กำกับ
สิทธิศิริ มงคลศิริ
ความยาว
2 ชั่วโมง 16 นาที
ช่องทางรับชม
NETFLIX
Our score
7.0[รีวิว] Hunger คนหิวเกมกระหาย | อาหารจานเด็ดที่เผ็ดร้อน และจงใจเหยียดอย่างหิวกระหาย
จุดเด่น
- ซูฮกให้กับการแสดงของออกแบบ ชุติมณฑน์ และปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม คุ้มค่ามากมายที่ได้ชมฝีมือที่ยอดเยี่ยมของสองคนนี้
- องค์ประกอบศิลป์ที่แพรวพราว สวยงาม ดึงดูดและสามารถเล่าเรื่องด้วยภาพได้อย่างซู่ซ่า และเป็นจุดที่ชอบที่สุดของหนังเรื่องนี้
จุดสังเกต
- บทมีความไม่สมเหตุสมผลและขาดความสมจริง จนทำให้เกิดแผลฉกรรจ์และน่าขัดใจอยู่หลายส่วน จนน่าเสียดายว่าหากใส่ใจที่ความสมจริงมากกว่านี้ หนังเรื่องนี้ต้องกลายเป็นที่กล่าวขวัญในด้านดีอย่างไม่ต้องสงสัย
- การดำเนินเรื่องที่ไม่ปะติดปะต่อ และใส่เนื้อหา คำคมเพื่อจิกกัดมากเกินไป แถมยังไม่ส่งผลให้เกิดความคล้อยตาม ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สร้างแผลใหญ่ให้กับหนัง ไม่แพ้บทหนังเลยทีเดียว
-
บท
5.5
-
โปรดักชัน
8.0
-
การแสดง
8.0
-
การดำเนินเรื่อง
5.5
-
ความสนุกกตามแนวหนัง
8.0
ในฐานะที่บ้านเมืองเราถูกขนานนามว่าเป็นครัวโลก แต่สิ่งที่น่าแปลกอย่างหนึ่งก็คือเรามีหนังและละครเกี่ยวกับอาหารน้อยมากทั้งที่เรามีของอยู่เต็มไม้เต็มมือไปหมด ‘Hunger คนหิวเกมกระหาย’ จึงถือเป็นหนังอาหารที่ทำเอาหิวอีกเรื่องหนึ่งในจำนวนไม่กี่เรื่องที่เคยมีมา และเป็นความหิวที่ดุเดือด เผ็ดร้อน ตะกละตะกลาม และหยิ่งเหยียดที่สุดของต้นปี 2023 เชิญกินกันให้เต็มคราบ เพราะอาหารจานนี้ เหมาะกับคน ‘หิว’ เก่ง
‘Hunger คนหิวเกมกระหาย’ | เล่าเรื่องราวของ ‘ออย’ (ออกแบบ ชุติมณฑน์) มือวางอันดับหนึ่งแห่งร้านราดหน้า ผัดซีอิ๊ว ที่เป็นกิจการของครอบครัว แต่ละวันของออยก็หน้ามัน หัวยุ่งอยู่หน้าเตา เพราะนี่คือสิ่งที่เธอทำได้ดีที่สุด ในฐานะผู้สืบทอดกิจการต่อจากพ่อ ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้เป็นคนเลือกมันมาด้วยตัวเองก็ตาม แต่แล้ววันหนึ่ง การตัดสินใจเปลี่ยนลำแสงก็เกิดขึ้น เมื่อออยได้พบกับ ‘โตน’ (กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา) เชฟหนุ่มที่เห็นความสามารถของออยเข้าเต็มคำ
ออยตัดสินใจเลือกเดินทางเข้าหาแสงที่สว่างมากกว่าเดิม ด้วยการไปร่วมทีม Hunger ทีมเชฟอันดับ 1 ของประเทศที่นำทีมโดย ‘เชฟพอล’ ( ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม) ตามคำชวนของโตน โลกใบใหม่ที่ออยก้าวเข้าไปยืนอยู่ตรงนั้น ช่างแตกต่าง แปลกใหม่และน่าตื่นเต้น แต่ความสวยงามเจิดจรัสที่อยู่ตรงหน้า กลับมีด้านมืดที่ซ่อนอยู่ อาหารไฟน์ไดนิ่งที่รังสรรค์เมนูสุดพรีเมียม เมนูอาหารที่หลายคนปรารถนาอยากลิ้มลองสักครั้งหนึ่งในชีวิต กลับมีเบื้องหลังที่ดิ่งลึกไปถึงก้นบึ้งของใจมนุษย์นั่นเลยเชียว
หิวของเรา ไม่เท่ากัน
ผลงานชิ้นล่าสุดของ ‘โดม-สิทธิศิริ มงคลศิริ’ ที่หน้าหนังเปิดมาอย่างโจ่งแจ้งว่านี่คือหนังอาหารที่สื่อสารกับคนหิว ทั้งหิวแสง หิวอำนาจ หิวชัยชนะ และพร้อมจะตอกหน้าผู้คนที่กระหายความเลิศหรูและการเป็นคนพิเศษ ทั้งดึงทึ้ง จิกตบ และเย้ยหยันคนเหล่านั้นว่า มันก็แค่อาหารมื้อหนึ่งที่ไม่ได้ทำหน้าที่คลายความหิวสินะ แต่มันทำหน้าที่เป็นเครื่องประดับติดปลายลิ้น ที่กินให้ตายก็ไม่มีวันอิ่ม แต่ได้กระหยิ่มว่ามีสิทธิ์ได้กินเท่านั้นเอง
คือหนังเน้นหนักไปที่การจิกกัดมากกว่าการทำอาหารเสียอีก ก็แน่ละเพราะนี่คือหนังที่สร้างมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะนี่นา ยิ่งผลงานครั้งนี้ได้ร่วมมือกับ ‘คงเดช จาตุรันต์รัศมี’ ก็ทำให้เกิดผลงานที่แสบ ๆ ชา ๆ เหมือนโดนตบเบา ๆ แต่ย้ำซ้ำ ๆ ที่จุดเดิม และสารที่หนังฉีดกระจายเอาไว้เต็มหน้าจอ ก็คือการบอกออกมาว่า สำหรับบางชนชั้นทางสังคม อาหารได้แปลงร่างเป็นเครื่องประดับราคาแพงของคนมีอันจะกินไปซะแล้ว เขาไม่ได้กินเพราะโหยหิว แต่กินเพราะโหยหา
พร้อมกับการบ่นลอย ๆ ออกมาว่า ทำไมคนเราต้องยอมจ่ายเงินเพื่อกินอาหารราคาแพง ที่บางครั้งก็ไม่ได้ซาบซึ้งกับรสชาติของมันเลยด้วยซ้ำ แค่เพียงโฉมหน้าและเรื่องราวที่ถูกปรุงแต่งซะเลิศเวอร์ ก็โอนเอนไปกับสังคมที่ฉาบฉวยกันซะแล้ว..ก็เขามีตังค์อ่ะจ้ะ จะกินเพื่ออะไรมันก็เรื่องของเขาไหมล่ะ โธ่
แต่นี่คือสารที่เราจับได้จากหนังและรู้สึกได้แบบนั้นเข้าไปเต็ม ๆ มากกว่านั้นหนังยังเน้นหนักไปที่การจิกกัดสังคมของคนมีอันจะกิน แถมยังปรามาสออกไปตรง ๆ ว่าพวกเธอมันช่างโง่เขลา โดยให้เชฟพอลเป็นตัวแทนหมู่บ้าน แอบเสิร์ฟความอัปยศนั้น ใส่จานใบหรูให้บรรดามีทั้งหลายได้ลิ้มลอง เพราะสิ่งที่คนเหล่านั้นหิวไม่ใช่อาหาร แต่เป็นหน้าตาทางสังคม การป้อยอ และความฟุ้งเฟ้อแบบอันลิมิเต็ด คือจิกเข้าไปค่ะ จิกแบบไม่มีแผ่ว นี่ถ้าเป็นเส้นผมบนศีรษะก็โดนทึ้งแล้วทึ้งอีกจนเจ็บหนังหัวไปหมดแล้ว
พร้อมกับส่งตัวแทนฝั่งหิวจริงคือออย นางเอกของเรื่องมางัดข้อกับเชฟพอล เพราะออยคือตัวแทนฝั่งหิวโหย ที่ในชีวิตหิวจริงมาโดยตลอดแต่ก็อยากให้แสงส่องลงมาทางนี้บ้าง ด้วยการลองหิวความสำเร็จอย่างจริงจังดูสักตั้ง เธออยากลิ้มรสความสำเร็จที่คนอื่นบอกว่ามันคือความสำเร็จดูบ้าง ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันก็คือความสำเร็จอยู่แล้วหากมองเข้ามาด้วยสายตาของคนภายนอก เพียงแต่เธอไม่เคยรู้ว่าเธอเหยียบอยู่บนความสำเร็จและได้สิทธิ์นั้นตั้งแต่เกิด เพราะเธออยู่กับมันทุกวันจนชินชา และเพราะสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เธอเลือกเองตั้งแต่ต้น
ฉะนั้นการออกจากบ้านไปพบเจออะไรที่แปลกใหม่ มันก็เป็นรสชาติที่หวือหวาและท้าทายดีนี่นา แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าเมื่อความหิวมันจัดจ้านขึ้นทุกที ออยจะยังเป็นออยอยู่เหมือนเดิม หรือทิ้งชีวิตที่ผ่านมาไว้ข้างหลัง และสร้างชีวิตใหม่ด้วยน้ำมือของตัวเอง โดยหันหลังให้บ้านกับ ‘ผัดงอแง’ ที่น่ากินที่สุดในเรื่องกันแน่ เรื่องนี้จึงมีหลายซีนที่ย้ำชัดไปที่ผัดงอแง เมนูเด็ดประจำบ้าน ว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่อาหารประทังหิว แต่เป็นอาหารแห่งความสุข รอยยิ้มและความอิ่มหนำ
แต่น่าเสียดายที่ผัดงอแง กลับไม่สามารถทำหน้าที่ของคำว่า ‘บ้าน ‘ ความสุขง่าย ๆ แค่หันกลับมาได้ชัดเจนอย่างที่ควรจะเป็น หลายซีนหลายจังหวะที่กำลังจะทำให้ถึงจุดพีค ให้ถึงจุดที่มีความรู้สึกร่วมว่า ‘คนเราทุกคนต้องมีบ้านให้กลับ’ แต่กลับดึงไปไม่ถึงความอารมณ์นั้น จังหวะที่ควรจะเรียกอารมณ์ให้ผู้คนคล้อยตามได้ กลับแผ่วเบา ไม่ชัดเจนและเข้มข้นเท่าที่ควร เสียดายค่ะ
เมนูน่าอร่อยที่ถูกเขี่ยทิ้งและแผลฉกรรจ์ที่เกิดขึ้นในครัว
เอาจริง ๆ อาจไม่ใช่การเขี่ยทิ้ง แต่เป็นการเล่าไม่หมด ผัดไม่สุก ผัดไม่เสร็จ จนเหมือนกับว่าเมนูเหล่านั้นถูกทิ้งขว้างอย่างน่าเสียดาย และลืมกินเอาซะดื้อ ๆ แน่นอนว่าไม่เพียงแต่ผัดงอแงเท่านั้นที่ควรขยี้ให้เข้มอีกนิด แต่ตัวละครที่น่าสนใจอื่น ๆ ที่เป็นทั้งเมนูหลักและเครื่องเคียงก็ถูกทิ้งขว้างและปิดเตาไปซะดื้อ ๆ อย่างนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นโตน ที่แนะนำตัวว่าเป็นจูเนียร์ซูส์เชฟ หรือผู้ช่วยเชฟฝึกหัด เป็นตำแหน่งที่รองลงมาจากน้าแดงที่เป็นซูส์เชฟ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตัวผู้เขียนเองสงสัยเหลือเกินว่า มันมีด้วยเหรอตำแหน่งนี้
เพราะเท่าที่ทราบเกี่ยวกับระบบบริเกดในครัว (Kitchen Brigade) รองลงมาจากซูส์เชฟมันไม่มีจูเนียร์นะจ๊ะ หรือเขาเป็นตำแหน่งที่มีแต่ในเมืองไทยก็ไม่รู้ได้ เราซึ่งไม่เคยไปอยู่ในครัวแบบนั้นจริง ๆ เพียงแต่คลุกคลีอยู่วงนอก ก็ปิดตาซะข้างนึงก็แล้วกัน เอาเป็นว่าบทของโตนที่น่าจะได้รับความสนใจมากกว่าฉากจูบและการเป็นคนไปเลือกซื้อวัตถุดิบ กลับเบาบางยิ่งกว่าควันในห้องอาหาร โดยเฉพาะซีนหมดศรัทธาในตัวเชฟพอล ที่โตนสะบัดบ๊อบแล้วก็หายไป โดยปล่อยคนดูอย่างเรานั่งเก้อว่า อ้าว..คือแค่นี้ ใส่มาแค่นี้จริง ๆ ดิ ไม่มีต่ออีกหน่อยจริง ๆ เหรอ
โตน นี่มันคือซีนที่หนูควรจะได้ไปแบบเต็ม ๆ นะลูก แต่ไม่ได้ซะงั้นละค่ะ นี่โมโหแทนโตนเลยนะบอกไว้ก่อน ถัดมาคือซีนของตัวละครอื่น ๆ ที่ผู้เขียนมองว่าน่าสนใจและพร้อมจะเป็นไซด์ดิชที่ไม่กินไม่ได้ของเรื่องนี้กันเลยทีเดียว คือแบ ผู้ช่วยเบ็ดเตล็ดที่ยิ้มอย่างเดียวและตะบี้ตะบันหั่นแบบไม่พูดไม่จา เป็นตัวละครที่คิดว่าต้องมีอะไรมาเล่นให้เป็นการบดขยี้ถึงความต่างชั้นทางสังคม แรงงานต่างด้าว หรืออะไรเทือกนั้นแน่ ๆ แต่ก็ปลิวไปกับเศษผักบนเขียงซะอย่างนั้น
หรือตือผู้ดูแลซุป และเก่งครัวเย็น ที่คิดว่าคนเหล่านี้ต้องมีซีนอะไรมาเล่นให้ดูอีกเยอะแน่ แต่ก็กลับไม่มีและถูกปล่อยวางไว้ข้างจาน แม้กระทั่งตัวละครน้าแดง ซูส์เชฟประจำครัวที่ตำแหน่งนี้ถือเป็นตำแหน่งที่รองลงมาจากเชฟเดอ คุยซีน ก็คือเชฟพอลผู้บ้าอำนาจนั่นแหละ ที่แรงจูงใจในการทำอะไรต่อมิอะไรหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในเรื่องก็บางเบาซะจนโปร่งแสงยิ่งกว่าเนื้อสไลซ์บนเขียงของแกอีกค่ะ และสิ่งที่แปร่ง ๆ ทะแม่ง ๆ ขัดกับความรู้สึกคือบทในช่วงที่มีการสับเปลี่ยนตำแหน่งเอาตามใจเชฟพอล ทำให้เอ๊ะอ๊ะและขาดความสมเหตุสมผลอยู่พอสมควร
ที่ถึงแม่ว่างานครัวจะเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ เพราะระบบเขามีลำดับขั้นที่แน่นอน เชฟใหญ่คือผู้กุมอำนาจของครัวก็ตาม แต่ดราม่าของเชฟแดงก็ดูจะขัดกับระบบบริเกดในครัวอยู่มาก และยิ่งการมาของออยก็ดูจะเป็นไปไม่ได้เลยในสายงานครัว ที่แม่ค้าหน้ากระทะผัดซีอิ๊ว จะเข้ามาจับกระทะในครัวไฟน์ไดนิ่งได้ง่าย ๆ เพียงเพราะมีพรสวรรค์และรู้เรื่องไฟเป็นอย่างดี ยิ่งหั่นเนื้อ A5 ก็ยังไม่เป็น และซอยผักก็ยังสู้แบสายหั่นไม่ได้ ก็ทำให้ขัดหูขัดตากันไปใหญ่
ฮัลโหล นี่ครัวไฟน์ไดนิ่งค่ะ ครัวที่พรุ่งนี้จะมีการเสิร์ฟเมนูกินเลือดกินเนื้อให้กับไฮโซระดับประเทศ และใช้เนื้อ A5 เป็นวัตถุดิบ ซึ่งมันแพงซะจนจะเอามาให้แม่ครัวมือใหม่มาลองผิดลองถูกเป็นกิโล ๆ ไม่ได้ ถึงบทจะใส่เหตุผลอื่นมารองรับแต่มันก็ไม่สามารถให้อภัยได้อยู่ดี ถือเป็นจุดที่พลาดในเรื่องของรายละเอียดที่หากไม่พลาดในส่วนนี้เลย และเขียนบทให้สมเหตุสมผลน่าเชื่อมากกว่านี้ ก็จะทำให้หนังเป็นหนังที่สมบูรณ์อย่างน่าชื่นชม และร้องว้าวได้อย่างไม่กังขา
และความเข้มข้นที่ควรจะเน้นหนักไปที่เครื่องปรุงหอม ๆ รสชาติจัดจ้าน ก็ยังมาถูกเจือจางลงด้วยฉากคลอเคลียนอกห้องครัวซะมากกว่า จุดนี้เข้าใจว่าการรีเสิร์ชที่ควรจะจริงจังได้ถูกละเลยไป และเรื่องราวที่อยากจะพูดถึงมันมีมากซะเหลือเกิน บวกกับความที่อยากสอดแทรกอารมณ์ใคร่เข้ามาบ้าง แต่ถ้าตัดใจเอาบางฉากบางตอนออกไปและเล่าในเรื่องที่ควรจะเล่าแต่ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย หนังเรื่องนี้ก็จะเต็มไปด้วยความครบรสที่กลมกล่อมลงตัวและจัดจ้าน เผ็ดร้อนกว่าที่เห็นอย่างแน่นอน
ยิ่งสูง ยิ่งหิว ยิ่งสูญเสีย
ตัวละครเชฟพอลเป็นตัวแทนที่ดีของความหิวที่ยิ่งสูงยิ่งสูญเสีย และอันดับแรกที่แกเสียคือความเป็นตัวตนในด้านดี ถึงแม้เราจะเห็นความดีของแกอยู่บ้างในเรื่องของความเข้มงวดในการทำงานที่เข้มเกินพิกัด และมีความใส่ใจเต็มร้อย จัดจ้านในด้านอาชีพโดยเฉพาะฉากในบ้านทาวน์โฮมที่ทำให้เห็นได้ชัดว่าเชฟพอลเชี่ยวชาญงานครัวแค่ไหน แต่ก็เป็นฉากที่ตบหน้าชนชั้นมีอันจะกินได้พอสมควร ซึ่งฉากนี้ก็เป็นอีกฉากหนึ่งที่น่าเสียดาย ที่ถึงแม้จะมีฉากต่อเนื่องให้สะท้อนใจ แต่ก็ไม่สามารถดึงอารมณ์ดราม่าได้อย่างที่ควรจะเป็น
แถมยังพยายามตั้งใจมาบลัฟนางเอกของเรื่องว่าระวังนะเว้ย ยิ่งอยู่สูงจะยิ่งเสียอะไรต่อมิอะไรไปอีกเยอะ ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับความคิดของเชฟพอลเท่าไหร่ค่ะ และออยก็ทำให้เห็นแล้วว่าเชฟพอลคิดผิด ซึ่งถือเป็นการขมวดปมให้ตัวละครออย วกกลับมาที่คำว่าบ้านได้อย่างน่าชื่นชม และตอกย้ำว่าคนเราต่อให้อยู่สูงสักแค่ไหน ก็ไม่ทีทางเสียตัวตนไปได้ถ้าสันดานภายในเข้มแข็งพอ แต่ก็ยังไม่สุดอีกนั่นแหละ ทำไมเนี่ย
ความไม่สุดที่ควรจะสุดของเนื้อหนังในหลาย ๆ ฉากทำให้เกิดความรู้สึกขัดใจ ที่เหมือนเรากำลังฟังเรื่องเล่าดี ๆ สักเรื่อง แต่นักเล่านิทานเกิดเป็นอัลไซเมอร์กะทันหัน แล้วบอกกับเราว่าจบแล้ว และหันไปเล่าเรื่องอื่นต่อให้เราคล้อยตามไปแบบเพลิน ๆ ซึ่งพอคนฟังกำลังเพลินได้ที่ ก็เอาอีกแล้ว อัลไซเมอร์รับประทานอีกซะงั้น เป็นการเล่าเรื่องที่เอาแต่ใจและรีบด่วนเหมือนคนเสิร์ฟฟูลคอร์สจะรีบกลับบ้านก็ไม่ปาน
ชนิดที่แขกกินยังไม่ทันอิ่มก็ยกจานออกไปแล้วสอดเมนูใหม่เข้ามาแทน โดยไม่ถามไถ่สุขภาพกันสักคำ เอิ่ม…จะรีบไปไหนไม่ทราบคะ หรือถ้าเวลามันไม่พอ ก็ตัดบางฉากที่อารมณ์ซ้ำมันออกไปซะ หรือไม่ก็ทำเป็นซีรีส์ให้สิ้นเรื่องสิ้นราว เพราะเนื้อหาดี ๆ ที่น่าดูน่าฟังขนาดนี้ มาเจอการเล่าที่คั้นไม่สุด ก็รู้สึกเสียดายของอย่างไรไม่รู้ น้ำกะทิข้น ๆ ที่ควรจะข้นอย่างที่ควรจะเป็น ก็กลายเป็นเจอจางลงไปอย่างน่าเสียดาย
การแสดงระดับหัวกะทิ งานภาพระดับอาร์ติสท์
ปรบมือให้กับการแสดงของ ออกแบบ ชุติมณฑน์ และปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม ที่ทำให้รีวิวนี้เป็นรีวิวที่ย้าวยาวเพราะอดใจไม่ไหวที่จะแวะมาชมนักแสดงไม่ได้จริง ๆ สองคนสวมวิญญาณของตัวละครที่เป็นตัวแทนของความหิวได้อย่างถึงขนาด ไม่เสียดายและรู้สึกคุ้มค่าที่ตั้งใจดูหนังเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยคาแรกเตอร์ที่ปั้นให้เชฟทั้งสองคนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จนคนดูสัมผัสได้เลยว่า ชัยชนะในสเตชันของแต่ละคนมีจุดมุ่งหมายของความหิวที่แตกต่างกัน
ทางด้านเชฟพอล ที่ถึงจะครองตำแหน่งเป็นถึงสุดยอดเชฟของประเทศ และปรุงอาหารได้เลิศรส แต่เราก็ไม่สามารถเชื่อได้อย่างสนิทใจเลยว่าอาหารของเชฟสมควรได้รับการขนานนามว่าอร่อยจริง เพราะความหยิ่งเหยียดที่เชฟประโคมใส่บรรดาลูกค้าไฮโซทั้งหลาย ปะปนไปด้วยการล่มถุยและต้องการชัยชนะ โดยเฉพาะภาพของความตะกละตะกลามที่ออกมาของแต่ละมื้ออาหารก็ช่างน่าขยะแขยง อี๋แอะในความจอมปลอมอย่างเห็นได้ชัด จนคิดว่านี่อร่อยขนาดนี้กันจริง ๆ หรือเป็นอุปทานหมู่กันแน่
จุดนี้ถือว่าเป็นงานภาพและองค์ประกอบศิลป์ ที่ยอดเยี่ยม รวมไปถึงการกำกับที่ต้องเอ่ยปากชมว่าสามารถทำให้คนดูรู้สึกคล้อยตามและสัมผัสความรู้สึกนั้นได้ โดยไม่ต้องการคำแปล รวมไปถึงแสง สีและงานโปดักชันทั้งหมดที่น่าประทับใจ ก็ทำให้หนังเรื่องนี้สามารถเล่าเรื่องได้โดยไม่ต้องอาศัยคำอธิบายเลยสักคำ เพียงแค่จับตามองและดื่มด่ำไปกับบรรจงศิลป์ที่นำเสนอ ก็สามารถสัมผัสความฟอนเฟะที่หนังจงใจจิกเหยียดและตบสำนึกได้อย่างง่ายดาย
และสิ่งที่น่ากระหยิ่มยิ้มย่องที่สุดในหนังเรื่องนี้ก็คือ อาหาร ไม่ว่าจะเลิสเลอขนาดไหนถ้ามันถูกปรุงสุกขึ้นมาด้วยไฟแห่งความเกรี้ยวกราด จอมปลอมและขาดความจริงใจ อาหารจานนั้นก็ไม่มีทางที่จะเอาชนะอาหารบ้าน ๆ ที่ปรุงสุกขึ้นมาด้วยไฟแห่งความชื่นชมยินดีไปได้หรอก .. ผัดงอแงคือเดอะเบสต์ค่ะ และอยากกินมันซะเดี๋ยวนี้ ให้ตายสิ
อ่านต่อ: สัมภาษณ์ ‘ปีเตอร์-ออกแบบ-กรรณ’ 3 นักแสดงนำจาก ‘Hunger’ กับความอร่อยของหนัง และการแสดงอันหิวกระหาย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส