[รีวิว] Poor Things – ปีศาจแฟรงเกนสไตน์ฉบับช็อตฟีลปิตาธิปไตย
Our score
8.5

Release Date

22/02/2024

ความยาวหนัง

141 นาที

แนวหนัง

ตลกเสียดสี ระทึกขวัญ

ผู้กำกับ

ยอร์กอส ลันธิมอส

นักแสดง

เอ็มม่า สโตน, มาร์ค รัฟฟาโล, วิลเล็ม เดโฟ, รามี ยุสเซฟ, มาร์กาเร็ต ควอลลีย์

[รีวิว] Poor Things – ปีศาจแฟรงเกนสไตน์ฉบับช็อตฟีลปิตาธิปไตย
Our score
8.5

[รีวิว] Poor Things – ปีศาจแฟรงเกนสไตน์ฉบับช็อตฟีลปิตาธิปไตย

จุดเด่น

  1. เป็นหนังตลกที่กระตุ้นให้สมองขบคิดตามได้แบบไม่ยัดเยียด
  2. การแสดงของเอมมา สโตนและมาร์ค รัฟฟาโล คือทั้งบันเทิงและเหนือความคาดหมาย
  3. การแสดงของวิลเลม เดโฟ พิสูจน์ได้เลยว่า เมคอัพหน้าสัตว์ประหลาดไม่อาจบดบังฝีมือการแสดงของเขาได้
  4. งานภาพและดนตรีประกอบเสริมบรรยากาศและมีส่วนช่วยในการสร้างอารมณ์ร่วมให้คนดูได้อย่างยอดเยี่ยม
  5. การกำกับองค์ประกอบทุกส่วนของ ยอร์กอส ลันธิมอส เอาอยู่และบอกเล่าสารที่หนังต้องการสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จุดสังเกต

  1. จะดูหนังให้บันเทิงได้ ผู้ชมต้องเปิดใจว่าตัวละครในหนังถูกทำให้ประหลาดเพื่อพูดถึงปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ การกระทำหลายอย่างอาจดูไร้เหตุผลและน่าขบขัน (แน่นอนก็มันหนังตลก 55)
  • บทภาพยนตร์

    9.0

  • การแสดง

    9.1

  • โปรดักชัน

    8.5

  • ความบันเทิง

    8.0

  • ความคุ้มค่าในการรับชม

    8.0

สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนจะชม ‘Poor Things’ เชื่อมโยงกับการทำความเข้าใจภูมิหลังของ ยอร์กอส ลันธิมอส (Yorgos Lanthimos) ผู้กำกับชาวกรีกที่มีผลงานโดดเด่นทั้ง ‘Dogtooth’ งานแจ้งเกิดจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี 2009 จนมาถึง ‘The Favourite’ อีกหนึ่งงานที่เคยไปติดโผเข้าชิงหนังยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ในปี 2018 คงหนีไม่พ้นสังกัดของลันธิมอสเองนั่นคือ กลุ่มผู้กำกับ “คลื่นลูกเวียร์ด” แห่งประเทศกรีก และแน่นอนในประเทศที่เป็นเหมือน “อุทรแห่งวรรณกรรมโลก” การผสมผสานระหว่างตำนานปกรณัมเข้ากับปรัชญาก็มักให้ผลลัพธ์เป็น “เรื่องเล่าเวียร์ด ๆ” อย่างโลกสมมติที่หากใครครองสถานะโสดในวัยเจริญพันธุ์จะถูกรัฐบาลจับไปแปลงกายเป็นกุ้งล็อบสเตอร์ใน ‘The Lobsters’ หนังดังที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา

Major Cineplex logo
สนับสนุนโดย Major Cineplex

ต้นธารของหนังมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของนักเขียน อลาสแตร์ เกรย์ (Alasdair Gray) ที่ได้กลิ่นวรรณกรรมอมตะอย่าง ‘Frankenstein’ มาอย่างเข้มข้น เล่าเรื่องของ ดร. ก็อดวิน แบ็กซ์เตอร์ (รับบทโดย วิลเลม เดโฟ, Willem Dafoe) ที่อุตริเอาร่างไร้วิญญาณของหญิงสาวมาผ่าท้องแล้วเอาสมองทารกในครรภ์ของเธอมายัดใส่ในหัวแล้วตั้งชื่อเธอว่า เบลลา (รับบทโดย เอ็มมา สโตน, Emma Stone) และเลี้ยงดูเธอในฐานะ “สัตว์ทดลอง”

แต่ก่อนผมจะเล่าเรื่องราวต่อไปอยากจะชวนสังเกตว่าหากใครได้ชมหนังในโรงภาพยนตร์ สิ่งที่น่าสนใจของมันโดยที่เราแทบจะไม่ต้องสนใจเรื่องราวอะไรเลยคงหนีไม่พ้นการจัด มิสอองแซ็ง (Mise-En-Scene) ในหนังที่ ลันธิมอส ตั้งใจยกย่องงานเขียนของ แมรี่ เชลลีย์ (Mary Shelley) ที่มีชื่อเดิมก่อนแฟรงเกนสไตน์ว่า ‘The Modern Prometheus’ ที่เป็นการล้อเรื่องราวของ โพรมีธีอุส เทพในปกรณัมกรีกที่ปั้นสิ่งมีชีวิตจากดินโคลน และมันก็สะท้อนออกมาว่าในบ้านของ ดร.แบ็กซเตอร์ไม่ได้มี เบลลา เป็นสัตว์ทดลองเท่านั้น แต่เรายังได้เห็น เป็ดที่หัวเป็นหมา ไก่ที่ถูกเอาหัวไปใส่ร่างหมาและสัตว์ประหลาดอีกเพียบที่เดินร่อนรอบบ้านซึ่งแสดงถึง “ความไร้รับผิดชอบ” ของ “ผู้สร้าง” และมันก็ถูกย้ำจากคำเรียกแบ็กซ์เตอร์ของเบลลาที่เรียกเขาสั้น ๆ เพียงแค่ “ก็อด” หรือ “พระเจ้า” นั่นเอง

และหากใครเดาว่าเหตุการณ์ต่อไปคือเบลลาจะเริ่มคลั่งและลุกขึ้นมาฆ่าคนจนเราได้ดูหนังสยองขวัญเลือดสาดแล้วล่ะก็….คุณคิดผิดแน่นอน เพราะแม้จะเอาต้นธารมาจากวรรณกรรมอมตะแต่สิ่งที่ลันธิมอสตั้งใจบอกเล่าด้วยโทนเสียดสีที่สุดกลับเป็นการวิพากษ์สังคมปิตาธิปไตย เพราะตั้งแต่เบลลากลายเป็นทารกในร่างหญิงสาว เธอก็เริ่มเรียนรู้แก่นของความปรารถนาด้วยการสัมผัสอวัยวะเพศของเธอจนพบความสุขทางเพศแต่มันกลับขัดกับ “สมบัติของผู้ดี” ตามแบบสังคมวิคตอเรียนที่มีเพศผู้เป็นคนกำหนด

แต่แล้วเบลลากลับใช้สถานะของสัตว์ทดลองของเธอในการเรียนรู้มันอย่างจริงใจตั้งแต่การเรียกร้องด้วยความรุนแรง ทำลายข้าวของไปจนถึงทำร้ายร่างกายและหนีการจองจำเพื่อไป “ผจญภัย” พร้อมกับ ดันแคน เวดเดอร์เบิร์น (รับบทโดย มาร์ค รัฟฟาโล, Mark Ruffalo) ทนายลิ้นสาลิกาที่หวังตักตวงความสุขทางเพศจากเบลลาในลิสบอนโดยไม่คาดคิดว่า เบลลาจะเริ่มเรียนรู้โลกด้วยตัวเองและดันแคนก็ดันเกิดความหวงแหนและอยากได้เบลลามาเป็นสมบัติของเขาแต่เพียงผู้เดียว

Beartai Buzz รีวิว Poor Things
Beartai Buzz รีวิว Poor Things

และเมื่อต้องการเสียดสีสังคมปิตาธิปไตยให้เลือดซิบ ๆ แล้ว ความฉลาดอย่างหนึ่งในหนังของลันธิมอสคือการสร้าง “โลกอีกใบ” ที่อิงเพียงชื่อสถานที่จากโลกความจริงทำให้หนังไม่ต้องอ้างอิงยุคสมัยที่แม้การแต่งกายจะชวนให้นึกถึงสังคมวิกตอเรียนเพราะเริ่มเรื่องราวในลอนดอนแต่หนังกลับค่อย ๆ “ปลอมปน” ความแปลกประหลาดมากระแทกตาคนดูด้วยทั้งสีท้องฟ้าที่ดูไม่ธรรมชาติ กระเช้าข้ามเขาที่ดูประหลาดจากองค์ประกอบแบบหนังพีเรียต หรือกระทั่งควันจากเรือกลไฟที่ถูกย้อมเป็นสีเขียวเพื่อใช้ในเชิงสัญญะได้แบบเราไม่จำเป็นต้องเข้าใจในสารที่ลันธิมอสจะสื่อแบบแจ่มแจ้มแต่อย่างน้อยเราก็รับรู้ความผิดปกติได้ในเชิงประจักษ์

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่หลุดมาในโซเชียล เน็ตเวิร์กและสร้างความอื้อฉาว (เคล้ากับเสียงซี้ดของขาหื่น) ก็คือฉากเซ็กส์ในหนัง ซึ่งใครเผลอเข้าไปดูมาแล้วตามแหล่ง “ช่องทางธรรมชาติ” ก็อยากจะให้ลองตีตั๋วเข้าไปดูมันแบบที่ถูกวางไว้ในตำแหน่งของเรื่องเล่าในหนังจริง ๆ เพราะลันธิมอสและ เอมมา สโตน คงไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อเอาใจขาหื่นแน่ ๆ และหากได้ดูและ “อ่าน” ฉาก “เสว” พวกนี้จริง ๆ จะพบทั้งความเย้ยหยันที่เหมือนเป็น “แถลงการณ์เฟมินิสต์” เรื่องความสุขบนเตียงของสตรีเพศ โดยดีไซน์ผ่านการแสดงสีหน้าที่เริ่มจากการแสดงความพึงใจด้วยการเลียปากแบบทารก (ค้นพบความสุข พึงพอใจ) ไปจนถึงการครางด้วยสีหน้าเหยเก (เติมเต็มสัญชาตญาณดิบ)

ซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องเซ็กส์เท่านั้นที่เบลล่าได้เรียนรู้มันมาจากประสบการณ์หลากหลายทั้งการถูกหลอกไปขึ้นเตียงกับดันแคน แต่ในระหว่างทางเธอกลับค่อย ๆ เก็บสะสมความรู้และประสบการณ์ที่ตอบคำถามถึงความเป็น “มนุษย์” ทั้งรสชาติของเบเกอรี่ อารมณ์โกรธและสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ที่ลิสบอน หนังสือปรัชญาจากเพื่อนต่างวัยบนเรือสำราญ ธุรกิจค้ากามและกลุ่มสังคมนิยมในฝรั่งเศสจนนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องความเสื่อมถอยและการจากลาที่นำเธอกลับมาลอนดอนอีกครั้ง ซึ่งเมื่อผนวกการเรียนรู้เรื่องเซ็กส์ไปพร้อมกับการได้ผ่านพบชีวิตและปรัชญาจากผู้คนรอบข้างที่เธอพบเจอ ก็ยิ่งเป็นคำตอบว่าอะไรคือการเกิดเป็นมนุษย์ และความหมายของผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นแค่ลูกสาว แม่ เมีย ที่ถูกกำหนดโดยผู้ชาย เหนือกว่านั้นเบลลาไม่ใช่คนเดียวหรอกนะที่จะได้คำตอบแต่รวมถึงผู้ชมที่นั่งอยู่บนเก้าอี้นุ่ม ๆ เบาะพับได้ตลอด 2 ชั่วโมงครึ่งของหนังด้วย

ซึ่งเรื่องราวประหลาด ๆ ของลันธิมอส คงไม่ได้น่ารื่นรมย์และน่าสนใจหากขาดการแสดงของ เอ็มมา สโตน ที่ทุ่มเทการแสดงให้บทเบลลาแบบสุดตัว พร้อมทีมนักแสดงที่น่าสนใจทั้งดาโฟในบท แบ็กซ์เตอร์หรือพระเจ้าสุดทะลึ่งที่สร้างตัวประหลาดมาทดลองเพราะเป็นวิธีแสดงความรักแบบเดียวที่เขารู้จัก และ รัฟฟาโล ที่ทิ้งมาดผู้ชายอบอุ่นสู่หนุ่มกะล่อนกักขฬะที่มีเสน่ห์เหลือล้น หรือกระทั่ง รามี่ ยูสเสฟ (Ramy Youssef) ที่มารับบทแม็กซ์ลูกศิษย์แบ็กซ์เตอร์ที่หลังรักเบลล่าด้วยใจบริสุทธิ์ก็ให้การแสดงที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้ดาราเบอร์ใหญ่เลยด้วยซ้ำ

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่าหนังคงออกมาเครียดหัวแตกหรือสมองแทบระเบิดแน่นอน ตรงกันข้ามเลยครับ ‘Poor Things’ กลับเป็นหนังที่ให้ความบันเทิงระดับหัวเราะจนเสียสติเพราะเราจะได้พบเจอตัวละครประหลาด ๆ และแนวคิดที่ฟังยังไงก็อดหัวเราะไม่ได้เช่น แบ็กซ์เตอร์เล่าว่าพ่อของเขาตัดระบบย่อยอาหารออกไปเพื่อทดลองว่าจำเป็นกับร่างกายไหม (ปรากฎว่าจำเป็น) เลยต้องสร้างระบบย่อยอาหารต่อสายน้ำเกลือเข้าร่างกายทุกครั้งที่ต้องกิน หรือพฤติกรรมที่เป็นสันดานดิบที่อยู่ดี ๆ ชายมาดผู้ดีอย่างดันแคนกลับเกิดอาการคลั่งและหึงหวงเบลลาจนเราอดหัวเราะไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นมุกตลกแบบที่ไม่ต้องคิดตีความอะไรก็ระเบิดเสียงหัวเราะไปกับหนังได้ครับ

หนังเข้าฉายวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ สามารถคลิกซื้อบัตรชมภาพยนตร์ล่วงหน้าได้ด้วยการกดที่ภาพด้านล่าง และหนังจะฉายด้วยเรต ฉ 20 ดังนั้นโรงภาพยนตร์จะมีการตรวจบัตรประชาชนก่อนเข้าชมภาพยนตร์นะครับ

Beartai Buzz รีวิว Poor Things
กดที่ภาพเพื่อเช็กรอบฉายและซื้อบัตรชมภาพยนตร์

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส