Release Date
11/07/2023
แนว
แอ็กชัน/ผจญภัย/ระทึกขวัญ
ความยาว
2.47 ช.ม. (163 นาที)
เรตผู้ชม
PG-13
ผู้กำกับ
คริสโตเฟอร์ แม็คควอร์รี (Christopher McQuarrie)
SCORE
8.5/10
Our score
8.5Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One | มิชชั่น อิมพอสซิเบิ้ล ล่าพิกัดมรณะ ตอนที่หนึ่ง
จุดเด่น
- ฉากแอ็กชันของ ทอม ครูซ แม้จะเคยเห็นฟุตเทจเบื้องหลังแล้ว แต่ในหนังมีมากกว่านี้อีกเยอะ
- ออกแบบวายร้ายให้มีความแปลกใหม่ และน่ากลัว และสามารถจิกกัดความเป็น อีธาน ฮันต์ รวมทั้งการจิกกัดอำนาจระหว่างประเทศได้น่าสนใจ
- งานโปรดักชัน งานสร้างทำออกมาได้อลังการมาก งานซีจีแอบมีลอยนิด ๆ แต่ถือว่ารับได้
- มีการสอดแทรกมุกตลกจังหวะนรก และมุกเฉิ่ม ๆ ได้ฮามาก ถ้าไม่ติดภาพซีเรียสก็บันเทิงดี
จุดสังเกต
- ครึ่งแรกของหนังต้องอธิบายทั้งตัวละคร เอนทิตี และความน่ากลัวในเชิงอำนาจการเมือง เลยทำให้ Pace ครึ่งแรกค่อนข้างเนือยและข้อมูลล้นเยอะมาก
- แอบเสียดายบทของ ปอม เคลม็องตีแยฟ ที่ให้มิติน้อยไปหน่อย และ เฮย์ลีย์ แอตเวลล์ ที่ดูโตกว่าบทบาทที่ได้รับ
-
คุณภาพด้านการแสดง
7.6
-
คุณภาพโปรดักชัน
8.2
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
8.6
-
ความบันเทิง
9.0
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
9.1
ย้อนกลับไปเมื่อ 27 ปีที่แล้ว ทอม ครูซ (Tom Cruise) ได้เริ่มต้นโปรเจกต์แรกของตัวเขาเองในฐานะนักแสดงและโปรดิวเซอร์หนัง ซึ่งนั่นก็คือ ‘Mission: Impossible’ หลังจากที่ออกฉายในปี 1996 โลกเลยได้รู้จักกับสายลับ อีธาน ฮันต์ สายลับประจำหน่วย IMF (Impossible Mission Force) ที่ต้องทำภารกิจในปฏิบัติการที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ จากหนังสายลับขายความไฮเทค พัฒนากลายเป็นแฟรนไชส์หนังแอ็กชันสายลับ ที่มาพร้อมกับฉากเสี่ยงตายสไตล์ ทอม ครูซ ที่ตอนนี้เดินทางมาถึงภาคที่ 7 ในชื่อ ‘Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One’ และถือเป็นภาคแรกของแฟรนไชส์ที่แบ่งเรื่องราวออกเป็น 2 ตอน
ในภาคนี้ก็ยังคงได้ คริสโตเฟอร์ แม็กควอรี (Christopher McQuarrie) ผู้กำกับและเขียนบทเจ้าประจำที่ทำงานกับแฟรนไชส์นี้มาตั้งแต่ตอนเขียนบทภาค ‘Mission: Impossible – Ghost Protocol’ (2011) และรับหน้าที่กำกับ 2 ภาคหลังอย่าง ‘Mission: Impossible – Rogue Nation’ (2015) และ ‘Mission: Impossible – Fallout’ (2018) ที่มีความเชื่อมโยงกันด้วยตัวละครชุดเดิม ทำให้มีภาพของความเป็น ‘จักรวาล’ ขึ้นมาอย่างชัดเจน รวมไปถึงภาคนี้ และตอนที่ 2 ที่จะฉายในปี 2024 ด้วยครับ
เรื่องราวในภาคนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ อีธาน ฮันต์ (ทอม ครูซ – Tom Cruise) สายลับ IMF ที่ได้รับภารกิจใหม่ในการออกตามล่ากุญแจรูปกางเขนที่สามารถแยกออกได้เป็น 2 ชิ้นส่วน เมื่อประกอบกันเข้า กุญแจนี้จะสามารถเข้าถึงและควบคุมสิ่งที่เรียกว่า เอนทิตี (Entity) อาวุธปริศนาที่ใช้พลังของ AI แทรกซึมเข้าสู่ระบบดิจิทัลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทั่วทั้งโลก แถมยังมีความสามารถในการก่อวินาศกรรมระบบดิจิทัล ด้วยการแทรกซึมเข้าไปในระบบเครือข่ายได้อย่างแนบเนียน แถมยังไม่มีใครที่ล่วงรู้แน่ชัดว่ามันคืออะไร หน้าตาเป็นแบบไหน ใครเป็นคนสร้าง สร้างขึ้นมาทำไม และตั้งอยู่ที่ไหนในโลก
แม้จะสร้างความหวั่นวิตกในระดับนานาชาติ แต่ แกเบรียล (อีไซ โมราเลส – Esai Morales) อดีต IMF ที่มี ปารีส (ปอม เคลม็องตีแยฟ – Pom Klementieff) นักสังหารสาวเป็นผู้ติดตาม รวมทั้งแม่ม่ายขาว (วาเนสซา เคอร์บี – Vanessa Kirby) ก็อยากได้กุญแจนี้ด้วยเช่นกัน ฮันต์จึงต้องออกตามหา อิลซา ฟาวสต์ (รีเบ็คกา เฟอร์กูสัน – Rebecca Ferguson) พันธมิตรเก่า และยังได้พบกับ ยูจีน คิตทริดจ์ (เฮนรี เซอร์นีย์ – Henry Czerny) อดีตหัวหน้า IMF คู่ปรับเก่า และ เกรซ (เฮย์ลีย์ แอตเวลล์ – Hayley Atwell) สาวนักล้วงกระเป๋าปริศนา ฮันต์จึงต้องรวมพลเพื่อนเก่าและผู้ช่วยภารกิจอย่าง ลูเธอร์ สติกเคลล์ (วิง เรมส์ – Ving Rhames) และ เบนจี ดันน์ (ไซมอน เพ็กก์ – Simon Pegg) ร่วมกันตามหากุญแจ และไขปริศนา เกี่ยวกับเอนทิตีให้ได้ โดยมีชะตากรรมของโลกเป็นเดิมพัน
แม้โดยรวมจะไม่ได้มีเนื้อหาต่อมาจากภาคก่อน ๆ สำหรับคนที่ไม่เคยดููภาคไหนมาก่อนเลย ก็ยังถือว่าดูได้แบบสนุกและรู้เรื่องนะครับ บทถือว่าฉลาดทีเดียว ในการออกแบบให้ภาคนี้เป็นการเล่าเรื่องการตามหากุญแจ ส่วนปริศนาของเอนทิตีจริง ๆ ก็ค่อยต๊ะเอาไว้ไปว่ากันตอน 2 ก็เลยทำให้ภาคนี้มีความสนุกแบบจบในตัวได้ แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยความที่ภาคนี้มีตัวละครจากภาคเก่า ๆ ทั้งภาค ‘Rogue Nation’ (2015) และ ‘Fallout’ (2018) ผู้เขียนเองก็คิดว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องดูภาคเหล่านี้มาก่อนเพื่อปูให้เข้าใจที่มาที่ไปของตัวละครเก่า ๆ ทั้งหมด (รวมถึงตัวละครจากภาคเก่าที่ถูกอ้างชื่อ) เพราะในหนังจะเล่าประเด็นความสัมพันธ์ของคนที่อยู่รายรอบตัวฮันต์อยู่มากพอสมควร
สิ่งที่แฟนหนังชุดนี้น่าจะพอจับสังเกตได้ก็คือ ในระหว่างภารกิจการหากุญแจ สิ่งที่คู่ขนานไปกับหนังก็คือ ความพยายามกลับไปสำรวจเรื่องราวในอดีตของตัวฮันต์เอง ในรูปของการย้อนกลับไปยังรากเหง้าของตัวเขาเองใน ‘Mission: Impossible’ (1996) ครับ คือนอกจากความพยายามใช้มุมกล้องแบบเอียง (Dutch Angle) ที่ผู้กำกับ ไบรอัน เดอ พัลมา (Brian De Palma) ใช้จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของภาคแรก ซึ่งแม้ว่ามันจะดูจงใจดึงเอกลักษณ์จากภาคแรกมาใช้ แต่ที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือ การพยายามวางคาแรกเตอร์ให้แกเบรียล อดีตสมาชิก IMF ที่เปรียบเหมือนผีที่ตามมาหลอกหลอนฮันต์อีกครั้ง
หรือแม้แต่การดึงเอา ยูจีน คิตทริดจ์ อดีตหัวหน้า IMF จากภาคแรกกลับมาในภาคนี้ด้วย การมาของคิตทริดจ์ ในฐานะผู้อำนวยการของ CIA ในภาคนี้ ไม่ได้มาเพื่อแค่ต้องการระลึกวันวานเฉย ๆ นะครับ แต่เป็นการนำกลับมาเพื่อเป็นเหมือนกับชนวนระเบิดอดีตของฮันต์ออกมา ในภาคแรก คิตทริดจ์คือคนของรัฐบาลที่เคยกล่าวหาว่า อีธาน ฮันต์ ว่าเป็นคนทรยศ ส่วนในภาคนี้ คิตทริดจ์กลับมาขัดขาฮันต์ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลที่ยึดเอาประเทศชาติเป็นสำคัญ และคอยบีบบังคับดักคอให้ฮันต์ต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ระหว่างประเทศชาติ (ยังไงก็เกิดสงครามแน่ ๆ ล้านเปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศชาติ คนในชาติรอด) กับมนุษยชาติ (คนทั้งโลกรอด แต่ไม่มีใครเป็นมหาอำนาจ) ซึ่งจะว่าไปมันก็แอบชวนให้นึกถึงทางเลือกในแบบเดียวกับภาค ‘Fallout’ เหมือนกัน คาดว่าภาคหน้าคงลงลึกประเด็นนี้มากกว่านี้ หวังว่านะครับ
อีกความเจ๋งที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาของหนังนิด ๆ เหมือนกัน นั่นก็คือความซับซ้อนมากสิ่งของหนังครับ ถ้าหั่นครึ่งหนังแบบง่าย ๆ ก็จะเห็นชัดเจนว่า ครึ่งแรกของหนังคือการเล่าอธิบายเชิงโครงสร้างทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นใน ‘Dead Reckoning’ ทั้งสองภาค ทั้งการอธิบายเอนทิตี ในฐานะวายร้ายรูปแบบใหม่ที่มีความน่ากลัวก็คือ สามารถแทรกซึมเข้าสู่ระบบดิจิทัล เข้าถึงฐานข้อมูลได้ทุกอย่างในโลก สร้าง Fake News เพื่อล้างสมองผู้คน สามารถปลอมแปลงอัตลักษณ์ตัวตน เรียนรู้และวิวัฒน์ตัวเองได้แบบไม่รู้จบ ซึ่งจะว่าไปมันก็เป็นคู่ปรับที่ตรงกันข้ามกับฮันต์อย่างชัดเจนมาก
เพราะในขณะที่ฮันต์เองแม้ว่าจะทันสมัยแค่ไหน แต่ตัวเขาเองก็ยังมีสถานะเป็นคนจากโลกเก่าอยู่ดี เพราะในขณะที่ฮันต์ก็ยังคงรับข้อมูลผ่านแฟ้ม ภาพถ่ายอัดใส่กระดาษ และเทปบันทึกเสียงแอนะล็อกที่ทำลายตัวเองได้ เอนทิตีกลับสามารถจัดการฐานข้อมูลและทำลายตัวเอง ลบร่องรอยได้ด้วยตัวมันเองโดยไม่ต้องให้ใครมาส่งพัสดุ ในขณะที่ฮันต์ยังต้องสร้างหน้ากากยางในการปลอมแปลงตัวเอง เอนทิตีกลับสามารถปลอมตัวเป็นใครก็ได้ แฮกเพื่อสร้างข้อมูลเท็จ เปลี่ยนแปลง ปกปิด ทำลายข้อมูลอัตลักษณ์ตัวตนได้เลยภายในเสี้ยววินาที คือแทบจะเป็นวายร้ายระดับพระเจ้าที่สามารถ Disrupt โลกเก่าอย่างฮันต์ และส่งผลต่อโลกดิจิทัล และโลกจริงได้แบบที่แทบจะไม่มีพรมแดนระหว่างกันอีกต่อไป
ถ้าใครเข้าใจคอนเซ็ปต์ของ AI และ Machine Learning รวมทั้งตัวตนบนโลกออนไลน์มาแล้วพอสมควร ก็จะรู้สึกว่า นอกจากเอนทิตีจะเป็นวายร้ายที่มีทั้งความไซไฟ ลึกลับ และแปลกใหม่จากวายร้ายอยากยึดครองโลกแบบดาด ๆ ในหนังแนว ๆ เดียวกันแล้ว ตัวมันเองก็ดูน่ากลัว ร่วมสมัย และดูใกล้ตัวเรามาก ๆ นะครับ แถมยังเจ๋งตรงที่ใช้เอนทิตีในการวิพากษ์จิกกัดเกี่ยวกับประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ และความต้องการเป็นมหาอำนาจในแบบที่หาไม่ได้จากภาคไหนได้ด้วย ในขณะเดียวกันมันก็ยังย้อนกลับมาจิกกัดตัวเองด้วยการวิพากษ์ความล้าสมัยของ IMF ได้อีก (ซึ่งมุกช่วงนี้ผู้เขียนชอบมากครับ ดูแล้วถึงกับอุทานว่า เล่นงี้เลยเรอะ…)
สิ่งที่ผู้เขียนเกริ่นไว้ว่าเป็นปัญหานิด ๆ ของครึ่งแรกก็คือ การที่หนังต้องค่อย ๆ อธิบายองค์ความรู้ซับซ้อนเนิร์ด ๆ ของตัวเอนทิตีเอง รวมไปถึงยังต้องพยายามปูเรื่องเพื่ออธิบายเกี่ยวกับบรรดาตัวละครต่าง ๆ ทั้งสถานการณ์ปัจจุบันของบรรดาตัวละครเก่า และการแนะนำตัวละครใหม่ รวมทั้งการพยายามวิพากษ์วิจารณ์การเมืองระหว่างประเทศ การพยายามอธิบายเรื่องราวความน่ากลัวของเอนทิตีที่มีความน่ากลัว ร่วมสมัย และดูใกล้ตัวเรามาก รวมทั้งเกมช่วงชิงอำนาจระหว่างประเทศ และระหว่างตัวละคร แม้ตัวหนังจะใช้วิธีการแทรกทุกอย่างไว้ในฉากแอ็กชันและบทสนทนาตึง ๆ จิกกัด เชือดเฉือน และยาวเหยียด ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าสิ่งเหล่านี้มันก็ทำให้ Pace หนังในครึ่งแรกมันเนือยมากพอสมควร และเต็มไปด้วยข้อมูลที่ต้องรับ วิเคราะห์ ปะติดปะต่อข้อมูลเยอะ ๆ จนแอบเหนื่อยเหมือนกัน ทั้งที่จริง ๆ คอนเซ็ปต์คร่าว ๆ มันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรขนาดนั้นนะ
แต่พอเข้าฉากแอ็กชันก้อนใหญ่ ๆ 2 ก้อนหลักที่เป็นไฮไลต์ของภาคนี้ ก็ต้องเรียกได้ว่าเป็นการปลดเปลื้องทุกอย่างแล้วเข้าสู่โหมดบันเทิงแบบเต็มตัวไปเลยครับ เพราะตัวหนังเริ่มเล่าเรื่องการไล่ล่า และพยายามสอดแทรกพล็อตของการใช้เล่ห์เหลี่ยม หักหลัง แผนซ้อนแผนที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและยากที่จะไว้ใจใครได้แบบสนิทใจ ยิ่งพอมีประเด็นเกี่ยวกับตัวตนบนโลกออนไลน์ ที่พอถึงจุดหนึ่ง หลาย ๆ ตัวละครก็จำต้องซ่อนตัวเองอยู่ในโลกแอนะล็อก (แต่ต้องต่อกรกับโลกดิจิทัลซะงั้น) ก็ยิ่งบีบให้คนดูรู้สึกไม้ไว้วางใจหนักเข้าไปอีก
แต่แม้ตัวหนังจะปูเรื่องมาซะซีเรียส แต่ภาคนี้กลับมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ไม่ซ้ำกับภาคไหนเลยก็คือ การสอดแทรกมุกจังหวะนรกยามคับขัน โดยเฉพาะการแทรกมุกให้ฮันต์มีความกลายเป็นลุงเชย ๆ แม้บางช่วงมุกจะดูเยอะจนทำให้ภาพรวมของหนัง พล็อต และคาแรกเตอร์ อีธาน ฮันต์ ที่วางตัวเป็นสายลับซีเรียสมาตลอด กลายเป็นลุงฮันต์ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ซิตคอมที่ดูทีเล่นทีจริงไปบ้าง แต่ก็ยังไม่ถึงกับล้นจนไปทำลายพล็อตสุดซีเรียสที่อุตส่าห์ปูไว้ คืออันไหนที่ต้องจริงจัง เช่นเหตุเสี่ยงตาย บทสนทนาตึง ๆ หรือจังหวะดราม่าอึมครึม ก็ไม่มีจังหวะให้ขำ แต่ถ้าอันไหนแทรกได้นิด ๆ ก็ขอหน่อยสักฮา ถ้าใครถือสากับความซีเรียสจากภาคเก่า ๆ ก็อาจจะขัดใจหน่อย แต่ถ้าดูเพื่อหวังความบันเทิงก็เรียกได้ว่าไม่ผิดหวังครับ
สิ่งที่เป็นจุดเด่นจุดขายของแฟรนไชส์นี้ก็คงหนีไม่พ้นบรรดาฉากแอ็กชันที่ครูซยังคงเล่นเอง เสี่ยงเองในทุก ๆ ภาค เอาจริง ๆ แม้ตัวหนังจะปล่อยฟุตเทจเบื้องหลังออกมาให้ได้ดูทั้งในออนไลน์ และในโรงหนังมานานมากแล้ว แต่พอได้ดูซีนเหล่านั้นแบบเต็ม ๆ ก็ยังรู้สึกว่า ทอม ครูซ วัย 61 ปี นอกจากจะเล่นจริง เสี่ยงจริง เหมือนเช่นทุกภาค รวมทั้งยังนำเสนอฉากแอ็กชันแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่ต้องชมว่าช่างหาทำหาเสี่ยงกันเหลือเกิน ในอีกมุมหนึ่งมันก็ยืนยันได้อย่างชัดเจนเลยว่า ป๋าครูซแกยังคงรักษาวินัยด้วยการซ้อมแล้วซ้อมอีกอย่างเข้มข้น ยังคงมีสมรรถนะทางร่างกายที่แน่นปั้กกว่าอายุจริง และใจรักในการเล่นฉากแอ็กชันเสี่ยงตายได้แบบไร้ขีดจำกัด ชนิดที่ว่าลืมอายุลืมตายได้อย่างไม่มีปัญหาเลยครับ
ซึ่งในภาคนี้ก็ต้องบอกว่ามีฉากแอ็กชันที่ให้ลุ้นกันแบบจิกเท้าหลายฉากอยู่นะครับ ทั้งฉากขี่มอเตอร์ไซค์ Honda CRF 250 พุ่งทะยานจากหน้าผาหินในนอร์เวย์ ที่ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ดิ่งพสุธาลงสู่หุบเขา ก่อนจะกางร่มชูชีพก่อนถึงพื้นเพียงแค่ 500 ฟุต หรือ 152.4 เมตร ซึ่งพอมาเห็นแบบเต็ม ๆ ก็ยังเล่นเอาเกร็งได้อยู่ รวมทั้งฉากแอ็กชันบนขบวนรถไฟ ที่ชวนให้นึกถึงฉากต่อสู้บนรถไฟจากภาคแรกเหมือนกัน แต่ที่เจ๋งกว่าคือ ความสมจริงด้วยการถ่ายทำบนรถไฟจริง และถ่ายทำบนรางรถไฟจริง ๆ ซึ่งในหนังก็จัดฉากแอ็กชันบนรถไฟให้ดูกันแบบยาวเหยียด และใช้ทุกองค์ประกอบบนรถไฟแบบเกินคุ้ม รวมทั้งฉากซิ่งรถในโรม ที่ลุงฮันต์ต้องขับ Fiat 500 รถ EV สีเหลืองปุ๊กปิ๊ก ที่แม้จะดูคุ้น ๆ กับหนังที่มักจะใช้โลเคชันนี้ในหลาย ๆ เรื่อง แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้ทั้งลุ้น ได้ทั้งตลกนรกบ้าบอคอแตกดีจริง ๆ
ส่วนในพาร์ตตัวละคร ด้วยความที่ภาคนี้อุดมไปด้วยตัวละครทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ซึ่งบรรดาตัวละครจากภาคก่อน ๆ รวมทั้งครูซ ที่ไม่ต้องพูดถึงแล้วว่านึ่คือ อีธาน ฮันต์ คนเดียวในโลกจริง ๆ ส่วน วิง เรมส์ ในบทลูเธอร์ และเบนจี ที่รับบทโดย ไซมอน เพ็กก์ ก็เป็นตัวสร้างสีสันในภาคนี้ที่เข้าเส้นมาก ๆ ส่วนนักแสดงคนอื่น ๆ ก็ยังคงแสดงกันได้ดี ผู้เขียนยอมรับว่าแอบเอนเอียงไปชอบ วาเนสซา เคอร์บี ในบทแม่ม่ายขาวครับ คือคุณเค้าพราวเสน่ห์มาตั้งแต่ภาค ‘Fallout’ แล้วล่ะ เพียงแต่ภาคนี้ก็จะได้เห็นฝีมือของเธอที่หลากหลายกว่าเดิมด้วย ส่วน อีไซ โมราเลส ที่รับบทเป็น แกเบรียล วายร้ายประจำภาคนี้ ที่แอบโชว์ของน้อยไปนิด แต่ก็ถือเป็นวายร้ายที่มีมิติน่าสนใจ และน่าจะมีบทบาทมากขึ้นในตอนต่อไป
จะมีที่ติดบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็คือคาแรกเตอร์และบทของ 2 ตัวละครหญิงครับ คนแรกคือ ปารีส นักสังหารสุดโหด ที่แสดงโดยนักแสดงสาวหน้าเก๋ ปอม เคลม็องตีแยฟ ที่จริง ๆ ผู้เขียนก็ชอบในความโหดแบบเดือด ๆ ของเธอนะครับ แต่พอตัวละครของเธอต้องเจอกับจุดพลิกล็อก ก็ทำให้แอบรู้สึกว่าหนังน่าจะเติมมิติให้ปารีสได้อีกสักหน่อย
อีกตัวละครก็คือ เกรซ ที่รับบทโดย เฮย์ลีย์ แอตเวลล์ ครับ คือเธอรับบทเป็นนักล้วงกระเป๋าได้อย่างมีเสน่ห์ เป็นพลังงานบวกของหนังที่เข้าขากับครูซอย่างยอดเยี่ยม จนอยากชงให้เข้าคู่พระ-นางกันไปเลย แต่ปัญหาที่ผู้เขียนรู้สึกก็คือ พอแอตเวลล์รับบท เพ็กกี คาร์เตอร์ และกัปตันคาร์เตอร์กับ Marvel แล้ว รวมทั้งอายุที่ดูโตกว่าจะเล่นบทแนว ๆ นี้ ก็เลยทำให้ผู้เขียนแอบไม่รู้สึกเชื่อ และไม่ซื้อกับเหตุผลและการกระทำบางอย่างของเกรซอยู่บ้างเหมือนกัน แอบเสียดายว่า ถ้าให้เธอมารับบทเป็นสายลับเก่ง ๆ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางคู่กับฮันต์ น่าจะดูเหมาะกับเธอมากกว่านี้
สุดท้ายแล้ว คงไม่ต้องนั่งสงสัยแล้วล่ะครับว่าทำไม ‘Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One’ ถึงได้คะแนนจากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ได้สูงปรี๊ดขนาดนี้ เพราะถ้าไม่นับความซับซ้อนของภัยร้ายที่ยิ่งใหญ่และเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ การวิเคราะห์บทสนทนาเกมแย่งชิงอำนาจและการเมือง รากเหง้า ปมเก่า ภัยจากโลกยุคแอนะล็อก มิตรภาพ การสูญเสีย ความไว้วางใจที่ไม่น่าไว้วางใจ ปริศนาที่ยังคงไร้ทางแก้ ทั้งหมดนี้ขมวดรวมกลายเป็นภารกิจที่น่าจะเป็นไปไม่ได้มากที่สุดของ อีธาน ฮันต์ ในบรรดาทุกภาคแล้วล่ะ
แต่ในขณะเดียวกัน ตัวหนังก็ยังคงให้ความบันเทิงแบบเกินคุ้ม ทั้งฉากแอ็กชันที่ให้แบบจุก ๆ มุกจังหวะนรกที่ต้องอุทานว่ามันนรกจริง ๆ เป็นหนังที่มีความจบในตัวที่ดูโรงระบบปกติก็ได้ ดูระบบ IMAX ก็ยิ่งดี นับจากนี้ก็นึกไม่ออกเลยว่า ตอนที่ 2 ป๋าครูซแกจะดันเพดานจากภาคนี้ไปได้อีกแค่ไหนนะครับ คงได้แต่อวยพรป๋าที่เพิ่งอายุครบ 61 ว่า ขอให้ยังคงแข็งแรง รักษาสมรรถนะร่างกายให้ฟิตปั๋งแบบนี้ไปอีกยาวนาน เพราะอย่าลืมว่านี่เป็นเพียงแค่ตอนแรกเองนะครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส