[รีวิว] Barbie: ปรัชญาบันเทิงสีชมพู อิน เดอะ บาร์บี้เวิลด์
Our score
8.2

Release Date

20/07/2023

แนว

ผจญภัย/ตลก/แฟนตาซี/โรแมนติก

ความยาว

1.54 ช.ม. (114 นาที)

เรตผู้ชม

PG-13

ผู้กำกับ

เกรตา เกอร์วิก (Greta Gwerwig)

SCORE

8.2/10

[รีวิว] Barbie: ปรัชญาบันเทิงสีชมพู อิน เดอะ บาร์บี้เวิลด์
Our score
8.2

Barbie | บาร์บี้

จุดเด่น

  1. เป็นหนังบาร์บี้ที่เกินจากตัวอย่างไปเยอะ สอดแทรกปรัชญาชีวิตได้ลึกซึ้ง
  2. คู่กับมุกร้ายจิกกัดตัวเอง จิกกัดคนอื่นที่ฮาเกือบทุกดอก
  3. เล่าประเด็นเฟมินิสต์ ภาวะชายเป็นใหญ่ และการตระหนักรู้ถึงตัวเองได้เข้มข้นเกินเบอร์มาก
  4. โปรดักชันอลังการงานสร้างและสมจริงมาก ๆ
  5. มาร์โกต์ ร็อบบี แสดงเป็นบาร์บี้ได้น่าทึ่งมาก ส่วนไรอัน กอสลิง แสดงเป็นเคนได้ผู้ชายเต็มขั้น

จุดสังเกต

  1. ไดอะล็อก การสื่อประเด็นของหนังดูจัดวางดูตั้งใจและไร้ชั้นเชิงไปนิด
  2. จังหวะการเล่าของหนังยังไม่ค่อยไหลลื่นนัก
  3. การดำเนินพล็อต คลี่คลายจนถึงบทสรุปดูง่ายและก้าวกระโดดไปหน่อย
  • คุณภาพด้านการแสดง

    7.5

  • คุณภาพโปรดักชัน

    8.2

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    8.3

  • ความบันเทิง

    8.4

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    8.5


Major Cineplex logo
สนับสนุนโดย Major Cineplex

เกรตา เกอร์วิก (Greta Gwerwig) ถือเป็นนักแสดงและผู้กำกับหญิงไม่กี่คนที่สามารถนำเสนอเรื่องราวหลากรสชาติเกี่ยวกับพลังแห่งความเป็นหญิง ผ่านงานเขียนบทหนังอินดี้ฟอร์มเล็กที่เธอมักจะเขียนด้วยตัวเอง ทั้ง ‘Lady Bird’ (2017) หนังดราม่าตลกของค่าย A24 และ ‘Little Women’ (2019) สี่ดรุณีฉบับรีเมก ซึ่งความยอดเยี่ยมจากบทภาพยนตร์ที่เธอเขียน สามารถเดินทางไปไกลถึงการเข้าชิงรางวัลออสการ์ ทั้งที่เพิ่งมีผลงานการกำกับเดี่ยว ๆ ของตัวเองมาเพียงแค่ 2 เรื่องเท่านั้น

และล่าสุด เกอร์วิกก็เป็นผู้กำกับหนังสายอินดี้อีกคนที่ได้มีโอกาสก้าวเข้ามาทำงานกับสตูดิโอใหญ่ Warner Bros. Pictures เป็นครั้งแรก ซึ่งครั้งนี้เธอจับมือเขียนบทกับสามีของเธอเอง โนอาห์ เบาม์แบก (Noah Baumbach) มือเขียนบทฝีมือดี ดีกรีชิงออสการ์จาก ‘Marriage Story’ (2019) สร้างเรื่องราวของตุ๊กตาบาร์บี้ ของเล่นเด็กหญิงในตำนานของบริษัทแมตเทล (Mattel) จนกลายออกมาเป็น ‘Barbie’ ฉบับไลฟ์แอ็กชันที่เป็นไวรัลตั้งแต่ยังไม่ฉาย

Barbie บาร์บี้ Courtesy of Warner Bros. Pictures

เรื่องย่อโดยรวม ๆ ‘Barbie’ เริ่มต้นจากเมืองที่มีชื่อว่า บาร์บี้แลนด์ (Barbieland) ดินแดนแห่งจินตนาการที่มีเหล่าบรรดาตุ๊กตาบาร์บี้อยู่อาศัย บาร์บี้ (มาร์โกต์ ร็อบบี – Margot Robbie) บาร์บี้รุ่นแรก ต้นแบบของบาร์บี้ตามแบบมาตรฐาน (Stereotypical Barbie) ที่ใช้ชีวิตประจำวันแบบบาร์บี้ตามปกติ ร่วมกับบาร์บี้ต่างอาชีพที่มีชื่อบาร์บี้เหมือนกัน ทั้ง บาร์บี้ประธานาธิบดี (อิซซา แร – Issa Rae), บาร์บี้นักฟิสิกส์ (เอ็มมา แม็กคี – Emma Mackey) และบาร์บี้อีกหลายอาชีพ นอกจากนี้ก็ยังมี เคน หนุ่มหล่อในฝันที่อยู่ข้างเคียงบาร์บี้ ทั้ง เคน (ไรอัน กอสลิง – Ryan Gosling), เคน (ซือมู่หลิว – Simu Liu), เคน (คิงสลีย์ เบน-อาดีร์ – Kingsley Ben-Adir) และเคนอีกหลายเคน

บาร์บี้รุ่นมาตรฐานใช้ชีวิตไปตามวิถีบาร์บี้ในบาร์บี้แลนด์ตามปกติ อยู่ดี ๆ เธอเองก็กลับนึกถึงเรื่องราวบางอย่างที่บาร์บี้ไม่เคยนึกถึงมาก่อน สิ่งนั้นทำให้ตัวเธอเองเริ่มใช้ชีวิตตามวิถีบาร์บี้ได้ลำบากขึ้น เธอจึงปรึกษากับ เวียร์ด บาร์บี้ (เคต แม็กคินนอน – Kate McKinnon) พระอาจารย์มอร์เฟียส (‘The Matrix’) แห่งบาร์บี้แลนด์ ทำให้เธอต้องเดินทางออกจากบาร์บี้แลนด์เพื่อไปตามหาสาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเธอเองในโลกจริง (Real World) ที่มี กลอเรีย (อเมริกา เฟอร์เรรา – America Ferrera) พนักงานบริษัทแมตเทล ซาชา (อาเรียนา กรีนแบลตต์ – Ariana Greenblatt) ลูกสาววัยรุ่นของกลอเรีย ซีอีโอแมทเทล (วิล เฟอร์เรล – Will Ferrell) เจ้าของผู้ผลิตบาร์บี้ ที่ทำให้ตัวเธอเองได้ตระหนักในอะไรบางอย่าง ทั้งหมดนี้เล่าเรื่องผ่านเสียงบรรยายของนักแสดงรุ่นใหญ่ เฮเลน เมียร์เรน (Helen Mirren)

Barbie บาร์บี้ Courtesy of Warner Bros. Pictures

ปฏิเสธไม่ได้แหละว่าหลายคนที่มองหนังเรื่องนี้ก็อาจจะคิดว่ามันก็เป็นหนังขายของเล่นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งองก์แรกของหนังก็พยายามให้เป็นอย่างนั้นนะครับ ขายขายความจิ้นระหว่างบาร์บี้และเคนตามสูตร และขายจินตนาการในโลกของบาร์บี้แลนด์ที่ฝีนหลักฟิสิกส์ใด ๆ และเต็มไปด้วยโลกจินตนาการในอุดมคติที่มาพร้อมเพลงมิวสิคัล รวมทั้งการสอดแทรก Easter Egg เกี่ยวกับบาร์บี้ รวมทั้ง เกร็ดประวัติศาสตร์และจุดกำเนิดของบาร์บี้เอาไว้ได้อย่างบันเทิงมาก นอกจากนี้ หนังยังหยิกหยอกด้วยการสอดแทรก Easter Egg ที่จิกกัดวงการฮอลลีวูด ลามไปถึงค่ายหนัง แล้วย้อนมาจิกกัดบาร์บี้อีกที จนกลายเป็นมุกที่ร้ายกาจสุด ๆ

แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์เกินจากตัวอย่างหนังไปเยอะมาก ๆ ก็คือ การที่ตัวหนังค่อย ๆ เผยผิวว่า นี่ไม่ใช่หนังบาร์บี้เบาสมองอย่างที่เข้าใจนะ แต่มันเป็นหนังเซอร์เรียล หรือหนังแนวเหนือจริงที่สอดแทรกประเด็นขมเข้มเอาไว้ภายใต้หีบห่อสีชมพู Barbie Hot Pink ต่างหาก ซึ่งก่อนอื่นก็ต้องชม Mattel ที่เข้าใจว่าการสร้างหนังจากของเล่นนั้นไม่ใช่แค่เนรมิตขึ้นมาให้สมจริงแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันสามารถสอดแทรกสารหนัก ๆ สารพัดอย่างเอาไว้ภายใต้ลุคของหนังที่ดูกระจุ๋มกระจิ๋มขนาดนี้ แถมยังยอมให้เกอร์วิกสนุกสนานกับการเล่นบ้านบาร์บี้ แทรกมุมมองเรื่องราว Coming of Age มุมมองการมองโลก การเติบโต ความฝัน ไปถึงขั้นแอบแตะการเมืองแบบเบา ๆ แถมยังยอมให้เล่นมุกตลกร้ายแซวบริษัทตัวเอง ทั้งเรื่องของการพยายามใช้บาร์บี้เป็นตัว Empower ผู้หญิง แต่ผู้บริหารกลับมีแต่ผู้ชาย และอีกหลายมุกจนแอบทึ่งว่า พี่ยอมขนาดนี้เลยเรอะ

Barbie บาร์บี้ Courtesy of Warner Bros. Pictures

นอกจากนี้ ตัวหนังก็ใช้วิธีการเล่าผ่านเรื่องราว กรอบคิด และสะท้อนความเป็นจริงของมนุษย์ โดยมี ‘คน-บาร์บี้’ เป็นเหมือนขั้วที่ตรงข้ามกัน โดยเฉพาะการให้บาร์บี้ต้องเผชิญกับภาวะที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับบาร์บี้ตัวไหน ทั้งวิกฤตการมีชีวิตอยู่ (Existential Crisis) หรือการย้อนกลับมาตั้งคำถามว่าตัวเองเป็นใคร เกิดมาทำไม มีหน้าที่อะไรกันแน่ การตั้งคำถามถึงเจตจำนงเสรี (Free Will) รวมไปถึงพอบาร์บี้มาตรฐานกลายเป็นมาตรฐานความสวยในแบบบาร์บี้ ตัวหนังก็ยังท้าทายด้วยการทลายและจิกกัดมาตรฐานความงามสมบูรณ์แบบในอุดมคติ ให้บาร์บี้ต้องเผชิญข้อเท็จจริงอันโหดร้ายจากโลกจริง

เช่น บาร์บี้แบบมาตรฐานในสายตาโลกยุคเก่า คือตัวแทนของความสวยงามของผู้หญิง แต่ในโลกยุคใหม่ บาร์บี้คือของเล่นเชย ๆ ที่เป็นตัวแทนของทุนนิยม แถมยังแช่แข็งปัญหาด้านสตรีนิยม ความเท่าเทียมทางเพศ และมาตรฐานความงามที่ผิดเพี้ยนอีกต่างหาก เรื่องราวของบาร์บี้จึงไม่ได้มีแค่เล่าเรื่องแค่ว่า บาร์บี้สวย บาร์บี้เก่ง บาร์บี้สามารถทำได้ทุกอย่าง หรือเคนจะพิชิตใจบาร์บี้ได้ไหม แต่บาร์บี้กลับเป็นตัวแทนของคนที่บางครั้งถ้าเจออะไรที่สั่นคลอนตัวตนแบบนี้เข้าไป ก็อาจถึงขั้นพาให้รู้สึกซึมเศร้า สิ้นหวัง แตกสลาย หรืออาจถึงขั้นตายด้าน (Dead Inside) ไปเลยก็ได้

Barbie บาร์บี้ Courtesy of Warner Bros. Pictures

และแน่นอนว่าถ้าเป็นเกอร์วิก ก็ต้องไม่พลาดที่จะพูดถึงและตั้งคำถามกับประเด็นเฟมินิสต์อย่างชัดเจน ซึ่งพอมองในกรอบคิดแบบ ‘คน-บาร์บี้’ มันก็เลยออกมาไม่ธรรมดา เพราะแทนที่จะเล่าเรื่องความเป็นเฟมินิสต์ที่คัดง้างกันระหว่างโลกจริงกับบาร์บี้แลนด์แล้ว ก็ยังตั้งคำถามกับความเป็นผู้หญิงได้อย่างแหลมคม นอกจากนี้ตัวหนังก็ยังแหลมคมกับการหยิบเอาประเด็นปิตาธิปไตย หรือโลกที่ชายเป็นใหญ่มาเล่า ซึ่งพอมันรุกล้ำเข้ามาอยู่ในบาร์บี้แลนด์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือภาพของเคนที่โดนครอบงำด้วยวิถีแบบปิตาธิปไตยที่ดันมางอกเงยในโลกแบบผู้หญิง ๆ ซะอย่างนั้น ถือว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก

และตัวหนังก็ไม่ลืมที่จะพูดถึงผลพวงและความเจ็บปวดจาก Toxic Masculinity หรือภาวะความเป็นชายเป็นพิษ ที่เกิดขึ้นกับเคนและอีกหลาย ๆ เคนได้อย่างแหลมคมและตรงไปตรงมาเช่นกัน ก่อนที่เคนจะตระหนักถึงเจตจำนงเสรีของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาชื่อเสียงของบาร์บี้อีกต่อไป ซึ่งก็เหมือนเป็นตัวสะท้อนว่า ไม่ว่าจะผู้ชาย หรือผู้หญิง หรือเพศใด ๆ ก็สามารถตระหนักถึงตัวตน และ Empower ของตัวเอง โดยไม่ต้องให้ใครมาคอยมาแปะป้ายในโลกจริงได้เช่นกัน

Barbie บาร์บี้ Courtesy of Warner Bros. Pictures

ในแง่ของนักแสดง แน่นอนเลยว่า มาร์โกต์ ร็อบบี นี่คือหนึ่งเดียวที่เหมาะสมกับบทบาร์บี้จริง ๆ จนนึกไม่ออกว่าจะเอาใครมาเล่นแทนได้ ร็อบบีในบทบาร์บี้ ถือว่าเป็นตัวหลักที่แบกหนังไว้พอสมควร แต่นักแสดงรอบข้างก็ถือว่าทำได้ดี ทั้ง ไรอัน กอสลิง ที่แสดงความเป็นเคนได้อย่างหล่อเลย อีกคนที่โดดเด่นขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อก็คือ อเมริกา เฟอร์เรรา ในบทกลอเรีย พนักงาน Mattel ผู้มีความผูกพันกับตุ๊กตาบาร์บี้ที่เฉิดฉายในหนังเรื่องนี้ไม่น้อยเลย หรือแม้แต่นักแสดงเซอร์ไพรส์ที่ขอไม่อยากบอกว่ามีใครบ้างนะครับ แต่คนหนึ่งนี่เรียกว่าโคตรจะขโมยซีน ส่วนอีกคนนี่เรียกได้ว่าซึ้งจนผู้ชายอย่างผู้เขียนแอบน้ำตาซึมนิด ๆ เหมือนกันนะ อีกจุดที่อยากชมก็คืองานโปรดักชัน โดยเฉพาะการสร้างฉากบาร์บี้แลนด์ขึ้นมาจริง ๆ โดยไม่ใช่ซีจี ที่เรียกได้ว่าอลังการสุดเบอร์มาก (และเมาสีชมพูมากเหมือนกัน 555)

ส่วนข้อสังเกตของตัวหนัง จริง ๆ ถ้าเอาโดยรวม ผู้เขียนก็ยังรู้สึกว่า ‘Lady Bird’ และ ‘Little Women’ ดูจะอิมแพ็กต์กับการสื่อสารเรื่องประเด็นเฟมินิสต์มากกว่าหนังเรื่องนี้ คือหนังเรื่องนี้ก็ทำได้ดีเลย แต่ก็ต้องยอมรับว่า 2 เรื่องแรกของเกอร์วิกใส่เรื่องนี้เอาไว้ได้อย่างคมคายมากกว่า ในขณะที่ในหนังเรื่องนี้กลับใส่เอาไว้ผ่านไดอะล็อกที่ดูคล้าย Speech ที่วางจังหวะและเหตุการณ์เพื่อให้ตัวละครพูดสารออกมาแบบตั้งใจและไร้ชั้นเชิงไปนิด ซึ่งก็ต้องพึ่งพาการแสดงของร็อบบีที่พาให้คำพูดเหล่านั้นเกิดพลังจนน้ำตาซึมได้ รวมถึงการดำเนินพล็อต การวางซีเควนซ์ต่าง ๆ ให้ดูคลี่คลายได้ง่าย ๆ แบบก้าวกระโดดไปหน่อย มีบางซีเควนซ์ที่ชวนงงนิด ๆ ซึ่งถ้ามองในกรอบของหนังเซอร์เรียลก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้ามองในแง่ความสมจริงก็ดูแปลก ๆ รวมถึง Pace การเล่าเรื่องหลาย ๆ จุดที่ผู้เขียนมองว่ายังทำได้ไม่ไหลลื่นนัก

Barbie บาร์บี้ Courtesy of Warner Bros. Pictures

‘Barbie’ ไม่ใช่หนังแมสที่อยู่ตรงกลางแน่นอนครับ ถ้าคนที่ชอบ ไม่ว่าจะชอบบาร์บี้ ชอบหนังของเกอร์วิก หรือชอบความเพี้ยน ความเซอร์เรียล แต่แหย่ลึกถึงปรัชญา ค้นหาความหมายของชีวิต และจี้ขยี้ปมคนที่กำลังรู้สึกในแบบเดียวกับที่บาร์บี้เป็นได้อย่างลึกซึ้งจนอาจจะมีน้ำตาซึม ก็อาจจะชอบหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก ส่วนคนที่ไม่อินกับบาร์บี้ ไม่ชินกับความจัดจ้าน ไม่เข้าใจในความเซอร์เรียลที่ถูกเซตขึ้น หรือมีชีวิตที่ไร้ทุกข์ไร้โศกเฉกเช่นเดียวกับบาร์บี้ในองก์แรก ก็อาจปัดตกหนังเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน มันไม่ใช่หนังที่เบาสมองนัก หากจะเข้าไปดูเพื่อเสพความบันเทิงแบบขำ ๆ หรือได้ไปดูบาร์บี้ผจญภัยน่ารัก ๆ ในแบบที่คุ้นเคย แต่ถ้าคุณอยากขบคิดเรื่องชีวิตและตัวตนแรง ๆ สักครั้ง นี่คือหนังที่คุณต้องดู

แม้เนื้อหาเรต PG-13 ในหนังจะไม่ได้รุนแรง แต่ผู้เขียนก็รู้สึกว่าแอบยากที่จะแนะนำให้พ่อแม่พาน้อง ๆ ไปดูนะครับ ด้วยความที่มันเซอร์เรียลจัด กับสารที่เป็นปรัชญาในหนังมันซีเรียสและมีความเป็นผู้ใหญ่มาก ๆ มันก็เลยเป็นหนังที่พูดและทำงานกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ๆ หรือเอาเข้าจริง ต่อให้ไม่อินกับโลกของบาร์บี้ แต่ไม่แน่ คุณก็อาจจะอินกับความเป็นมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวของตุ๊กตาในโลกสีชมพูได้ จนถึงขนาดที่ว่าดูจบกลับบ้านแล้วก็อาจจะยังชวนให้ครุ่นคิดต่อแบบไม่จบง่าย ๆ แน่นอน เพราะท้ายที่สุดแล้ว อย่าลืมนะครับว่า เกิดเป็นเสือต้องไว้ลาย เกิดเป็นชายต้องดูบาร์บี้


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส