[รีวิว] ดอยบอย – เรื่องผิดปกติที่เราเคยชิน
Our score
8.1

Release Date

24/11/2023

ความยาว

99 นาที

ผู้กำกับ

นนทวัฒน์ นำเบญจพล

นักแสดง

อารักษ์ อมรศุภศิริ, อวัช รัตนปิณฑะ, เอม ถาวรศิริ, ปาณิสรา ริกุลสุรกาน

[รีวิว] ดอยบอย – เรื่องผิดปกติที่เราเคยชิน
Our score
8.1

[รีวิว] ดอยบอย – เรื่องผิดปกติที่เราเคยชิน

จุดเด่น

  1. เป็นหนังไทยที่กล้าพูดเรื่องการอุ้มหาย
  2. การแสดงของนักแสดงทุกคนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
  3. มีการใช้ภาษาภาพยนตร์ที่น่าสนใจและงานเทคนิคภาพและเสียงมีคุณภาพเหมาะแก่การดูบนจอใหญ่ ๆ

จุดสังเกต

  1. เสียดายบท บี๋ ของแคร์ ปาณิสรา ที่น่าจะสำรวจอะไรได้มากกว่านี้
  2. คนไทยควรมีโอกาสได้ชมบนจอในโรงภาพยนตร์สักครั้ง
  • บทภาพยนตร์

    8.0

  • โปรดักชัน

    7.7

  • การแสดง

    9.0

  • ความบันเทิง

    7.7

  • ความคุ้มค่าในการรับชม

    8.0

ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาหนังไทยชื่อแปลกอย่าง ‘ดอยบอย’ ได้เดินทางไปไกลถึงประเทศเกาหลีใต้ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน โดยได้เข้าชิงรางวัลคิมจีซุคอวอร์ด (Kim Jiseok Award) พร้อมกับฉายรอบปฐมทัศน์โลกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 28 (BUSAN International Film Festival) โดยรางวัลที่หนังได้ติดไม่ติดมือกลับมาเป็นของ อวัช รัตนปิณฑะ ที่คว้ารางวัล Rising Star Award ในงานประกาศรางวัล Marie Claire with BIFF Asia Star Awards 2023 จากบท ศร ตัวละครที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมดในหนัง

หนังเลือกเจาะประเด็นใหญ่ ๆ 2 ประเด็นได้แก่ ปัญหาแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองที่แอบลักลอบมาทำงานค้าประเวณีและอีกเรื่องคือประเด็นการ “อุ้มหาย” นักกิจกรรมทางการเมืองที่ดูจะเป็นประเด็นที่ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับหนังสนใจเป็นพิเศษซึ่งเราอยากกล่าวถึงในตอนท้ายของรีวิวนี้ เมื่อผู้กำกับหนังสารคดีที่มีแนวคิดทางการเมืองชัดเจนมาทำหนังฟิกชันนเล่าเรื่อง เขาจะยังซ่อนเสียงความคิดเห็นส่วนตัวไว้ในหนังได้แนบเนียนเหมือนผลงานที่ผ่านมาหรือไม่

หนังเริ่มเรื่องด้วยบทเกริ่นนำที่พุ่งประเด็นชัดเจนไปที่ประเด็นแรกคือ การลักลอบค้าประเวณีของคนต่างด้าวลอบเข้าเมืองโดยมีตัวละคร ศร (อวัช รัตนปิณฑะ) เซ็กส์เวิร์คเกอร์อดีตทหารปลดแอกชนกลุ่มน้อยในชายแดนพม่าที่เลือกอาชีพค้าบริการทางเพศที่ เดอะดอยบอยคลับ บาร์เกย์ที่มีโชว์อะโกโก้และแฝงขายบริการทางเพศ

ศรมีแฟนสาวคือ บี๋ (ปาณิสรา ริกุลสุรกาน) ที่เลือกอาชีพเด็กนั่งดริงค์ในร้านคาราโอเกะ อาชีพของทั้งคู่ต่างให้ความสุขกับผู้คนเพียงแต่ความมั่นคงของพวกเขาต้องสั่นคลอนเมื่อศรกลับเป็นแรงงานเถื่อนไม่มีพาสปอร์ตจนต้องยอมจ่ายใต้โต๊ะและลงท้ายด้วยการถูกโกง และเมื่อร้านที่ศรทำงานต้องถูกปิดจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ทำให้เขาต้องยอมรับงานพิเศษจาก พี่จิ (อารักษ์ อมรศุภศิริ) ลูกค้าขาประจำที่ผูกปิ่นโตกับศร

งานที่ว่าคือการลักพาตัว วุฒิ (ภูมิภัทร ถาวรศิริ) แอ็คทีวิสต์ที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้นักกิจกรรมการเมืองที่ถูกอุ้มหาย ข้ามชายแดนไทยไปยังประเทศพม่าร่วมกับพี่จิ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ศรต้องกลับไปเผชิญหน้ากับอดีตของตัวเองอีกครั้งจนไม่แน่ใจว่าการรับงานครั้งนี้จะคุ้มค่ากับความอยุติธรรมที่เขาหยิบยื่นให้ฝ่ายเรียกร้องความเป็นธรรมหรือไม่

Beartai Buzz รีวิว ดอยบอย

เมื่อพิจารณาถึงประเด็นที่ ‘ดอยบอย’ ต้องการสำรวจก็เหมือนภาพที่ถูกต่อยอดมาจากผลงานเรื่องก่อนของผู้กำกับอย่างเรื่องราวของศรก็แทบจะเป็นภาคต่อของ ‘ดินไร้แดน’ หนังสารคดีเล่าเรื่องของทหารปลดแอกรัฐฉานที่ลอบมาทำงานในร้านอาหารของไทย หรือจะเป็นการพูดถึงพรมแดนที่มีมาตั้งแต่ ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ หนังสารคดีที่สร้างชื่อให้กับนนทวัฒน์ และการเรียกร้องความเป็นธรรมของกลุ่มคนตัวเล็ก ๆ ที่ชัดมากตั้งแต่ ‘สายน้ำติดเชื้อ’ สารคดีที่เล่าถึงการต่อสู้ของชุมชนบ้านคลิตี้ล่างเพื่อทวงคืนความเป็นธรรมจากโรงงานที่ปล่อยสารพิษลงแม่น้ำในชุมชนของพวกเขา

และยิ่งเมื่อประกอบกับความตื่นตัวทางการเมืองของผู้กำกับที่แสดงออกมาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเมื่อครั้งการถูกอุ้มหายของนักกิจกรรมทางการเมืองคนสำคัญอย่าง นายพอละจี รักจงเจริญ1 หรือบิลลี ก็ยิ่งชัดเจนว่าการอุ้มหายในกรณีของวุฒิในหนังก็น่าจะเป็นภาพเปรียบเทียบ (Allergory) ถึงกรณีบิลลีได้อย่างชัดเจน

ข้อมูลเพิ่มเติม นายพอละจี รักจงเจริญ
1 นายพอละจี รักจงเจริญเป็นพยานคนสำคัญในคดีที่ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยยื่นฟ้อง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ข้อหาเผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านให้ได้รับความเสียหาย

และเมื่อความสนใจและความตื่นตัวทางการเมืองของผู้กำกับอย่างนนทวัฒน์ที่เหมาหน้าที่เขียนบทเองด้วยแล้ว เราก็จะพบว่า ‘ดอยบอย’ เป็นหนังฟิกชันที่ถูกนำเสนอได้อย่างแตกต่าง หลายเทคนิคในการทำสารคดีถูกนำมาปรับใช้โดยเฉพาะการถ่ายฉากบทสนทนาที่กล้องมักจะขนานในระดับสายตาเสมอ แต่กระนั้นเราก็ยังเห็นการทดลองในงานชิ้นนี้ของนนทวัฒน์โดยเฉพาะการจัดแสงและการใช้ดนตรีประกอบแบบดนตรีสังเคราะห์ที่ให้ความรู้สึกไม่ปลอดภัยและเล่าเรื่องราวที่ซับซ้อนได้เป็นอย่างดี

ในด้านการแสดงสำหรับกรณีของ อวัช รัตนปิณฑะ หรือ อัด กับรางวัลการันตีที่พ่วงมาจากเทศกาลหนังปูซานก็พบว่าการเป็นตัวละครแบบไม่เหลือตัวตนของนักแสดงเลยของเขามีผลต่อความเชื่อของผู้ชมมาก ตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งของหนังเราจะเห็นแค่ภาพของศร แรงงานเถื่อนจากตะเข็บชายแดนที่ยอมแลกมนุษยธรรมเพื่อปากท้องของตัวเองอย่างเดียว

ส่วนภูมิภัทร ถาวรศิริ หรือ เอม นักแสดงสุดฮอตกับบท LGBTQ+ ครั้งแรกก็ทำหน้าที่ได้ดีและน่าจับตามองก้าวต่อไปของเขาอย่างยิ่งว่าจะมีอะไรท้าทายมาเซอร์ไพร์สคนดูอีก แต่ที่แทบไม่เชื่อสายตาจริง ๆ เห็นจะเป็นกรณีของ อารักษ์ อมรศุภศิริ หรือ เป้ เสลอร์ ที่คราวนี้เขาทำหน้าที่นักแสดงได้ดีมากจริง ๆ ทุกครั้งที่ปรากฎตัวเราแทบคาดเดาการกระทำของพี่จิไม่ได้โดยเฉพาะใบหน้าเปื้อนยิ้มสุดเยือกเย็นที่ทำเอาเสียวสันหลังวาบทุกครั้ง

จะมีเสียดายก็กรณีของ ปาณิสรา ริกุลสุรกาน หรือ แคลร์ ในบทบี๋ คนรักของศรที่มีเสน่ห์มากในหนัง แถมยังเป็นตัวละครที่มีมิติน่าสนใจในเชิงของอาชีพที่อยู่ตรงชายแดนของกลุ่มเซ็กส์เวิร์คเกอร์ และตัวละครบี๋ของเธอกลับมีความสำคัญกับหนังค่อนข้างน้อยหากไม่นับฉากที่เป็นบทสรุปของหนังจริง ๆ ส่วนการปรากฎตัวของ แป้ง-อรจิรา แหลมวิไล ในบทภรรยาของพี่จิอาจเป็นแค่กิมมิกเล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่ได้มีบทบาทกับเรื่องราวสักเท่าไหร่

อย่างไรก็ตามความน่าเสียดายที่สุดของ ‘ดอยบอย’ มีเพียงแค่ว่ามันกลับไม่มีโอกาสได้ฉายในโรงภาพยนตร์เท่านั้นเอง เพราะด้วยการดีไซน์ทั้งภาพและเสียงการชมในโรงภาพยนตร์สักครั้งถือว่าน่าจะได้อรรถรสที่แตกต่างจากการชมผ่านสตรีมมิงไม่น้อยเลยทีเดียว

Beartai Buzz รีวิว ดอยบอย
กดที่ภาพเพื่อดูหนังทาง Netflix

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส