บทและอำนวยกการสร้าง
ชอนดา ไรมส์
กำกับ
ทอม เวริก้า
จำนวนตอน
6 ตอนจบ
ช่องทางรับชม
NETFLIX
Our score
8.4[รีวิว] Queen Charlotte: A Bridgerton Story | ซาบซึ้ง กินใจ เกินกว่าที่หวังเอาไว้เป็นกอง
จุดเด่น
- เป็นการเขียนบทที่อาศัยช่องว่างทางประวัติศาสตร์มาทำให้เป็นซีรีส์โรแมนติกได้อย่างน่าติดตาม เพราะถ้าหากเรื่องจริงเป็นไปตามจินตนาการนี้ ทั้งควีนชาร์ล็อตต์และพระเจ้าจอร์จที่ 3 ก็เป็นคู่รักที่ฟ้าประทานมาให้กันโดยแท้
- การแคสติ้งนักแสดงโดยเฉพาะตัวควีนชาร์ล็อต ลงตัวและใกล้เคียงกับพระสาทิสลักษณ์ของพระนางเอามาก ๆ
- บทพูดสละสลวยและสื่อความหมายอย่างมีรสนิยม จุดนี้ชอบมาก ๆ ค่ะ
จุดสังเกต
- เหมาะกับสาว ๆ สายโรแมนติกและเอาอกเอาใจ LGBTQ เซอร์วิสนี้เพื่อคุณล้วน ๆ
- คาดหวังคอสตูมของควีนชาร์ล็อตที่น่าจะโดดเด่นกว่านี้ แอบผิดหวังเล็กน้อย แต่ยังแจ่มและเลิศหรูอยู่ดี
-
บท
8.0
-
การแสดง
8.0
-
การดำเนินเรื่อง
8.0
-
โปรดักชัน
8.0
-
ความสนุกตามแนวซีรีส์
10.0
ลิมิเต็ดซีรีส์ภาคแยกจากภาคหลักของ Bridgerton ที่อาศัยช่องว่างของประวัติศาสตร์จินตนาการถึงเรื่องราวความรัก ความลับของ ‘Queen Charlotte’ หรือ สมเด็จพระราชินีชาร์ล็อตแห่งสหราชอาณาจักร จนน่าติดตามและกลายเป็นซีรีส์โรแมนติก ชวนฝัน พร้อมกับเปิดเผยตัวตนของตัวละครที่ทรงอำนาจสูงสุดอย่าง ราชินีชาร์ล็อตต์ ในซีรีส์ชุด Bridgerton ทั้งหมด ให้เราได้เข้าใจตัวละครตัวนี้มากขึ้นกว่าเดิม
Queen Charlotte : A Bridgerton Story หรือในชื่อไทย ควีนชาร์ล็อตต์ : เรื่องเล่าราชินีบริดเจอร์ตัน เล่าเรื่องราวภาคก่อนในจักรวาลเดียวกันกับ บริดเจอร์ตัน เน้นการก้าวขึ้นสู่อำนาจของ ‘สมเด็จพระราชินีชาร์ล็อตต์’ (อินเดีย อมาร์เทฟิโอ) โดยย้อนกลับไปเล่าเรื่องการเสกสมรสของพระนางในวัยสาวกับ ‘สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3’ (คอรีย์ ไมล์ชรีสต์) ที่เปิดเผยเรื่องราวความรักของพระนาง จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงสังคมชั้นสูง ที่สืบทอดมาถึงตัวละครและเรื่องราวโรแมนติกซุบซิบ ซาบซ่านทั้งหลาย ในบริดเจอร์ตัน รวมถึงเรื่องราวในวัยสาวของ ‘เลดี้แดนเบอร์รี่’ (อาร์เซมา โทมัส)
เรื่องจริงที่(แอบ)อิงประวัติศาสตร์
เมื่อ ‘ชอนดา ไรมส์’ (Shonda Rhimes) ผู้เขียนบท, ผู้จัด และผู้อำนวยการสร้างมือทอง เกิดคันไม้คันมืออยากจะขยายจักรวาลบริดเจอร์ตันให้ลงลึกไปมากกว่าเดิม เรื่องราวของควีนชาร์ล็ออต์ ราชินีนักจับคู่แห่งจักรวาลบริดเจอร์ตันจึงเกิดขึ้น และทำให้เรารู้ซึ้งถึงความขี้จุ้นและทรงอำนาจของพระนางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องงราวความรักของพระนางกับพระเจ้าจอร์จที่ 3 ที่เอ่ยถึงในบริดเจอร์ตันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ซึ่งแน่นอนว่า การจะเสพซีรีส์เรื่องนี้ให้สนุกสนานได้อรรถรส ควรจะดูซีรีส์ชุดบริดเจอร์ตันมาก่อน แต่ถึงแม้จะไม่เคยดูมาก่อนเลย ความสนุกสนานก็ยังมีอยู่ค่ะ แต่มันจะรับรสชาติไม่ได้เต็มที่เท่านั้นเอง เพราะการเล่าเรื่องจะเป็นการเล่าไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบัน แต่ก็สอดคล้องกลมกลืนจนน่าติดตาม แต่จะเป็นการยากอยู่สักหน่อยสำหรับคนที่ไม่เคยเข้าจักรวาลบริดเจอร์ตันมาก่อนเลย
ส่วนใครที่ดูซีรีส์แล้ว จะไปควานหานิยายแปลไทยเรื่องนี้ บอกเลยว่ายังไม่มีค่ะ เพราะ ‘จูเลีย ควินน์’ (Julia Quinn) และ ชอนดา ไรมส์ เพิ่งร่วมมือกันเขียนภาคนิยายเสร็จเมื่อไม่นานและมีกำหนดวางจำหน่ายวันที่ 9 พฤษภาคม 2023 นี้ เพราะฉะนั้นฉบับแปลไทยคงต้องรอไปก่อน และสำหรับสายนิยายโรแมนติกก็ควรรอเลยด้วย เพราะได้ข่าวมาจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ จูเลีย ควินน์ ว่า ฉบับนิยายนั้นมีความโรแมนซ์ขั้นสุดไปกว่าฉบับซีรีส์อีกจ้ะ เพราะแค่คำโปรยขึ้นต้นก็เรียกดราม่าหญิงแกร่งออกมาให้อยากอ่านซะแล้ว
“เราเป็นหนึ่งมงกุฎ น้ำหนักของเขาคือของฉัน และของฉันคือของเขา…”
ในปี 1761 ในวันที่แดดจัดในเดือนกันยายน กษัตริย์และราชินีได้พบกันเป็นครั้งแรก และพวกเขาแต่งงานกันภายในไม่กี่ชั่วโมง
ในฉบับลิมิเต็ดซีรีส์เรื่องนี้ จะเรียกว่าเป็นซีรีส์อิงประวัติศาสตร์ก็ไม่น่าจะผิด เพราะมีการอ้างถึงชีวิตของบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์คือ ‘โซฟี ชาร์ล็อตต์ แห่งเมกเลนบวร์ค-สเตรลิตซ์’ เจ้าหญิงจากเยอรมนี ที่รอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลมาแต่งงานกับสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร โดยไม่เคยเห็นหน้ากันสักครั้ง ชนิดที่ลงจากรถม้าปุ๊บ ก็ต้องเข้าพิธีวิวาห์ภายใน 6 ชั่วโมง ซึ่งใจความส่วนนี้ก็ใกล้เคียงกับในประวัติศาสตร์ และที่ใกล้เคียงมากกว่านั้นไปอีกก็คือพระฉวี (สีผิว) ของพระนาง
‘มาริโอ เดอ วัลเดส อี โคคอม’ (Mario De Valdes y Cocom) นักประวัติศาสตร์ชาวแอฟริกันได้ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้ว่าพระนางสืบเชื้อสายมาจากตระกูลของกษัตริย์อัลฟอนโซที่ 3 แห่งโปรตุเกสกับ โอรูอานา (Ouruana) พระสนมชาวมัวร์ ซึ่งพระโอรสองค์หนึ่งในตระกูลนี้ก็ไปสมรสกับตระกูลขุนนางชาวโปรตุเกส ที่สืบเชื้อสายมาจากคนผิวดำเช่นกัน ก็เท่ากับว่าพระนางสืบเชื้อสายมาจากตระกูลลูกครึ่งผ่านทางพระมารดาของพระองค์นั่นเองค่ะ
เรื่องนี้มีการสืบสาวไปถึง 15 ชั่วอายุคน และเป็นการตั้งข้อสันนิษฐานจากพระสาทิสลักษณ์ (ภาพวาด) ของพระองค์ ว่าสีผิวที่จิตรกรวาดนั้นเข้มกว่าภาพวาดของเชื้อพระวงศ์องค์อื่นในสมัยนั้น ทั้ง ๆ ที่มักจะนิยมวาดสีผิวให้ขาวกว่าองค์จริงกันอยู่แล้ว แต่สีผิวของควีนชาร์ล็อตต์ก็ยังเข้มกว่าพระองค์อื่นอยู่ดี แถมยังตัวเล็กและโครงหน้า ปีกจมูก ริมฝีปากก็บ่งบอกว่าเป็นลูกครึ่งผิวดำ ซึ่งจากข้อสันนิษฐานกับภาพวาดพระองค์จริงที่มีอยู่นี้ก็ทำให้การเคสติ้งออกมาปั๊วปังอยู่เด้อ ว่าไม่ได้
เพราะดูดี ๆ แล้ว อินเดีย อมาร์เทฟิโอ ผู้สวมบทควีตชาร์ล็อตต์วัยสาว มีส่วนคล้ายพระองค์จริงอยู่เหมือนกันนะ ซึ่งในซีรีส์ก็มีการกล่าวถึงในช่วงที่จิตรกรกำลังวาดภาพของพระองค์ และมีการถกเถียงกันเรื่องสีผิว ว่าจิตรกรใช้สีสว่างเกินไปไม่เหมือนตัวจริงเลย เติมให้มันเข้มขึ้นอีกให้เหมือนตัวจริงของเรา แต่ ‘เจ้าหญิงออกัสตา’ (มิเชล แฟร์เลย์) พระมารดาของพระเจ้าจอร์จก็ออกคำสั่งว่า ให้เติมสีผิวของพระองค์ให้สว่าง ๆ เอาให้ผ่องสมศักดิ์ศรีราชีนีอังกฤษ
นอกจากนี้ซีรีส์ยังมีการพูดถึงความลับของราชวงศ์ในขณะนั้นว่า สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงเป็นกษัตริย์ที่สิ้นพระสติเป็นครั้งคราวและราชวงศ์ปกปิดเป็นความลับเพราะเกรงบัลลังก์จะสั่นคลอน ซีรีส์ก็นำเสนอเรื่องราวช่วงนั้นออกมาให้เราได้รู้ได้เห็นพระอาการ จากพระประวัติที่บอกว่าพระองค์ป่วยเป็นโรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria) ที่พระอาการส่งผลกับระบบประสาท แต่พระองค์ก็ยังมีลูกได้ถึง 15 คนแน่ะ ซึ่งการแคสติ้งก็ปั๊วะปังไม่แพ้ควีนเลยจ้ะเพราะ คอรีย์ ไมล์ชรีสต์ ในบทพระเจ้าจอร์จนั้น หล่อมากพ่อคุณเอ้ย ยิ่งฉากที่เป็นชาวไร่จอร์จนั้นไม่อยากจะพูดค่ะ เดี๋ยวจะหาว่าใจบาป
ในบริดเจอร์ตันตอนหนึ่ง เราจะได้เห็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จในวัยชราแว้บ ๆ แล้วก็ทำให้สงสัยว่าความรักของควีนชาร์ล็อตกับพระเจ้าจอร์จที่ 3 มันเป็นยังไงกันแน่นะ มีลูกกันตั้ง 15 คน แต่ทำไมควีนดูแข็งกระด้างกับพระสวามีจังเลย ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงที่พระองค์สิ้นพระสติโดยถาวรแล้ว จนไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้ เป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 พระโอรสองค์โตของพระองค์ต้องเป็นผู้สำเร็จราชการแทน และขึ้นครองราชเมื่อพระบิดาสวรรคต
ซึ่งซีรีส์ก็นำเสนอเหตุการณ์ตอนนี้ให้เข้าใจได้ว่า ถึงแม้ว่าพระโอรสองค์โตจะเป็นผู้สำเร็จราชการแทน แต่อำนาจแท้จริงอยู่ในมือควีนชาร์ล็อตต์ เพราะไม่มีลูกคนไหน กล้าหือกับแม่เลยสักคน
เรื่องไม่จริงที่ทำเอาซึ้งและน้ำตารื้น
ในเมื่อพระราชประวัติของควีนชาร์ล็อตน่าสนใจขนาดนี้ โดยเฉพาะเมื่อมีข้อสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์ขาเผือก หนำซ้ำรัชสมัยของพระนางยังยาวนานถึง 60 ปี และเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการทหารไปทั่วยุโรป ยาวไปถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสนู่นแน่ะ ก็เป็นเหตุให้ ชอนดา ไรมส์ อาศัยช่องว่างทางประวัติศาสตร์เขียนบทรักของสองพระองค์ขึ้นมาซะเลย และเป็นการเขียนที่ทำเอาซึ้งจนน้ำตารื้นซะด้วยสิ เรียกว่าเป็นละครน้ำเน่าราชวงศ์แบบอัปเกรด
เป็นราชินีตัวร้ายกับราชาผู้อาภัพ ที่ปั้นให้ควีนชาร์ล็อตต์เป็นหญิงแกร่งที่แหกทุกกฎในราชสำนัก ชนิดที่เกือบจะปีนกำแพงหนีงานแต่ง อย่างที่ไม่เคยมีราชินีองค์ไหนทำมาก่อน ถ้าพระเจ้าจอร์จไม่เดินมาเห็นและเฉลยว่าพระองค์เป็นใครละก็ วิวาห์ล่มตอนกลางวันแน่ค่ะ ซึ่งบทแบบนี้ก็เข้าตำรานิยายน้ำเน่าที่เป็นที่นิยมนั่นแหละ ราชาผู้สูงศักดิ์จากประเทศมหาอำนาจ ผู้หล่อเหลาและมีปม กับเจ้าหญิงจากมณฑลเล็ก ๆ ในเยอรมนี แต่แก่นเซี้ยว เฉลียวฉลาดและปากแจ๋ว
เมื่อทั้งสองโคจรมาพบกับ รักแรกพบที่ฝ่ายชายมีให้ฝ่ายหญิงก็บังเกิด แต่ปมใหญ่ยักษ์ที่ซ่อนไว้ทำให้เขาตั้งใจเมินเฉยต่อเธอ และกระทำในสิ่งตรงกันข้ามกับหัวใจคือ ผลักไสตั้งแต่คืนแรกของการแต่งงาน ส่งเสียงตวาดไล่ แยกบ้าน ไม่นอนด้วย อ้าว…ทำไมทำงี้อ่ะพระเจ้าจอร์จ ไม่ยอดมากแล้วนะแบบนี้ ณ จุดนี้ ถึงจะเป็นบทละครที่น้ำเน่าได้ใจ แต่การดำเนินเรื่องที่ทำออกมานั้น ทำให้ไม่รู้สึกเอียนสักนิดเดียว แถมยังอินอีกต่างหาก
ในตอนแรกเราจะสงสารควีนชาร์ล็อตต์ ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ต้องจากบ้านจากเมืองมาอยู่พระราชวังหรูหรา แถมใหญ่โตมโหฬาร วัน ๆ ก็มีแต่ ‘บริมสลีย์’ (แซม คลิมเม็ตต์) ราชองครักษ์คอยเดินตามหลังอยู่นั่นแหละ กินข้าวคนเดียว เล่นหมากรุกคนเดียว เหลืออีกนิดก็จะพูดคนเดียวอยู่แล้วจ้ะ ในที่สุดก็ทนไม่ไหว ไปชวนพระสวามีทะเลาะซะเลยจ้ะ แต่ก็ยังไม่กระจ่างและถูกไล่เหมือนเดิม ซึ่งเรื่องราวจะดำเนินไปอย่างน่าสงสัยในความประพฤติของพระเจ้าจอร์จอยู่สักพัก จนมาเฉลยในตอนที่ 4 ที่เป็นตอนผ่าหัวใจของพระเจ้าจอร์จชัด ๆ
ซึ่งระหว่างที่เรื่องราวดำเนินไป ซีรีส์ก็จะคั่นเวลาแห่งความสุขด้วยการเสิร์ฟบทรักเร่าร้อนอยู่เนือง ๆ เริ่มจากบทรักของ บริมสลีย์และคู่รักของเขา ที่ช่างซู่ซ่า อูวส์ อาห์ กันเลยแหละ สาว ๆ ทุกเพศกรี๊ดแน่นอนค่ะ บอกแค่นี้ สลับกับบทรักสุดซังกะตายของ เลดี้แดนเบอร์รี่ กับสามีแก่ ประหนึ่งนางอมิตดาของฝั่งอังกฤษ และแน่นอนบทรักของพระนางที่หลากหลายรสชาติซะเหลือเกิน ทั้งดุดันแบบพ่อแม่แม่งอน และโรแมนติกสุดดูดดื่ม
ขณะเดียวกันซีรีส์จะเล่าไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวงสังคมชั้นสูง ที่มีการผสมเชื้อชาติโดยไม่สนใจสีผิว แต่ยังคงสนฐานะอยู่ดี แน่นอนว่าในประวัติศาสตร์จริงเป็นอย่างไรเราไม่อาจรู้ได้ แต่ในจักรวาลบริดเจอร์ตัน เราจะเห็นชนชั้นสูงผสมปนเปไปด้วยเชื้อชาติต่าง ๆ ละลานตา มีการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งในซีรีส์ชุดนี้เป็นจุดกำเนิดของการผสมรวมที่ว่านั้น และเรียกมันว่า ‘การทดลอง’ ที่ เจ้าหญิงออกัสตา พระมารดาของพระเจ้าจอร์จเป็นผู้ริเริ่ม ด้วยจุดประสงค์ที่อยากจะรักษาราชบัลลังก์ของลูกชาย
ในจุดนี้ซีรีส์ก็จะทำให้เห็นการก้าวเข้ามาเป็นชนชั้นสูงของเลดี้แดนเบอร์รี่ ที่มีความสนิทสนมกับควีนชาร์ล็อตต์ อย่างที่เราเห็นในจักรวาลบริดเจอร์ตัน ว่าทำไมนะสตรีสูงศักดิ์ผิวดำคนนี้ถึงเป็นที่นับหน้าถือตาของบรรดาไฮโซทั้งหลาย แถมยังสนิทสนมกับครอบครัวบริดเจอร์ตันเป็นอย่างดี ซึ่งเนื้อหาของซีรีส์จะชูไปที่ความอดทนของสตรีในยุคนั้น การถูกด้อยค่า และการทำตัวให้อยู่ได้ในสังคมที่ต้องการ เพื่อให้ได้รับการยอมรับ พวกเธอต้องหัวแหลมแกล้งทำเป็นอ่อนให้ผู้ชายและพลีชีพกันขนาดไหน
นอกจากเรื่องราวสุดโรแมนติกของสองพระนาง กับการก้าวขึ้นสู่อำนาจของควีนชาร์ล็อตต์ และการถีบตัวเองให้เข้ามาอยู่ในสังคมชั้นสูงของเลดี้แดนเบอร์รี่ ที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้มีอรรถรสน่าติดตามแล้ว ส่งที่น่าชื่นชมของซีรีส์เรื่องนี้ คือการใช้ภาษาสื่อความหมายที่มีรสนิยมจนน่าทึ่ง เป็นการบอกเล่าเรื่องราวเหนียมอายของสตรีอย่างตรงไปตรงมาแต่สวยงาม แม้กระทั่งสัญลักษณ์ทางภาษาที่เอ่ยถึงเรื่องราวที่ไม่ควรจะเอ่ย ก็นุ่มนวลแต่บาดเจ็บและไว้ศักดิ์ศรี จนแทบจะบอกได้ว่า ซีรีส์เรื่องนี้เป็นซีรีส์ที่เน้นความแข็งแกร่งของอิสตรี ที่บุรุษเพศไม่เคยคาดถึง
ทั้งควีนชาร์ล็อตและเลดี้แดนเบอร์รี่ ต้องฝ่าฟันและพิสูจน์ตนเอง เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม สตรีสองคนสองฐานะต่างมีภาระหน้าที่และความต้องการที่เกือบจะคล้ายกัน แตกต่างที่คนหนึ่งเป็นหญิงสามัญชนที่อาภัพรัก และมีความลับที่ไม่อาจพูดออกมาตรง ๆ ได้ ซึ่งเกี่ยวพันกับครอบครัวบริดเจอร์ตัน ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นหญิงสูงศักดิ์ที่มีรักสุดโรแมนติก วาบหวาม ซาบซึ้งแต่น่าเศร้า
และบอกเลยว่าในตอนสุดท้ายเรื่องราวความรักของควีนชาร์ล็อตต์และพระเจ้าจอร์จที่ 3 จะทำให้เราน้ำตารื้น จนใจเจ็บไปกับชะตากรรมความรักของสองพระองค์ ที่ฟ้าประทานมาให้กันอย่างห้ามน้ำตาไม่อยู่
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส