[รีวิว] RedLife เรดไลฟ์: ปลาที่จมน้ำในตู้ปลาตาย  ตีความตอนจบชวนเศร้าตรึงใจ
Our score
7.5

Release Date

01/02/2024

ความยาว

121 นาที

[รีวิว] RedLife เรดไลฟ์: ปลาที่จมน้ำในตู้ปลาตาย  ตีความตอนจบชวนเศร้าตรึงใจ
Our score
7.5

RedLife

จุดเด่น

  1. หนังไทยคุณภาพสูงที่นานทีปีหนจะถ่ายทอดเรื่องราวที่แตกต่างของคนชายขอบที่ไม่ชวนมอง แต่ใช้ศิลปะทางภาพยนตร์ในการนำเสนอได้สร้างสรรค์

จุดสังเกต

  1. น่าจะเหมาะกับคนชอบหนังดราม่าและตีความความคิดความรู้สึกของตัวละคร รวมถึงการอ่านระหว่างบรรทัดในท่าทีของตัวละครด้วย เพราะหนังยาวกว่า 2 ชั่วโมงแต่มีช่วงผ่อนคลายน้อยมาก ก็อาจจะกันคนที่ชอบความบันเทิงสุด ๆ ออกไปพอประมาณ
  • บท

    7.0

  • โปรดักชัน

    8.0

  • การแสดง

    7.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    8.0

เรื่องย่อ: เรื่องราวหลากชีวิตของคนชายขอบของสังคมกลางเมืองหลวงที่เรียกว่า คนจนเมือง การมีความรักธรรมดาสำหรับพวกเขายังเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกิน

‘RedLife เรดไลฟ์’ เป็นหนังไทยที่มาได้จังหวะที่น่าสนใจ ท่ามกลางกระแสหนังไทยที่พุ่งขึ้นสูงในช่วงปลายปี หนังเรื่องนี้วางตัวลงในช่องว่างที่หนังเรื่องอื่นยังไม่เล่นได้พอดี นานแล้วที่หนังไทยไม่จับประเด็นดราม่าอย่างซีเรียสที่เอาความเหลื่อมล้ำของคนกลางเมืองมาเล่น ในขณะที่เกาหลีจับเรื่องราวแบบนี้มาเล่าซ้ำจนมีทักษะช่ำชองพอจะสร้างงานคุณภาพคว้าออสการ์กันไปแล้วใน ‘Parasite ชนชั้นปรสิต’ (2019)

เทียบกับเรื่องนั้น ‘RedLife’ ของผู้กำกับ เอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แบรนด์ธิงค์ จำกัด ที่หันมาลุยงานหนังและซีรีส์อย่างจริงจัง อาจยังห่างในแง่ชั้นเชิงการนำเสนอเชิงเปรียบเทียบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานของเอกลักญเรื่องนี้ก็มีของมากพอ ที่ไม่ควรกลืนหายไปกับกาลเวลาและความทรงจำของคอหนังไทย

หนังเล่าเรื่องชุมชนของคนจนเมือง หรือผู้มีรายได้น้อยที่แฝงอยุ่ในเมืองใหญ่ บ้างทำอาชีพสุจริตที่ชนชั้นกลางอาจมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีใครอยากทำ อย่าง กรรมกร รับจ้างทั่วไป วินมอเตอร์ไซต์ เก็บขยะขาย เป็นต้น แต่ก็มีไม่น้อยไม่ได้รับโอกาสแม้แต่ทำงานสุจริต ด้วยทั้งปัจจัยขาดการศึกษา ต้นทุนชีวิตที่พร่องกว่ามาตรฐานการครองชีพ พวกเขาเลือกหาเลี้ยงตัวเองด้วยงานอย่าง ค้าบริการทางเพศ ค้ายาเสพติด หรือปล้นชิงวิ่งราว ซึ่งกลุ่มหลังนี้เองที่มักเป็นเพียงตัวประกอบผ่านฉากในสังคมจริง แต่ได้ขึ้นเป็นตัวละครเอกในหนังเรื่องนี้

RedLife

เต๋อ (แบงค์ – ธิติ มหาโยธารักษ์) นักเลงหนุ่มหุ่นหย็องกรอด ที่พยายามทำให้แฟนสาวที่ขายบริการอย่าง มายด์ (จ๋อมแจ๋ม – กานต์พิชชา พงษ์พานิช) ภูมิใจในตัวเขาให้ได้ ในขณะที่มายด์เองมีปมเรื่องพ่อที่ติดคุก เธอขอจากแฟนหนุ่มเพียงไม่ทำผิดกฎหมายและทิ้งเธอไว้ลำพังอย่างที่พ่อทำ แม้เต๋อจะลองไปหางานสุจริตทำแต่เขาก็ทั้งถูกปฏิเสธ ทั้งยอมแพ้กับความสำเร็จที่มาช้าเกินไป จนหันกลับไปปล้นชิงวิ่งราวกับพวกนักเลงในชุมชนที่มีหัวโจกอย่าง เคี้ยง (ดี เจอร์ราร์ด – ไบรอัน เจอร์ราร์ด อุกฤษ วิลลีย์ บรอด ดอนกาเบียล) ซึ่งครั้งหนึ่งเต๋อพลาดถูกจับ แต่เมื่อออกจากคุกมาเขาพบว่าเคี้ยงกับมายด์ได้คบหากันแล้ว เต๋อเหลือโอกาสทวงคืนแฟนสาวเพียงการปล้นครั้งสุดท้าย เพื่อยกเงินก้อนโตให้เคี้ยงแลกกับการเลิกยุ่งกับมายด์

อีกด้านในตึกเดียวกัน ยังเป็นห้องพักของ อ้อย (ปู – กรองทอง รัชตะวรรณ) โสเภณีวัยกลางคนที่หาเลี้ยงและส่งเสียให้ลูกสาววัยรุ่นอย่าง ส้ม (ซิดนีย์ – สุพิชชา สังขจินดา) ได้มีการศึกษาไม่ต้องมาทำอาชีพแบบเธอ แต่ส้มก็อายหากเพื่อนที่โรงเรียนจะรู้ว่าบ้านเธอเป็นอย่างไร เธอพยายามอดทนเก็บเงียบไว้ให้แม่สบายใจและไม่ให้ใครรู้ตัวจริงของเธอ จนเธอได้พบรุ่นพี่ชื่อ พีช (ฝ้าย – สุมิตตา ดวงแก้ว) เด็กบ้านรวยสุดเท่ ที่ชักชวนส้มให้หนีไปอยู่เกาหลีด้วยกัน ในจังหวะเดียวกันอ้อยก็ถูกชักชวนจากลูกค้าเฒ่าที่อยู่ลำพังให้ย้ายไปอยู่ด้วยกัน ซึ่งอ้อยก็บ่ายเบี่ยงมาเสมอจนเธอพบว่าลูกสาวกำลังไม่พอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่

RedLife

นอกจากสองเส้นเรื่องที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันโดยตรงของกลุ่มเต๋อกับกลุ่มส้ม หนังยังเต็มไปด้วยตัวละครเสริมที่มีสีสันอย่าง กั๊ก (ครูนาย – มานพ มีจำรัส) เกย์เฒ่าตกอับที่รอคอยคนรักหนุ่มกลับมาหานานนับสิบปี รวมทั้งยังมีตัวละครอื่นที่ไม่ออกชื่อแต่ล้วนสะท้อนภาพคนจนเมืองที่หลากหลาย ซึ่งเป็นอะไรที่ช่วยให้เรื่องราวมีรสชาติเปรี้ยวหวานมันเค็มมากขึ้นด้วย

อาจพูดได้ว่าหนังเรื่องนี้มีความแข็งแรงในการสร้างตัวละครที่น่าสนใจขึ้นมาหลายตัวและโยงความสัมพันธ์กันได้อย่างมีรสมีชาติ นักแสดงทั้งเด็กทั้งรุ่นเก่าต่างทำผลงานได้ดี แม้จะมีบ้างที่ไม่เชิงว่าเล่นไม่ดีเพียงแต่บทบางช่วงไม่เปิดโอกาสให้พวกเขามีการแสดงที่ดีได้ โดยเฉพาะตัวละครเต๋อที่ควรเป็นตัวนำสายตาของผู้ชมให้รอดตลอดเรื่อง

อย่างที่เราคงเดาได้ว่าชะตาชีวิตของตัวละครเหล่านี้คงจบไม่สวยนัก เพราะหนังไม่ได้โชว์ด้านความหวังให้ตัวละครเห็น ไม่ว่าจะการปฏิเสธให้ทำงานสุจริตที่เต๋อโดน และเต๋อเองก็ไม่ได้มีลักษณะอย่างคนที่ล้มครั้งหนึ่งแล้วจะสู้พิสูจน์ให้เห็นด้วย หรือด้านส้มเองเมื่อเธอเริ่มจะดีลกับแม่เรื่องจ่ายค่าเทอมที่ค้างชำระโรงเรียนได้ ส้มก็ดันเริ่มหลงใหลในชีวิตอีกแบบที่แม่มอบให้อย่างพีชไม่ได้ และตัดสินใจหนีจากแม่และทุ่มใจให้กับรุ่นพี่แปลกหน้าอย่างพีชแทน

อีกมุมที่น่าสนใจมากกว่าเรื่องของโอกาสทางเศรษฐกิจหรือการยืนบนลำแข้งของตนเองได้ คือมุมเรื่องของโอกาสทางความรู้สึกหรือความรักที่เป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ ตัวละครหลักเหล่านี้ก็กลับขาดโอกาสในการเลือกเช่นกัน มายด์อาจไม่ได้รักเต๋อจริง ๆ เพียงแต่เขาดูจะเป็นคนอ่อนแอที่คงไม่ไปก่อปัญหาจนติดคุกแบบพ่อของเธอ และอาชีพค้าบริการอย่างเธอก็คงไปหาความรักที่ดีกว่าคนระดับเดียวกันได้ยาก เต๋ออาจไม่ได้รักมายด์แต่เขาไม่มีที่ไปอื่นเช่นเดียวกัน เรื่องเศร้ากว่าคือแม้แต่ความสัมพันธ์แบบแม่ลูกของอ้อยและส้มที่เชื่อว่าคือสายใยที่ตัดไม่ขาดเอง ก็ดูจะติดกรอบกับดักทางเลือกนี้เช่นกัน

มีสัญญะอยู่สองอย่างในหนังที่น่าสนใจถูกถ่ายซ้ำอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ วงเวียนน้ำพุที่ชาวชุมชนต่างวนเวียนใช้ชีวิตอยู่โดยรอบ เหมือนกับว่าพวกเขาเป็นรถที่ขับติดกับวนอยู่ในวงเวียนนี้แม้ว่ามันจะมีแยกออกไปมากมายให้เลี้ยวหนีไปแต่พวกเขาก็มองไม่เห็น น้ำพุตรงกลางเหมือนเป็นตัวแทนความหวังเป็นความสวยงามและความสดชื่นที่เติมใจให้ตัวละครได้รู้สึกไม่แห้งแล้งมืดมน เพราะอย่างน้อยน้ำในนี้ก็ดูได้ฟรี แช่เล่นได้ฟรี

และสัญญะอีกอย่างคือตู้ปลาทองที่ตัวละครตั้งไว้ในห้อง ปลาทองสีแดงหลายตัวแหวกว่ายไปในตู้ปลาเล็ก ๆ นี้จนดูแออัด และต่างงับปากแย่งกันหายใจผ่านฟองอ็อกซิเจนที่พวยพุ่งขึ้นมา สะท้อนชื่อเรื่องว่า ‘ชีวิตสีแดง’ ไม่ต่างจากปลาสีแดงเหล่านี้ที่ถูกขังในตู้ปลาใส ๆ โดยดูโลกภายนอกได้เพียงห่าง ๆ และอนุญาตให้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยความเมตตาจากเศษฟองอากาศที่เขาติดตั้งให้ หากปิดเครื่องจ่ายอากาศเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น

RedLife

ซึ่งทั้งสองสัญญะที่ว่านี้ก็ล้วนเป็นตัวเปรียบเปรยที่ดีและส่งผลกับการตีความตอนจบของหนังตามความรู้สึกของผู้ชมด้วย

ในตอนจบของหนังคงสร้างความสงสัยให้กับผู้ชมพอสมควรว่าที่จริงแล้วมันเกิดอะไรขึ้น ในฉากหนึ่งการที่เต๋อเก็บข้าวของออกจากห้องของมายด์ไปหลังจากรู้ความในใจบางอย่าง เขาเดินมาจนถึงวงเวียนน้ำพุที่กำลังพวยพุ่งสวยงาม และเต๋อก็เริ่มน้ำตาเอ่อไหล น้ำพุอาจบอกว่าเต๋อกำลังก้าวข้ามความรักที่เขาลุ่มหลงไปสู่ความหวังใหม่อนาคตใหม่ หรืออาจจะบอกว่าน้ำพุก็เหมือนน้ำที่พุ่งขึ้นไปบนฟ้าเหมือนจะหนีจากกับดักความจนนี้แต่สุดท้ายก็ร่วงหล่นลงมาเวียนวนอยู่ในอ่างเช่นนั้นไม่ต่างจากตู้ปลาทองแบบเดียวกัน ที่แสดงว่าเต๋อคงไม่อาจเจอทางออกในชีวิตบัดซบนี้ได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นอย่างไหนคงต้องอาศัยการตีความสีหน้าของเต๋อในฉากนี้ด้วย

อีกฉากที่สร้างความสับสนคือ ส้มเดินกลับมายังห้องของเธอและได้พบกับแม่ยืนรออยู่ในห้อง ทั้งคู่โผเข้ากอดกันและร้องไห้ แต่ผู้ชมต่างเห็นว่าในฉากก่อนนี้อ้อยได้ถูกแทงและเชื่อว่าน่าจะตายไปแล้ว คำถามคือเราจะมองว่าอ้อยรอดตายกลับมาหรือเป็นเพียงความคิดความฝันของส้มกันแน่ ตรงนี้น่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนกว่าฉากของเต๋อก็ตรงชุดที่ส้มสวมใส่เดินกลับมาห้องนั้นคล้ายชุดนอน ซึ่งน่าจะตั้งใจให้เข้าใจว่ามันคือความฝันเศร้าเปี่ยมหวังของส้มเท่านั้นเอง

และฉากที่ขึ้นเครดิตเหล่าตัวละครทั้งเป็นและตายต่างนั่งในชิงช้าสวรรค์หมุนวนขึ้นไปด้วยสีหน้าไร้ความสุข ก็อาจเป็นอีกสัญญะหนึ่งที่สอดแทรกมาย้ำอีกครั้งว่าพวกเขาต่างติดในกรงที่หลอกให้เข้าใจว่าพวกเขากำลังจะดีขึ้นแต่แท้จริงมันแค่หมุนลงกลับมาจุดเดิมซ้ำไปเท่านั้นเอง และอาจทำให้ตีความฉากสุดท้ายของเต๋อนั้นน่าจะมีความหมายในทางเศร้ามากกว่ามีความหวังด้วยเช่นกัน

‘RedLife’ จึงเป็นหนังไทยที่ดี ที่นานทีปีหนจะโผล่ขึ้นมาในระบบโรงหนังสำเร็จ ทั้งโปรดักชันที่มีคุณภาพถ่ายทอดชีวิตชั้นล่างออกมาได้อย่างสวยงาม (จนอาจถูกมองว่าประดิษฐ์ความจนให้สวยเกินจริง – แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้ขนาดนั้น) การแสดงที่ดีในหลายกลุ่มตัวละครแบบไม่ต้องห่วงหล่อสวย และบทที่สื่อสารประเด็นที่ต้องการได้อย่างน่าสนใจพอสมควร ไม่แปลกใจที่คว้าความสนใจจากตอนฉายโรงได้พอประมาณ หนังก็ทำแบบความนิยมได้สูงเมื่อลงในเน็ตฟลิกซ์อีก ซึ่งเป็นหลักฐานว่าคนไทยไม่ได้มองข้ามหนังที่ดูขายยากหรือย่อยยากแบบนี้

แม้มันจะไม่ใช่หนังที่หน้าหนังชงความสำเร็จมาเต็มที่อย่างหนังตลาดเรื่องอื่น ๆ ทว่ามันจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ชมคนไทย และอุตสาหกรรมหนังไทยไม่ว่าจะโรงหนังหรือสตรีมมิงต้องเหลือสล็อตพื้นที่ว่างนี้ไว้ให้หนังที่แตกต่างแบบนี้สม่ำเสมอ ไม่อย่างนั้นที่พูดกันว่าหนังไทยจะไปออสการ์อย่างเกาหลี จะไม่ต่างจากภาพฝันที่หลอกตัวเองไปเรื่อย ๆ เท่านั้นเอง

RedLife

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส