Release Date
22/03/2023
แนว
แอ็กชัน/ทริลเลอร์/อาชญากรรม
ความยาว
2.49 นาที (169 นาที)
เรตผู้ชม
R
ผู้กำกับ
แชด สตาเฮลสกี (Chad Stahelski)
SCORE
7.8/10
Our score
7.8John Wick: Chapter 4 | จอห์น วิค แรงกว่านรก 4
จุดเด่น
- ฉากแอ็กชันเยอะและยาวมากกกกกกกกกก ตลอดเรื่องคือแอ็กชันกันไม่หยุด
- งานสตันต์แมนโชว์ศักยภาพได้สุดมาก นี่คือหนังที่ขายความเป็นสตันต์ได้ดีงาม พลิกล็อกลุ้นสนุก บ้าพลัง
- งานภาพยังคงสวยงามตามสไตล์แฟรนไชส์ จอห์น วิค ฉากแอ็กชัน Long Take สวยแปลกตา และมุมกล้องหวือหวา
- แม้เน้นฉากแอ็กชันเยอะ แต่ก็ยังมีเส้นเรื่องที่เล่าถึงอำนาจของสภาสูง ใช้องค์ประกอบจากทุกภาคมาประกอบเข้าด้วยกันได้อย่างดี
- ดอนนี เยน และ ฮิโรยูกิ ซานาดะ เท่มาก คีอานู รีฟส์ เท่อมตะ
จุดสังเกต
- ฉากแอ็กชันบางจังหวะมีอาการเนือย ๆ และน่าเบื่อบ้าง โดยเฉพาะฉากที่สู้ในพื้นที่ปิด
-
คุณภาพด้านการแสดง
6.8
-
คุณภาพโปรดักชัน
8.4
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
7.3
-
ความบันเทิง
8.6
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
7.9
นับตั้งแต่ที่ แชด สตาเฮลสกี (Chad Stahelski) ผู้กำกับได้ลั่นวาจาไว้ตั้งแต่ก่อนฉายหนังจอห์น วิค ภาค 3 หรือ ‘John Wick: Chapter 3 – Parabellum’ (2019) ว่า เรื่องราวการล้างแค้นของ จอห์น วิค อดีตนักฆ่ามือหนึ่ง เจ้าของฉายาจอมปีศาจ ‘บาบายาก้า’ จะไม่สิ้นสุดอยู่แค่ไตรภาคแน่นอน ก็เท่ากับว่าเป็นการผูกสัญญาไว้กับบรรดาแฟนหนังแฟรนไชส์สุดเดือดเรื่องนี้ว่าเรื่องราวในภาคต่อไปจะเป็นอย่างไร จนกระทั่งในอีก 5 ปีถัดมา เราถึงได้เห็นรูปร่างที่แท้จริงของเรื่องราวที่เป็นทั้งภาคต่อ และเป็นกึ่ง ๆ บทสรุปชะตากรรมของ จอห์น วิค ใน ‘John Wick: Chapter 4’ ครับ
ซึ่งภาคนี้ สตาเฮลสกีก็ยังคงกลับมารับหน้าที่กำกับเหมือนเช่น 3 ภาคแรก โดยใช้คาแรกเตอร์ที่สร้างสรรค์โดย ดีเร็ก โคลสตัด (Derek Kolstad) พร้อมกับนักแสดงชุดเดิมที่กลับมาครบ ทั้ง คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves) คนดีคนเดิม ลอว์เรนซ์ ฟิซเบิร์น (Laurence Fishburne), เอียน แม็กเชน (Ian McShane), สมทบด้วยนักแสดงหน้าใหม่ทั้ง บิล สการ์สการ์ด (Bill Skarsgård), ฮิโรยูกิ ซานาดะ (Hiroyuki Sanada), ดอนนี เยน (Donnie Yen) และนักร้องสาวลูกครึ่งญี่ปุ่น-อังกฤษ รินะ ซาวายามะ (Rina Sawayama)
ตัวหนังในภาคนี้เริ่มต้นหลังจากที่ จอห์น วิค หันหน้าสู้กับศัตรูน้อยใหญ่ทั้งหลาย และพยายามจะหันหลังให้กับสภาสูง (High Table) มาตลอดใน 3 ภาคแรก ซึ่งหลังจากที่เขาถูกอัปเปหิ หรือถูกขับออกจากโลกนักฆ่า แถมยังรอดตายมาได้ในภาค 3 ค่าตัวของเขาในองค์กรนักฆ่าก็เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ ส่วนตัวเขาเองก็ต้องการที่จะเป็นอิสระและหนีให้พ้นจากอำนาจและการควบคุมของสภาสูง เขาจึงต้องหันหน้าเข้าสู้กับสภาสูง จนทำให้ จอห์น วิค กลายเป็นตัวอันตรายที่สภาสูงต้องเร่งเด็ดหัวเขาให้ได้โดยด่วน
ในขณะที่เขาเองก็ไม่ได้ต่อสู้แต่ลำพัง เพราะยังมี โบวารีคิง (Laurence Fishburne) ราชาโลกใต้ดิน รวมทั้ง ชิมาสึ โคจิ (Hiroyuki Sanada) ผู้จัดการโรงแรม เดอะ คอนติเนนทัล สาขาโอซากา รวมทั้ง วินสตัน (Ian McShane) และชารอน (Lance Reddick) ผู้จัดการและพ่อบ้านโรงแรม เดอะ คอนติเนนทัล สาขานิวยอร์กเจ้าเก่าเจ้าเดิม คอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง
ทั้งวินสตัน ชารอน และทุกคนที่พยายามให้การช่วยเหลือเขา ถูกกดดันอย่างหนักจาก มาร์กีย์ วินเซนต์ เดอ แกรมงต์ (Bill Skarsgård) ผู้ได้รับอำนาจสูงสุดจากสภาสูงในการจัดการกับ จอห์น วิค นักฆ่าบาบายาก้าจึงต้องออกเดินทางไปไกล 3 เมือง 3 ทวีป ทั้งปารีส เบอร์ลิน และโอซากา เพื่อหาหนทางต่อกรกับอำนาจล้นฟ้าของสภาสูงให้จงได้ และแถมยังต้องเอาตัวรอดจากบรรดานักล่าฆ่าหัวตัวท็อปที่สภาสูงส่งมาปิดบัญชีแค้น ทั้งนายไร้ตัวตน (Shamier Anderson) และ เคน (Donnie Yen) นักสังหารตาบอดและอดีตเพื่อนเก่าของ จอห์น วิค ที่หมายจะเด็ดหัวเขาด้วยเช่นกัน
ตัวหนังเรียกได้ว่าเริ่มเล่าเรื่องกันแบบกระชับฉับไวแบบไม่ต้องย้อนความให้เสียเวลานะครับ ซึ่งก็ดีอย่างตรงที่ตัวหนังก็สามารถเล่าเรื่องทุกอย่าง พร้อมกับเปิดฉากแอ็กชันได้แบบเร็ว ๆ โดยที่แทบจะไม่ต้องปูเรื่องจากภาคที่แล้วให้เสียเวลา แต่ว่าตัวหนังเองก็มีการใช้องค์ประกอบ ตัวละคร และกิมมิกเล็ก ๆ น้อย ๆ จากภาคก่อน ๆ ด้วย คือถ้าให้ผู้เขียนแนะนำ ก็อยากแนะนำว่าควรหาดูทั้ง 3 ภาคแรกมาก่อนเพื่อให้เข้าใจในองค์ประกอบและเรื่องราวอย่างครบถ้วน แต่ถ้าไม่มีเวลา การโดดมาดูภาคนี้ก่อนแล้วย้อนไปดูภาคเก่าก็ยังถือว่าไม่ผิดบาปมากครับ แต่อาจจะงงกับที่มาของบางเส้นเรื่อง บางองค์ประกอบนิดหน่อย
สิ่งที่น่าจะถูกใจและสะใจแฟนหนังในภาคนี้ชนิดที่เรียกว่าสมการรอคอยก็คือ ด้วยความยาวหนังที่ยาวมากกว่าทุกภาค คือ 2 ชั่วโมง 49 นาที หรือ 169 นาที ก็เลยทำให้ตัวหนังเพิ่มฉากแอ็กชันตระการตาที่ดูโม้นิด ๆ แต่ก็ยังมีความเท่ ดิบเถื่อน สมจริงในสไตล์ จอห์น วิค อัดกันตั้งแต่เริ่มเรื่อง คือยังเริ่มเรื่องได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงดี พี่จอห์น วิค ก็ได้เรื่องซัดคนอุ่นเครื่องรอแล้ว และแต่ละฉากก็เป็นฉากแอ็กชันที่เน้นช็อตยิงยาวซะด้วย คือเรียกได้ว่าแค่นั่งดูเฉย ๆ ยังเหนื่อยครับ เพราะมันเดือดแบบไม่มีพักไม่มีผ่อน ผู้เขียนกะ ๆ เอานะครับว่า ฉากแอ็กชันในหนังนี่คือรวมกันน่าจะเกิน 50% ของหนังทั้งเรื่องไปแล้วมั้ง คือกว่าจะพักเพื่อเดินเส้นเรื่องต่อได้แต่ละทีนี่ก็เรียกว่าเหนื่อยเหมือนลงไปต่อสู้เองอย่างไรอย่างนั้น
ซึ่งในมุมหนึ่งมันก็เป็นการโชว์ความพิถีพิถันของงานด้านการออกแบบคิวบู๊ และการเตรียมงานด้านสตันท์แมนที่ทำออกมาได้เป็นอย่างดีนะครับ โดยเฉพาะตอนที่ จอห์น วิค ต้องเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ เราก็จะได้เห็นฉากแอ็กชันในเมืองนั้น ๆ ที่มีความแตกต่างและมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป ไม่ได้แค่ตี ๆ ยิง ๆ กันเฉย ๆ เช่นตอนที่เดินทางไปโรงแรม เดอะ คอนติเนนทัล สาขาโอซากา งานคิวบู๊ก็จะมีความเป็นเอเชียสูงมาก มีการต่อสู้ที่ผสมความเป็นกังฟู มีการใช้กระบองสองท่อน ผสมกลิ่นอายหนังซามูไรหน่อย ๆ ในเบอร์ลินก็จะมีความเน้นการดวลปืน การใช้ขวานและไพ่เป็นอาวุธ และในปารีส ก็จะได้เห็นคิวบู๊ที่มีการใช้รถยนต์เข้ามาประกอบ รวมทั้งกลิ่นอายความเป็นหนังคาวบอยตะวันตกเข้ามาผสม
อีกจุดเด่นของ ‘John Wick’ จากทุกภาคก็คือ งานด้านภาพที่ออกแบบได้สวยงามแปลกตา ซึ่งในภาคนี้ก็เหมือนทีมงานร้อนของ เลยจัดเต็มงานด้านภาพยิ่งกว่าภาคอื่น ๆ ทำให้เราจะได้เห็นฉากแอ็กชันที่ไม่ใช่แค่มันและโหดเลือดสาดอย่างเดียว แต่ยังออกแบบองค์ประกอบภาพได้อย่างน่าสนใจ การใช้สีสันที่ Contrast ตัดกันชัดเจน และมุมกล้องที่หวือหวาจัดเต็มยิ่งกว่าทุกภาค ทั้งฉากแอ็กชันแบบ Long Take กันแบบยาว ๆ รวมทั้งมุมกล้องที่แปลกออกไป ที่ผู้เขียนชอบมากก็คือ ฉากแอ็กชันในปารีสที่อยู่ในองก์ที่ 3 นี่แหละที่เรียกว่าจัดเต็มแบบเบิ้ม ๆ ไปเลย ทั้งฉากดริฟต์รถที่รีฟส์ใช้เวลาซ้อมนานกว่า 9 เดือน ฉากต่อสู้บนบันไดสูง และฉากที่เราจะได้เห็น จอห์น วิค ยิงปืนสอยเปรี้ยง ๆๆ ทีละคนสองคนด้วยปืนลูกซองพ่นไฟ (Dragon’s Breath) จากมุมสูง! เป็นคิวบู๊และมุมกล้องที่โคตรคราฟต์และบ้าพลังมาก ๆ
แม้ตัวหนังแอ็กชันจะจัดเต็มขนาดนี้ แต่สิ่งที่ถือว่าทำได้ดีขึ้นมาอีกขั้นก็คือเรื่องบทนะครับ โดยเฉพาะการสานต่อภาพของจักรวาลนักฆ่าให้ไปไกลยิ่งกว่าเดิม นอกจากเรื่องของเหรียญทองที่ใช้เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนสินค้าและสวัสดิการของเหล่านักฆ่า การเพิ่มหรือปลดพื้นที่ส่วนกลาง ตราสัญญะ (ตราแทนคำสัญญาระหว่างนักฆ่า) การตีตราพันธะแห่งชาติกำเนิด ผู้อาวุโสที่อยู่เหนือสภาสูง การเข้าพิธีกรรมกลับสู่ชาติกำเนิด การพิสูจน์ความจงรักภักดีต่อสภาสูงที่ยอมเจ็บตัว หรือไม่บางครั้งก็ยอมตายได้เลย ในขณะที่เราก็จะได้เห็นการย้อนกลับมาพูดเรื่องของกรรมที่จอห์น วิค ต้องเผชิญ เพราะแม้ว่าการที่เขาสังหารคนไปนับร้อย ๆ จะเป็นเรื่องที่เราอาจจะรู้สึกว่ามันถูกต้องชอบธรรม (และแอบสะใจ) อยู่แล้วก็ตามที ตัวหนังก็สะท้อนอีกมุมให้เห็นว่า บางครั้งการไล่ลุยดะฆ่าคนของ จอห์น วิค อาจจะไม่ใช่วิธีการสุดท้ายที่จะล้างบางกับอำนาจอันล้นเหลือของสภาสูงก็ได้
แต่ในขณะเดียวกัน ผลของการกระทำของเขาเอง ที่เคยถูกย้ำเอาไว้แล้วในภาคก่อน ๆ ก็ได้สะท้อนออกมาให้เห็นในองก์สุดท้าย หรือองก์ในปารีสนั่นเองครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วองก์สุดท้ายนี่ถือเป็นไฮไลต์ที่ผู้เขียนชอบและแนะนำให้รอชมนะครับ คือแน่นอนแหละว่ามันก็ยังคงมีบางองค์ประกอบและบางเนื้อเรื่องที่ยังมีความเบียว มีความเป็นอนิเมะอยู่เหมือนกับภาคก่อน ๆ แหละ แต่พอพี่วิคต้องมาประทะกับมาร์กีย์ในฉากสุดท้าย นอกจากจะกระชากฟีลด้วยฉากต่อสู้ที่โคตรจะเรียบง่าย แต่ก็ลุ้นมือหงิกไม่แพ้ 2 องก์แรก และฉากนั้นก็เป็นเหมือนการสรุปและสะท้อนรูปธรรมของ Message หลัก โดยเฉพาะเรื่องของการรับผลของการกระทำ (รับกรรม) ที่แฝงอยู่ในเรื่องมาโดยตลอดทั้ง 4 ภาคให้เห็นออกมาได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
อีกจุดที่พูดถึงไม่ได้ก็คือบรรดาเหล่านักแสดงทั้งเก่าและใหม่ครับ แน่นอนแหละว่า คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves) ก็ยังคงรับหน้าที่นำหนังได้อย่างดี คือเห็นฉากบู๊แต่ละฉากนี่ก็เรียกได้ว่าคารวะในความทุ่มเทเลยครับ คือหนัก เหนื่อยและเจ็บกว่าทุกภาคแน่นอน แต่ก็ยังวาดลวดลายได้อย่างเท่ตั้งแต่วินาทีแรกจนวินาทีสุดท้าย รวมทั้งนักแสดงหน้าใหม่ทั้ง บิล สการ์สการ์ด (Bill Skarsgård) ที่แสดงในบทมาร์กีย์ วายร้ายหน้านิ่งได้เท่มาก แต่ที่เรียกว่ามาเหนือก็คือ ฮิโรยูกิ ซานาดะ (Hiroyuki Sanada) และ ดอนนี เยน (Donnie Yen) ที่ต่างก็โชว์ฝีมือการต่อสู้ได้ขโมยซีน และเท่วัวตายควายล้มกันสุด ๆ ไปเลย โดยเฉพาะ ดอนนี เยน นี่ผู้เขียนนึกถึงและคิดว่าเท่พอ ๆ กับโจวเหวินฟะ ในหนัง ‘โหด เลว ดี’ เลยครับ
แต่ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีจุดสังเกตเลยนะครับ ด้วยความยาวของตัวหนังนี่แหละที่แม้จะทำให้เราเพลินไปกับฉากแอ็กชันได้อย่างสนุกสนาน แต่ในขณะเดียวกัน พอมันเป็นช็อตยาว ๆ และมีการตัดต่อช่วยค่อนข้างน้อย มันก็เป็นการเปิดแผลของตัวหนังให้เห็นชัดกว่าภาคอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่นบางจังหวะในฉากบู๊ที่กำลังต่อสู้กัน ผู้เขียนก็แอบเห็นความเนือยของทั้งจอห์น วิค และคู่ต่อสู้อยู่เป็นระยะ ๆ รวมทั้งการต่อสู้บางซีนในสถานที่ปิดเป็นเวลานาน ๆ ไม่ได้คัตไปซีนอื่น ก็แอบทำให้รู้สึกเบื่อนิด ๆ อยู่เหมือนกัน
รวมทั้งพอมันเป็นหนังที่เกริ่นว่าจะเป็นบทสรุปของ จอห์น วิค แล้วด้วย ก็ยังแอบรู้สึกว่า อยากเห็นปูมหลังที่มาของ จอร์ดานี โจวาโนวิช เด็กกำพร้าชาวเบลารุส ก่อนจะมาเป็นนักฆ่าพระกาฬเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย แต่ตัวหนังก็ยังไม่ได้ลงลึกไปมากกว่าภาคที่แล้วเท่าไหร่ และอีกอันคือ ภาคนี้ได้เห็นน้องหมาพิตบูลสีดำของพี่วิคออกมาน้อยไปหน่อยนะครับ แต่ก็ยังมีช็อตที่น้องหมา (อีกตัว) ได้มีซีนเป็นของตัวเอง และแถมเป็นจุดเปลี่ยนให้กับบางตัวละครด้วย แม้ว่ามันจะแอบดูเหมือนละครทีวีไปหน่อยก็เถอะ
‘John Wick: Chapter 4’ คือตัวแทนของหนังที่เน้นยิงก่อนถามได้อลังการสะใจมากครับ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามีงานสตันท์ที่ออกแบบมาดี และงานโปรดักชันที่คราฟต์สุด ๆ การออกแบบคิวบู๊จึงกลายเป็นองค์ประกอบหลัก เป็นพระเอกที่ขับเคลื่อนหนังได้ออกมาน่าสนใจ ถูกใจ และสะใจคอหนังแอ็กชันแบบว่าอิ่มแน่นจุก ผสมกับความเป็นมนุษย์ ความมีหัวใจลงไปในหนังได้อย่างดี ถ้าอยากดูเอาบันเทิงผ่อนคลาย ดูพากย์เสียงไทยได้นะครับ บันเทิงแน่นอน แต่ถ้าอยากดูเอาอารมณ์แบบออริจินัล ดู Soundtrack ซับไทย ก็จะได้อารมณ์ดาร์กที่ตรงตามต้นฉบับมากขึ้นครับ
ปล. มี End Credits ตอนท้าย 1 ตัวด้วยนะครับ ไม่ยาวมาก ซึ่งจริง ๆ เป็นเหมือนกึ่งคำใบ้กึ่งยั่วล้อไปถึงภาคต่อไป (ถ้ามี) อะไรแบบนี้มากกว่า ถ้าไม่ได้ถึงกับต้องรีบเข้าห้องน้ำก็นั่งรอดูได้ แต่ถ้าไม่ไหวจริง ๆ วิ่งไปเข้าห้องน้ำโดยไม่รอดู ก็น่าจะไม่ถึงกับพลาดอะไรไปเสียทีเดียวครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส