Release Date
20/01/2023
แนว
ดราม่า/แอ็กชัน/ไซไฟ
ความยาว
1.38 ช.ม. (98 นาที)
เรตผู้ชม
TV-14 (13+)
ผู้กำกับ
ยอนซังโฮ (Yeon Sang-ho)
SCORE
4.3/10
Our score
4.3JUNG_E | จอง_อี | 정이
จุดเด่น
- คอนเซ็ปต์ไซไฟโดยเฉพาะประเด็นความผูกพันระหว่างหุ่นยนต์ เอไอ และมนุษย์ และโลกอนาคตเอาไว้ได้อย่างแข็งแรงมาก
จุดสังเกต
- เนื้อเรื่องเริ่มวนไปวนมาเกี่ยวกับประเด็นแม่ลูก โดยเฉพาะช่วงกลางเรื่อง ทำให้เนื้อเรื่องแทบไม่ไปไหน และเดินได้อืดมาก แม้หนังจะยาวแค่ชั่วโมงครึ่ง
- ตัวร้ายของเรื่องน่ารำคาญมาก ความเวอร์ ตลกเกินเบอร์ โรคจิตแบบไม่มีเหตุผล รวมกันกลายเป็นนิสัยเพี้ยน ๆ หลุดธีมหนัง มากกว่าจะดูน่ากลัว
- ฉากแอ็กชันที่พอดูเอามันได้มีเพียงแค่ต้นเรื่องกับท้ายเรื่อง
- วางพล็อตดราม่าได้เกือบซึ้ง แต่ก็ดูแปลก ๆ อยู่ดี เหมือนยังไปไม่สุด
- ปมบางอย่างของนางเอกก็ไม่รู้ว่าจะมีทำไม
- งาน VFX ส่วนใหญ่ไม่ถึงขั้นแย่ แต่ยังไม่เนียนมากนัก เป็นไปตามสเกลหนังสตรีมมิง
- หาทางออกให้กับเรื่องด้วยพล็อตที่ทำลายความล้ำที่อุตส่าห์ปูเรื่องมาซะเยอะแยะลงเสียสิ้น
-
คุณภาพด้านการแสดง
3.7
-
คุณภาพโปรดักชัน
5.0
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
4.1
-
ความบันเทิง
4.5
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
4.2
เกาหลีตอนนี้เรียกว่าไม่ได้มีแค่ดราม่าหรือซอมบี้แล้วล่ะครับ เพราะอย่างที่ทราบว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว วงการเกาหลีใต้เริ่มประกาศศักดาด้วยการทุ่มทุนสร้างหนังไซไฟได้ออกมาชนิดที่ฮอลลีวูดยังต้องหนาว ๆ ร้อน ๆ และในปีนี้ Netflix กลับมารันวงการหนังไซไฟอีกครั้งกับ ‘JUNG_E’ หรือ ‘จอง_อี’ หนังไซไฟเกาหลีเรื่องล่าสุด โดยได้ ยอนซังโฮ (Yeon Sang-ho) ผู้กำกับที่เคยโด่งดังสุด ๆ กับหนังซอมบี้เกาหลี ‘Train to Busan’ (2016) และ ‘Peninsula’ (2020) รวมทั้งซีรีส์ Netflix อย่าง ‘Hellbound’ (2021) มารับหน้าที่เขียนบทและกำกับ และได้นักแสดงอย่าง คังซูยอน (Kang Soo-youn) นักแสดงที่หายหน้าจากวงการภาพยนตร์ไปนับสิบปีกลับมาแสดงด้วย และก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่หนังเรื่องนี้เป็นผลงานสุดท้าย ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลงเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2022 หลังจากถ่ายทำเสร็จสิ้นไม่นาน
หนังเล่าเรื่องช่วงเวลาศตวรรษที่ 22 โลกกำลังแหลกเหลวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอันรุนแรง มนุษย์จึงต้องอพยพไปอยู่ในอาณานิคมบนพื้นที่อวกาศระหว่างโลกกับดวงจันทร์ที่มีอยู่ 80 แห่ง แต่อาณานิคมหมายเลข 8, 12 และ 13 ได้ประกาศตัวเองเป็นสาธารณรัฐเอเดรียน และได้สร้างกองทัพหุ่นยนต์เพื่อโจมตีโลกและอาณานิคมอื่น ๆ จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างกองกำลังพันธมิตรของรัฐบาล และสาธารณรัฐเอเดรียน
ยุนจองอี (Kim Hyun-joo) ทหารรับจ้างหญิงฝีมือดีของกองกำลังพันธมิตร ต้องเป็นทหารรับจ้างเพื่อหาเงินมารักษา ยุนซอฮยอน (Kang Soo-youn) ลูกสาวของเธอที่ป่วยด้วยโรคเนื้องอกในปอด ในวันที่ซอฮยอนเข้ารับการผ่าตัด จองอีได้ทำภารกิจต่อสู้ แต่กลับล้มเหลว จนทำให้เธอตกอยู่ในภาวะโคม่า หน่วยงานโครนอยด์ (Kronoid) สถาบันพัฒนาด้านเทคโนโลยี AI ได้ทำข้อตกลงที่จะคัดลอกข้อมูลจากสมองของจองอีเพื่อนำไปพัฒนากองทัพหุ่นยนต์ ส่วนลูกสาวอย่างซอฮยอน โตขึ้นกลายเป็นหัวหน้าทีมวิจัยโครงการนี้ ภายใต้การควบคุมของผู้อำนวยการ Kronoid จอมเวอร์วังอลังการอย่าง ซังฮุน (Ryu Kyung-Soo)
แค่อ่านเรื่องก็รู้สึกได้ใช่ไหมครับว่านี่มันพล็อตหนังไซไฟสงครามอวกาศแบบฮอลลีวูดนี่นา และแน่นอนว่าต้องมีความรู้สึกอยากเห็นฉากรบพุ่งกันระหว่างคนกับหุ่นยนต์ คนกับ AI หรืออย่างน้อย ๆ ก็เป็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ของคนตัวเล็ก ๆ กับนโยบายทุเรศทุรังของหน่วยงานรัฐ อะไรทำนองนี้ และจะว่าไป หนังมีวัตถุดิบที่ล้ำค่ามาก ๆ นั่นก็คือ Massage ของหนังครับ มันไม่ใช่แค่สงครามรบพุ่งระหว่างคนกับหุ่นยนต์ หรือแนวหุ่นยนต์ครองโลกแบบที่ฮอลลีวูดทำกันมาแล้วล่ะ แต่มันล้ำเลยไปพูดถึงของจริยธรรมและมนุษยธรรมของ AI และการหวงแหนข้อมูลส่วนบุคคล ที่ไม่ใช่แค่ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเท่านั้นแล้ว แต่มันเป็นข้อมูลในสมองของเราเองต่างหาก ตัวบทตั้งคำถามเอาไว้ได้น่าทึ่งมากนะครับว่า ถ้าวันหนึ่งเกิดเราตายไป แล้วมีคนจุ๊บขโมยเอาข้อมูลจากสมองของเราเอาไปใส่ในหุ่น AI เพื่อให้หุ่นยนต์เลียนแบบการทำงานของเรา คำถามคือ หุ่นยนต์ตัวนั้นจะถือว่าเป็น ‘ตัวเรา’ ด้วยหรือเปล่า ?
แล้วเราควรมีความผูกพันในฐานะที่มีส่วนหนึ่งของเรา (หรือญาติของเรา) ฝังอยู่ในหุ่นยนต์ตัวนั้นไหม ข้อมูลในสมองจะต้องได้รับการปกป้องหวงแหนได้มากแค่ไหน เกิดวันหนึ่งมีคนเอาข้อมูลสมองของเราไปทำโน่นทำนี่แบบมั่ว ๆ เช่น อยู่ดี ๆ ก็เอาไปใส่ในชิปหม้อหุงข้าว หรือแม้แต่เอาไปใส่ใน Sex Doll เราจะมีสิทธิ์ปกป้องหวงแหนในฐานะข้อมูลของคนจริง ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่หนังปูไว้แข็งแรงมากนะครับ ถ้าใส่พล็อตดี ๆ ลงไป ก็กลายเป็นหนังไซไฟพล็อตล้ำ วิสัยทัศน์เจ๋งเรื่องหนึ่งของยุคนี้ได้สบาย ๆ เลย
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 1 ชั่วโมงครึ่งก็คือ หนังไม่ได้พาเราไปหาสงครามหรืออะไรเลยครับ อุตส่าห์ปูเรื่องมหากาพย์สงครามเล่นใหญ่อยู่ได้ตั้งนาน แต่กลับเททิ้งประเด็นเกี่ยวกับสงครามไปเสียดื้อ ๆ ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังไซไฟทุนสร้างกลาง ๆ ที่ปะหน้าด้วยแอ็กชันตอนต้นกับท้ายเรื่อง ใครที่หวังแอ็กชันไซไฟมัน ๆ น่าจะผิดหวัง และงานวิชวลเอฟเฟกต์ที่ถือว่าทำได้น่าพอใจ ออกแบบได้ล้ำทันสมัยมาก งานหลายจุดเทียบชั้นฮอลลีวูดได้เลย แต่ก็ยังมีบางจุดที่แอบไม่เนียน สัดส่วนดูแปลก ๆ บ้าง ตามสเกลงานสร้างหนังสตรีมมิง
ก่อนที่หนังจะโฟกัสกับความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ มนุษยธรรม จริยธรรมของหุ่นยนต์ ผ่านพล็อตขยี้ปมดราม่าแม่กับลูกที่วนเวียนอยู่ในห้องทดลอง หุ่นยนต์ AI เดิม ๆ ซะมากกว่า ซึ่งหนังก็ไม่สามารถจับประเด็นมาเล่าได้อย่างมีน้ำหนักมากพอ เหมือนปูเรื่องไว้บาง ๆ และไปขยี้เจ็บตับเอาตอนท้ายเลย จนทำให้โดยรวม ๆ แทบไม่มีอะไรในหนังที่ไปสุด และจับประเด็นมาเป็นเรื่องให้รู้สึกตื่นเต้น ระทึก ชวนขบคิด และกินใจได้เลย ทั้งแอ็กชัน ไซไฟ หรือแม้แต่งานถนัดเกาหลีอย่างดราม่า ก็ทำได้แค่เพียงแค่เกือบซึ้ง ๆ เท่านั้น
อีกจุดที่ถือว่าทำลายหนังลงไปอีกก็คือการแสดงของบางตัวละครที่ล้นจนเรียกได้ว่าน่ารำคาญครับ ไม่แน่ใจว่าในบทต้องการปูเรื่องให้ตัวละครตัวนี้มีความตลกปนโรคจิตหรืออะไรกันแน่ และผู้เขียนเดาว่า ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะบทนี่แหละที่ทำให้ตัวละครตัวนี้ นอกจากจะดูตลกแต่ไม่ตลก ยังดูล้นจนดูน่ารำคาญไปหมด แถมยังมีความโรคจิตแบบไม่มีเหตุผลอีกด้วย พอรวมกันทำให้ตัวละครตัวนี้กลายเป็นตัวละครเพี้ยน ๆ ที่หลุดจากธีมหนังมากกว่าจะดูน่ากลัว ส่วนการแสดงของคุณคังซูยอน นักแสดงรุ่นใหญ่ผู้ล่วงลับ ก็ต้องถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้บทจะไม่ค่อยได้ช่วยส่งให้เธอโดดเด่นจนถึงที่สุดก็ตาม
สำหรับผู้เขียน ‘JUNG_E’ เป็นงานที่ผู้เขียนเสียดายคอนเซ็ปต์มาก ๆ เรื่องหนึ่งเลยครับ ถ้าปั้นและจับเรื่องดี ๆ นี่จะเป็นหนังไซไฟฉลาด ๆ ที่ดูแล้วทั้งได้งานแอ็กชันเท่ ๆ และได้หนังที่พูดเรื่องประเด็นจริยธรรมในเชิงดิจิทัลที่ล้ำหน้าสุด ๆ อีกเรื่องมาประดับวงการหนังเกาหลี เพียงแต่หนังกลับไม่สามารถคุมวิสัยทัศน์และทิศทางการเล่าเรื่องให้ออกมาแข็งแรงและโดดเด่นได้ ตัวหนังเป็นเพียงการเล่าเรื่องแตะผ่านทุกประเด็นไปอย่างน่าเสียดาย รวมทั้งตัวละครที่ยังไม่โดดเด่น แถมบางตัวก็น่ารำคาญเกินทน ทำให้หนังไซไฟเรื่องนี้กลายเป็นเพียงหนังไซไฟที่แข็งแรงเฉพาะคอนเซ็ปต์ แต่เนื้อเรื่องเนื้อตัวกลับชอกช้ำเหมือนหุ่นยนต์โดนซ้อม จนแทบไม่เหลือสภาพอะไรให้จดจำตรึงใจได้จริง ๆ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส