[รีวิว] ธี่หยด: เคารพต้นฉบับ เสริมแต่งได้มันสยอง แต่ยังประนีประนอมมากไป
Our score
7.0

Release Date

26/10/2023

ความยาว

121 นาที

ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ

'ขุนกระบี่ ผีระบาด' (2547), อสุจ๊าก (2550), อนุบาลเด็กโข่ง (2552), 'ทองสุก 13' (2556)

[รีวิว] ธี่หยด: เคารพต้นฉบับ เสริมแต่งได้มันสยอง แต่ยังประนีประนอมมากไป
Our score
7.0

ธี่หยด

จุดเด่น

  1. นักแสดงมีเสน่ห์ชวนมอง การแสดงลงตัวกับการกำกับ งานกำกับถ่ายทอดเรื่องเล่าออกมาได้ดีมีความหลอนและลุ้นระทึก ออกแบบฉากศิลป์และเสียงได้ดี

จุดสังเกต

  1. ชื่อชั้นผู้กำกับน่าจะใส่ความหวือหวาได้มากกว่านี้ ฉากไคลแม็กส์ยังไม่พีกขยี้ให้กดดันพอ
  • บท

    6.5

  • โปรดักชัน

    7.0

  • การแสดง

    7.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    7.0

Major Cineplex logo
สนับสนุนโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ: กาญจนบุรีปี 2515 ครอบครัวชาวไร่แห่งหนึ่งเผชิญการคุกคามจากวิญญาณร้ายที่พยายามจะยึดครองร่างหนึ่งในลูกสาวของครอบครัว

เป็นเดือนที่หนังผีไทยน่าจะสร้างปรากฏการณ์กันต่อเนื่องนับจาก ‘สัปเหร่อ’ ที่น่าจะดึงกระแสคนกลับเข้าโรงหนังมาช่วยเกื้อหนุนให้กับหนังฐานดีอย่าง ‘ธี่หยด’ เดินหน้าเก็บความนิยมและรายได้ตามกันไปอย่างไม่ยาก เมื่อมองไปว่าคนแห่กันไปดูและพูดถึงหนังในวันเข้าฉายวันแรกอย่างกว้างขวาง

ฐานดีที่ว่า นอกจากแรงผลักดันของสถานีโทรทัศน์ชื่อดังเป็นกำลังสำคัญ จนกล้ารีมาสเตอร์หนังสำหรับฉายในระบบไอแม็กซ์เป็นปรากฏการณ์เรื่องแรกของไทย สะท้อนให้เห็นว่าผู้สร้างและฝั่งนักลงทุนมองเห็นศักยภาพสำคัญของตัวหนังอย่างดี

ตัวหนังจึงได้นักแสดงดังของช่องทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่มีแฟนคลับพร้อมอุดหนุนมาร่วมเล่นกันมากมาย ตั้งแต่ ณเดชน์ คูกิมิยะ ในบท ยักษ์ พี่ชายคนโตของบ้านที่ต้องปกป้องน้องทุกคน,มิ้ม – รัตนวดี วงศ์ทอง นักแสดงสาววัยรุ่นที่น่าจับตามองจากละคร ‘วาสนา’ มารับบท แย้ม น้องสาวคนรองที่เป็นตัวเดินเรื่องสำคัญ และ เดนิส เจลีลชา คัปปุน ที่เด่นมาจากละครแนวชูท้องถิ่นก็มารับบท หยาด พี่สาวคนโตที่เป็นสายตาการเล่าเรื่อง รับประกันว่าแค่ดาราก็น่าจะดึงคนเข้าโรงได้มากพอ

ยังไม่นับแฟนดั้งเดิมของเรื่องเล่าของ กฤตานนท์ ทั้งฉบับตอนเป็นกระทู้ในพันทิป มาเป็นหนังสือนิยาย ‘ธี่หยด แว่วเสียงครวญคลั่ง’ จนมาเล่าในรายการวิทยุออนไลน์ชื่อดังอย่าง The Ghost Radio ที่ล้วนอยากเห็นการนำเสนอเป็นภาพตามจินตนาการไที่ได้อ่านได้ฟังอีกมากมายด้วย

ธี่หยด

หนังยังคงเคารพต้นฉบับในสัดส่วนที่น่าจะเก็บความเป็น ‘ธี่หยด’ เดิมไว้ถึง 70-80% ในฉากที่มีเดิมก็พยายามถ่ายทอดได้ตรง ใส่รายละเอียดเสนอเป็นภาพบรรยากาศที่น่าสนใจ ทั้งบ้านโกดังไม้แบบคนไทยเชื้อสายจีนตามชนบทกลางไร่ ล้อมไปด้วยแมกไม้หนาทึบดูห่างไกลจากความช่วยเหลือ ต้นไทรใหญ่ระหว่างทางที่มีศาลร้างผุพังน่ากลัว และจุดที่เล่นกับตัวสถานที่ต่าง ๆ ทั้งห้องหับ บ้านไม้ผุพังของคนเล่นของ ไร่ข้าวโพด และทางลูกรังเข้าเมือง ก็คือทำการบ้านมาได้เหมาะกับตัวหนังอย่างดี

และสำคัญที่สุดคงเป็นการออกแบบเสียงที่คนอ่านเรื่องราวคงอยากได้ยินว่า ‘ธี่หยด’ ตามเรื่องเล่านั้นน่ากลัวอย่างไร การทำเสียงประดิษฐ์แหลมลอยสูงจนเหนือธรรมชาติของคำนี้ทำได้น่าสนใจ ขณะเดียวกันเสียงบิลด์ความตื่นเต้นรวมถึงฉากจัมป์สแกร์ก็มาตามนัดจากในตัวอย่างที่ปล่อยมาและมาแบบมีเหตุมีผล ไม่ได้มากไปและพร่ำเพื่อแบบแมวกระโดดก็มาอะไรแบบนั้น แต่ก็อาจไม่ถูกจริตคนชอบหนังหลอนนิ่งไม่ชอบการทำให้ตกใจอยู่ดี

หนังยังใส่การดัดแปลงและสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ลงไปในด้านภาพ อย่างเช่นการออกแบบผีหน้าขาวที่เอียงคอช้า ๆ เหมือนจะหักลงไปที่เอาจุดเด่นแบบหนังผีญี่ปุ่นหลอน ๆ มาปรับผสมกับผีหน้าเละที่โฉ่งฉ่างของไทยได้ค่อนข้างเข้ากัน ฉากการล่อหลอกทางจิตใจกับยักษ์ที่ออกไล่ยิงผีในไร่ข้าวโพด ก็เป็นฉากแบบฮุกแรก ๆ ที่บอกกับเราว่าหนังเรื่องนี้จะไม่เล่นท่าง่ายตามเรื่องเล่าเป๊ะ จนมาถึงฉากไคลแม็กส์ที่ออกแบบใหม่และเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของตัวละครบางตัวจนเราคาดเดาเรื่องต่อไปได้ยาก ทุกอย่างคือการดีไซน์ที่เราอาจพอวัดฝีมือคนทำหนังได้

ธี่หยด

จุดที่ยังต้องตั้งคำถามก็มีอยู่ ส่วนตัวไม่คิดว่านี่คือแคสติ้งที่เหมาะหากมองการเล่าเรื่องสำคัญมากที่สุดแต่ก็ยอมรับในการมองว่ามันคือแคสติ้งที่ยอดเยี่ยมในทางการตลาดและโปรดักชัน ซึ่งคนทำหนังก็ต้องสมดุลทั้งสองบทบาทและเข้าใจได้ว่าทำไมถึงออกมาหน้าตาเช่นนี้ แต่แม้จะมองในจุดเดียวกับผู้สร้างเมื่อมองครอบครัวรวม ๆ แล้วบทพ่อของ ปรเมศร์ น้อยอ่ำ อาจเข้ากับตัวเรื่องที่เป็นคนเชื้อสายจีน แต่พอดูหน้าภรรยาหน้าลูก ๆ ที่ออกไทยออกแขกฝรั่งตาโตกันหมด มันน่าจะต้องเอาคนอื่นที่หน้าออกฝรั่งมาแสดงมากกว่า

ซึ่งส่วนตัวด้านนักแสดงค่อนข้างประทับใจการฉายออร่าของณเดชน์ที่ยังไงก็ต้องมองเขา และการแสดงที่ไม่ยอมให้ใครบดบังแสงของมิ้ม ทว่าสำหรับเดนิสกับตัวละครอื่น ๆ แม้จะมีช่วงให้ฉายแสงบ้างแต่ก็ยังไม่ได้เด่นมากนัก

นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าจำเป็นต้องให้มีตัวละครเยอะมากมายตามเรื่องดั้งเดิมมั้ย เพราะในแง่การดัดแปลงเล่าเรื่องใหม่หลายตัวละครรวมเป็นตัวละครเดียวได้ และบางตัวละครก็ชัดเจนว่ามีบทบาทหน้าที่น้อยจนถึงขั้นไม่จำเป็นต้องใส่เข้าไปเช่นกัน และยังได้เพิ่มเวลาให้กับพวกตัวละครชาวบ้านที่เดิมมีส่วนเสริมความน่ากลัวของเรื่องราวให้มากขึ้นได้อีก

ทั้งนี้ยังมีปัญหามุมมองการเล่าเรื่องที่ยึดตามสายตา หยาด ที่เป็นแม่ของกฤตานนท์ซึ่งเป็นปัญหามาตั้งแต่เรื่องเล่าเพราะเป็นผู้หลบอยู่ในบ้านเสียมากและไม่ได้เผชิญเหตุการณ์สำคัญด้วยตัวเอง แต่ตอนเป็นเรื่องจริงมันก็ถูกบังคับให้เล่าตามนั้น ทว่าพอดัดแปลงเป็นหนังมันควรเปลี่ยนมุมมองการเล่าเรื่องได้ดีกว่านี้ หลายทีการเล่าเรื่องในหนังแม้จะดูน่าสนใจด้วยการที่ทำให้เราสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นภายนอกบ้าง แต่ก้จะขาดความราบรื่นเพราะต้องหยุดมาใช้แฟลชแบ็กที่ไม่จำเป็นเล่าซ้ำ

อีกอย่างแม้ว่าจะมีหลายฉากที่เป็นดีไซน์ใหม่ ๆ ในหนังผีไทย อย่างผีในไร่ข้าวโพดที่โหดใช้ได้ กับฉากการกินร่างเหยื่อจากข้างในที่ทำฉากได้สยดสยอง ซึ่งก็เหมาะกับตัวเรื่องเล่าที่มาทางสู้ตายกับผีแบบตาต่อตาฟันต่อฟันจนอาจคิดภาพหนังตระกูล ‘Evil Dead’ หรือหนังสู้สาปสยองยายแก่ ‘Drag Me to Hell’ (2009) และถ้าพูดถึงระดับงานป่าช้าแตกก็อาจยกครึ่งหลังของ ‘ร่างทรง’ (2564) เป็นตัวเทียบได้ แต่ ‘ธี่หยด’ กลับลากมาจนถึงฉากไคลแม็กส์ก็ยังไม่ได้พีกเข้มข้นหรือเอาเด่นทางโหดทางนอกกรอบเหนือความคาดเดานัก แม้จะบิลด์มาว่าเป็นพระเอกต้องเอาชนะด้วยปัญญาแต่มันไม่ได้สร้างฉากกระแทกใจผู้ชมขึ้นมาได้ ลองนึกภาพฉากนั้นว่าเปลี่ยนจากแค่แทงเป็นฟันทิ้งมันจะช็อกผู้ชมกว่าขนาดไหน

ธี่หยด

ยิ่งประเมินว่านี่เป็นหนังที่ได้เลือกเอา คุ้ย – ทวีวัฒน์ วันทา ผู้กำกับที่เด่นในการทำหนังเอามันและคัลต์มาหนักตั้งแต่สมัยทำหนังสั้นส่งประกวดจนได้ทำหนังโรงอย่าง ‘ขุนกระบี่ ผีระบาด’ (2547), อสุจ๊าก (2550), อนุบาลเด็กโข่ง (2552) จนมาเรื่องหลังอย่าง ‘ทองสุก 13’ (2556) และการกลับมาทำหนังโรงในรอบ 10 ปี เราน่าจะได้เห็นอะไรมัน ๆ เกินจินตนาการ ทว่ามันก็ยังดูไม่หวือหวามากอย่างที่คาด อาจด้วยโปรดักชันหลักตั้งแต่คนเขียนบทและนักแสดงนำหลายคนมาจากสายละครที่มีความเป็นสถาบันอย่างสถานีโทรทัศน์คุมอีกชั้นให้มีกรอบด้านภาพลักษณ์ด้วย

จึงอาจมองได้ว่านี่เป็นหนังในสโคปการทำงานเดียวกับ ‘นาคี 2’ ซึ่งด้านความสำเร็จน่าจะดีไม่ต่างกันด้วยฐานทุนเดิมที่ดีมาก ๆ และตอบโจทย์ได้ทั้งคนที่เป็นแฟนคลับนักแสดง แฟนคลับกฤตานนท์ และคอหนังผีไทย โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยทราบเรื่องราวใน ‘ธี่หยด’ มาก่อนเลยยิ่งจะอิ่มเอมได้มากสุด เพราะไม่ต้องถูกทดสอบเทียบกับจินตนาการในหัวตัวเองไปก่อน แต่ในแง่ของผู้ที่ชื่นชอบกับหนังสไตล์คุ้ยเราอาจจะไม่ได้รสชาติดิบแบบเคย ๆ แต่ได้เจอเพื่อนเก่าในวันที่เขาเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมากและยินดีกับการเติบโตครั้งใหม่ ๆ ได้หายคิดถึง

และแน่นอนว่าหากเขายังได้ทำภาคต่อไปของจักรวาลกฤตานนท์ เราก็คาดหวังโอกาสเปิดพื้นที่ความสร้างสรรคที่เน้นไปที่หัวใจการเล่าเรื่องสยองแบบเกินกรอบจำกัดได้มากขึ้นกว่าแค่มุมทางการตลาดด้วย เราอาจได้เห็นณเดชน์กับผีตัวใหม่ได้ทำอะไรให้เราอ้าปากเหวอค้างด้วยความช็อกมากกว่านี้

ธี่หยด

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส