Release Date
25/05/2023
ความยาว
179 นาที
ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ
'Hereditary' (2018) และ 'Midsommar' (2019)
Our score
6.0Beau Is Afraid
จุดเด่น
- ทะเยอะทะยานในแทบทุกด้าน แฟนหนังของผู้กำกับอาริ แอสเตอร์ไม่อาจพลาดได้กับการเติบโตครั้งสำคัญของเขา
จุดสังเกต
- หนังยาวมาก มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายที่อาจเชื่อมโยงไม่ได้และตามไม่ทัน นอกจากนั้นประเด็นที่นำเสนอก็อันตรายและละเอียดอ่อนมากเช่นกัน
-
บท
7.0
-
โปรดักชัน
6.5
-
การแสดง
6.5
-
ความสนุกตามแนวหนัง
5.0
-
ความคุ้มค่าการรับชม
5.0
เรื่องย่อ: โบ ชายผู้เป็นโรควิตกกังวลต้องเดินทางผจญภัยในฝันร้ายอันยาวนาน เพื่อที่จะกลับบ้านไปหาแม่ของเขา
ในช่วงที่ค่ายหนัง A24 กำลังขึ้นหม้อในความทรงจำคนดูทั่วไปกับการส่ง ‘Everything Everywhere All at Once’ (2022) คว้ารางวัลออสการ์ปีล่าสุด แต่เราก็คงยังต้องวางหนังจากค่ายนี้อยู่ในจุดที่ต้องตระเตรียมใจก่อนดูไว้เช่นเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘Beau is Afraid’ เป็นผลงานจากผู้กำกับ อาริ แอสเตอร์ (Ari Aster) ที่เคยฝากความสยองสุดมืดมนไว้ในค่ำคืนแห่งความผิดบาป ‘Hereditary’ (2018) และความสยองกลางทุ่งดอกไม้ใต้แสงแดดเจิดจ้าใน ‘Midsommar’ (2019) ใครที่พอมีประสบการณ์กับหนังของแอสเตอร์คงรู้ดีว่าจะปล่อยใจปล่อยจอยกับหนังของเขาไม่ได้เลย
เดิมแอสเตอร์เคยทำหนังสั้นชื่อเรื่อง ‘Beau’ (2011) เล่าเรื่องของชายผิวดำวัยกลางคน (รับบทโดย บิลลี มาโย (Billy Mayo)) ที่จะออกจากบ้านขึ้นเครื่องบินไปหาแม่ แต่ปรากฏว่ากุญแจบ้านกับกระเป๋าเดินทางเกิดถูกขโมยไป ทำให้เขาไม่อาจทิ้งบ้านไว้ได้ และความกังวลที่บ้านของเขาไม่สามารถปิดประตูล็อกก็ทำให้เขาเริ่มระแวงจนเห็นและได้ยินอะไรประหลาด ๆ หลายอย่างเช่นคนแปลกหน้าที่มาก่นด่าหน้าบ้าน สัตว์ประหลาดคล้ายหนูในห้องครัว และอื่น ๆ จนเขาต้องมาอยู่เฝ้าหน้าประตูบ้านไว้และไม่กล้าหลับ
ในตอนท้ายของเรื่องสั้นนี้บอกใบ้ว่าแม่ที่เราไม่เคยเห็นหน้าของโบนี้เองอาจเป็นสัตว์ประหลาดที่เป็นต้นเหตุของความกลัวทั้งหมด ซึ่งก็จบแบบปลายเปิดไม่ได้เฉลยอย่างชัดเจน และหลายคนก็คาดว่าหนังสั้นเรื่องนี้อาจส่งอิทธิพลมาเป็นหนังยาวเรื่องล่าสุดของเขาด้วย
ซึ่งหลายองค์ประกอบหรือมุกที่หนัง ‘Beau Is Afraid’ ใช้ ก็อาจกล่าวได้จริง ๆ ล่ะว่ามันคือหนังเนื้อเดียวกันในแง่หนึ่ง ขณะที่หนังสั้นเล่าเรื่องความกลัวของคนผิวดำคนหนึ่ง หนังยาวก็เล่าเรื่องความกลัวของคนยิวที่ผ่านความกดดันและกรอบปฏิบัติที่สร้างร่างเนื้อความกังวลกลัวในชีวิตขึ้นมาอย่างที่ต่างจากคนวัฒนธรรมอื่น เช่น ความรู้สึกเชิงอดีตที่เป็นชนเผ่าที่ถูกไล่ที่และหวนหาการกลับคืนบ้าน ความรุนแรงครั้งแรกในชีวิตจากการขลิบปลายอวัยวะเพศ ภาระความกตัญญูที่ต้องฝังร่างสมาชิกในครอบครัวภายในหนึ่งวัน รวมถึงความกดดันต่อสายตาที่จับจ้องและกล่าวโทษกันเองของชุมชนชาวยิว
แต่แอสเตอร์ก็ยังไม่พลาดจะใส่แง่มุมความกลัวที่เป็นสากลซึ่งทุกคนต้องเจอไม่ว่าจะเป็นยิวหรือไม่
ในครั้งนี้แอสเตอร์เล่นความกลัวในแง่มุมที่แตกต่างออกไปจากเรื่องเก่า ๆ เป็นความกลัวต่อการเกิดมีชีวิตขึ้นมา กลัวต่อการเติบโตในแต่ละวัย และกลัวต่อความสัมพันธ์ มีความลุ่มลึกในแบบปรัชญาที่ดูแล้วเกิดพุทธิปัญญาได้ว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงบอกว่าการเกิดที่น่าจะเป็นเรื่องน่ายินดีแต่คือทุกข์ในชีวิตอย่างหนึ่ง
ในขณะเดียวกันก็มีแง่มุมที่แหลมคมและอันตรายมากที่แอสเตอร์กล้ายกมาถกผ่านหนังของเขา ความรักของพ่อ-แม่-ลูก นั้นไร้เงื่อนไขจริงหรือไม่ และมันอาจกลายเป็นความน่ากลัวที่มากสุดในชีวิตของมนุษย์เลยก็ว่าได้ที่ได้รู้ว่าเราต่างโดดเดี่ยวและไม่เคยถูกรักหรือให้ความรักกับใครจริง ๆ เลย แม้แต่ผู้ร่วมสายเลือดเดียวกับเรา
โดยด้านการนำเสนอแอสเตอร์ได้เพิ่มความทะเยอทะยานลงไปด้วยเส้นเรื่องที่วุ่นวายถึงขนาดนักแสดงอย่าง นาธาน เลน (Nathan Lane) ที่รับบทหัวหน้าครอบครัวสุดประหลาดในเรื่อง ขนานนามว่า นี่คือ ‘Everything Everywhere All at Once’ ในฉบับคนยิวเลยทีเดียว ซึ่งก็ไม่ผิดนักในแง่ของเส้นเรื่องที่มากมาย แต่ต่างกันตรงโบเดินหน้าเป็นเส้นตรงไปข้างหน้าผ่านสถานการณ์ที่ยากจะเข้าใจเหมือนความฝันที่เคลื่อนตัวไปอย่างไร้เหตุผลแต่เรากลับรู้สึกถึงมันเป็นความฝันเรื่องเดียวกันได้อย่างลื่นไหล เป็นความอัจฉริยะที่แอสเตอร์ได้แสดงออกมาในหนนี้
ซึ่งส่วนตัวพาลนึกไปถึงงาน ‘Mother!’ (2017) ของดาร์เรน อโรนอฟสกี (Darren Aronofsky) ที่เดินเรื่องไปแบบตัวละครเผชิญสถานการณ์วายป่วงสุดงุนงง ที่คนทำหนังให้คำใบ้น้อยถึงน้อยมากแต่หากหาคำสำคัญนั้นเจอก็จะถอดรหัสหนังได้ทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้ก็ทะเยอทะยานในลักษณะเดียวกัน
เขายังสื่อความทะเยอทะยานผ่านสัญญะที่ไม่มีคำเฉลยถ่องแท้และจินตนาการด้านภาพและเสียงสุดบรรเจิด ทั้งการนำเสนอโบในหลายช่วงวัยตั้งแต่เด็กจนแก่ ฉากคณะละครในป่าที่ใช้ซีจีไม่ต่างจากนิทานภาพ ยังรวมถึงการสร้างตัวละครสุดปั่นประสาททั้งหลาย สอดแทรกไปกับความตลกต่อความรุนแรงสุดบ้าคลั่งภายในเรื่อง หรือแม้แต่การจงใจยืดการเดินเรื่องให้ยืดยาวผิดปกติจนหนังยาวเกือบ 3 ชั่วโมงก็สะท้อนความรู้สึกของการไม่ตื่นจากฝันร้ายเสียที เป็นกลวิธีที่เกือบทำให้มันกลายเป็นหนังทดลองอยู่ในที เชื่อว่าใครปรับตัวได้ก็อาจสนุกกับความใส่ทุกอย่างไม่ยั้งของหนัง แต่หากใครปรับตัวไม่ได้ก็อาจเบื่อหนังเกลียดหนังไปเลย
ความทะเยอทะยานอีกอย่างที่ตอนทำหนังสั้นทำไม่ได้คือการใช้นักแสดงที่สะท้อนความทรมานและกลัวการใช้ชีวิตได้สุดลิ่มทิ่มประตู ซึ่งในเวลานี้ชื่อเสียงของ อาริ แอสเตอร์ ก็มากพอจะเชิญเจ้าพ่อการแสดงสายลึกอย่าง วาคีน ฟินิกซ์ (Joaquin Phoenix) มารับบทนำ ช่วยแบกหนังที่ใช้สมองดูเข้าใจได้ยากให้ยังติดตามเชิงอารมณ์ไปกับตัวละครนำได้อย่างทรงพลัง และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เรายังยึดโยงกับตัวหนังได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะจับต้องสถานการณ์ได้ยากเย็นเหลือเกิน
ส่วนตัวมีความรู้สึกว่าหนังมีความท้าทายในการดูที่เราจะถกเถียงกับมันเหมือนกัน เพราะตัวเนื้อมันขัดกับบรรทัดฐานทางความเข้าใจทั่วไปของคนส่วนใหญ่ แต่ก็น่าสนใจเพราะมันใส่เชิงลึกของมุมคิดหนึ่งที่พ่อแม่กับลูกอาจรู้สึกต่อกัน และภาษาหนังก็เล่ามันอย่างตะโกนกระโชกโฮกฮากพอควร แต่ความสนุกอยู่ตรงที่แอสเตอร์ยิ่งฉายลายเซ็นความสยองแบบปั่นประสาทที่เพิ่มลูกตลกร้ายชัดเจนขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงท้ายของหนังที่เล่นหนักถึงกับมีสัตว์ประหลาดโผล่ออกมา ก็เป็นมุมสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่ อาริ แอสเตอร์ อยากจะบอกเราว่าเลิกติดตราเขาเป็นผู้กำกับหนังสยองขวัญอย่างเดียวเสียที
และด้วยความยาวกว่า 3 ชั่วโมงกับการเดินทางที่ค่อนข้างส่วนตัวเช่นนี้ ก็ต้องบอกอีกครั้งว่านี่เป็นหนังที่ต้องจิตแข็งไปเข้าชมพอสมควร และสำหรับแฟนของ อาริ แอสเตอร์ ถึงเป็นงานที่ไม่ได้สร้างผลกระทบระดับขนหัวลุกซู่อย่างที่รอคอย แต่ก็ยังเป็นชิ้นงานที่พลาดไม่ได้อยู่ดี และอย่างที่บอกว่าการหลุดกรอบแนวหนังสร้างชื่อของเขาในเรื่องนี้ เราอาจได้เห็นหนังหลากหลายแนวกว่านี้จากเขาในอนาคตก็ได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส