Release Date
31/03/2023
แนว
แอ็กชัน/ตลก/อาชญากรรม
ความยาว
1.30 ช.ม. (100 นาที)
เรตผู้ชม
PG-13
ผู้กำกับ
เจเรมี แกเรลิก (Jeremy Garelick)
SCORE
4.5/10
Our score
4.5Murder Mystery 2 | ปริศนาฮันนีมูนอลวน 2
จุดเด่น
- อดัม แซนด์เลอร์ - เจนนิเฟอร์ อนิสตัน ยังคงเป็นคู่หูคู่ฮาที่แบกหนังทั้งเรื่องไปได้ตลอดรอดฝั่ง
- งานโปรดักชัน ภาพ เอฟเฟกต์ดีขึ้น ลงทุนกว่าเดิม งาน VFX ดีขึ้นในระดับหนังสตรีมมิง
- มุกตลกยังคงมีความเป็นซิตคอมและตลกแนวไดอะล็อกเหมือนภาคแรก บางจังหวะฮาดี (แต่ก็มีแอบแป้กหลายจังหวะ)
จุดสังเกต
- บทยังใช้สูตรสำเร็จแนว Whodunit ที่เลวร้ายคือแทบไม่ได้ลงลึกกับความเป็นหนัง Whodunit เลย
- หนังดันพาไปเน้นแอ็กชันผจญภัยกาว ๆ มากกว่าจะลงรายละเอียดเบาะแสคดี
- บทสรุปตัวหนังง่ายเกินไป แรงจูงใจของตัวละครและการเชื่อมโยงกันยังชวนให้งง
- นักแสดงจากภาคแรกสร้างสีสันได้ดีกว่านักแสดงชุดใหม่ที่มาเร็วไปเร็วมาก
-
คุณภาพด้านการแสดง
3.8
-
คุณภาพโปรดักชัน
6.1
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
3.2
-
ความบันเทิง
4.5
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
4.8
หลังจากที่เมื่อปี 2019 ‘Murder Mystery’ หนังแนวฆาตกรรม Whodunit ที่เปิดหน้าก็รู้ว่าขายความเป็น A-List ของนักแสดงนำอย่าง อดัม แซนด์เลอร์ (Adam Sandler) และ เจนนิเฟอร์ อนิสตัน (Jennifer Aniston) แหง ๆ กลายเป็นปรากฏการณ์หนัง Netflix ที่เคยมาแรงขึ้นแท่นเป็นหนังที่มีสถิติยอดเข้าชมสูงสุดในสัปดาห์แรกหลังฉายจำนวนกว่า 30.9 ล้านผู้ชมหลังเข้าฉายเพียง 72 ชั่วโมง
พอมาถึงปีนี้ ทั้งคู่กลับมาอีกครั้งใน ‘Murder Mystery 2’ ที่ยังคงแพ็กคู่ แซนด์เลอร์-อนิสตัน กลับมาเช่นเดิม พร้อมทีมนักแสดงจากภาคที่แล้วที่กลับมาบางส่วน เพิ่มเติมคือคราวนี้เปลี่ยนตัวผู้กำกับเป็น เจเรมี แกเรลิก (Jeremy Garelick) มือเขียนบทสายคอมมีดี้จาก ‘The Break-Up’ (2006) และเป็นผลงานกำกับเรื่องที่ 3 ของเขานับตั้งแต่ ‘The Wedding Ringer’ (2015) และ ‘The Binge’ (2020) ที่มากำกับเรื่องนี้แทน ไคล์ เนวาเช็ค (Kyle Newacheck) จากภาคแรก โดยได้ เจมส์ แวนเดอร์บิลต์ (James Vanderbilt) จากภาคแรกมาเขียนบทให้เช่นเคย
เหตุการณ์เริ่มต้นห่างจาก 4 ปีที่แล้วในภาคแรกครับ นิค สปลิซ (Adam Sandler) เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนแห่งนิวยอร์ก และภรรยาอดีตช่างทำผม ออเดรย์ สปลิซ (Jennifer Aniston) ที่ประสบความสำเร็จอย่างงงดงาม หลังจากที่ทั้งคู่สามารถไขคดีปริศนาฆาตกรรมลงได้อย่างสวยงาม ทั้งคู่จึงเริ่มต้นผันตัวมาเป็นนักสืบแบบเต็มตัวที่ยังไม่ค่อยมีงานให้ทำเท่าไหร่
แต่อยู่ดี ๆ เพื่อนเก่าอย่าง มหาราชา (Adeel Akhtar) ได้เชิญทั้งคู่ไปร่วมงานแต่งงานของเขากับเจ้าสาวชาวฝรั่งเศส คลอเดตต์ (Mélanie Laurent) บนเกาะส่วนตัว แต่สุดท้าย เจ้าบ่าวถูกลักพาตัวไป และมีเหตุฆาตกรรมปริศนาเกิดขึ้นกลางพิธีงานแต่ง ทำให้แขกในงาน สมาชิกครอบครัวต่างตกเป็นผู้ต้องสงสัย กลายเป็นคดีความที่นักสืบมือใหม่อย่างนิคและออเดรย์ ที่ต้องไล่ล่าตามไขคดีไปจนถึงปารีส
หลังจากที่ทั้งคู่ทิ้งท้ายด้วย Easter Egg ด้วยการนั่งรถไฟ Orient Express เพื่อเป็นนัยว่าจะสื่อไปถึงหนัง ‘Murder on the Orient Express’ (2017) และเชื่อมโยงไปถึงเจ้าของวรรณกรรมรหัสคดีต้นฉบับอย่าง อกาธา คริสตี (Agatha Christie) นักเขียนผู้เป็นต้นธารของวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรม หรือแนว Whodunit ทั้งปวง ซึ่งเป็นการทั้งพาดพิง ยั่วล้อ และให้ความเคารพหนังแนวฆาตกรรมอย่างมีนัยสำคัญ อย่างที่ภาคแรกทำเอาไว้ได้ค่อนข้างสำเร็จ (แม้มันออกจะเดาง่ายและจบแบบมักง่ายไปหน่อยก็เถอะนะ)
ซึ่งในภาค 2 นี้ก็เรียกได้ว่าตัวหนังก็ยังคงใช้สูตรสำเร็จพลอตหนัง Whodunit มาแบบเป๊ะ ๆ เหมือนในภาคแรกเป็นสูตรสำเร็จในแบบนิยายของ อกาธา คริสตี ที่เล่าเป็นเส้นตรงมาก ๆ ไม่มีบิดพลิ้ว ไม่มีหักมุมหักศอกอะไรทั้งสิ้น ซึ่งในองก์แรกจริง ๆ ก็ต้องถือว่ายังมีความน่าสนใจอยู่นะครับ แม้ว่ามันจะเป็นสูตรสำเร็จสไตล์ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ โดยเฉพาะพลอตที่พอนักสืบประสบความสำเร็จ ก็เลยหันมาเปิดสำนักงานนักสืบเพื่อรับงานเอง (แล้วส่วนใหญ่กิจการก็มักจะร่อแร่จวนเจ๊ง) อะไรทำนองนี้
แต่สิ่งที่มันทำร้ายตัวหนังอย่างร้ายแรงก็คือ การที่ตัวหนังในช่วงกลาง ๆ เรื่องกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเป็นหนัง Whodunit เลยครับ คือไม่ให้เบาะแสคดีฆาตกรรมอะไรใด ๆ มีแต่เพียงเหตุการณ์แนวซิตคอมที่ยังคงติดมาจากภาคแรก เป็นอาการแนวเหตุการณ์พา (แถ) ไปพบเจอกับเรื่องราวการผจญภัยและแอ็กชัน มากกว่าจะพุ่งตรงไปที่การค้นพบรายละเอียดที่จะเป็นเบาะแสในชั้นต่อ ๆ ไปเหมือนอย่างหนังแนว Whodunit เรื่องอื่น ๆ ตัวหนังเกือบทั้งเรื่องแทบจะขับเคลื่อนด้วยบทแนวแอ็กชันผจญภัย ที่ก็ดันเป็นแอ็กชันแนวตลกร้ายกาว ๆ ไปเสียอีก
และที่ถือว่าพาให้ย่ำแย่ไปอีกก็คือคู่รัก นิกและออเดรย์ ที่แสดงโดย แซนด์เลอร์และ อนิสตัน ที่จริง ๆ แล้วก็ต้องชื่นชมในแง่ของเคมีและมุกตลกที่ยังเข้าแข้งเข้าขา รับส่งมุกได้โบ๊ะบ๊ะไม่แพ้ภาคแรก โดยเฉพาะพวกมุกบทสนทนาง้องแง้ง แต่ก็ต้องเน้นย้ำอีกทีว่า สถานะของทั้งสองคนตอนนี้ก็ไม่ได้เป็นตำรวจรองบ่อนกับช่างเสริมสวยก๊อกแก๊กเสียแล้วน่ะสิครับ เพราะพอทั้งคู่หันมาเป็นนักสืบมืออาชีพ คือก็ไม่ปฏิเสธนะครับว่า เคมีและมุกฮาของทั้งคู่คือตัวหล่อเลี้ยงหนังให้มีความบันเทิงไปตลอดรอดฝั่งจริง ๆ เหมือนในภาคแรกนั่นแหละ
แต่กลายเป็นว่าทั้งคู่ดันกลายเป็นนักสืบที่ดูไม่มืออาชีพกว่าภาคแรกไปเสียอย่างนั้น เพราะแทนที่ทั้งคู่จะได้ทำอะไรอย่างที่นักสืบในหนัง Whodunit ทำบ้าง แม้ในองก์แรกทั้งคู่จะดูมีทรงเป็นนักสืบแล้วแท้ ๆ แต่หลังจากนั้นเกือบทั้งเรื่อง ก็มีแต่เพียงบทสนทนาพูดคุยเจ๊าะแจ๊ะตามประสาผัว ๆ เมีย ๆ (ที่ตลกบ้างไม่ตลกบ้าง) ผสมมุกจังหวะซิตคอม มุกบูลลีสังขาร และมุกใต้สะดือ (ที่ตลกบ้างไม่ตลกบ้าง) มากกว่าที่จะพยายามลงลึกจริงจังและเปิดเบาะแสในคดี ซึ่งมันก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวหนังแทบไม่มีรายละเอียดเชิงลึกที่เกี่ยวกับคดีฆาตกรรมสักเท่าไหร่
พอตัวหนังมาถึงจุดเฉลยปม แม้จะมีจังหวะหักมุมบ้างนิด ๆ แต่มันก็แทบไม่ได้ทำให้รู้สึกว้าวตอนเฉลยเท่าไหร่ เพราะนอกจากจะเดาง่ายมาก ตัวหนังมันก็แทบไม่มีเหตุมีผลอะไรให้เข้าใจได้ถึงแรงจูงใจของฆาตกรเลยด้วยซ้ำ เพราะเป็นการฆ่าด้วยเหตุผลที่ธรรมดาบ้องตื้นมาก ๆ ก็เลยทำให้ภาพรวมของการเป็นหนังฆาตกรรมในภาคนี้ดูย่ำแย่กว่าภาคแรกเสียอีก เพราะแม้ในภาคแรกจะเดาง่ายจัด ๆ แต่การให้รายละเอียดเบาะแส และแรงจูงใจบางอย่างกลับมีความน่าสนใจกว่า และที่สำคัญที่สุดก็คือ บทภาคนี้ใช้คนเขียนเดียวกันกับภาคแรกด้วยนะ ก็ได้แต่สงสัยว่ามาลงเวย์นี้ได้ไงเนี่ย
สิ่งที่พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากภาคแรก ก็คงมีแค่เรื่องของงานโปรดักชันโดยรวมครับ โดยเฉพาะการผูกเรื่องให้มีการเดินทางไปยังต่างประเทศ (ไปทำไมก็ไม่รู้) ทั้งเกาะฮาวาย และปารีส ที่จะได้เห็นฉากบนหอไอเฟลด้วย รวมถึงงานโปรดักชันที่พอมีความเป็นหนังแอ็กชัน ก็เลยมีการเพิ่มงานเอฟเฟกต์หวือหวาเข้าไปอีกจำนวนมาก ก็ไม่รู้ว่าทีมงานแอบได้ยินฟีดแบ็กงานโปรดักชันที่ดูธรรมดาไปหน่อยในภาคแรก ก็เลยประชดด้วยการเอามาใส่ในภาคนี้หรือเปล่านะ ซึ่งก็ถือว่าแปลกหูแปลกตาดี รวมทั้งงานด้านมุมกล้องและวิชวลเอฟเฟกต์ที่ดีขึ้น (ในระดับหนังสตรีมมิง) ด้วย
ส่วนในแง่ตัวละคร การแสดงของแซนด์เลอร์และอนิสตัน ก็ยังคงแบกตัวหนังได้อย่างบันเทิง เป็นมุกที่แม้จะฮาบ้างไม่ฮาบ้าง แต่ก็ยังพอหล่อเลี้ยงหนังให้พอมีความบันเทิง รวมทั้งมุกซิตคอมที่บางอันก็ใช้ได้ บางอันก็ไม่รู้จะฮายังไงจริง ๆ รวมทั้งนักแสดงจากภาคเก่าทั้ง อะดีล อัคห์ตาร์ (Adeel Akhtar) เจ้าของบทมหาราชา จอห์น กานี (John Kani) เจ้าของบทนายพลอูเลงกา บอดีการ์ดส่วนตัวของมหาราชาในภาคนี้ ที่ยังมีบทบาทเด่นน่าจดจำกว่านักแสดงชุดใหม่ ที่แทบไม่มีอะไรให้จดจำได้มากนัก
ใน ‘Murder Mystery 2’ นี้ ผู้เขียนมองว่า ลืมไปได้เลยครับถ้าจะดูในฐานะหนัง Whodunit เพราะตัวหนังแทบไม่เก็บและไม่ได้ให้ความเป็นหนังฆาตกรรมแนว ๆ นี้สักเท่าไหร่ กลายเป็นภาคแรกที่ทำในส่วนนี้ได้ดีกว่า แต่ในภาคนี้ตัวหนังกลับเน้นขายขำ จังหวะซิตคอมแบบกาว ๆ และมุกสนทนาเจ๊าะแจ๊ะ ของผัวเมียตัวละครเอกซะมากกว่า (และแน่นอนว่าหน้าหนังความเป็นดารา A-List ก็ขายได้ด้วยแหละ)
รวมทั้งการขับเคลื่อนด้วยหนังแอ็กชันผจญภัย แทนที่จะให้ความสำคัญกับการปูรายละะเอียดเบาะแสคดีฆาตกรรมให้ซับซ้อนอย่างที่หนัง Whodunit ควรจะเป็น เป็นหนังที่เอาไว้ดูแก้เบื่อได้ครับ เพราะมันไม่ยาวมาก ไม่ถึง 100 นาที ซึ่งหลายคนก็อาจจะชอบเคมีของนักแสดง แต่ถ้าอยากดูความเป็นหนังฆาตกรรม Whodunit ที่ฮาด้วย จริงจังด้วย หักมุมด้วย แนะนำว่าเข้าไปดู ‘Glass Onion: A Knives Out Mystery’ ที่เข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมออสการ์ปีนี้น่าจะดีกว่าครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส