[รีวิวซีรีส์] The Fall of the House of Usher: เมื่อเจ้าพ่อซีรีส์สยองขอสั่งลาเน็ตฟลิกซ์ และบูชาครูแบบสุดขั้วหลอน
Our score
7.5

Release Date

12/10/2023

ความยาว

8 ตอน ตอนละประมาณ 60 นาที

ผลงานก่อนหน้าของไมก์ ฟลานาแกน

Oculus (2013), The Haunting of Hill House (2018), Doctor Sleep (2019), The Midnight Club (2022)

[รีวิวซีรีส์] The Fall of the House of Usher: เมื่อเจ้าพ่อซีรีส์สยองขอสั่งลาเน็ตฟลิกซ์ และบูชาครูแบบสุดขั้วหลอน
Our score
7.5

The Fall of the House of Usher

จุดเด่น

  1. การดัดแปลงผลงานของบรมครูได้สร้างสรรค์ลงตัว การแสดงและคัดเลือกนักแสดงที่ยอดเยี่ยม และการสร้างบรรยากาศของเรื่องได้ทั้งหลอนยะเยือกและน่าหวาดผวากับความโหด เหมาะกับเป็นซีรีส์แห่งฮาโลวีน

จุดสังเกต

  1. จุดหักมุมเดาได้ง่ายเกินไปมาก และบทเรียนที่ว่าด้วยชีวิต ความรัก ความเป็น และความตาย อย่างที่เคยทำได้อย่างซาบซึ้งในผลงานก่อน ๆ เรื่องนี้ดูเบาลงไปมาก กลายเป็นหนังเน้นบันเทิงไปเลย
  • บท

    7.5

  • โปรดักชัน

    7.0

  • การแสดง

    8.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    7.0

เรื่องย่อ: สองพี่น้องจอมโหดอย่าง ร็อดเดอริกและแมเดอลีน อัชเชอร์ ได้ก่อร่างสร้างเวชภัณฑ์ฟอร์จูนาโต้จนพรั่งพร้อมไปด้วยความร่ำรวย อภิสิทธิ์และอำนาจ ทว่าความลับแต่หนหลังกำลังจะเผยออกมา เมื่อทายาทของตระกูลอัชเชอร์เริ่มเสียชีวิตด้วยน้ำมือของหญิงลึกลับจากอดีต

นี่คือซีรีส์ที่แแสดงความเนิร์ดในผลงานและตัวตนของ เอ็ดการ์ อัลลัน โพ (Edgar Allan Poe) กวีและนักเขียนเรื่องสั้นสยองขวัญแนวโกธิกชั้นครูชาวอเมริกันมากเท่าที่จะมากได้ จะเปรียบไปให้ใกล้คอหนังชาวไทยก็คงเป็นตอนที่ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยงและก้องเกียรติ โขมศิริ ทำหนัง ‘เปนชู้กับผี’ (2549) บูชาตำนานเรื่องผีไทยอย่างครูเหม เวชกร

ไมก์ ฟลานาแกน (Mike Flanagan) ผู้กำกับของซีรีส์นี้เองก็คงเช่นกัน เขาทำเรื่องนี้ได้อย่างคลั่งไคล้หมกมุ่นในโพ สังเกตได้ว่าผลงานก่อนหน้าของฟลานาแกนเองก็แสดงถึงความหลงใหลในสไตล์โกธิกเฮอร์เรอร์อยู่แล้วที่ชัดมากก็ตั้งแต่ ‘The Haunting of Hill House’ (2018) จึงไม่แปลกใจเลยว่าเขาจะชื่นชอบผลงานของโพมากขนาดไหน โดยชื่อแต่ละตอนของซีรีส์นี้ก็คัดสรรเอามาจากผลงานเรื่องสั้นขึ้นชื่อของโพทั้งสิ้น อย่างตอนสุดท้ายที่ชื่อ ‘The Raven’ หรือชื่อเรื่อง ‘The Fall of the House of Usher’ ก็ล้วนเอามาจากงานของโพทั้งสิ้น น่าสนใจว่าไม่เพียงแต่ชื่อตอนเท่านั้น ทั้งชื่อตัวละครในตอนเหล่านั้นและพลอตของตอนนั้นก็หยิบยืมอย่างตั้งใจมาจากงานเขียนของโพเรื่องนั้น ๆ ด้วย มันยิ่งทำให้เห็นรายละเอียดในการสร้างสรรค์ของฟลานาแกนอันน่าชื่นชม

เพราะมันไม่ใช่แค่การคัดลอกแล้วเรียงให้สวย ๆ แอบอ้างแรงบันดาลใจ แต่มันคือการจับมาย่อย รื้อ สร้างใหม่ให้อยู่ภายใต้โครงเรื่องใหญ่ได้อย่างลงตัว ไม่มีส่วนไหนที่รู้สึกเป็นเนื้อร้ายส่วนเกินของซีรีส์แต่อย่างใด

The Pale Blue Eye
ตัวละครเอ็ดการ์ อัลลัน โพ จากหนังเน็ตฟลิกซ์เรื่อง ‘The Pale Blue Eye’ (2022)

เนื้อเรื่องจะยึดเส้นเรื่องหลักจากเรื่องสั้น ‘The Fall of the House of Usher’ ของโพ ซึ่งว่าด้วยชายคนหนึ่งได้ไปเยี่ยมเพื่อนสนิทที่ชื่อร็อดเดอริก อัชเชอร์ ฟังเรื่องเล่าของเขาจนพบความผิดแปลกของบ้านที่สะท้อนภาวะความแตกสลายในตัวละครออกมาเป็นรูปธรรม

ซึ่งซีรีส์ก็เลือกเปิดเรื่องได้เก๋ไก๋ด้วยฉากงานศพของครอบครัวอัสเชอร์เจ้าของธุรกิจยาแก้ปวดที่ทำจากฝิ่นมูลค่าหลายพันล้าน โดยบรรดาลูกที่เป็นเซเลบไฮโซในสังคมของผู้นำตระกูลอย่างร็อดเดอริกก็มาตายติดกันรัว ๆ แบบผิดธรรมชาติจนกลายเป็นข่าวดัง ซึ่งทั้งหมดบังเอิญว่าเกิดขึ้นหลังจากตระกูลอัชเชอร์ถูกรัฐบาลฟ้องร้องว่ายาของพวกเขามีผลข้างเคียงร้ายแรงต่อสังคม และอัยการรัฐนามว่า ดูปอง ก็อ้างว่ามีคนในตระกูลอัชเชอร์ยอมขายความลับแลกกับการกันตัวเป็นพยาน จนสถานการณ์ในบ้านอัชเชอร์แทบจะเป็นซีรีส์ ‘เลือดข้นคนจาง’ อยู่รำไร

The Fall of the House of Usher

แต่หลังหายนะของตระกูล อยู่ดี ๆ ร็อดเดอริกก็ได้เชิญอัยการดูปองคู่ปรับมาหาในบ้านร้างที่เขาเคยเติบโตมาตอนเด็ก และเริ่มเล่าคำสารภาพว่าลูก ๆ ของเขานั้นล้วนตายเพราะฝีมือเขาเอง แล้วแต่ละเรื่องราวที่เขาเล่ามันก็สุดสยองขวัญเสียเหลือเกิน โดยนอกจากเนื้อหาการตายสุดโหดของลูกแต่ละคนที่กลายมาเป็นซีรีส์แต่ละตอน ในคำสารภาพมันก็ค่อย ๆ สอดแทรกด้วยรายละเอียดของภาพที่ใหญ่กว่าว่าเกิดอะไรขึ้นกับตระกูลอัชเชอร์มาด้วย

ปกติฟลานาแกนจะเป็นสายสโลว์เบิร์นแบบค่อยเป็นค่อยไป ยิ่งใน ‘Midnight Mass’ (2021) นี่จัดว่าเป็นแบบทดสอบความอดทนผู้ชมหนัก ๆ เลย แต่กับเรื่องนี้มันมีอารมณ์ความเป็นเรื่องสั้นที่มีจุดพีกในแต่ละตอน คล้ายตอนทำเรื่อง ‘The Midnight Club’ (2022) แต่มันดูยึดโยงกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ปลุกเร้าให้อยากชมต่อไปมากขึ้นได้ดีกว่า

ซีรีส์มีการตัดสลับหลายช่วงเวลา ทั้งตอนร็อดเดอริกยังเด็ก ช่วงเริ่มทำงาน และช่วงชราก่อนหน้าไม่กี่สัปดาห์ที่ลูกของเขาจะเริ่มตาย โดยมีช่วงเวลาปัจจุบันที่ร็อดเดอริกนั่งคุยกับอัยการรัฐเป็นเส้นเรื่องกลางให้ผู้ชมลุ้นระทึกว่าบ้านหลังนี้มันมีอะไรกันแน่

The Fall of the House of Usher

ฟลานาแกนเล่าเรื่องที่ซับซ้อนตัวละครมากมายอยู่ในหลายช่วงเวลาได้น่าสนใจมาก ๆ ค่อย ๆ เผยความลับที่เกี่ยวพันกับผู้หญิงคนหนึ่งในความทรงจำของเขาและน้องสาวที่เป็นปริศนาชวนสงสัย โดยมีจังหวะหลอกให้ตกใจซึ่งหน้า สลับกับแบบชวนหลอนเย็นยะเยือกให้เห็นลาง ๆ ด้านหลังแทรกออกมาเป็นระยะ

มีคำแนะนำสำหรับคนที่กำลังดูอยู่ว่าควรไปอ่านเรื่องสั้นหลังดูจบในแต่ละตอน จะเห็นความพิเศษของซีรีส์นี้ในการประพันธ์เรื่องเล่าคารวะครูขึ้นใหม่ได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะการแปลง ‘The Masque of the Red Death’ ที่เป็นเรื่องเล่าเจ้าชายยุคกลางผู้เสเพลปิดตายปราสาทจัดงานเลี้ยงป้องกันโรคระบาดสีแดงประหลาดจากโลกภายนอก และ ‘Murder in the Rue Morgue’ ที่ว่าด้วยคดีฆาตกรรมสุดสยองที่เปี่ยมไปด้วยปริศนา ให้เข้ายุคปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ

ที่เด็ดสุดคือในซีรีสืนี้จะมีตัวละครชื่อ รูฟัส กริสวอลด์ เป็นตัวร้ายอยู่ในเรื่องด้วย นายกริสวอลด์ไม่ใช่ตัวละครในเรื่องสั้นของโพ แต่เขาคือศัตรูทางงานเขียนชั่วชีวิตของโพถึงขนาดเขียนชีวประวัติเพื่อให้ร้ายโพเมื่อเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม ฟลานาแกนนำกริสวอลด์มาอยู่ในงานนี้ได้อย่างถูกที่ถูกทางมาก ๆ

ซีรีส์นี้เป็นงานชิ้นสุดท้ายที่ฟลานาแกนได้ทำสัญญากับเน็ตฟลิกซ์ ก่อนจะไปมีผลงานกับทางไพรม์วิดีโอแทน เห็นได้ว่ามันเป็นงานสั่งลาเน็ตฟลิกซ์แบบไม่มีอะไรให้เสียดายอีก ทั้งดึงผู้กำกับภาพคู่บุญอย่าง ไมเคิล ฟิมอกนารี (Michael Fimognari) มากำกับซีรีส์คนละครึ่ง นำดาราคู่บุญที่เล่นให้มาหลายเรื่องอย่าง คาร์ลา กูจิโน (Carla Gugino) มารับบทสาวปริศนาที่เอาคนดูอยู่หมัดเมื่อปรากฏตัว โดยยังได้ศิษย์เก่าจากทั้งหนังและซีรีส์ของฟลานาแกนกลับมาร่วมงานคับคั่ง รวมถึงได้ดาราที่มีผลงานแสดงมาโชกโชนอย่าง บรูซ กรีนวูด (Bruce Greenwood) มาแบกทั้งเรื่องด้วยบทร็อดเดอริก และเซอร์ไพรส์ผู้ชมด้วยการนำ มาร์ก ฮามิลล์ (Mark Hamill) มารับบททนายความสุดโหดในผลงานของฟลานาแกนเป็นครั้งแรกได้อย่างน่าจดจำ

The Fall of the House of Usher

สำหรับผู้ชื่นชอบโพนี่คืองานชิ้นคารวะที่อาจดีที่สุดในรอบหลายปีนี้ที่นำแรงบัลดาลใจมาจากงานเขียนของโพ ส่วนในฐานะแฟนคลับของ ไมก์ ฟลานาแกน ก็รู้สึกว่าเขาเก่งขึ้นไปอีกแล้ว แม้จะยังจบได้ไม่ลงตัวสาแก่ใจนัก แถมจุดหักมุมว่าหญิงสาวในเรื่องเล่าคือใครก็ไม่ได้เกินคาดหมายนักอาจเดาได้ตั้งแต่ครึ่งทางเสียด้วย แต่ฟลานาแกนก็ยังมีจุดอื่นให้เราลุ้นทดแทนส่วนนี้จนเราอดใจรอฉากต่อไปไม่ไหวทั้งชะตากรรมของอัยการดูปอง และเกิดอะไรขึ้นกับแมเดอลีนกันแน่

ใจจริงก็อยากให้ซีรีส์กระชากอารมณ์เฉลยแรง ๆ แบบตอน ‘The Haunting of Hill House’ อีก แต่พอพิจารณาตามงานเขียนที่เป็นโครงเรื่องหลักของตอนอย่าง ‘The Raven’ และ ‘The Fall of the House of Usher’ ของโพแล้ว มันก็ถือว่าสมบูรณ์ในตัวเองที่สุดแล้ว

The Fall of the House of Usher

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส