Release Date
09/03/2023
ความยาว
123 นาที
ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ
'Ready or Not' (2019), 'Scream' (2022)
Our score
6.0Scream VI
จุดเด่น
- เป็นโกสต์เฟซที่สดใหม่ มีความโหดและเด็ดขาดไม่เลือกวิธีการ ภาพของฆาตกรที่ใช้ปืนลูกซองไล่ยิงตัวละครกลางเมืองได้เปลี่ยนแปลงการรับรู้ทุกอย่างที่เคยผ่านมาได้อย่างดี, เจนนา ออร์เทกายิ่งมีผลงานยิ่งฉายแสงมากขึ้นเรื่อย ๆ
จุดสังเกต
- อาจต้องดูย้อนไปภาค 4 และภาค 5 เพื่อเข้าใจเนื้อเรื่อง, หนังมีความรุนแรงขึ้นมากและเป็นภาคที่มีตัวละครตายมากที่สุดแล้ว
-
บท
7.0
-
โปรดักชัน
5.5
-
การแสดง
5.5
-
ความสนุกตามแนวหนัง
6.5
-
ความคุ้มค่าการรับชม
5.5
เรื่องย่อ: ผู้รอดชีวิตจากการสังหารโหดของโกสต์เฟสในภาคที่ 5 ได้ทิ้งโศกนาฏกรรมในเมืองวูดส์โบโรไว้เบื้องหลัง เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในนิวยอร์ก แต่ฝันร้ายก็ยังตามหลอกหลอนถึงกลางมหานคร มันฆ่าแบบไม่แคร์สายตาคนมากมายอีกแล้ว
หลังจาก ‘Scream’ (2022) ได้นำพาแฟรนไชส์หนังหวีดสุดขีดกลับไปสานต่อเรื่องราวของกลุ่มตัวละครชุดดั้งเดิมผสานกับการสร้างเรื่องราวของตัวละครรุ่นลูกที่ต้องมาเล่นเกมไล่ฆ่านี้เหมือนสมัยรุ่นพ่อแม่
โดยมีแรงจูงใจมาจากปมทางสายเลือดของตัวละคร แซม ที่รับบทโดย เมริสซา บาร์เรรา (Melissa Barrera) ซึ่งเป็นทายาทของบิลลีหรือโกสต์เฟซในหนังภาคแรก ทำให้เธอเป็นเป้าหมายการตามล้างแค้นเพื่อสร้างตำนานบทใหม่ของผู้คลั่งไคล้หนังเรื่อง ‘Stab’ ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงในวูดส์โบโรอีกที จนแซมต้องพา ทารา น้องสาวต่างพ่อที่รับบทโดย เจนนา ออร์เทกา (Jenna Ortega) หนีมายังนิวยอร์ก โดยมีเพื่อนที่รอดชีวิตอย่าง มินดี และแชด ตามมาด้วย
ซึ่งถือว่าเป็นการนำศัพท์ รีเควล (Requel) หรือหนังภาคคู่ขนานที่อิงเรื่องราวสำคัญจากต้นฉบับ แต่มีการทำซ้ำใหม่ในลักษณะที่เป็นทั้งการรีบูตและเป็นภาคต่อไปพร้อมกัน เป็นแนวคิดสดใหม่ที่ถูกนำเข้ามาฟื้นแฟรนไชส์โดยทีมผู้สร้างจาก ‘Ready or Not’ (2019) อย่างคู่หูผู้กำกับ แมตต์ เบตติเนลลิ-โอลปิน (Matt Bettinelli-Olpin) และ ไทเลอร์ ยิลเลตต์ (Tyler Gillett) รวมถึงมือเขียนบทอย่าง เจมส์ แวนเดอร์บิลต์ (James Vanderbilt) และ กาย บูซิก (Guy Busick) ซึ่งทั้งหมดก็กลับมาสานต่อในภาคต่อของรีเควลนี้ด้วย
เพิ่มเติมคือนอกจากหนังพยายามเสียดสีสูตรสำเร็จของหนังไล่เชือดที่ทำซ้ำจนเกร่อแล้ว หนังยังพยายามล้อเลียนไปกับสูตรสำเร็จของพวกหนังแฟรนไชส์ที่กลายเป็นกระแสหลักของค่ายใหญ่ในปัจจุบันด้วย ประมาณว่ายิ่งกว่าเบิ้มกว่าหนังภาคต่อหนังไตรภาค ยุคนี้เขาพูดกันถึงหนังแฟรนไชส์กันหมดแล้ว
และถึงแม้นี่จะเป็นภาคแรกที่เราไม่ได้เห็นตัวละครภาพจำของแฟรนไชส์อย่าง ซิดนีย์ ของ เนฟ แคมป์เบล (Neve Campbell) กลับมาโลดแล่น เพราะปัญหาส่วนตัวของนักแสดงกับทางค่ายหนังในเรื่องค่าจ้าง แต่เราจะยังได้เห็นตัวละครดั้งเดิมอย่างนักข่าวเกล ที่รับบทโดย คอร์ตนีย์ คอกซ์ (Courteney Cox) มาส่งไม้ต่อให้พวกเด็ก ๆ อยู่ โดยยังทิ้งความเคารพให้ตัวละครซิดนีย์ผ่านการพูดถึงของตัวละครในเรื่อง ที่อาจเป็นการบอกบทสรุปของตัวละครนี้ไปเลย แต่ก็ยังเหลือที่สำหรับการกลับมาในอนาคตได้ด้วย (ถ้าเจรจากับนักแสดงลงตัว)
ขณะเดียวกันตัวละครเคอร์บี รีดของ เฮย์เดน ปาเนตทิแยร์ (Hayden Panettiere) ที่เคยปรากฏตัวเป้นหนึ่งในเหยื่อของภาคที่ 4 ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายที่สร้างโดยผู้ให้กำเนิดแฟรนไชส์อย่างผู้กำกับระดับตำนาน เวส คราเวน (Wes Craven) ก็ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งแบบพลิกโผ เพราะใครดูภาคนั้นก็คงเข้าใจว่าตัวละครนี้ตายไปแล้ว เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับแฟนของหนังชุดนี้มากเหมือนกัน
และเมื่อหนังเริ่มเกริ่นกับคนดูว่าสูตรสำเร็จใหม่ของหนังแฟรนไชส์ ก็คือการที่ตัวละครดั้งเดิมต้องยอมสละชีพเพื่อให้ตัวละครชุดใหม่ได้ขับเคลื่อนแฟรนไชส์ต่อไป เช่นเดียวกับที่ ตัวละคร โทนี สตาร์ก หรือ ลุค สกายวอล์กเกอร์ เคยทำให้กับแฟรนไชส์ของตัวเอง เราก็ทราบได้ทันทีว่าผู้สร้างตั้งใจบอกเราว่าในตอนนี้ทุกตัวละครมีสิทธิ์ตายจริง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ตัวเอกอย่างแซมหรือทารา ที่ต่อให้ออร์เทกากำลังโด่งดังกับซีรีส์ ‘Wednesday’ แต่พวกนักแสดงดังที่เรายกตัวอย่างมาก็ยังถูกผู้สร้างฆ่าตายได้เลย และแม้ว่าออร์เทกาจะมีสถิติในการเล่นหนังไล่เชือดที่ดีมากคือตัวละครที่เธอรับบทในหนังแนวนี้ไม่เคยถูกฆ่าสำเร็จเลยก็ตาม แต่ตอนนี้ทุกอย่างได้เซ็ตซีโรเป็นที่เรียบร้อย
ซึ่งต้องยอมรับว่าหนังพยายามทวนซ้ำสูตรสำเร็จของหนังไล่ฆ่าอย่างที่เคยทำมาในชุดภาคดั้งเดิมล้อเลียนไปกับการเป็นหนังซ้อนหนัง ที่วิพากษ์ความคลั่งไคล้ในคดีสุดโหดของคนยุคใหม่ที่คอนเทนต์แนวทรูไครม์เกลื่อนบ้านเต็มเมือง
หนังก็พยายามบอกผู้ชมว่าในขณะที่คนดูรู้ดีว่าต้องหลบเลี่ยงอันตรายอย่างไร พวกฆาตกรที่คลั่งไคล้หนัง ‘Stab’ ที่เด่นเรื่องแหกสูตรสำเร็จก็รู้ดีไม่ต่างกัน และพยายามจะหักมุมเพื่อสร้างตำนานบทใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ดังนั้นการจะเดาตัวฆาตกรหรือวิธีการฆ่า มันจึงต้องคิดแบบหักซ้อนหัก-แหกซ้อนแหกอีกที และกลายเป็นว่าไม่มีตัวละครไหนที่ดูน่าเชื่อถือเลย แม้แต่แซมที่เป็นตัวนำเรื่อง เพราะเธอก็ยังได้ยินเสียงหลอนของบิลลีตามเป่าหูอยู่ตลอดเวลา ยิ่งภาพการฆ่าและความถึกโหดของการไล่ล่าทวีความโหดที่สุดในทุกภาค มันก็สร้างภาวะไร้เซฟโซนกับคนดูจนเราต้องตัวหดเล็กลงอย่างไม่รู้ตัว
ภาคนี้แม้จะใช้ชื่อทางการด้วยเลข 6 โรมัน (VI) ประกอบ ทั้งที่ภาคก่อนหน้าเลือกจะใช้เพียงชื่อ ‘Scream’ เฉย ๆ แต่ตามความเห็นของ เควิน วิลเลียมสัน (Kevin Williamson) ผู้เขียนบทหนังฉบับดั้งเดิม มองว่ามันคือหนังเรื่องใหม่ที่มีความน่าสนใจในตัวเอง ไม่ให้ความรู้สึกของหนังภาคต่อที่ซ้ำซากจำเจมาถึง 6 ภาคแต่อย่างใดเลย ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น ในครึ่งแรกของหนังมันสดใหม่และโดดเด่นเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่การแหกขนบของหนังตัวเองอย่างจงใจและชวนตื่นเต้น ฆาตกรจะฆ่ากลางเมืองก็ได้ จะใช้ปืนลูกซองก็ได้ หรือแม้แต่จะเปิดหน้าให้ผู้ชมเห็นตั้งแต่ต้นเรื่องก็ยังทำได้!!!
แต่กระนั้นการจะบอกว่ามันเหมือนหนังเรื่องใหม่ไม่ใช่ภาคต่อก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ทางที่ดีก็ควรกลับไปทบทวนเรื่องราวตั้งแต่ภาคแรกมาเลยเพื่อเก็บรายละเอียดที่หนังหยอดอีสเตอร์เอ้กมาจนครบทุกภาค ถึงขนาดมีพิพิธภัณฑ์รวมความโหดให้ระลึกถึง แต่ถ้าดูไม่ไหวขั้นต่ำอย่างไรก็ต้องดู ‘Scream’ (2022) มาก่อนจึงจะเข้าใจเนื้อเรื่องหลักอยู่ดี ถ้าจะคิดดุ่ม ๆ ไปดูเรื่องนี้เป็นภาคแรกเลย มีงงแน่นอน
ถ้าสังเกตดี ๆ ผู้เขียนได้บอกแล้วว่ารู้สึกตื่นเต้นและชื่นชอบกับ ครึ่งเรื่องแรกของหนังมาก นั่นหมายความว่าครึ่งเรื่องหลังนั้นยังเป็นพื้นที่ที่ใครจะรับชมต้องประเมินกันเอาเองเช่นกัน เพราะมันก้ำกึ่งเอามาก ๆ ระหว่างการพยายามแหกจนเสียรูปขบวนเมื่อเล่นใหญ่แล้วเฉลยไม่แน่นพอมันก็จะรู้สึกว่าหนังทำบ้าอะไรของมัน ใช้มุกเห่ย ๆ เอาตัวรอดง่ายแบบนี้ ทั้งที่ปูมาอย่างเข้มข้นเสียดิบดี หรืออาจจะมองว่าหนังสานต่อรายละเอียดที่ทำมาแต่ภาคก่อนได้อย่างดี มีความตลกร้ายและล้อเล่นกับความคาดหวังผู้ชมได้อย่างไม่ธรรมดา ก็เป็นได้ทั้งสองหน้าเลย
แต่ส่วนตัวผู้เขียนให้น้ำหนักไปทางมุกเห่ยกับการแสดงเล่นใหญ่จนคล้ายละครเวทีโรงเรียนที่ไม่เข้าท่ามากกว่า นักแสดงที่เคยเล่นดราม่าดีในครึ่งแรกก็กลายเป็นเล่นโอเวอร์ไม่ดูบริบทไปเสียอย่างนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะหนังสะสมความไม่สมเหตุสมผลมาทีละน้อยด้วย เรามีคำถามมาตลอดว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นกลางเมืองในยุคที่กล้องวงจรปิดกล้องมือถือเต็มไปหมด เหตุใดฆาตกรถึงกล้าเปิดหน้าและทิ้งหน้ากากในที่เกิดเหตุแต่ละครั้งได้โดยไม่ถูกจับใบหน้าได้ รวมถึงเทคนิคการเก็บหลักฐานของพวกตำรวจยุคนี้ก็ไม่ได้จะซ่อนอะไรได้ง่าย ๆ อีกแล้ว เมื่อมันมาถึงจุดเฉลยมันเลยเป็นความแหกความบ้งที่เอาสะใจแต่ไม่ทำให้อินได้เลย
แต่ถ้ามองข้ามสาระสำคัญของเรื่อง (ซึ่งก็เป็นเหตุผลหลักที่เราดูหนังแนวนี้จนจบ) ว่าฆาตกรจะคือใคร และมีแรงจูงใจอะไร มองในรายละเอียดของหนังก็ถือว่าทำได้น่าสนใจ ทั้งปมดราม่าที่เป็นปัญหาของตัวละครว่าในฐานะลูกหลานเราจะแบกรับบาปทางสายเลือดในโลกที่อดีตทุกอย่างของพ่อแม่อยู่ในอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างไร, ความชุ่ยของโซเชียลมีเดียที่เปลี่ยนความจริงได้ตามกระแสอารมณ์ของใครที่มีทักษะการชี้นำ, การวิพากษ์กระแสหนังแฟรนไชส์ที่พยายามเร่งให้โตขึ้นจนทำลายความน่าเชื่อถือและรากฐานที่ดีของหนังภาคต้นตำรับ ซึ่งแฟนหนังมาร์เวลกำลังเผชิญคำถามนี้อย่างหนัก
และหนังชุดหวีดสุดขีดภาคนี้ก็ได้บอกกับตัวเองเช่นกันว่า จงระวังจะกลายเป็นแฟรนไชส์ที่คิดขยายใหญ่แต่ข้างในกลวงมากขึ้น ๆ จนไม่เหลืออะไร ซึ่งถ้าไม่ระวังก็คงอีกแค่ไม่กี่ภาคนับจากนี้ล่ะที่คงไม่มีใครอยากดูอีก ถ้าพยายามหักมุมมากไปโดยไม่คำนึงถึงความสมเหตุสมผลที่วางมา และว่ากันตามตรงแฟรนไชส์นี้ทำมาก่อนหน้าแล้ว 5 ภาคมีฆาตกรมาแล้ว 10 คน เล่นแทบจะทุกมุกเพื่อให้เดาทางไม่ออก มันก็เหลือทางให้เล่นต่อไม่ซ้ำทางยากมากอยู่แล้ว ก็ต้องระวังว่าเลี่ยงมากไปจนตลกเลอะเทอะก็เป็นได้เหมือนกัน
ส่วนคะแนนส่วนตัวให้ครึ่งแรกเต็มไปเลย ส่วนครึ่งหลังที่ทำได้ไม่ค่อยจะดี ผสมกับแผลที่สะสมมาเริ่มแตกตอนเฉลยตัวฆาตกร พอถัวกันก็เป็น 5/10 ตามสภาพครับ แต่ถ้าถามว่าดูภาคนี้จบอยากดูภาคต่อไหม ก็ยังรู้สึกว่าทีมสร้างยังมีของที่ทำให้ได้ลุ้นระทึกแถมเดาทางสนุกจนบางทีหัวเราะในความฉลาดขี้เล่นของบทอยู่ คือแฟรนไชส์นี้ทำมายังไงก็รอดูแน่นอน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส