[รีวิว] The Goldfinger: คุยเยอะ ข้อมูลยับ ซับซ้อนจนนักแสดงเกือบแบกไม่อยู่
Our score
5.5

Release Date

08/02/2024

ความยาว

126 นาที

ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ ฉงเหวียนเชง

เขียนบทไตรภาค 'Infernal Affairs' (2002-2003), เขียนบท 'Initial D' (2005), เขียนบทและกำกับไตรภาค 'Overheard' (2009-2014),

[รีวิว] The Goldfinger: คุยเยอะ ข้อมูลยับ ซับซ้อนจนนักแสดงเกือบแบกไม่อยู่
Our score
5.5

The Goldfinger โคตรพยัคฆ์ชนคนมือทอง

จุดเด่น

  1. ถ้าคุณเป็นคนฮ่องกง หรือเข้าใจบริบททศวรรษ 1970 ของเกาะฮ่องกงดีพอเติมเต็มช่องว่างที่หนังไม่ขยาย น่าจะรู้สึกไม่สะดุด และยิ่งเข้าใจแง่มุมเล่ห์กลที่ตัวละครใช้ทั้งตัวร้ายตัวดีก็น่าจะยิ่งสนุกขึ้นอีก ใด ๆ คือพลังดาราของเหลียงเฉาเหว่ยกับหลิวเต๋อหัวในหนังคือยังทรงพลังมาก

จุดสังเกต

  1. ผู้สร้างดูไม่แคร์คนที่ไม่มีพื้นฐานของเรื่องจริงมาก่อนแต่อย่างใด การเมกอัปหรือคอสตูมต่างเวลาที่ช่วยเล่าการตัดต่อสลับช่วงเวลาไปมายังทำให้เข้าใจสับสนอยู่ การปูพื้นตัวละครของเหลียวเฉ่าเหวยมีน้อยและเราไม่ค่อยแน่ใจว่าเขาจะโลภไปทำไมจนเหมือนมันแค่มาเติมเต็มคนที่อ่านข่าวเรื่อจริงอย่างละเอียดมาก่อนแล้วเท่านั้นหรือเปล่า งานพากย์ไทยรอบนี้ยังมีจุดน่าตำหนิพอสมควร
  • บท

    4.5

  • โปรดักชัน

    6.5

  • การแสดง

    7.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    5.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    4.5

Major Cineplex logo
สนับสนุนโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ: เกาะฮ่องกงในยุค 1970s มีหน่วยงานที่ชื่อว่า Independent Commission Against Corruption (ICAC) ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อปราบปรามองค์กรชั่วร้ายที่นำโดยเจ้าหน้าที่รัฐของสหราชอาณาจักร โดยหนึ่งในเจ้าหน้าที่สืบสวนที่ยอดเยี่ยมที่สุดของหน่วยงานนี้ได้แก่ เจ้าหน้าที่สืบสวนอาวุโส หลอไคหยวน ผู้ที่เคยจัดการกับเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ในตอนที่เขาคิดว่าความมั่นคงและรุ่งเรืองกำลังจะมาถึงแล้วนั้น ยุคสมัยใหม่ของความโลภและเงินตราก็ทำให้เขาต้องเข้าไปต่อสู้ในสนามรบที่เต็มไปด้วยความสกปรกโสมมครั้งใหม่

นี่คือผลงานกำกับและเขียนบทของ เฟลิกซ์ ฉง (Felix Chong) หรือ ฉงเหวียนเชง ผู้กำกับที่เติบโตมาจากการเขียนบทหนังดังมากมายในยุคกลับมารุ่งโรจน์ของหนังฮ่องกง เช่น ‘Tokyo Raiders’ (2000), ‘Initial D’ (2005) และเปรี้ยงที่สุดกับผลงานไตรภาค ‘Infernal Affairs’ (2002-2003) ที่โดดเด่นและได้รับคำชมมากมายโดยเฉพาะเรื่องของบทภาพยนตร์ที่เขาร่วมดูแล

แม้ช่วงหลังฉงเหวียนเชงได้หันมาเขียนบทและกำกับหนังของตนเองและมีโอกาสร่วมงานกับนักแสดงดังหลายคน แต่เขาก็ไม่เคยได้คู่ขวัญแห่งเกาะฮ่องกงยุคใหม่ทั้ง เหลียงเฉาเหว่ย (Tony Leung) และ หลิวเต๋อหัว (Andy Lau) กลับมาปะทะกันอีกครั้งเลยจนกระทั่งหนังเรื่องนี้ ซึ่งก็คงต้องยอมรับว่ามันคือปัจจัยความน่าดูหลักสำหรับคอหนังฮ่องกงแล้ว แต่มันก็มาพร้อมกับดาบสองคมที่ว่าคนคาดหวังจะได้ดูการเชือดเฉือนบวกแอ็กชันเดือด ๆ อย่างใน ‘Infernal Affairs’ ซึ่งมันไม่ได้ทดแทนได้เลย

The Goldfinger

หนังอิงเรื่องจริงจากคดีทางเศรษฐกิจแห่งประวัติศาสตร์ของเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ชาวสิงคโปร์นาม จอร์จ ตัน ที่มาสร้างตัวในฮ่องกงผ่านการซื้อเพื่อขายเก็งกำไร โดยบทนี้รับบทโดยเหลียงเฉาเหว่ยและหนังเบี่ยงมาใช้ชื่อ เฉิงยี่เหยียน แทน ในขณะที่รอบนี้หลิวเต๋อหัวก็ได้มาทำหน้าที่พนักงานสอบสวนคดีทุจริตที่ซื่อตรง

ด้วยความที่สร้างจากเรื่องจริงและเป็นคดีด้านธุรกิจจึงมีศัพท์เฉพาะหรือคำอธิบายเชิงเทคนิคค่อนข้างมาก และอาจเพราะกลัวว่าคนดูจะหาวเบื่อจึงมีการตัดสลับห้วงเวลาไปมาหลายครั้งเพื่อให้เรื่องราวน่าสนใจขึ้น แต่ดันได้ผลพวงคือถ้าแยกช่วงเวลาในเรื่องไม่ออกจะงงเรื่องราวไปเยอะเลย ยิ่งการเดินเรื่องรวดเร็วผ่านบทสนทนามากมายเหมือนกลัวความยาวหนังกว่า 2 ชั่วโมงจะยังไม่สามารถจบลง ยิ่งชวนให้นึกถึงหนังออสการ์สาขาบทยอดเยี่ยมอย่าง ‘The Big Short’ (2015) ที่เล่าเรื่องราวการล้มทางเศรษฐกิจจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์คล้ายกันของอเมริกาด้วย

แต่ข้อเทียบที่ทำให้ ‘The Big Short’ ได้เปรียบกว่าคือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้นเพิ่งเกิดไม่นานและส่งผลกระทบทั่วโลก คนดูไม่ว่าจะชาติไหนก็น่าจะอินเรื่องราวได้มากกว่าเหตุการณ์บนเกาะฮ่องกงตั้งแต่ยุค 1970 อะไรอย่างนั้น ช่วงหนึ่งที่ดู ‘The Goldfinger’ อยู่ถึงกับมีคิดขึ้นมาบ้างว่าเขาทำมาให้คนฮ่องกง (หรือที่ถูกอ้างถึงอย่างมาเลเซีย) ดูกันเองมากกว่าจะให้คนชาติอื่นดู

The Goldfinger

ต้องบอกว่าหนังได้เหลียงเฉาเหว่ยกับหลิวเต๋อหัวแบกจริง ๆ เพราะการเรียบเรียงเนื้อหา วิธีเล่าลำดับเหตุการณ์ให้ไหลลื่นสมเหตุสมผลทางพฤติการณ์และอารมณ์ของตัวละคร รวมถึงการย่อยเรื่องยากอย่างวิธีการโกงอันซับซ้อนพัวพันไปถึงระบบธนาคาร ตลาดหุ้น และเครื่อข่ายธุรกิจข้ามชาติ โดยให้คนดูติดตามง่าย เขาทำสิ่งเหล่านี้ออกมาล้มเหลวพอสมควร

หนังยังดูล้มเหลวในการเลือกทิศทางการนำเสนอที่เป็นหน้าที่ของผู้กำกับตรง ๆ ด้วย ช่วงแรกเหมือนหนังจะเล่าเส้นทางมากสีสันของชายต่างชาติที่หมดตัวหนีมาไต่เต้าอย่างไม่สนวิธีการเพื่อเอาชีวิตรอดในโลกการเงิน แต่ถัดมาหนังก็ไปเล่าปมขัดแย้งระหว่างตำรวจฮ่องกงกับเจ้าหน้าที่ปราบทุจริตของสหราชอาณาจักรอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งช่วงนี้เป็นจุดที่คิดจริงจังว่าหนังมีแง่มุมประวัติศาสตร์ที่คนฮ่องกงดูแล้วอ๋อเลย ขณะที่เขาก็ไม่ได้พยายามโยงให้เห็นแง่มุมทางประวัติศาสตร์นี้ว่าสำคัญอย่างไรกับเรื่องต่อไปให้คนดูนอกฮ่องกงเข้าใจด้วยเลย

จากนั้นหนังก็เปลี่ยนโทนที่ซีเรียสจริงจังสมจริงมาก ๆ จนเหมือนสารคดีที่ใช้ฉากละครจำลองเหตุการณ์ มาใส่ความแฟนตาซีทั้งกราฟิกที่น่าขบขันหรือฉากการฉลองมีคนมาเต้นมายิงเปเปอร์ชูตอย่างไร้ที่มาที่ไป แล้วก็กลับไปเครียดจากเรื่องราวไล่จับคนโกง ก่อนจะไปมีแอ็กชันหวือหวาอย่างรถพลิกคว่ำหรือฉากระเบิดที่ดูเกินเนื้อหาของเรื่องอีก คือหาคำอธิบายมาช่วยงานกำกับยากเหลือเกินว่าทำไมออกมาแบบนี้

The Goldfinger

ขณะที่ความชื่นใจสุดก็คงเป็นการได้ดู 2 ดาราดังเชือดเฉือนฝีมือการแสดง แต่ก็ไม่วายมีหลายช่วงที่บทหนังทำให้คิดว่าหากสลับบทบาทการแสดงของทั้งคู่หนังอาจจะได้รสชาติที่ดีกว่าหรือไม่นะ เหลียงเฉาเหว่ยเล่นบทชายที่เดาทางยากมีความขี้เล่นได้ดี ทว่าในด้านพลังกดดันทรงอำนาจหลิวเต๋อหัวอาจจะทำได้ดีกว่า เช่นเดียวกันหลิวเต๋อหัวอาจเล่นบทบเจ้าหน้าที่ได้ดี ทว่าความอ่อนด้อยอำนาจแบบไม้ซีกงัดไม้ซุงผ่านรูปร่างและการแสดงคนมีปมภายในแบบเหลียงเฉาเหว่ยถนัด อาจให้ภาพของบทนี้ที่ชัดกว่า แต่นั่นก็เป็นเพียงจินตนาการที่ไม่เกิดขึ้นจริงเพียงตั้งเป็นข้อสงสัยขึ้นมาเฉย ๆ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่คงต้องขอตั้งข้อสังเกตอีกประการคือ งานพากย์ไทย ในรอบนี้ดูเป็นอะไรที่ไม่ลงตัวเท่าไรนัก คาแรกเตอร์เสียงพากย์บางตัวละครใกล้กันมากไปจนแยกยาก หรือไม่ค่อยตรงกับอิมเมจของนักแสดงนัก ในขณะเดียวกันมุกเสียงแซวหรือคำแปลเล่นคำสวย ๆ ชวนยิ้มก็แห้งแล้งลงมาก เมื่อเทียบกับมาตรฐานหนังฮ่องกงที่เคยทำกันได้ดีจากหลาย ๆ ทีมก่อนนี้ จากปกติเสียงพากย์ช่วยเพิ่มความสนุกให้หนังจีนขึ้นอีก 10%-30% กลายเป็นว่ารอบนี้ไปกดความสนุกให้น้อยลงแทน แถมดันมาเกิดในหนังที่หาความสนุกเพลิดเพลินใจได้อยากอยู่แล้วด้วยเสียนี่

The Goldfinger

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส