Release Date
28/06/2023
แนว
แอ็กชัน/ผจญภัย
ความยาว
2.36 ช.ม. (142 นาที)
เรตผู้ชม
PG-13
ผู้กำกับ
เจมส์ แมนโกลด์ (James Mangold)
SCORE
6.6/10
Our score
6.6Indiana Jones and the Dial of Destiny | อินเดียน่า โจนส์ กับกงล้อแห่งโชคชะตา
จุดเด่น
- ฉากแอ็กชันอลังการงานสร้าง ดูสนุกตื่นเต้นสมกับหนังฟอร์มยักษ์ เคล้ามุกฮา ช็อตเรียกน้ำตา
- ปู่ แฮร์ริสัน ฟอร์ด วาดลวดลายทิ้งทวนแฟรนไชส์ได้สมศักดิ์ศรี แบบไม่่น่าเชื่อว่า 82 แล้วแท้ ๆ
- เรื่องราวประวัติศาสตร์ใกล้ตัวคุ้นหู เน้นการไขปริศนาและตั้งคำถามที่น่าสนใจ
- ยังคงกลิ่นอายผ่านวิธีการเล่าเรื่อง Easter Egg ต่าง ๆ เน้นแฟนเซอร์วิส คนที่ดูทุกภาคน่าจะสนุก แต่คนที่ไม่เคยดูเลยก็ดูสนุก
จุดสังเกต
- ตัวหนังใช้ขนบ สไตล์ วิธีการ การเล่าเรื่องจากหนังภาคก่อน ๆ และสไตล์สปีลเบิร์กมาค่อนข้างจะเยอะ ดูคลาสสิกแต่เชย
- ตัวหนังเดาง่าย บทสรุปไม่ได้ยากเกินความคาดเดา และอาจเหวอจนหลายคนอาจไม่ชอบไปเลยก็ได้
- บางช่วงเดินเรื่องช้าไปหน่อย
-
คุณภาพด้านการแสดง
6.6
-
คุณภาพโปรดักชัน
6.6
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
5.5
-
ความบันเทิง
7.7
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
7.7
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แฟรนไชส์หนังแอ็กชันผจญภัย อินเดียนา โจนส์ (Indiana Jones) นี่อยู่กับคนทุกยุคสมัยมากว่า 42 ปีแล้วนะครับ และที่สำคัญคือผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นไม่กี่แฟรนไชส์หนังในฮอลลีวูดที่ยังคงความคลาสสิกและกลิ่นอายแบบเดิม ๆ เอาไว้ได้ครบในทุกภาค ถ้าพูดในเชิงชื่นชมก็คือ เป็นแฟรนไชส์ที่แข็งแกร่งพอที่จะคงรูปแบบเดิมเอาไว้ ไม่พยายามเปลี่ยนโน่นนี่เอาใจตลาดจนเกินงาม ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะการวางรากฐานของเรื่องราวของ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) ในฐานะผู้ให้กำเนิดเรื่องราว สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ในฐานะผู้กำกับที่วางวิสัยทัศน์ให้กับหนังชุดนี้ และ แฮร์ริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford) นักแสดงที่รับบทอินดี้ได้อย่างชนิดที่หาคนอื่นแทนไม่ได้จริง ๆ
15 ปีนับจากภาคที่แล้ว ‘Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull’ (2008) เดินทางมาสู่ภาคที่ 5 ของแฟรนไชส์ใน ‘Indiana Jones and the Dial of Destiny’ หรือ ‘อินเดียนา โจนส์ กับกงล้อแห่งโชคชะตา’ ซึ่งมาถึงภาคนี้ สปีลเบิร์กที่เคยกำกับ และสร้างภาพลักษณ์ของอินเดียนา โจนส์ 4 ภาคแรกในความทรงจำของแฟนหนังมาตลอด เลือกที่จะถอยไปนั่งแท่นโปรดิวเซอร์ ส่งไม้ต่อให้กับผู้กำกับรุ่นใหม่ เจมส์ แมนโกลด์ (James Mangold) ผู้กำกับ ‘Ford v Ferrari’ (2019) และ ‘Logan’ (2017) ที่ได้รับคำชื่นชมล้นหลาม มารับตำแหน่งกำกับแทน
ตัวหนังจะเล่าเรื่องใน 2 ช่วงเวลา ช่วงแรกเกิดขึ้นในปี 1944 ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อินเดียนา โจนส์ (แฮร์ริสัน ฟอร์ด – Harrison Ford) ในวัยหนุ่มแน่น (ด้วยงาน De-Aged ลดอายุ แล้วเอาไป Deepfake แปะหน้าตัวแสดงแทน) ต้องเข้าไปช่วยเพื่อนนักโบราณคดี เบซิล ชอว์ (โทบี โจนส์ – Toby Jones) ที่เทือกเขาแอลป์ ฝรั่งเศส และช่วงชิงเอา ทวนแห่งลองกินุส (Lance of Longinus) ที่เคยอาบพระโลหิตของพระเยซูคริสต์จากกองทัพนาซีมาให้ได้ แต่ในระหว่างนั้น ทั้งอินดี้และเบซิลได้ค้นพบว่า นาซียังมีวัตถุโบราณที่เจ๋งกว่านั้นคือ กลไกแอนติไคเธอรา (Antikythera Mechanism) คิดค้นโดย อาร์คีมีดีส (Archimedes) ที่ เยอร์เกน วอลเลอร์ (แมดส์ มิคเคลเซน – Mads Mikkelsen) นักโบราณคดีของกองทัพนาซีครอบครองอยู่ เพราะเชื่อว่ากลไกนี้สามารถคำนวณหารอยแยกของกาลเวลา ที่สามารถพาผู้ครอบครองย้อนเวลากลับไปยังอดีตได้
อีก 25 ปีต่อมา อินดี้กลายเป็นอาจารย์ด้านโบราณคดีวัยเกษียณที่งุ่มง่าม วางมือจากการผจญภัยไปแล้ว แถมยังเป็นคนแก่เชยสะบัดเบื่อโลกที่กำลังกลุ้ม ทั้งการหย่าร้างกับภรรยา แมเรียน เรเวนวูด (แคเรน อัลเลน – Karen Allen) เพราะเสียลูกชาย (มัตต์ วิลเลียม จากภาค 3) ในสงคราม และการที่สหรัฐอเมริกากำลังเห่อการปล่อยจรวดสู่ดวงจันทร์ วันหนึ่ง อินดี้ก็ได้พบกับ เฮเลนา ชอว์ (ฟีบี วอลเลอร์-บริดจ์ – Phoebe Waller-Bridge) ลูกสาวของเบซิลที่อินดี้รับเป็นพ่อทูนหัวตั้งแต่อ้อนแต่ออก และได้รู้ว่าเธอเองก็สนใจและต้องการจะตามล่ากลไกนี้ด้วยเช่นกัน เธอจึงได้ชวนอินดี้ลากสังขารออกไปผจญภัยไขปริศนาเกี่ยวกับกลไกนี้ และได้พบเจอกับน้อง เท็ดดี คูมาร์ (อีธาน อีสิดอร์ – Ethann Isidore) เด็กชายคนสนิทของเฮเลนาที่ออกติดตามแบบบังเอิญ เพื่อยับยั้งไม่ให้เยอร์เกนใช้กลไกนี้ย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของนาซีในอดีต
แน่นอนว่า ด้วยความที่มันห่างจากภาคอื่น ๆ มาเกือบ 2 ทศวรรษ พอมาถึงภาคนี้ มันก็เลยมีความน่าห่วงในหลาย ๆ จุด ทั้งภาคที่แล้วที่โดนวิจารณ์พอสมควร ความสดใหม่ของเรื่องราว การเปลี่ยนมือผู้กำกับที่อาจจะเอาไม่อยู่กับหนังบล็อกบัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ (ระดับสปีลเบิร์กเลยเชียวนะ) ที่ภาคนี้ใช้ทุนสร้างมากถึง 295 ล้านเหรียญ สูงที่สุดจากทุกภาค และสูงเป็นอันดับ 11 ของหนังทุนสร้างสูงสุดตลอดกาล และสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือ ลุงฟอร์ดที่เป็นหน้าตาของแฟรนไชส์นี้จะยังสู้ไหวไหมกับหนังแอ็กชันผจญภัย (เพราะภาคที่แล้วก็แอบเริ่มเห็นลุงเหนื่อย ๆ อยู่เหมือนกัน)
ซึ่งสิ่งที่จะว่ามันเป็นปัญหาหรือจุดแข็งก็ได้ของภาคนี้ก็คือ แม้จะมีความพยายามวางเรื่องราวใหม่ ๆ ขึ้นมา และพยายามเพิ่มอะไรที่ไม่เคยเพิ่มมาก่อนในภาคอื่น ๆ ทั้งงานสร้างที่ฟอร์มยักษ์ขึ้น อลังการขึ้น ใช้งานวิชวลเอฟเฟกต์หนักหน่วงกว่าทุกภาค รวมทั้งการเพิ่มฉากแอ็กชันที่เล่นใหญ่เร้าใจกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของภาคนี้เลยแหละ ที่แมนโกลด์สามารถทำฉากแนวไล่ล่าให้ออกมายิ่งใหญ่ ระทึกสมจริง ผสมผสานกับมุกสนุก ๆ ตามรายทาง แล้วพอในภาคนี้ด้วยความที่มันมาคาบเกี่ยวกับช่วงที่ปู่ฟอร์ดเองก็เข้าวัยชรา
แม้เบื้องหลังจะมีฉากที่ปู่เล่นแอ็กชันเอง แต่ตัวหนังก็เจ๋งตรงที่ไม่ได้พยายามจะบังคับให้ปู่ลากสังขารแอ็กชันอย่างเดียว แต่ใช้วิธีแบ่งพาร์ตเล่าเรื่องให้ปู่ฟอร์ดกลายเป็นอาจารย์วัยเกษียณเชย ๆ เน้นดราม่าตามวัย กับแสดงฉากแอ็กชันแบบที่ไม่ต้องลงแรงมาก ซึ่งเอาเข้าจริง คนวัย 82 ออกแรงได้ขนาดนั้นก็ถือว่าน่าทึ่งมาก ๆ แล้วล่ะ ส่วนพาร์ตในวัยหนุ่มที่ต้องแอ็กชันดุ ๆ ก็ให้สตันท์เล่นแทนไป ซึ่งแม้งานวิชวลทั้งการเนรมิตปู่ฟอร์ดวัยหนุ่ม รวมทั้งวิชวลจุดอื่น ๆ ในองก์แรกจะไม่ค่อยสมบูรณ์นัก แต่โดยรวมก็ถือว่าไม่แย่ ทำออกมาได้สนุกตื่นเต้นเร้าใจเกินคาด
อีกจุดที่ผู้เขียนมองว่าแปลกกว่าทุกภาค นั่นก็คือความพยายามจะผูกเนื้อเรื่องเข้ากับประวัติศาสตร์จริง ๆ เสียทีครับ เพราะภาคก่อน ๆ ทั้งสมบัติล้ำค่า และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่อ้างอิงจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์จริง ๆ ในโลก ที่ล้วนถูกเล่าผ่านปากของอินดี้ในเชิง Trivia เฉย ๆ ที่เหลือก็เป็นพวกฉากแอ็กชันและการไขปริศนาเฉย ๆ แต่ภาคนี้ตัวหนังให้เวลาและดูใส่ใจกับการไขปริศนาในเชิงสืบสวนสอบสวนที่ร่วมสมัยกว่า และเป็นประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นหูคุ้นตาอยู่แล้ว โดยเฉพาะชื่อของอาร์คีมีดีส และกลไกแอนติไคเธอรา ซึ่งเป็นเครื่องคำนวณทางดาราศาสตร์ที่มีการค้นพบจริง ๆ ทำให้ภาคนี้ดูมีความเป็นกึ่ง ๆ วิทยาการ ผสมวิทยาศาสตร์กว่าภาคก่อน ๆ ที่ดูไกลตัวมากกว่า
โดยเฉพาะในช่วงไคลแมกซ์องก์สุดท้าย ที่ปกติไคลแมกซ์ในแทบทุกภาค เรามักจะได้เห็นสมบัติล้ำค่าแผลงฤทธิ์เดชในช่วงสุดท้ายเสมอ ถ้าเป็นภาคอื่น เราก็จะได้เห็นตัวร้ายที่ละโมบโลภมากโดนฤทธิ์เดชของสิ่งล้ำค่า คร่าชีวิตให้ตายตกไปตามกรรม แต่ภาคนี้เลือกที่จะใช้วิธีโยงกลับไปหาประวัติศาสตร์ที่เป็นต้นกำเนิดของกลไกอันนี้แทน และเป็นเสมือนบทลงโทษของวายร้ายไปด้วย ซึ่งก็ถือเป็นเซอร์ไพรส์ที่แม้จะดูมีความ ‘โดเรมอน เดอะ มูฟวี่’ ไปหน่อยก็เถอะ แต่ก็เป็นอะไรที่ผู้เขียนมองว่าแปลกดี แต่ก็มีข้อแม้อยู่ว่า การที่ตัวหนังตลอดทั้งเรื่อง พยายามชวนให้คนดูคิดต่อว่า กลไกโบราณมันจะพาย้อนเวลาได้จริง ๆ ไหม พอบทสรุปมันออกมาแนวนี้ ก็อาจทำให้หลายคนเหวอจนไม่ชอบไปเลยก็ได้
แต่เหนืออื่นใด ทั้งหมดทั้งมวลที่ผู้เขียนเล่ามา ถ้าเป็นเกมมันก็เหมือนการอัปเดต Patch ล่าสุดให้กับแฟรนไชส์นี้ให้มีความร่วมสมัยขึ้นมา แต่สุดท้ายแล้วในภาพรวมของหนังภาคนี้ก็ยังขาดความสดใหม่อย่างจริงจัง ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าไม่ได้เคยดูมาก่อน หนังเรื่องนี้มันก็สนุกในตัวมันเอง แต่ถ้าใครดูทุกภาคมาแล้วก็จะรู้สึกได้เลยว่า ตัวหนังเลือกที่จะหยิบขนบและสไตล์จากหนังภาคก่อน ๆ (รวมทั้งสไตล์แบบ ‘หนังสปีลเบิร์ก’) มาใช้ ตั้งแต่พล็อต การเล่าเรื่องที่คล้ายกันทุกภาค การมีเด็กร่วมผจญภัยด้วยก็ชวนให้นึกถึง ‘Indiana Jones and the Temple of Doom’ (1984) ฉากแอ็กชันที่แอบมีลูกล่อลูกชน มีความเหนือจริงนิด ๆ แบบสปีลเบิร์กในภาคเก่า ๆ ฉากการไล่ล่าของอินดี้กับนาซีที่เหมือนกันทุกภาค ต่างก็แค่พื้นที่และรูปแบบ รวมทั้งบทสรุปที่ใช้วิธีการเดิมเหมือนทุกภาค (และนาซีก็จะต้องร้ายและโลภแบบไม่มีเหตุผลเหมือนทุกภาคเช่นกัน)
แม้ตัวหนังจะพยายามเติมความอลังการด้านงานสร้างเข้ามา แต่ปัญหาของภาคนี้ โดยรวมก็คงปฏิเสธไม่ได้แหละว่า หลาย ๆ อย่างในหนังมันก็เชยจนไม่มีอะไรที่สดใหม่อย่างแท้จริงไปแล้ว ซึ่งแมนโกลด์เองก็รู้จุดนี้ดี เลยเลือกที่จะตั้งใจเดินตามกลิ่นอายดั้งเดิมแบบที่สปีลเบิร์กทำไว้แล้วไปให้สุดในฐานะหนังบล็อกบัสเตอร์ขายบันเทิง ขายความคลาสสิกด้วยเนื้อเรื่องที่สนุกและดูได้เรื่อย ๆ (แม้ว่าจะเดาง่ายมาก และบางช่วงก็แอบเดินเรื่องช้า) ไปเลย หรือการสอดแทรก Easter Egg จากภาคเก่า ๆ ให้ได้อมยิ้ม การใส่สกอร์ฝีมือของ จอห์น วิลเลียมส์ (John Williams) ที่ให้อารมณ์เดิม ๆ หวนกลับมา ในขณะที่แฟนใหม่ ๆ ก็ยังสามารถดูภาคนี้แบบสนุกและรู้เรื่องได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องดูภาคอื่นมาก่อน
ส่วนเรื่องของนักแสดง ก็เรียกได้ว่าไม่มีนักแสดงคนไหนที่ผิดหวังครับ ปู่ฟอร์ดยังคงวาดลวดลายการเป็นอินดี้ได้อย่างไว้ลาย คือปู่คงไม่ได้ฟิตอะไรขนาดนั้น แต่แค่ปู่แกเลือกใช้แส้จริงแทน CG และเห็นฉากที่ปู่ออกแอ็กชัน แค่นี้ก็ชวนให้ลืมอายุได้แล้วล่ะ ส่วนนักแสดงคนอื่น ๆ ทั้ง ฟีบี วอลเลอร์-บริดจ์ ก็มีเสน่ห์ และคาแรกเตอร์ของเธอก็ทำให้ผู้หญิงมีความโดดเด่นและเป็นตัวหลักของภาคนี้ได้อย่างน่าสนใจ ส่วนน้องอีธาน อีสิดอร์ ก็ฉลาดเป็นกรดในแบบที่ดูไม่แก่แดดดี และลุงแมดส์ มิคเคลเซน ที่สวมบทนาซีได้น่ากลัวมาก สมกับเป็นวายร้ายของฮอลลีวูดจริง ๆ แม้ตอนท้ายจะดูมีความเป็นทหารนาซีคลั่ง ๆ ป่วย ๆ มากกว่าเท่เหมือนตอนเริ่มเรื่องก็ตามทีเถอะ
แม้หนังเรื่องนี้อาจไม่ได้ดีที่สุดจากทุกภาค มีจุดที่ขัดใจอยู่พอควร แต่ภาคนี้ก็ถือว่าไม่แย่เลย มีฉากแอ็กชันที่มันมาก ฉากฮาก็ได้ยิ้ม มีฉากประทับใจซึ้ง ๆ ด้วย เป็นภาคที่แฟนหนังชุดนี้ดูสนุกแบบไม่ผิดหวัง ส่วนคนไม่ใช่แฟนก็ดูได้ รุ่นเก๋ารุ่นใหม่ดูได้หมดทั้งครอบครัว เป็นหนังบันเทิงแกล้มป๊อปคอร์นที่ไม่เสียดายค่าตั๋ว จุดที่อัปเกรดใหม่ในภาคนี้ก็ถือว่าทำออกมาได้เร้าใจเกินคาด แม้ตัวหนังจะไม่ค่อยสดใหม่เท่าไหร่นัก ซึ่งภาคนี้มันก็ฟ้องตัวเองชัดเจนแล้วแหละว่า แฟรนไชส์มันจบสมบูรณ์ในตัวเองไปเรียบร้อยและไม่น่ามีอะไรใหม่ไปกว่านี้อีกแล้ว ส่วนปู่ฟอร์ดเองก็ถือว่าทิ้งทวนปิดตำนานในภาคนี้ได้อย่างสมศักดิ์ศรีแล้วล่ะ
หลังจากนี้เดาไม่ออกจริง ๆ ว่า Lucusfilm ยังจะสนใจดึงดันสร้างภาคต่อไปแบบทันควันเลยไหม ถ้าสร้างต่อจะเอาใครมารับบท อินเดียนา โจนส์แทน หรือมีแผนจะรีบูตไหม ผลตอบรับด้านรายได้และคำวิจารณ์จากภาคนี้น่าจะเป็นตัวตัดสินใจได้ชัดเจน ถ้าวิเคราะห์แบบใจร้าย ภาคนี้ก็อาจมีสิทธิ์แป้กเพราะเหตุผลที่มันเชยนี่แหละ ถ้ายังคิดจะรีบูตใหม่ ผู้เขียนแนะนำว่า น่าจะลองเว้นว่างแฟรนไชส์ไปเลยสัก 10-20 ปีเป็นขั้นต่ำ เว้นไกล ๆ ให้คนคิดถึง (หรือลืมไปเลย) แล้วค่อยว่ากันอีกทีก็น่าจะดีครับ
ป.ล. ไม่มีฉากหลัง End-Credits นะครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส