[รีวิว] Paradise: เมื่อเวลาชีวิตขายได้ เวทีถกเถียงศีลธรรมและทวงความยุติธรรมแบบย่อยง่ายจึงบังเกิด
Our score
6.5

Release Date

27/07/2023

ความยาว

117 นาที

[รีวิว] Paradise: เมื่อเวลาชีวิตขายได้ เวทีถกเถียงศีลธรรมและทวงความยุติธรรมแบบย่อยง่ายจึงบังเกิด
Our score
6.5

Paradise

จุดเด่น

  1. เสนอแนวคิดไซไฟปรัชญาไฮคอนเซ็ปต์ให้ย่อยง่ายรู้สึกใกล้ตัว คัดเลือกนักแสดงได้ดี เนื้อหาตามง่ายและซับซ้อนแบบพอประมาณ

จุดสังเกต

  1. เดาเนื้อหาล่วงหน้าง่ายไปนิด และแนวหนังก็อาจเป็นของแสลงสำหรับคอหนังบางส่วน
  • บท

    7.0

  • โปรดักชัน

    7.0

  • การแสดง

    7.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    6.5

เรื่องย่อ: จงเอาชีวิตของคุณแลกกับเงิน ในอนาคตอันใกล้ วิธีการโอนเวลาชีวิตจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งที่ดีเอ็นเอเข้าคู่กันได้เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล และทำให้เอออนบริษัทสตาร์ทอัปด้านไบโอเทคกลายเป็นบริษัทยามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

ฟังพลอตทีแรกก็ชวนให้นึกถึงหนังไฮคอนเซ็ปต์อย่าง ‘In Time’ (2011) ที่มนุษย์สามารถใช้เวลาชีวิตแทนสกุลเงินได้ จนขยายแนวคิดไปสู่เรื่องของความเหลื่อมล้ำของคนจน-คนรวย ซึ่งจะมองอย่างไว ๆ ก็คงต้องบอกว่าหนังจากเน็ตฟลิกซ์ประเทศเยอรมนีเรื่อง ‘Paradise’ นี้ เป็นอะไรที่คล้ายกันมาก แต่ก็มีวิธีการนำเสนอที่ต่างกัน

ในขณะที่หนังซึ่งมาก่อนของผู้กำกับ แอนดรูว์ นิกโคล (Andrew Niccol) เจ้าของผลงานไซไฟขึ้นหิ้งอย่าง ‘Gattaca’ (1997) เลือกใช้ตัวละครที่เป็นหนุ่มสาวตลอดกาลแต่มีตัวเลขดิจิทัลบนแขนเพื่อสื่อถึงเวลาที่ลดลงแทน และมอบเวลาให้กันเหมือนกับโอนผ่าน NFC จนทำให้มนุษย์ดูคล้ายหุ่นยนต์ที่บอกเวลาแบตเตอรี่หมดโดยไม่เปลี่ยนสภาพทางกาย ทีมผู้กำกับของ ‘Paradise’ เลือกอะไรที่ดูสัมผัสได้ง่ายและใกล้ความจริงกว่า อย่างการผ่าตัดเพื่อดึงเอาอายุขัยไปให้อีกคน ด้วยวิธีคิดแบบการถ่ายไขกระดูกหรือไตที่ผู้ให้และผู้รับต้องเข้ากัน และร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็นหนุ่มสาวและชราภาพตามไปด้วย ทำให้รู้สึกเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวขึ้นและเป็นจริงได้กว่ามาก ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งที่เรียนรู้ปรับปรุงจากผลงานของนิกโคลได้ดี

นอกจากนี้หนังยังมีความเป็นมนุษย์ที่มากขึ้น แทนที่จะเน้นความขัดแย้งการต่อสู้กับระบบที่ไกลตัวเกินไป แต่กลับมาใช้การเล่าพื้นฐานคือความขัดแย้งของผู้คน อย่างความสัมพันธ์ของสามีภรรยาแทน หนังเล่าเรื่องของ แม็กซ์ พนักงานขายดีเด่นของบริษัทเอออนที่โน้มน้าวผู้คนให้มาขายเวลาชีวิตได้มากมาย แต่แล้วโชคชะตาก็มาทำให้ เอเลนา ภรรยาของเขาเป็นหนี้เงินกู้ธนาคารมหาศาลจนต้องเอาเวลาชีวิตของเธอไปขายอย่างไม่เต็มใจ เมื่อต้องกลายเป็นคู่รักต่างวัยก็ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ง่อนแง่นยิ่งขึ้น แม็กซ์ที่พบว่าเจ้าของบริษัทเอออนอย่าง โอลิเวีย อาจขโมยเวลาภรรยาเขาไปอย่างไม่เป็นธรรม จึงตัดสินใจลักพาตัวโอลิเวียเพื่อไปผ่าตัดเอาเวลาคืนมากับหมอเถื่อนที่ต่างประเทศ

Paradise

จุดที่ทำให้หนังน่าติดตามก็คือการแสดงที่สัมผัสได้ ทั้งความอ่อนแอในจิตใจของแม็กซ์ที่เป็นตัวแทนของผู้ชม ความเข้มแข็งและมีเหตุมีผลของเอเลนา กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งทางความคิดไปตลอดการเดินทางเพื่อทวงคืนเวลาชีวิต งานคัดเลือกนักแสดงเรื่องนี้ทำได้เด่นมากทั้งความเหมาะกับบท และความเข้ากันของนักแสดงตัวละครเดียวกันแต่ต่างวัย ที่ทำได้อย่างไม่รู้สึกขัดเขินแต่อย่างใด

นอกจากนี้เส้นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างองค์กรใต้ดินอดัมที่ต่อต้านแนวคิดการซื้อขายเวลาชีวิตกับบริษัทเอออนก็ช่วยให้หนังมีความตื่นเต้นของการไล่ล่าและรบรากันในสัดส่วนที่ไม่มากจนเปลี่ยนเป็นหนังที่เล่าเรื่องใหญ่เกินตัว ยังรักษาความเป็นหนังดราม่าไซไฟปรัชญาแต่ทำให้หนังมันย่อยง่ายขึ้นติดตามได้คล่องคอขึ้น ทว่าใครจะคาดหวังกับฉากแอ็กชันก็คงต้องเตือนว่าหนังไม่ได้โดดเด่นไปทางนั้นสักเท่าไหร่ จัดว่ามีให้พอหอมปากหอมคอเท่านั้น

Paradise

และด้วยความที่เป็นหนังเยอรมัน มันจึงมีความโดดเด่นในแง่งานออกแบบศิลป์เสียมากกว่า การออกแบบอาคารใหญ่โตที่แปลกตาเหมือนโลกดิสโทเปียที่หลุดมาจากยุคหลังสงครามเย็น เป็นฉากหลังที่ทำให้แต่ละช่วงของหนังมีจุดชวนมองตลอด เป็นเอกลักษณ์ที่หนังเยอรมันทำได้ดีมาเสมอ เช่นที่รู้สึกในซีรีส์อย่าง ‘Dark’

หนังมีจุดพลิกเรื่องราวหลายขยัก ผ่านพัฒนาการของตัวละคร 2 คน คือแม็กซ์และเอเลนา ที่เกิดข้อถกเถียงเชิงจริยธรรม ความยุติธรรม การแก้แค้น การหักหลัง และการชดใช้ต่อความอยุติธรรม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คุณธรรมแบบมือถือสากปากถือศีล ปัญหาผู้อพยพ การค้ามนุษย์ ฯลฯ ซึ่งสะท้อนไปยังคุณค่าของคำว่ามนุษย์ได้อย่างเข้าใจง่าย มนุษย์อาจเห็นแก่ตัวแต่ก็ยึดถือหลักการบางอย่างเพื่อทำให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดบาป นั่นอาจเป็นแก่นที่เรื่องราวได้นำเสนอมาสู่จุดจบได้อย่างน่าสนใจ

ถ้าจะมีเรื่องติกับหนังอย่างชัดเจนอยู่บ้างก็คือ จุดหักมุมบางจุดเดาล่วงหน้าได้ง่ายเกินไป ทำให้เมื่อถึงฉากนั้น ๆ พลังของเนื้อหาอาจเบาลง นอกจากนี้ก็ยังมีบางประเด็นที่พูดอ้อมค้อมเกินไปทั้งที่พูดชัดเรื่องความเหลื่อมล้ำมาทั้งเรื่องถึงกับใส่เป็นบทสนทนา แต่พอมีจุดที่ว่าด้วยผู้อพยพและการค้ามนุษย์กลับใช้การสื่อสารทางอ้อมแบบให้ดูและคิดต่อเอง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะปลุกให้คนคิดมากกว่าจับยัดใส่หู ทว่ามันดูไม่ค่อยสมดุลกับการนำเสนอส่วนอื่นมากไปหน่อย อย่างไรก็ดีนี่เป็นหนังไซไฟปรัชญาที่เล่าผ่านดราม่าที่เข้าถึงและอินตามได้ง่าย เหมาะมากกับการมาถกกับคนอื่นหลังหนังจบว่าน้ำหนักทางศีลธรรมและจุดแตกหักของแต่ละคนอยู่ที่เส้นบรรทัดฐานไหน

Paradise

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส