[รีวิวซีรีส์] Copycat Killer: หลากมิติคำว่า เหยื่อ ของคดีฆาตกรรมโหด
Our score
7.0

Release Date

31/03/2023

ความยาว

10 ตอน ตอนละประมาณ 1 ชั่วโมง

สัญชาติ

ไต้หวัน

[รีวิวซีรีส์] Copycat Killer: หลากมิติคำว่า เหยื่อ ของคดีฆาตกรรมโหด
Our score
7.0

Copycat Killer

จุดเด่น

  1. ดัดแปลงจากนิยายที่ซํบซ้อนคมคาย และดัดแปลงได้น่าสนใจเติมในจุดที่ดี รักษาในจุดที่สำคัญ โปรดักชันดีมาก การแสดงดี

จุดสังเกต

  1. การเล่าเรื่องยังมีช่วงเอื่อยและความยาวนานในแต่ละตอนทำให้น่าเบื่อได้บางช่วง การแสดงบางตัวละครยังโอเวอร์ไป การเล่าเรื่องยังแบ่งเวลาและความสำคัญได้ดีมากกว่านี้
  • บท

    7.0

  • โปรดักชัน

    7.5

  • การแสดง

    7.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    6.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    7.5

เรื่องย่อ: เรื่องราวเกิดขึ้นในทศวรรษ 1990 ที่โทรทัศน์คือสื่อหลัก กั๋วเสี่ยวฉี อัยการหนุ่มผู้เถรตรงต้องมารับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องเป็นครั้งแรก หลังจากฆาตกรก่อคดีโหดเหี้ยมซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยมีทั้งญาติของเหยื่อและเหล่านักข่าวตั้งคำถามถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ เสี่ยวฉีต้องมุ่งมั่นตามหาหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะนำมาสู่การไขคดีแม้จะทำให้ชีวิตของเขาและคนรอบข้างต้องเสี่ยงตายก็ตาม

คอนเทนต์จากฝั่งไต้หวันยังคงพัฒนาตัวตีตลาดโลกผ่านเน็ตฟลิกซ์อยู่ตลอด เราได้เห็นโปรดักชันที่สูงผ่านงานซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนสุดโหดตามกระแสนิยมที่หลายประเทศมีเป็นของตัวเองอย่าง ‘The Victims’ Game’ (2020) และก่อนหน้านี้เราเพิ่งตื่นเต้นกับกระแส ‘Incantation’ (2022) ที่เขย่าขวัญสั่นประสาทกับลัทธิประหลาดสุดสยอง

ล่าสุดไต้หวันก็เดินเกมต่อเนื่องโดยเพิ่มความสากลเข้าไปผ่านการดัดแปลงจากนิยายสืบสวนสอบสวนจากฝั่งญี่ปุ่นที่หลายประเทศยอมรับในความซับซ้อนแหลมคม ทั้งนี้ได้เลือกนิยายในปี 2001 เรื่อง ‘Mohōhan (模倣犯)’ หรือ ‘The Copycat’ ของนักเขียนนิยายสืบสวนหญิงคนดังอย่าง อาจารย์ มิยาเบะ มิยูกิ (Miyabe Miyuki) ซึ่งคอมังงะอาจเคยผ่านตาชื่อมาจากผู้แต่งเรื่องมังงะแนวแฟนตาซีต่างโลกเรื่อง ‘Brave Story’ ที่ตีพิมพ์ทางค่ายสยามอินเตอร์คอมมิกส์ อันแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในหลายสไตล์การเขียนของอาจารย์มิยาเบะด้วย

นิยายเรื่อง ‘Mohōhan’ นั้น เอาจริงแล้วเคยถูกถ่ายทอดเป็นหนังญี่ปุ่นในปี 2002 มาแล้วในชื่อเดียวกัน โดยรวบรัดตัดตอนเข้าเรื่องเร็วกว่าฉบับนิยายที่ยาวถึง 5 เล่มและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดไปค่อนข้างมากทำให้เป็นหนังแนวสืบสวนธริลเลอร์หักมุม ในขณะที่ซีรีส์ฉบับไต้หวันนั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับนิยายของอาจารย์มิยาเบะมากกว่า แถมเคารพต้นฉบับมากเสียขนาดยังเอากิมมิกของตัวฆาตกรที่ใช้หน้ากากละครโนของญี่ปุ่นมาใช้ต่อด้วยแบบไม่ดัดแปลงเป็นของจีนเลย

Copycat Killer

เมื่อใช้เนื้อหาที่แทรกระหว่างบรรทัดในนิยายได้ครบ มันจึงทำให้ผลงานการสร้างสรรค์ของสองผู้กำกับ จางหรงจี๋ (Chang Jung-chi) และ จางเหิ้งหรู (Chang Heng-ju) ที่ผ่านงานสายสารคดีมาก่อนเรื่องนี้ดูมีเนื้อสารทางสังคมที่แยบยลกว่า และสามารถใช้เวลาของซีรีส์ที่ยาวถึง 10 ตอน ตอนละ 1 ชั่วโมงนั้นสร้างปมปัญหาและมิติตัวละครที่ลึกซึ้ง ขณะเดียวกันก็ยังสามารถขยี้ประเด็นที่เกิดในเหล่าตัวละครรองหรือละครสมทบให้น่าสนใจมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดีซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ก็ไม่ได้รีบพุ่งตรงไปที่การเฉลยตัวคนลงมือฆ่ารวดเร็วอย่างนิยายเพื่อดูว่าอะไรสร้างให้เขาเป็นอย่างนั้น แต่ยังทิ้งความลุ้นความน่าสนใจให้ครุ่นคิดติดตามกว่าด้วยว่าใครคือคนฆ่าและกระทำคนเดียวหรือมีคนอื่นอีก โดยเพิ่มเรื่องราวของฝั่งอัยการอย่าง กั๋วเสี่ยวฉี ที่แทนสายตาคนดูให้รู้ว่าเขาเองก็มีปมในวัยเด็กที่ครอบครัวถูกฆ่าและถูกท้าทายให้ปฏิญาณจะใช้ความยุติธรรมสะสางคดีมากกว่าอารมณ์ความรู้สึกหากคนที่เขารักถูกฆ่าต่อหน้าอีกเขาก็จะจับกุมมันมากกว่าล้างแค้น ซึ่งนี่คือโจทย์ที่ซีรีส์มอบไว้ให้กับเสี่ยวฉี

ในขณะเดียวกันเราจะได้ติดตามเสี่ยวฉีไปรู้จักกับพวกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สืบคดี และพวกนักข่าวที่มีทั้งพวกเขี้ยวลากดินปั่นประเด็นกับญาติของเหยื่อให้คนสนใจอย่างไร้เมตตา และนักข่าวที่ยังเหลือจริยธรรมในใจที่รู้สึกว่าเหยื่อก็คือมนุษย์คนหนึ่ง รวมถึงสังคมคนดูข่าวที่พร้อมจะโทษเหยื่อไว้ก่อนเช่นว่าถูกขมขื่นก็เพราะแต่งตัววาบหวิวเองหรือเปล่า ซึ่งก็ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่เพียงยุคโทรทัศน์เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่มาถึงปัจจุบันก็ยังพบเห็นได้ทั่วไป

Copycat Killer

แม้จะมีฉากการตามล่าเหยื่อ ทรมานและสังหารที่ดูโหดเหี้ยม ตัวตนและแรงจูงใจของฆาตกรที่ดูเป็นปริศนา ทว่าซีรีส์กลับสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าในแต่ละคดีที่เราเสพความรุนแรงจนชินชานั้นมันมีมนุษย์มีเหยื่ออยู่ในนั้นเสมอ อาจไม่ใช่คนที่ถูกลักพาตัวหรือถูกฆ่าเสมอไปด้วย แต่เหล่าญาติของพวกเขาเองก็ทนทุกข์และต้องอยู่เพื่อถูกถามแรง ๆ และไร้เมตตาด้วย ซึ่งอันนี้ทำได้ดีมาก

และเมื่อเรื่องราวเริ่มเดินสู่ครึ่งหลังของซีรีส์มันก็พูดล้ำไปอีกว่า เหยื่อของคดี มันอาจรวมไปถึงตัวคนร้ายในข่าวเองที่อาจถูกฟันธงไปจากความเชื่อมากกว่าหลักฐานแล้ว หรือแม้แต่ผู้ตามหาความจริงอย่างอัยการ ตำรวจ นักข่าว หรือคนดูทางบ้านที่ติดตามก็อาจเป็นเหยื่อในแง่หนึ่ง ทั้งสภาพจิตใจที่หดหู่ หรือโกรธเคือง และน่าเศร้าสุดคือเป็นเหยื่อจากความคิดไปเองตัดสินคนอื่นไปเอง ซึ่งมันทำให้ซีรีส์นี้พูดประเด็นเรื่องเหยื่อได้ครอบคลุมมากที่สุดในวิธีที่น่าสนใจสุด ๆ ด้วย

Copycat Killer

แต่ด้วยความยาวมากและเรื่องราวที่มีสองขยักเหมือนจะจบแต่ไม่จบ มันก็ทำให้ซีรีส์มีความเอื่อยอยู่ไม่น้อย ถึงแม้จะเข้าใจได้ว่าต้องให้เวลากับดราม่าและการสำรวจตัวละครก็ตามแต่มันก็อยากให้กระชับได้มากกว่านี้ในบางช่วง

และการจบของเนื้อหาช่วงแรกเพื่อเปิดประเด็นใหม่ มันก็ทำให้เห็นเลยว่าซีรีส์บาลานซ์ความน่าสนใจระหว่าง 2 ช่วงนั้นได้ไม่ดีพอ ช่วงแรกค่อนข้างนานแต่เปิดคำใบ้ค่อนข้างชัดแบบเดาพอได้ว่าใครคือฆาตกร แล้วเสียเวลากับการปูความค่อนข้างเยอะ ในขณะที่ช่วงหลังที่เป็นการเฉือนเหลี่ยมเฉือนคมสนุกน่าตื่นเต้นจริง ๆ ซีรีส์กลับเหลือเวลาให้คนดูสะใจที่อดทนดูมานานไม่มากพอ

โดยสรุป ซีรีส์อาจจะค่อนข้างนานมีช่วงเอื่อยช่วงสนุกสลับไป แต่มันมีเนื้อหาที่คนผู้เสพข่าวรายวันอย่างเราควรดูเอาข้อคิดไปใช้ดำเนินชีวิตต่อได้อย่างยอดเยี่ยมจริง ๆ

Copycat Killer

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส