Release Date
10/11/2023
ความยาว
118 นาที
Our score
8.0The Killer
จุดเด่น
- หนังที่รวมความเทพจากทีมงานและนักแสดงชั้นนำระดับโลก ที่ได้ปล่อยของอย่างอิสระด้วยแรงหนุนของสตรีมมิงระดับโลก และการเล่าเรื่องนักฆ่าที่มีรายละเอียดสนุกแตกต่างจากเรื่องอื่น
จุดสังเกต
- หนังมีสไตล์เฉพาะตัว และอาจดูเอื่อยมากในบางช่วง แต่ถ้าจับจุดได้จะสนุกกับมันมาก
-
บท
7.5
-
โปรดักชัน
8.5
-
การแสดง
8.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
7.5
-
ความคุ้มค่าการรับชม
9.0
เรื่องย่อ: ติดตามชีวิตการทำงานของนักฆ่ามืออาชีพผู้ใช้ชื่อปลอมหลากหลายจนไม่รู้ชื่อจริง ทุกอย่างอยู่ในแผน ทุกอย่างรัดกุมรอบคอบ ชีวิตประจำวันที่ฆ่าคนจนชินชาไร้ความตื่นเต้น แต่ทุกอย่างก็พลิกผันทันทีที่เขาเหนี่ยวไกพลาดเพียงครั้งเดียว
ต้องบอกว่าเน็ตฟลิกซ์ได้ของดีมาก ๆ เพราะไม่เพียงได้ร่วมงานกับ เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) ผู้กำกับขวัญใจเด็กหนังและนักวิจารณ์มาลงแบบเอ็กซ์คลูซีฟต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ 2 ต่อจาก ‘Mank’ (2020) เท่านั้น แต่เมื่อประเมินว่าในเรื่องแรกนั้นเป็นหนังชีวประวัติที่เชิดชูวงการฮอลลีวูดยุคหนังขาวดำ ซึ่งมันจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ชมพอสมควร และว่ากันตามจริงหนังยาวไม่นับรวมซีรีส์ที่พอดูแมสสำหรับคอหนังวงกว้างเรื่องสุดท้ายของฟินเชอร์อาจต้องนับย้อนไปไกลถึง ‘Gone Girl’ (2014) คือเกือบ 10 ปีที่แล้วกันเลยทีเดียว
‘The Killer’ มันเลยเป็นหนังที่แฟนฟินเชอร์จำนวนไม่น้อยรอคอยให้แกกลับไปทำ เพราะมันเป็นหนังที่เกี่ยวกับอาชญากรรมคล้ายงานเก่าสร้างชื่อจำพวก ‘Se7en’ (1995) หรือ ‘Fight Club’ (1999) และอีกหลายเรื่อง ทว่ามันก็เป็นหนังที่ทำให้เห็นว่าฟินเชอร์เติบโตขึ้น สุขุม ขรึม และแฝงความขี้เล่นแบบคนเก๋า ๆ บางจังหวะเรานึกไปถึงงานของ กาย ริตชี (Guy Ritchie) ในแบบที่คราฟต์จัด ๆ สไตล์ฟินเชอร์เลยทีเดียว
ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ (Michael Fassbender) กลับมาในรอบ 4 ปี หลังหนัง ‘Dark Phoenix’ (2019) โดยรับบทชายปริศนาคนหนึ่ง ซึ่งเขาจะพร่ำบ่นในความคิดกับตัวเองตั้งแต่เปิดเรื่องมาถึงความน่าเบื่อหน่ายและจำเจในอาชีพของเขา ราวกับพูดคุยกับผู้ชมอยู่ ทั้งนี้จากชื่อเรื่องเราก็พอทราบอยู่แล้วว่าเขามีอาชีพนักฆ่า นักฆ่าอาจพูดถึงข้อมูลมากมายที่แสดงความมืออาชีพและหมกมุ่นในองค์ความรู้ สถิติ คำคม ที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีพของเขา ราวกับเขาเป็นเนิร์ดในเรื่องการฆ่าเลยทีเดียว ซึ่งก็ทำให้ตัวนักฆ่าของฟินเชอร์คนนี้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากหนังเรื่องอื่นพอสมควร
ใครที่ทนหนังเอื่อย ๆ ไม่ไหวอาจจะยอมแพ้ไปในช่วงต้นนี้เอง แต่มันสำคัญที่ฟินเชอร์เลือกจะเปิดหนังด้วยฉากยาว ๆ ด้วยการพูดคนเดียวของตัวละคร เพราะมันกำลังสร้างเวทีให้ผู้ชมทราบว่าต่อไปจะเจอกับอะไร ส่วนตัวเป็นคนชอบหนังที่มีลีลาของบทพูดหวือหวาสไตล์ริตชีหรือทารันทิโน และชินกับความสโลวเบิร์นในแบบฟินเชอร์อยู่แล้วจึงไม่ติดขัดแต่อย่างใด แต่ใครคาดหวังมาเจอหนังบู๊มัน ๆ ตั้งแต่ต้นก็อาจผิดใจอยู่สักหน่อย เพราะนี่เป็นหนังที่เล่นกับสไตล์พอสมควร
หนังดัดแปลงมาจากคอมิกฝรั่งเศสเรื่อง ‘Le Tueur’ (1998 – 2022) ของ อเล็กซิส โนเลนต์ (Alexis Nolent) ผู้มีผลงานเขียนบทให้เกมดังอย่าง ‘XIII’ (2003), ‘Splinter Cell: Chaos Theory’ (2005) ที่ล้วนเป็นเรื่องราวนักฆ่าและสายลับ ซึ่งฟินเชอร์ได้อ่านคอมิกและวาดหวังจะทำเป็นหนังมานานกว่า 20 ปีแล้ว จนกระทั่งมาลงตัวที่นายทุนอย่างเน็ตฟลิกซ์ให้อิสระเขาเลือกเรื่องมาทำ และฟาสเบนเดอร์ก็สนใจในโปรเจกต์นี้มากเช่นกัน
โดยตัวหนังใช้บริการของ แอนดรูว์ เควิน วอล์กเกอร์ (Andrew Kevin Walker) ที่เคยร่วมงานเขียนบทให้ฟินเชอร์ในหนัง ‘Se7en’ และหลังสุดเพิ่งมาร่วมกันอีกครั้งในอนิเมชันตอน ‘Bad Travelling’ ของซีรีส์ ‘Love, Death & Robots’ ซีซัน 3 อาจด้วยมันสไตล์จัดตั้งแต่คอมิก มันจึงมีความเท่ นิ่ง แต่จังหวะจะโหดก็โหดแบบคอนเทนต์ผู้ใหญ่ไปเลย มันทำให้ตัวละครนักฆ่าของฟาสเบนเดอร์มีความน่าขนลุกอยู่ลึก ๆ ไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไร คล้ายความรู้สึกตอนที่ได้ดูนักฆ่าของ ฆาเวียร์ บาร์เดม (Javier Bardem) ใน ‘No Country for Old Men’ (2007) ในแบบที่มีชีวิตจิตใจขึ้นอยู่ไม่น้อย
หนังจะเริ่มปมปัญหาเมื่อนักฆ่าที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาดจนทุกอย่างเป็นความจำเจ เกิดลงมือสังหารเหยื่อผิดพลาดและส่งผลกระทบกลับมาในชีวิตของเขา ทำให้เขาต้องออกแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ย้อนกระบวนการกลับไปต้นเรื่อง เปิดช่องให้ผู้ชมได้เห็นวงการของการฆ่าที่ประกอบไปด้วย ภรรยาผู้ให้ความร่วมมือเป็นแบ็กอัปหลังบ้านให้นักฆ่าได้มีที่พักพิง ทนายที่เป็นตัวแทนการจ้างงาน นักฆ่าหลายสไตล์ทั้งบู๊และบุ๋นที่ทำสัญญาการฆ่ารวมถึงรับงานเก็บกวาดความผิดพลาดของงานจ้าง จนกลับไปถึงผู้ว่าจ้างที่เพียงจ่ายเงินและไม่ขอต้องรับรู้ความสกปกรกทั้งหลายที่ตามมา
เปิดช่องให้หนังเล่าเป็นตอนย่อย ๆ โดยมีชื่อตอนตามคีย์สำคัญที่นักฆ่าต้องไปพบเจอตามที่ว่ามา และรู้สึกถึงความมีคลาสของหนังในการเล่าเรื่องด้วย
แม้มันจะไม่ได้หวือหวาด้วยการเชือดเฉือนแอ็กชัน แต่มันก็สนุกไปด้วยการให้รายละเอียดและวิธีการที่นักฆ่าใช้เพื่อบรรลุเป้าหมาย ราวกับได้ดูสารคดีสนุก ๆ ที่อธิบายการทำงานของนักฆ่าในโลกแฟนตาซีที่จำลองขึ้น แถมมีจุดอุปสรรคที่ไม่ได้คาดคิดเข้ามาชวนให้ลุ้นเป็นระยะ อย่างคนส่งเอกสารที่บังเอิญโผล่เข้ามาระหว่างที่นักฆ่ากำลังลงมือ หรือเสียงคนเข้ามาในห้องพักระหว่างที่นักฆ่ากำลังลอบขโมยข้อมูลเป็นต้น
และฟินเชอร์ก็เก๋าพอไม่ได้ปล่อยให้หนังกลายเป็นสารคดี เพราะมันยังมีฉากแอ็กชันมัน ๆ ที่เดือดจัด ๆ แบบพระเอกปางตาย จนไปถึงฉากพูดคุยปั่นประสาทที่เชือดเฉือนกันจนเหมือนการแลกกระสุนที่ฟาสเบนเดอร์ฟาดฟันกับ ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton) ก็เป็นอีกช่วงที่น่าจดจำไม่น้อยเลย
นี่จึงเป็นหนังที่มีรสชาติแปลกแตกต่าง อาจไม่คุ้นชิน แต่ถ้าสามารถอินไปกับวิธีการของหนังได้แล้ว มันคือหนังที่มีลีลาการเล่าสนุกและหลากหลายรสชาติที่ผ่านการคราฟต์อย่างดีของ เดวิด ฟินเชอร์ เพลิดเพลินกับงานภาพเทพ ๆ ของ อีริก เมสเซอร์ชมิดต์ (Erik Messerschmidt) ผู้กำกับภาพเจ้าของรางวัลออสการ์จาก ‘Mank’ และการตัดต่อของ เคิร์ก แบ็กตัน (Kirk Baxter) เจ้าของ 2 รางวัลออสการ์จาก ‘The Social Network’ (2011) และ ‘The Girl with the Dragon Tattoo’ (2012) ที่มาช่วยกันยกระดับการเล่าเรื่องให้มีคลาสขึ้นอีก และชมการแสดงเหนือชั้นของบรรดานักแสดงผู้เข้าท้าชิงรางวัลออสการ์มาหลายครั้งด้วย
นี่คืออีกเรื่องที่พลาดไม่ได้เลยสำหรับคอหนังที่ต้องการคุณภาพและความหลากหลาย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส