Release Date
28/04/2023
แนว
ผจญภัย / แอ็กชัน / แฟนตาซี
ความยาว
1.46 ช.ม. (106 นาที)
เรตผู้ชม
PG
ผู้กำกับ
เดวิด โลเวอรี (David Lowery)
SCORE
5.3/10
Our score
5.3Peter Pan & Wendy | ปีเตอร์ เเพน เเละ เว็นดี้
จุดเด่น
- ตัวหนังมีการตีความใหม่เกี่ยวกับมิติของตัวละคร และความสัมพันธ์เข้าไปเพิ่ม
- มีข้อคิดเรื่องมิตรภาพ การเติบโต การเป็นผู้ใหญ่ เอาไว้สอนเด็กได้ดี
- เอเวอร์ แอนเดอร์สัน - จูด ลอว์ โชว์การแสดงได้น่าสนใจ
- โปรดักชันถือว่าไม่แย่เลย ตามมาตรฐาน Disney
จุดสังเกต
- แม้ตีความใหม่ แต่ยังใช้โครงเรื่องแบบเดิมจากแอนิเมชันเป๊ะ
- ปีเตอร์แพน ไทเกอร์ลิลลี และทิงเกอร์เบล การแสดงไม่แย่ แต่แอบไม่ค่อยมีเสน่ห์ดึงดูดมากนัก
- งานซีจีระดับสตรีมมิง มีหลุด ๆ บ้าง
- งานภาพบางช่วงมืดไปหน่อย
-
คุณภาพด้านการแสดง
4.4
-
คุณภาพโปรดักชัน
6.1
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
5.0
-
ความบันเทิง
5.8
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
5.1
เมื่อปีที่แล้ว ในงาน D23 หรืองานเทศกาลประจำปีของ Disney ก็ได้มีการเปิดตัวโปรเจกต์ไตเติลใหม่ ๆ ออกมามากมาย ทั้งในนามของ Walt Disney Pictures เองและแผนกในเครือ แล้วยิ่งประกอบกับว่าปีนี้จะเป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งบริษัท Disney ก็เลยยิ่งเข็นคอนเทนต์ไตเติลใหม่ ๆ ออกมาให้พรึ่บไปหมด และแน่นอนว่าในจำนวนนั้นก็มีบรรดาหนัง Live Action เราก็เลยได้เห็นความพยายามรื้อเอาแอนิเมชันคลาสสิกในคลังของบริษัท เอามาปัดฝุ่นใหม่ในรูปแบบหนังไลฟ์แอ็กชัน ที่เหมือนจะเป็นคอนเซปต์หลัก ๆ ของค่ายในช่วง 10 กว่าปีให้หลังนี้ไปแล้ว
ซึ่งอีกหนึ่งตำนานที่ Walt Disney Pictures ได้หยิบเอามาปัดฝุ่นก็คือ ปีเตอร์แพน (Peter Pan) ตำนานของเด็กชายชุดเขียวบินได้ที่ไม่ยอมโตนั่นเอง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว เรื่องราวของปีเตอร์แพนนี่ถูกนำเอาไปทำใหม่ในหลายเวอร์ชันมากนะครับ ทั้งแอนิเมชัน ละครเวที คอมิก วิดีโอเกม และแน่นอนว่าต้องมีเวอร์ชันภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชันด้วย ซึ่ง 2 เรื่องที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดีก็น่าจะหมายถึง ‘Hook’ (1991) เวอร์ชันของ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ที่แสดงโดย โรบิน วิลเลียมส์ (Robin Williams) ที่ใหม่หน่อยก็ตือ ‘Pan’ (2015) เวอร์ชันตีความใหม่ของผู้กำกับ โจ ไรต์ (Joe Wright)
และ ‘Peter Pan & Wendy’ ตำนานปีเตอร์แพนฉบับใหม่ล่าสุด กำกับและเขียนบทร่วมโดย เดวิด โลเวอรี (David Lowery) ผู้กำกับที่ดังมาจากการกำกับหนังของค่าย A24 ทั้ง ‘A Ghost Story’ (2017), ‘The Green Knight’ (2021) และเคยกำกับไลฟ์แอ็กชันของ Disney มาแล้วใน ‘Pete’s Dragon’ (2016) ที่คราวนี้ตั้งใจผลิตเพื่อฉายทางสตรีมมิง Disney+ โดยเฉพาะ
เรื่องราวต่าง ๆ ของ ‘Peter Pan & Wendy’ เรียกว่าค่อนข้างถอดแบบมาจากเวอร์ชันแอนิเมชันเลยครับ เป็นเรื่องราวของ เวนดี้ ดาร์ลิง (Ever Anderson) พี่สาวคนโตของบ้าน กับน้องชายวัยกำลังซน จอห์น (Joshua Pickering) และไมเคิล (Jacobi Jupe) ที่มีเรื่องราวของปีเตอร์แพนอยู่ในหัวใจ แต่เวนดี้กำลังเจอปัญหา เพราะเธอถึงวัยต้องย้ายบ้านไปเรียนที่โรงเรียนประจำ แต่เธอเองก็ไม่อยากจะจากบ้านไปไหน
จนกระทั่งคืนหนึ่ง เวนดี้และน้อง ๆ ได้พบกับเด็กชายที่ไม่ยอมโตอย่าง ปีเตอร์แพน (Alexander Molony) และทิงเกอร์เบล (Yara Shahidi) นางฟ้าตัวจิ๋ว ที่ได้พาพี่น้องดาร์ลิงหนีออกจากบ้านไปยังเนเวอร์แลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ ทำให้พวกเขาได้พบเจอกับเพื่อนใหม่ ๆ ทั้งหญิงสาวนักรบชนพื้นเมือง ไทเกอร์ ลิลลี (Alyssa Wapanatâhk) และบรรดาเด็กหลง ที่ต้องร่วมผจญภัยต่อสู้กับโจรสลัดจอมโหด กัปตันฮุก (Jude Law) และ สมี (Jim Gafiigan) ลิ่วล้อคู่ใจที่กำลังตามล่าปีเตอร์แพน
ความได้เปรียบหนึ่งของ ‘Peter Pan & Wendy’ ก็น่าจะหนีไม่พ้นการอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกับผู้ผลิตแอนิเมชัน ‘Peter Pan’ ที่ฉายในปี 1953 ของ Disney เองนี่แหละครับ (สามารถชมได้ทาง Disney+ Hotstar) ซึ่งความได้เปรียบก็คือ แอนิเมชันเวอร์ชันนี้นับเป็นแอนิเมชันที่เป็นภาพจำที่คุ้นหน้าคุ้นตามากที่สุดในบรรดาคอนเทนต์เกี่ยวกับปีเตอร์แพนที่เคยมีมาแล้วล่ะ ทั้งคาแรกเตอร์ปีเตอร์แพน และทิงเกอร์เบล ที่จริง ๆ แล้วภูติจิ๋วชุดเขียวตัวนี้ ถูกยกให้เป็นหนึ่งในไอคอนของแบรนด์ Disney ไปแล้วด้วยซ้ำ แม้แต่คาแรกเตอร์กัปตันฮุก หรือวลีเรียกชื่อ ‘ไอ้คุณสมี’ (Mr. Smee) ก็ที่มาจากแอนิเมชันเรื่องนี้นี่แหละ
เพราะฉะนั้น ตัวหนังก็เลยยืดเอาแอนิเมชันของตัวเองนี่แหละมาเป็นแกนหลักในการดัดแปลง ซึ่งถ้าดูเทียบกันช็อตต่อช็อต ก็จะเห็นว่าตัวหนังยึดจากแอนิเมชันมาเป็นตัวอ้างอิง ทั้งวิธีการเล่าเรื่อง และเส้นเรื่อง ชนิดที่เรียกว่าถอดแบบกันมาเลย และการให้เวนดี้เป็นตัวเดินเรื่องหลัก แต่ถึงกระนั้น ตัวหนังเองก็ไม่ได้ถึงกับหยิบเอาบทจากของเดิมมาตีความใหม่เสียทีเดียวนะครับ เพราะมีความพยายามจะตีความใหม่ และปรับแต่งเรื่องราวให้มีความแตกต่างไปจากเดิม ทั้งการปรับทุกอย่าง ตั้งแต่โปรดักชัน วิธีการเล่าและดำเนินเรื่องที่ตรงกับความเป็นจริง ลดทอนความแฟนตาซีลง แต่ก็ยังมีความแฟนตาซีอยู่ รวมทั้งเพลงประกอบจากแอนิเมชันที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้เลย แต่เป็นการแต่งขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
รวมทั้งการเพิ่มปมและมิติต่าง ๆ ให้แก่ตัวละคร เช่นเวนดี้ ที่ต้องย้ายออกจากบ้านไปเรียนโรงเรียนประจำตามคำสั่งของพ่อแม่ ในขณะที่เธอเองก็ไม่เข้าใจถึงเจตนาและความหวังดีของพ่อและแม่ รวมทั้งการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะในเมื่อเธอเองก็มีความสุขดีกับการอยู่บ้าน เล่นกับน้อง ๆ อยู่แล้ว ซึ่งการดัดแปลงนี้ เข้าใจว่าคงตั้งใจให้เป็นความต่างขั้วกันระหว่างเวนดี้ กับปีเตอร์แพน เด็กชายผู้ไม่ยอมโต ยังอยากเล่นสนุกอยู่กับเหล่าเด็กหลงในบ้านร้าง และไม่จำเป็นต้องมีพ่อแม่คอยจ้ำจี้จ้ำไช ในขณะที่ตัวหนังก็สอดแทรกเรื่องของการเข้าใจการเติบโต และแทรกมุมมองของคนที่ยังมีความเป็นเด็กในหัวในด้วย
อีกการตีความใหม่ก็คือ การเพิ่มปูมหลังให้กับศัตรูคู่แค้น ทั้งปีเตอร์แพน และกัปตันฮุก จากในแอนิเมชันที่ไม่ได้มีการเล่าปูมหลังอะไรมาก แต่ในเวอร์ชันนี้ น่าสนใจตรงการเพิ่มปูมหลังของปีเตอร์แพน ที่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เพียงแค่เด็กบินได้ แต่ยังมีเบื้องหลังที่มาที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับกัปตันฮุก ที่นอกจากแค่เรื่องเล่าว่า ปีเตอร์แพนตัดมือของเขาจนขาด เลยเป็นที่มาที่ทำให้เขาต้องใส่มือตะขอแทน (ปีเตอร์แพนนี่โคตรอันตรายเหมือนกันนะ 555) รวมทั้งการต่อสู้ระหว่างปีเตอร์แพน เวนดี้ และบรรดาเด็ก ๆ กับกองทัพโจรสลัดของกัปตันฮุก ที่อัปสเกลทั้งพล็อตและงานสร้างให้มีความ Epic และสมจริงสมจัง ที่ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี
ถึงแม้จะมีวิธีการเล่าเรื่อง งานสร้าง และเส้นเรื่องที่ดูมีมิติสมจริงมากขึ้น และแตกต่างจากฉบับแอนิเมชันอย่างชัดเจน ถึงขนาดมีการเพิ่มซีนที่เต็มไปด้วยความซีเรียสและดุดันให้กับตัวหนังจนไม่น่าเชื่อว่านี่คือหนังเด็ก แต่ด้วยความที่สุดท้ายแล้ว ตัวหนังเองก็ยังคงยึดทุกอย่างตามโครงเรื่องจากฉบับแอนิเมชันแบบเป๊ะ ๆ ชนิดที่แทบไม่ต้องเดาตอนจบเลยว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป บางอย่างจากในหนังก็เป็น Easter Egg ที่ดึงมาจากในแอนิเมชันเลยด้วยซ้ำ ทำให้ตัวหนังโดยรวม ๆ เป็นเพียงการเพิ่มมิติให้กับหนังแบบผิว ๆ ให้พอจะมีอะไรขึ้นมาบ้างเท่านั้นเอง
อีกจุดที่ตัวหนังเองดัดแปลงให้ต่างไปจากต้นฉบับก็คือ บรรดาตัวละครที่มีการเพิ่มความหลากหลายเข้ามา (หรือจะเรียกว่า Woke ก็พอได้) ซึ่งในหนังจะเห็นการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตัวละครไปมากพอสมควร ทั้งการตัดประเด็นของเด็กชนเผ่าอินเดียนแดง ให้เหลือเพียงแค่เป็นเด็กหลง (เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ) ส่วนตัวละคร ไทเกอร์ ลิลลี ที่รับบทโดย อลิสซา วาพานาทาห์ก (Alyssa Wapanatâhk) ที่ถูกเปลี่ยนจากเจ้าหญิงชาวอินเดียนแดง เป็นนักรบหญิงชาวพื้นเมือง (อะไรสักอย่าง) ในเนเวอร์แลนด์ ที่แม้เธอจะน่าสนใจ แต่บทก็ไม่ได้ทำให้เธอโดดเด่นมากนัก
เช่นเดียวกับตัวละครหลักทั้งปีเตอร์แพน ที่แสดงโดย อเล็กซานเดอร์ โมโลนี (Alexander Molony) นักแสดงชาวอังกฤษลูกเสี้ยวศรีลังกา และทิงเกอร์เบล ที่แสดงโดย ยารา ชาฮิดี (Yara Shahidi) นักแสดงชาวแอฟริกันอเมริกัน ซึ่งแน่นอนว่าทั้งคู่มีการแสดงที่ถือว่าไม่แย่ โมโลนีก็ถือว่าเป็นปีเตอร์แพนที่ดูคมเข้มแปลกตาดี แต่อาจจะเพราะเป็นงานแสดงชิ้นแรกของน้องด้วย ก็เลยยังไม่ได้รู้สึกว่ามีเสน่ห์มากนัก ส่วนชาฮิดี ที่ก็ดูแปลกตาเช่นกัน แต่สุดท้าย บทบาทของเธอก็น้อยจนแทบไม่ได้ส่งให้เธอฉายแววความเป็นทิงเกอร์เบลในแบบที่เป็นภาพจำได้มากนัก อาจไม่ถึงขั้นต่อต้าน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกทำให้ผู้เขียนรู้สึกอยากซื้อเหตุผลว่า ทำไมถึงกล้าเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตัวละครสำคัญไปมากขนาดนี้
ส่วน 2 นักแสดงนำทั้งเวนดี้ ที่รับบทโดย เอเวอร์ แอนเดอร์สัน (Ever Anderson) ที่จริง ๆ แล้วน้องไม่ใช่มือใหม่นะครับ เพราะเธอคือลูกสาวของนักแสดงฮอลลีวูด มิลา โจโววิช (Milla Jovovich) นั่นเอง แล้วก็เคยรับบท นาตาชา โรมานอฟฟ์ วัยเด็ก ในหนัง ‘Black Widow’ (2021) มาแล้ว ซึ่งเสน่ห์และการแสดงของน้องก็ถือว่าช่วยแต่งแต้มให้หนังมีเสน่ห์ขึ้นอีกพอสมควร และนักแสดงแม่เหล็กคนเดียวของเรื่องอย่าง จูด ลอว์ (Jude Law) ที่ทั้งฝีมือการแสดง และบทนั้นช่วยทำให้กัปตันฮุกคนนี้ดูมีมิติที่น่าสนใจ แม้จะไม่ได้มีอะไรเกินความคาดหมายก็เถอะ
สุดท้าย ถ้าจะอธิบายแบบจำกัดความว่า ‘Peter Pan & Wendy’ มันคืออะไร สำหรับผู้เขียน มันก็คือของเล่นชิ้นเดิมที่ถูกทำให้สมจริงมากกว่าเดิม วัสดุดีกว่าเดิมนั่นแหละครับ เป็นของเล่นที่จะทำให้เด็กได้สัมผัสกับธีมเรื่องราวที่เป็นแก่นหลักของปีเตอร์แพนในทุก ๆ เวอร์ชัน นั่นก็คือเรื่องของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ และในเวอร์ชันนี้ ที่แถมเรื่องของมิตรภาพแทรกเอาไว้เล็ก ๆ แต่ด้วยความสมจริง มีความดาร์กอะไรบางอย่าง เด็กคงไม่เลือกดูเองแน่ ๆ แต่คงต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะเปิด นั่งดู และสอนลูกไปด้วยกัน แม้จะไม่ได้มีอะไรใหม่ในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ยังทำออกมาให้เด็ก (และเด็กหนวด) ดูได้แบบเพลิน ๆ แต่สำหรับผู้ใหญ่ หรือนักดูหนัง ดูแล้วอาจจะมีง่วงนิดหน่อย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส