออกมาอร่อย ทั้ง ‘Whiplash’ (2014) ที่ใส่แบบเดือด ๆ จนทำให้หนังดนตรีแจ๊สมีความระทึกอย่างกับหนังทริลเลอร์ หรือกับ ‘La La Land’ (2016) ที่รู้จักการผสมรสหวานขม เก่าใหม่เรียบง่ายและหวือหวาออกมาได้กลมกล่อมจนคว้าออสการ์ได้หลายรางวัล และ ‘First Man’ (2018) หนังอวกาศที่ก็ดีไม่แพักัน แม้จะไม่ค่อยดังก็เถอะ

ปี 2023 เขากลับมาอีกครั้งกับหนังตลก ดราม่า ผสมพีเรียดอย่าง ‘Babylon’ ครับ ที่คราวนี้ชาเซลล์ก็ยังรับหน้าที่กำกับ และเขียนบทเองเหมือนในทุก ๆ เรื่อง ด้วยทุนสร้าง 70-80 ล้านเหรียญที่ถือว่าสูงที่สุดในหนังทุกเรื่อง เลยขนนักแสดงโปะหน้าหนังมาแบบพูน ๆ ไล่ตั้งแต่ แบรด พิตต์ (Brad Pitt), มาร์โกต์ ร็อบบี้ (Margot Robbie), ดิเอโก คาลวา (Diego Calva), จีน สมาร์ต (Jean Smart), โอลิเวีย ไวลด์ (Olivia Wilde),โทบี แม็กไกวร์ (Tobey Maguire) และ ฟลี (Flea) มือเบสสุดกวนก็มาร่วมแจมด้วย

หนังเล่าเรื่องของลอสแองเจลิสในช่วงทศวรรษ 1920 ช่วงที่ฮอลลีวูดกำลังเปลี่ยนผ่านจากภาพยนตร์เงียบ สู่การเป็นภาพยนตร์เสียง ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ฮอลลีวูดกำลังรุ่งเรืองสุดขีด แจ็ก คอนราด (Brad Pitt) ดารารุ่นใหญ่จอมเจ้าชู้ ที่กำลังเป็นดาราดาวรุ่งแห่งยุคหนังเงียบ เนลลี ลารอย (Margot Robbie) หญิงสาวโนเนมผู้ Wannabe อยากเป็นดาราหนัง แมนนี ตอร์เรส (Diego Calva) หนุ่มเม็กซิกันอพยพเปี่ยมฝันผู้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของวงการหนัง ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของฮอลลีวูด ที่เปี่ยมไปด้วยชื่อเสียง อำนาจ เงินทอง จนทำให้เกิดความทะเยอทะยาน พฤติกรรมสุดเหวี่ยงแสนเสื่อมทราม ที่นำพวกเขาไปสู่ความล่มสลายไม่ต่างจากอาณาจักรบาบิโลเนีย

สัมผัสแรกกับผู้เขียนกับหนังเรื่องนี้ (ที่คุ้นชินกับหนังชาเซลล์) คือความเยอะแยะแบบไม่อะไรกับใครเลยครับ คือเปิดมาก็ใส่เลย หนังค่อย ๆ ปูเรื่องด้วยความวายป่วงตั้งแต่ต้นเรื่อง ในขณะเดียวกันก็ใส่กลิ่นอายความเป็นชาเซลล์เข้ามา ทั้งกลิ่นอายเพลงแจ๊สผสมจังหวะกลองที่ลอยเด่น การตัดต่อ มุมกล้องหวือหวา ลองเทกยาว ๆ ใส่ลูกบ้ามัน ๆ แบบ ‘Whiplash’ และกลิ่นอาย Coming of Age ของคนกระจอกล่าฝันใน ‘La La Land’ แต่อันนี้เป็นลาลาแลนด์เวอร์ชันเมาหัวทิ่มแค่นั้นเอง

แล้วหนังก็เลี้ยงเราด้วยเหล้ายาปลาปิ้งแบบเต็ม ๆ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า นี่คือหนัง 3 ชั่วโมงที่เป็นเรต R นะ เลยจัดมุกทรงแบด แรดขั้นสุด มุกสกปรก มุกใต้สะดือ ยาเสพติด ความรุนแรง ภาพเปลือยและกิจกรรมทางเพศแบบโจ๋งครึ่มเลย ซึ่งหลายมุกแม้ว่าจะไม่ได้เกินคาดมากนัก แต่ก็เรียกว่าทำงานให้ฮาแรง ๆ ได้อยู่ ในขณะที่ก็เลี้ยงเราด้วยความอลังการฟอร์มยักษ์ของงานสร้าง โปรดักชันที่เก็บละเอียดทุกเม็ด และเพลงแจ๊สบ้าพลัง ที่บังคับให้เรา ดื่ม สูบ ลูบไล้ล้วงควักหนังแบบทะลักพิกัดไปก่อน หนังเหนิงปูร่งปูเรื่องอะไรช่างมัน

แต่เห็นเล่นมุก 18+ แบบนี้ แต่ถือว่าหนังยังคงมีสาระและแก่นแกนที่แข็งแรงนะครับ และก็เป็นอีกครั้งที่ชาเซลล์เลือกเอาธีมความเป็นฮอลลีวูดมาใช้ ด้วยการใส่รายละเอียดของคนทำหนังยุคนั้นลงไปได้อย่างเนิร์ดเลย รวมทั้ง Trivia เบื้องหลังเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่าง ๆ ของฮอลลีวูด ที่ผู้เขียนคิดว่าคนรักหนัง และคนเรียนฟิล์มน่าจะชอบใจมากทีเดียว แต่ในขณะเดียวกัน หนังก็ทำหน้าที่แฉเบื้องหลังอันโหดร้ายทุเรศทุรังของคนในวงการหนังเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ไล่ตั้งแต่นายทุน โปรดิวเซอร์ ทีมงาน ผู้กำกับ นักแสดงหลัก นักแสดงประกอบ ช่างแต่งหน้า ช่างเขียนป้ายอักษร (Title Card) ในหนังเงียบ แม้แต่นักเขียนข่าววงการหนัง

และยังชำแหละความอึดอัดคับข้องใจ ด้วยการเอาประเด็นของคนทำงานที่ยังขาด Know-How และการจัดการอย่างเป็นมืออาชีพ และความเอาเปรียบของคนในวงการ หรือแม้แต่เรื่องของคนในวงการที่เป็นเพศทางเลือก คนดำ ตัวประกอบ ที่เจ็บปวดจากการถูกเลือกปฏิบัติ มาชำระตีความใหม่ได้สมจริงและน่าสนใจมาก รวมถึงการสะท้อนไปถึงสัจธรรมการเปลี่ยนผ่าน ที่ทำให้ตัวละครต่างก็ต้องดิ้นรนเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตายไปจากวงการ แต่ถึงกระนั้นก็ยังสะท้อนอีกด้านให้เห็นว่า แม้ตัวคนในวงการจะตายจากไป แต่ภาพยนตร์และโลกแห่ง Cinematic นี่แหละที่จะยังคงอยู่คู่โลกไปอีกนานอีกนับร้อย ๆ ปี

แต่แม้หนังจะมี Massage ที่แข็งแรงมาก ๆ และที่นำเสนอทุกอย่างได้ออกมาหวือหวาจัดจ้าน แต่ในหลาย ๆ ส่วนก็ต้องถือว่าเป็นปัญหากับการรับชมจริง ๆ โดยเฉพาะความยาวที่ยาวโคตร 3 ชั่วโมงกว่า ๆ แบบนี้ สิ่งที่น่าเสียดายอย่างแรงอย่างแรกก็คือ การใส่รูปแบบ การเล่าเรื่อง การตัดต่อที่หวือหวาและเยอะสิ่งเยอะอย่างไปหมด ในขณะที่บางซีเควนซ์สะกดคนดูได้อย่างอยู่หมัดด้วยเรื่องราวที่เข้าประเด็น และพลังการแสดงของนักแสดงที่ดึงสายตาไว้ได้ รวมทั้งเพลงสกอร์ฝีมือ จัสติน เฮอร์วิตซ์ (Justin Hurwitz) Composer คู่บุญของชาเซลล์ในทุก ๆ เรื่อง ก็กลับมาบรรเลงเพลงแจ๊สในหนังได้เดือดดาลสุด ๆ อีกจุดที่ผู้เขียนชอบส่วนตัวก็คือการออกแบบเสียงในหนังที่เร้าใจมาก ตรงไหนดังก็อึกทึกไปเลย ตรงไหนเงียบก็คือโคตรเงียบ

แต่ก็มีบางซีเควนซ์ที่ผู้เขียนรู้สึกว่ามันยืดย้วย และในขณะที่บางซีนก็คัลต์เลยเถิดไปไกลมาก จนงงว่ากำลังดูหนังเรื่องเดียวกันอยู่หรือเปล่าไปเลยก็มี ซึ่งทำให้ Pace และ Mood มันพาเราเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาแรงมาก หนังหันไปเน้นบางอย่างจนทำให้ Pace ของเรื่องบางจุดไม่เร็วไปก็ช้าจนยืด และพอเข้าสักประมาณองก์ที่ 2 ของหนัง หนังก็เริ่มแอบสาดมุกฝืด มุกฟุ่มเฟือย มุกเชย ๆ บ้างอะไรบ้าง จนทำให้ Mood ของหนังใน 2 องก์หลังของเรื่องออกมาไม่ลงตัวนัก เหมือนจะตื้นตันแต่ก็เมามาย เหมือนคล้าย ๆ จะหมดมุกเหมือนกัน จนมาปิดท้ายด้วยซีเควนซ์ตัดต่ออันบ้าคลั่ง และหนังเพลง “Singin’ In The Rain” ตอนท้ายเรื่อง (ที่ก็เป็นวิธีบอกรักในสไตล์ชาเซลล์) ถึงรู้สึกได้ว่า นี่แหละอาจจะเป็นสิ่งที่หนัง (และชาเซลล์) ต้องการจะสื่อ

ซึ่งความพยายามจะอัดเราด้วยความ Maximalism มันก็ไม่ผิดล่ะนะครับ เพราะมันก็เป็นจริตหนังอีกแบบที่ดูแล้วก็มันมาก แพรวพราวมาก แต่ด้วยความเยอะของมันนี่แหละ มันส่งผลให้สารเข้ม ๆ ของหนังโดนบดบังด้วยความย้วยและพล็อตคัลต์ ๆ ไปพอสมควร และมันก็ทำให้บทบาทของนักแสดง ที่อุตส่าห์ปูถึงปูมหลังและเบื้องหลังความทะเยอทะยานในฮอลลีวูดของพวกเขาเอาไว้ได้อย่างมีมิติน่าสนใจแล้ว แต่หนังกลับไม่ได้หยิบเอาประเด็นเหล่านั้นกลับมาใช้เสริมมิติ เสริมเสน่ห์ให้กับนักแสดง และความหนักแน่นในเชิงมูลเหตุจงใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้มากเท่าที่ควร จนทำให้เรารู้สึกว่า ในขณะที่ก็พาเราเมามายและฟุ่มเฟือยไปกับรูปแบบอันแพรวพราวนั้น เราเองก็เหมือนจะถอยห่างจากประเด็นอันทรงพลัง และหลงลืมปูมหลังและความรู้สึกที่แท้จริงของตัวละครออกไปมากพอสมควร

แต่ถึงกระนั้นก็ต้องบอกว่าได้นักแสดงคอยช่วยไว้ได้ระดับหนึ่งนะครับ แบรด พิตต์ (Brad Pitt) นี่ยังไงก็เป็น แบรด พิตต์ เป็นดารารุ่นใหญ่ได้กวนดี แอบคล้ายกับบทของ ลีโอนาโด ดิแคพรีโอ (Leonardo DiCaprio) ใน ‘Once Upon a Time in Hollywood’ (2019) อยู่เหมือนกัน เหมือนเป็นโลกคู่ขนาน (555) ส่วน ดิเอโก คาลวา (Diego Calva) หนุ่มเข้มแววตาโศกที่มีแววน่าจะแจ้งเกิดในวงการได้แน่ ๆ แต่ที่เรียกได้ว่าสุด ๆ เลยก็คือ มาร์โกต์ ร็อบบี (Margot Robbie) ครับ ที่เรียกว่าไปสุดจริง ๆ มีเสน่ห์และใช้คำว่า เล่นแม่-ทุกอย่าง จริง ๆ นะครับ มีครบทั้งเสน่ห์ สวย เซ็กซี่ ร้อน เรื้อน ร่าน ฮา บ้า แถมยังมีฉากแฟนเซอร์วิสอีกต่างหาก รับรองได้ว่ามีติดตาหนุ่ม ๆ แน่นอน

‘Babylon’ นี่คือความทะเยอะทะยาน จัดจ้าน เปี่ยมลูกบ้า หยาบคาย เร่าร้อน ยุ่งเหยิง ล้นหลาม พูดเยอะที่สุดของชาเซลล์แล้วล่ะ มันเลยเป็นหนังที่ทำทรงออกมาได้ไม่อะไรกับใครทั้งสิ้น ยังคงเสน่ห์ด้วยมุกฮา การแสดงติดตา เพลงแจ๊สสุดเร้า แต่ถ้าเป็นเครื่องดื่ม หนังเรื่องนี้คงเป็นสุราดีกรีแรง ๆ สักยี่ห้อครับ มันจะมีคนที่ลองแล้วเข็ดเลย ด้วยความสุดเบอร์ไปหน่อย และความประทับใจที่ยังไม่เท่า ‘La la land’ เป็นหนังที่ส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกค่อนไปทางชอบ แต่ถ้าลงสตรีมมิงแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสดูซ้ำได้เรื่อย ๆ เหมือน ‘Whiplash’ หรือเปล่า (ยกเว้นถ้าอยากเห็นซีนนั้นของ มาร์โกต์ ร็อบบี อ่ะนะ (555))

ในขณะที่บางคนอาจค่อย ๆ จิบ เสพความรุ่มรวยของลอสแองเจลิสในยุคที่ยังไม่มีป้าย Hollywood โผล่ขึ้นมา และประวัติศาสตร์ฮอลลีวูดที่คนรักหนังจะชอบมันมาก ๆ แต่นั่นแหละ มันเป็นหนังที่พาเราเมาได้เร็วมาก ๆ ถ้าคุณเป็นคอหนังที่คอแข็ง จิตแข็งพอ ก็ยังหามุมบันเทิง เก็บแก่นดี ๆ เสพความร้ายกาจ เสพความ Love & Hate Relationship (ความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียด) ฮอลลีวูดที่ชาเซลล์ใส่ไว้ในหนังได้แบบลื่น ๆ หรือไม่ก็อาจจะแรงไปจนทำให้เมา อ้วก แล้วก็น็อกจนภาพตัดไปเลยก็เป็นได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส