Release Date
25/01/2024
ความยาวหนัง
93 นาที
แนวหนัง
ดราม่า ทริลเลอร์
ผู้กำกับ
เจด ฮัลลีย์ บาร์ตเลทต์
นักแสดงนำ
เจนนา ออร์เทกา, มาร์ติน ฟรีแมน
Our score
5.1[รีวิว] Miller’s Girl – หนัง ‘เด็กมันยั่ว’ ที่ชวนดึงสติ (และสงบ) อย่างไม่น่าเชื่อ
จุดเด่น
- บทหนังเลือกเล่าเรื่องครูหนุ่มที่พ่ายแพ้ต่อความหวั่นไหวต่อลูกศิษย์สาวในมุมมองผู้หญิงได้น่าสนใจ
- เจนนา ออร์เทกา คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้อยากดูหนังเรื่องนี้
จุดสังเกต
- คาแรกเตอร์ในบทหนังทำออกมาไม่กลมกล่อมเท่าไหร่ เลยไม่ทำให้ผู้ชมอยากเอาใจช่วย
- เหมือนขนมที่มีไส้นอนก้นอยู่ตอนท้าย คือใกล้จะหมดแล้วเพิ่งรู้สึกว่ารสชาติเข้มข้น
-
บทภาพยนตร์
5.0
-
การแสดง
5.0
-
โปรดักชัน
5.5
-
ความบันเทิง
5.0
-
ความคุ้มค่าในการรับชม
5.0
ความสัมพันธ์อื้อฉาวข้ามเส้นแบ่งศีลธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพที่มักถูกเอามาเล่าบนแผ่นฟิล์ม (หรือบน DCP-ในระบบดิจิทัลซีนีมา) ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ของครูกับนักเรียนที่สามารถตีความให้ร้อนแรงแหกกระเจิงแบบ ‘Wild Things’ (1998) หนังฟิล์มนัวร์สุดเซ็กซี หรือจะไปทางหวานแหววชวนมโนแบบสาวแรกรุ่นเหมือน ‘Sensei! My Teacher’ (2017) หนังโรแมนติกจากญี่ปุ่นก็เป็นได้ทั้งนั้น
สำหรับ ‘Miller’s Girl’ หนังเลือกเล่าเรื่องราวในเมืองเล็ก ๆ อย่างเท็นเนสซีที่ ไคโร สวีท (รับบทโดย เจนนา ออร์เทกา : Jenna Ortega) ลูกสาวทนายความชื่อดังใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาโดยมีวรรณกรรมมากมายเป็นเพื่อนปลอบโยน ความน่าเบื่อในชีวิตเธอดูมีสีสันขึ้นเมื่อได้ลงเรียนคลาสวรรณกรรมของ โจนาธาน มิลเลอร์ (รับบทโดย มาร์ติน ฟรีแมน : Martin Freeman) อดีตนักเขียนที่ผันตัวมาเป็นครู และหลังจากพรสวรรค์ด้านงานเขียนและเสน่ห์ของสวีท ไปเตะตาโดนใจมิลเลอร์ ครูหนุ่มก็เริ่มหวั่นไหวแม้จะรู้ดีว่าความสัมพันธ์ต้องห้ามนี้จะพาเขาไปสู่ทางที่ไม่อาจจะหวนกลับก็ตาม
‘Miller’s Girl’ นับเป็นงานประเดิมของ เจด ฮัลลีย์ บาร์ตเลทต์ (Jade Halley Bartlett) ในฐานะผู้กำกับและเขียนบท ซึ่งด้วยความใหม่ก็มีข้อดีหลายอย่างเช่นการที่เธอทดลองเล่าเรื่องที่ดูวาบหวามและหมิ่นเหม่จะเป็นพลอตหนังโป๊ ให้กลายเป็นงานดราม่าระทึกขวัญที่เล่าเรื่องจากมุมมองผู้หญิงซึ่งถือเป็นความแปลกใหม่ไม่น้อย ดังนั้นในเรื่องนี้เราจะไม่ได้เห็นภาพของครูหนุ่มที่เล่นใหญ่สารภาพบาปและหาทางกลับไปเป็นคนดีศรีสังคม ตรงกันข้ามมันกลับไปสำรวจสมการที่ในหนังเรื่องอื่นมักผลักให้พวกเธอกลายเป็นแค่ไม้ประดับหรือเหมือนมารผจญ
เริ่มที่ ไคโร สวีท ที่นอกจากจะเป็นตัวละครที่หน้าหนังพยายามเอามาขายความยั่วยวนแล้ว มันยังสะท้อนถึงลักษณะนิสัยและแนวคิวของเด็กเจน Z ที่ไม่ได้ยอมเป็นเบี้ยล่างของความสัมพันธ์อีกแล้ว ตรงกันข้ามเธอยังกล้าออกเสียงทวงถามถึงการใช้อำนาจตัดสินงานเขียนของเธอ เมื่อมิลเลอร์บังคับให้เธอเปลี่ยนแนวการเขียนเสียใหม่ ซึ่งต้องบอกว่าเสียดายไม่น้อยที่เราได้เห็นด้านนี้ของตัวละครในตอนท้ายขององก์สองที่มันพยายามพลิกจากดราม่านิ่ง ๆ ไปเป็นหนังสอบสวน
หรือจะเป็น บีอาทริซ ตัวละครภรรยาของมิลเลอร์ที่รับบทโดย แดกมารา โดมินซีค (Dagmara Dominczyk) ที่ทั้งเรื่องเราแทบจะไม่ได้เห็นอะไรเลยนอกจากรับโทรศัพท์เพื่อด่าเลขาตัวเองและยั่วสามีก่อนจะถูกขัดจังหวะทุกครั้ง ซึ่งดูเผิน ๆ อาจจะรู้สึกว่าตัวละครตัวนี้แทบไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับเรื่องราวเลยแต่ที่ไหนได้ กลับกลายเป็นตัวละครที่มอบไคลแมกซ์ให้กับหนังเมื่อเธอได้โอกาสในการซัดทอดสามีถึงความรู้สึกที่เขามีต่อสวีท มันทั้งเจ็บปวดและตบหน้าชายฉกรรจ์ทั้งโรงหนังจนอดหน้าชาไม่ได้ แต่ก็เสียดาย (คล้ายกรณีของสวีท) ที่บทหนังกลับไม่ได้ให้เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจเธอมากนักจนความเจ็บปวดของเธอจากการที่สามีปันใจเลยไม่ทำงานกับผู้ชมเท่าที่ควร
ตรงกันข้ามกับตัวละคร โจนาธาน มิลเลอร์ ที่แม้จะได้ มาร์ติน ฟรีแมน ที่ก็นับว่ามีเสน่ห์แบบชูการ์แดดดี้ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ในด้านคาแรกเตอร์กลับราบเรียบแทบไม่มีกราฟขึ้นลงอะไรเลย มิหนำซ้ำพอหนังพยายามทำให้มิลเลอร์เป็นเหยื่อตั้งแต่ต้น เลยทำให้บทบาทครูที่เผลอใจให้นักเรียนดูอ่อนด้อยปวกเปียกจนผู้ชมติดจะรำคาญเสียด้วยซ้ำ แม้หนังจะให้เวลาที่เขาโปรยสเน่ห์ใส่ ไคโร สวีท แต่ก็กลับดูเป็นเนิร์ดแก่ ๆ ที่พยายามจะกินหญ้าอ่อน และประเด็นการสู้กับเส้นศีลธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพก็ไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญในบทหนังเสียเท่าไหร่จนอดเสียดายที่มันไม่อาจไปแตะอารมณ์อีโรติกหรือโรแมนติกเหมือนที่เทรลเลอร์หนังพยายามขายสักเท่าไหร่
หรือแม้แต่ตัวละคร วินนี่ ที่รับบทโดย กิเดียน แอดลอน (Gideon Adlon) เพื่อนสาวของสวีทที่ดูก๋ากั่นแถมพยายามยั่วยวนครูบอริส (รับบทโดย บาไชร์ ซาลาฮุดดิน : Bashir Salahuddin) ครูพละประจำโรงเรียนและเป็นคนที่ยุให้สวีทยั่วยวนครูมิลเลอร์ ที่ดูเหมือนจะเป็นตัวละครตัวนึงที่มีอะไรน่าสนใจ แต่นอกจากความพยายามยั่วยวนที่แทบไม่ได้รับการสนใจแล้ว ตอนท้ายเรื่องการพลิกผันและเปลี่ยนแปลงคาแรกเตอร์ของเธอยังดูไม่น่าเชื่อถืออีกด้วย
สรุปแล้วการดู ‘Miller’s Girl’ เหมือนได้ทานของหวานแปลก ๆ ที่คำแรกมีฟิลลิ่งที่น่าสนใจ การปรากฎกายของน้อง เจนนา ออร์เทกา ก็ทำให้ผู้ชมอยากติดตามต่อแต่พอทานถึงตรงกลางผู้ชมเหมือนไม่ได้รสอะไรเลยนอกจากแป้งจืด ๆ ก่อนที่มันจะปิดท้ายด้วยรสชาติเข้มข้นแต่ปริมาณกลับน้อยจนไม่กล้าบอกว่ามันอร่อยได้เต็มปากเต็มคำเท่าที่ควร
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส