Release Date
22/10/2021
ความยาว
108 นาที
Our score
3.5Cube (2021)
จุดเด่น
- การนำเสนอตัวละครที่เป็นตัวแทนของคนแต่ละช่วงวัยทำได้น่าสนใจ วิธีการอธิบายคณิตศาสตร์เพื่อใช้แก้ปัญหาทำได้เข้าใจง่ายพอควร ปริศนาของเรื่องวางมาได้น่าสนใจมีการหักมุมที่ทำได้ดีแตกต่างจากต้นฉบับ
จุดสังเกต
- โปรดักชันย่ำแย่โดยเฉพาะซีจี บทหนังมีความโกงแหกกฎที่วางเอาไว้เอง มีหลายจุดที่ชวนหงุดหงิดโดยเฉพาะการแสดงที่ไม่เหมาะกับหนังเอาตัวรอดเลย ความเวอร์เกินเบอร์แบบญี่ปุ๊นญี่ปุ่นก็ยังมีให้เห็นเป็นปัญหาอยู่เช่นเคย
-
บท
5.5
-
โปรดักชัน
3.0
-
การแสดง
2.5
-
ความสนุกตามแนวหนัง
6.0
-
ความคุ้มค่าการรับชม
1.5
เรื่องย่อ: เมื่อคนแปลกหน้าทั้ง 6 คนพบว่าตัวเองติดอยู่ในห้องทรงลูกบาศก์ ซึ่งมีประตูทั้งหกด้านที่นำไปสู่กับดักหฤโหดสุดอันตราย และทางรอดเดียวที่มีคือ ทุกคนต้องร่วมมือกันไขปมปริศนาลึกลับต่าง ๆ ที่ดาหน้าเข้ามาแทบทุกนาที เพราะไม่เช่นนั้นทั้ง 6 ชีวิตจะต้องกลายเป็นบุคคลสาบสูญที่ติดอยู่ในลูกบาศก์มรณะนี้ไปตลอดกาล สูดหายใจมิดปอด กอดกายไว้ให้แน่น และเร่งฝีเท้าสู่เกมเย้ยความตายที่ทุกคนมีชีวิตเป็นของตัวเอง
สำหรับคอไซไฟน่าจะจดจำ ‘Cube’ หนังทุนต่ำของแคนาดาที่กลายเป็นปรากฏการณ์ในปี 1997 จากทั้งความเหนือชั้นในการเล่าเรื่องที่ผสมระหว่างความโหดและเกมปริศนาห้องปิดตายที่ต้องอาศัยปัญญาในการเอาตัวรอด และทดสอบสันดานดิบของคนแปลกหน้าเมื่อต้องมาอยู่ร่วมกันภายใต้สถานการณ์อันกดดันที่ตายได้ทุกขณะ ตัวหนังภาคแรกประสบความสำเร็จจนมีภาคต่อออกมาอีก 2 ภาคคือ ‘Cube 2: Hypercube’ (2002) และ ‘Cube Zero’ (2004) ซึ่งทั้ง 2 เรื่องไม่ได้ผู้กำกับจากภาคแรกอย่าง วินเซนโซ นาตาลี (Vincenzo Natali) มามีส่วนร่วมแต่อย่างใด และแม้ตัวแฟรนไชส์จะให้คำตอบของปริศนาที่ชัดเจนมากกว่าหนังภาคแรก แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันช่างดูไร้รสนิยมห่างไกลจากหนังภาคแรกไปโข
ที่ต้องเกริ่นเช่นนี้ก็เพราะ ‘Cube’ ในฉบับปี 2021 ที่ได้รับการสร้างใหม่โดยทีมงานชาวญี่ปุ่นนั้น แม้จะเป็นความพยายามที่นำเสนอเรื่องราวตามอย่างหนังภาคแรกที่เป็นตำนาน โดยเสริมเติมแต่งภูมิหลังตัวละครให้ลึกและแข็งแรงขึ้นในแบบญี่ปุ่น แต่ทว่าภาพรวมมันก็ยังไร้รสนิยม ไม่ต่างจากทีมสร้างหนังภาคต่อที่เคยย่ำยีแฟรนไชส์ชุดนี้เอาไว้เลย
โดยส่วนตัวผู้เขียนได้รับชมฉบับญี่ปุ่นนี้ตอนที่เข้าฉายในไทยเมื่อต้นปีที่แล้ว ก่อนที่เน็ตฟลิกซ์จะนำมาฉายและกลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในตอนนี้ และต้องบอกโดยสัตย์จริงว่าในตอนนั้นค่อนข้างไปทางผิดหวังจนไม่อยากพูดถึงอยู่มากทีเดียว และเมื่อได้กลับมาดูใหม่อีกครั้งผ่านเน็ตฟลิกซ์ก็มีหลายอย่างที่มองว่าตอนนั้นอาจจะดูแคลนมากไปสักหน่อย และหลายอย่างก็ตอกย้ำเช่นเดิมว่าหนังบางเรื่องก็ไม่ควรต้องถูกดัดแปลงเลยเสียจะดีกว่า
ในฉบับญี่ปุ่นได้ผู้กำกับที่ค่อนข้างใหม่สำหรับหนังยาวอย่าง ชิมิสุ ยาสุฮิโกะ (Shimizu Yasuhiko) ที่เคยทำหนังเพียงเรื่องเดียวก่อนหน้าเป็นแนวเขย่าขวัญจิตวิทยาชื่อ ‘Vise’ (2019) และไปคว้ารางวัลในเทศกาลหนังสยองขวัญมาได้ทำให้เขาได้รับโอกาสสำคัญในการดัดแปลงหนังไซไฟเรื่องนี้ จุดดึงดูดนอกไปจากความมีชื่อเสียงในกลุ่มเฉพาะของต้นฉบับแล้ว หนังฉบับใหม่นี้ยังได้ดาราแม่เหล็กของญี่ปุ่นเรียงแถวกันมาคับคั่งทีเดียว ทั้ง ซึดะ มาซากิ (Suda Masaki) โอกาดะ มาซากิ (Okada Masaki) ไซโตะ ทาคุมิ (Saitoh Takumi) วาตานาเบะ แอนน์ (Watanabe Anne) เป็นต้น ก็น่าจะการันตีความนิยมในบ้านได้ตั้งแต่ก่อนฉายแล้ว
หนังมีพัฒนาการในส่วนที่ดีและถูกพูดถึงมากคือการเลือกนำเสนอกลุ่มคนที่แตกต่างจากต้นฉบับ ตัวแทนของกลุ่มคน 6 คนในหนังเรื่องนี้มีนัยของความขัดแย้งระหว่างรุ่น วัฒนธรรมชอบดุด่าเด็กของพวกคนรุ่นเก่าที่สื่อผ่านตัวละครเจนบูมเมอร์ของประธานบริษัท ความประหม่ากดดันจากปัญหาจิตใจรวมถึงความไม่เป็นโล้เป็นพายของหนุ่มสาวเจนวายเจนแซดที่สื่อผ่านตัวละครของซึดะและโอกาดะ ความกดดันจากภาระความรับผิดชอบทั้งเรื่องการทำงานและครอบครัวในฐานะวัยแรงงานของคนเจนเอ็กซ์ผ่านตัวละครของไซโตะ และความฉลาดเฉลียวแต่ขาดวิธีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในเจนอัลฟาขึ้นไปผ่านตัวละครเด็กชาย โดยมีตัวละครของวาตานาเบะสื่อถึงความเป็นผู้หญิงที่ไม่มีปากมีเสียงในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่อย่างลงตัว
ตรงจุดนี้คิดว่าหนังดัดแปลงมาได้อย่างดีมาก ๆ ยิ่งการขยายปมในจิตใจของตัวละครนำของซึดะที่เคยสูญเสียบุคคลที่รักในครอบครัวไปด้วยก็ทำให้สิ่งที่ตัวละครตอบสนองต่อความกดดันต่าง ๆ ดูจริงขึ้น
ทว่าปัญหาใหญ่จากความพยายามนั้นก็คือ ความไม่น่าเชื่อถือจากปมอดีตที่มากเกินไป ตัวละครถูกกดดันจนมีความคิดอ่านตอบโต้ต่ออันตรายที่ยากจะเอาใจช่วย มันก้ำกึ่งระหว่างตัวละครโง่ ๆ ที่อยู่ ๆ ก็จะทำอะไรไม่เมกเซนส์แล้วตายไปไว ๆ กับตัวละครที่สมจริงจิตใจอ่อนแอจนไม่สามารถเอาตัวรอดเองได้เลย อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ผู้ชมว่ามองออกเป็นท่าไหนมากกว่ากัน แต่ผลอย่างหนึ่งก็คือในฐานะของหนังที่มีส่วนผสมของแนวเอาตัวรอด สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตัวละครขาสั่นยืนรอความตาย มันช่างอึดอัดและน่ารำคาญเป็นที่สุด
และความบรรลัยที่สุดของหนังไซไฟเรื่องนี้คือความไม่สมจริงในการนำเสนอภาพ ในต้นฉบับการตายของตัวละครช่างสยดสยองและถูกแสดงออกมาเต็มจอทั้งเลเซอร์ที่หั่นร่างกายคนออกเป็นลูกเต๋า น้ำกรดที่ถูกฉีดใส่ใบหน้าจนยุบลงไปทั้งกระโหลก หรือฉากง่าย ๆ อย่างใบเลื่อยที่บาดขาอย่างหวุดหวิด หนังในปี 1997 ที่เทคโนโลยีการถ่ายทำสู้ปัจจุบันไม่ได้เลย กลับทำได้น่าเชื่อถือและสมจริงกว่ามาก
แต่หนังในปี 2021 กลับเต็มไปด้วยซีจีปลอม ๆ ที่ดูออกว่าไม่ใกล้เคียงของจริงเลย เมื่องานเทคนิคพิเศษไม่ส่งเสริมให้คนดูอิน มันก็พลอยให้ผู้ชมมีสติและเวลาไปคิดถึงความไม่สมจริงในส่วนอื่นเช่นฉากดราม่าต่าง ๆ ที่ฐานแข็งแรงแต่กลับนำมาขยายได้ไร้รสนิยม ตัวละครของโอกาดะที่ควรจะส่งพลังเปลี่ยนบรรยากาศของหนังให้ชวนขนลุกก็กลายเป็นอีกแค่หนึ่งตัวละครที่ช่วยกันทำให้น่ารำคาญขึ้นไปอีก แถมเมื่อถึงจุดหนึ่งบทหนังก็โกงเอาหน้าด้าน ๆ ในการแหกฎของตัวเองที่ห้องแต่ละห้องจะแยกขาดกันอย่างสิ้นเชิง โดยบังคับให้ตัวละครหนึ่งต้องตายผ่านทางกลไกกับดักที่ทะลุข้ามมาจากอีกห้องหนึ่งเสียดื้อ ๆ (!!!???)
และในแง่ของการนำเสนอเรื่องเอาคณิตศาสตร์มาใช้แก้ปัญหาของเรื่องที่ว่าห้องลูกบาศก์มีกลไกกับดักโดยมีรหัสตัวเลขใบ้เส้นทางที่ถูกต้องไว้ เมื่อพิจารณาตามดี ๆ ก็พบว่าในฉบับปี 1997 กลับมีการอธิบายในส่วนของการหาทางออกสุดท้ายที่มีหนึ่งห้องที่อยู่นอกกลไกของโครงสร้างนั้นจะดูเข้าท่ากว่าแม้จะเข้าใจตามได้ยากกว่าก็ตาม ซึ่งในฉบับญี่ปุ่นนั้นแม้จะอธิบายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปและเข้าใจง่าย ทั้งในเรื่องจำนวนเฉพาะหรือจัตุรัสคาร์ทีเซียนที่อธิบายภาพโครงสร้างสามมิติ แต่มันก็ยังดูรู้สึกว่าไม่ค่อยเคลียร์ในแง่คำอธิบายสุดท้ายอยู่ดี
โดยสรุปก็คงต้องบอกว่าหนังฉบับญี่ปุ่นนั้นมีจุดที่ทำได้ดีกว่าต้นฉบับแค่เรื่องการวางตัวละครและปมความขัดแย้งที่สะท้อนภาพสังคมโลกยุคใหม่ รวมถึงการหักมุมในตอนจบที่ถือว่าหวือหวาพอสมควร ในขณะที่ส่วนอื่นนั้นหนังที่ทำมาก่อนหน้าถึง 24 ปีกลับชนะขาดไปเลย ใครสนใจชมต้นฉบับปี 1997 ตอนนี้สามารถรับชมได้ทางบริการไพรม์วิดีโอครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส