Release Date
20/04/2023
Runtime
123 Minutes
Genre
Action Thriller
Director
Guy Ritchie
Cast
Jake Gyllenhaal Dar Salim
Our score
7.9[รีวิว] Guy Ritchie’s The Covenant – เมื่อGuy Ritchie เลิกขำแล้วยำคนดูด้วยความระทึก
จุดเด่น
- เป็นหนังสงครามที่ทำได้ระทึกตลอด 2 ชั่วโมง
- การแสดงของ เจค จิลเลนฮาล และ ดาร์ ซาลิม คือหัวใจของเรื่องและทั้งคู่ก็ทำหน้าที่ได้ดีมาก
- งานกำกับภาพช่วยดึงให้ตนดูเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ได้จริง ๆ
จุดสังเกต
- ช่วงท้ายองก์ 2 เข้าองก์สามอาจรู้สึกได้ว่าไม่เข้มข้นเท่าองก์แรก
- การตัดสินใจของจ่า จอห์น คินลีย์ ดูบ้าระห่ำและไร้เหตุผลไปหน่อยในการกลับไปช่วยเหลือล่ามที่ช่วยชีวิตตัวเองไว้
-
การแสดง
8.0
-
โปรดักชัน
8.0
-
บทภาพยนตร์
7.5
-
ควา่มบันเทิง
8.0
-
ความคุ้มค่าในการรับชม
8.0
ขออนุญาตเริ่มต้นรีวิวฉบับนี้ด้วยการบันทึกไว้เลยว่าสัปดาห์วันที่ 20 เมษายน 2566 เป็นวันที่หนังของกาย ริตชี (Guy Ritchie) เข้าฉายถึง 2 เรื่องได้แก่ ‘Operation Fortune’ และ ‘Guy Ritchie’s The Covenant’ เรื่องนี้ ในขณะที่หนังเรื่องแรกคือหนังตามขนบของชื่อ กาย ริตชี เรื่องราวโอละพ่อ คนเพี้ยน มุกห่าม ๆ และฉากแอ็กชันระห่ำเดือด แต่กับ ‘Guy Ritchie’s The Covenant’ กลับให้ภาพที่ดูผิดแผกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้หากดูจากเครดิตทีมบทภาพยนตร์คือทีมเดียวกันเป๊ะ ๆ เลยก็ตาม
หนังใช้ฉากหลังเป็นการบุกอัฟกานิสถานเพื่อถล่มตะลีบันหลังเหตุการณ์ 911 โดยมี จ่าจอห์น คินลีย์ (รับบทโดย เจก จิลเลนฮาล, Jake Gyllenhaal) เป็นผู้บังคับบัญชา หลังจากล่ามแปลภาษาคนก่อนตายจากระเบิดแสวงเครื่อง อาเหม็ด (รับบทโดย ดาร์ ซาลิม, Dar Salim) ล่ามคนใหม่จึงถูกจ้างมาเพื่อบุกค้นหาและทำลายแหล่งผลิตระเบิดแสวงเครื่องของตะลีบัน
ภารกิจดำเนินไปได้ด้วยดีจนกระทั่งตะลีบันส่งกองทัพมาบุกยิงถล่มพวกเขาจน จอห์น คินลีย์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส และด้วยความมีมนุษยธรรม อาเหม็ดจึงสร้างเปลแล้วเข็นร่างจอห์นผ่านหุบเขานับร้อยกิโลเพื่อส่งนายทหารอเมริกันกลับบ้าน แต่หลังเหตุการณ์ผ่านไปร่วมเดือนจอห์นจำเป็นต้องทำทุกทางเพื่อช่วยกลับไปช่วยเหลืออาเหม็ดที่อัฟกานิสถานแม้มันจะหมายถึงการที่เขาเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงอันตรายอีกครั้งก็ตาม
อย่างที่ได้จั่วหัวข้างต้นไปแล้วว่า ‘Guy Ritchie’s The Covenant’ ใช้ทีมเขียนบทเดียวกับหนังอีกเรื่องอย่าง ‘Operation Fortune’ ทั้ง ไอวาน แอตคินสัน (Ivan Atkinson), มาร์น เดวีส์ (Marn Davies) ที่มาเขียนบทร่วมกับ กาย ริตชี เอง แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับหนังเรื่องนี้คือแม้มันจะไม่ได้เป็นหนังมาจากเรื่องจริงแต่กลับหยิบประเด็นที่น่าสนใจอย่างล่ามแปลภาษาในสงครามต่างแดนที่มักถูกดันไปเป็นตัวประกอบในหนังสงคราม ให้มีความสำคัญและเป็นภารกิจที่ตัวละครเอกอย่าง จ่าจอห์น คินลีย์ ต้องไปปฏิบัติภารกิจระห่ำตอนท้ายเรื่อง
อย่างไรก็ดีหากหวังว่าเราจะเห็นดราม่าซึ้งสะเทือนใจแบบหนังสงครามอเมริกันหรือมีโควตรักชาติสไตล์ฮอลลีวูดขอบอกเลยว่าอย่ามาหวังกับหนังชื่อ ‘Guy Ritchie’s The Covenant’ เพราะตลอดเวลาร่วม 2 ชั่วโมงหนังถูกขับเคลื่อนด้วยความเป็นหนังแอ็กชัน ทริลเลอร์เต็มสูบแบบแทบไม่ได้หายใจหายคอ โดยสอดแทรกมุกตลกเบา ๆ ผิดวิสัยกาย ริตชีเต็มไปหมด
ที่สำคัญบทหนังยังมุ่งวิพากษ์การเมืองโลกต่างจากงานชิ้นก่อนที่มักไปสำรวจวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นชาวไอริช หรือทำหนังจากวรรณกรรมดัดแปลงให้มีความบ้าคลั่งไปเลย แต่กับ ‘Guy Ritchie’s The Covenant’ มันกลับมีแมสเซจด้านการเมืองชัดเจนตรงไปตรงมาโดยเฉพาะตอนจบที่พูดถึงชะตากรรมอันน่าเศร้าของบรรดาล่ามแปลภาษาหลังอเมริกาถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน
และพอหนังถูกห่อหุ้มด้วยความเป็นหนังสงคราม (War Film) ดราม่ามันจะถูกเผยออกมาผ่านการกระทำตัวละครที่ง่าย ๆ ตั้งแต่ความกลัวในแววตาของจ่าจอห์น คินส์ลีย์ ที่ เจก จิลเลนฮาล แสดงไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมหรือความกล้าหาญและเมตตาธรรมของอาเหม็ดที่ถูกถ่ายทอดได้อย่างเป็นธรรมชาติและน่าชื่นชมของดาร์ ซาลิม
และที่ส่งเสริมดราม่าของหนังได้ดีมากคือการกำกับภาพของ เอ็ด ไวลด์ (Ed Wild) ที่ใช้ภาพมุมเงย (Worm Eye View) มาแทนสายตาของ จ่าจอห์น คินส์ลีย์ ตอนนอนอยู่บนเปลที่ถูกเอามาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในฉากสำคัญของหนัง หรือความดีงามมาก ๆ อย่างหนึ่งในฐานะคนที่ต้องชมภาพยนตร์จากแถวที่ 3 ของหน้าจออย่างผมในรอบสื่อคือการออกแบบภาพของมันดันสอดรับกับการชมในระยะใกล้จอมาก ๆ ส่งผลต่ออารมณ์ในการรับชมได้ดีทีเดียว
กระนั้นหากจะต้องบอกข้อเสียหรือแผลของหนังก็ยังคงเห็นชัดทั้งการตัดสินใจของ จอห์น คินส์ลีย์ ที่ใช้ฝันร้ายและหนี้ชีวิตมาขับเคลื่อนตัดสินใจ แม้เราจะได้ฉากเข็นเปลสุดทรหดอาเหม็ดมาช่วยก็ตาม หรือกระทั่งเรื่องราวในองก์ 2-3 ที่ดูจะสั้นจนผิดปกติ แถมอุปสรรคใด ๆ อาจจะยังไม่เข้มข้นเท่าเรื่องราวในองก์แรกของหนัง แต่เอาเถอะเมื่อเทียบกับประสบการณ์เหงื่อซึมมือลุ้นจนมือจิกเบาะทั้งเรื่องแล้ว ‘Guy Ritchie’s The Covenant’ ก็ยังเป็นหนังที่ควรค่าแก่การชมในโรงภาพยนตร์อยู่ดีครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส