Release Date
07/03/2024
ความยาวหนัง
105 นาที
แนวหนัง
ดราม่า
ผู้กำกับ
โจนาธาน เกลเซอร์ (Jonathan Glazer)
นักแสดง
ซานดรา ฮุลเลอร์ (Sandra Hüller) คริสเตียน ฟรีเดล (Christian Friedel)
Our score
7.2[รีวิว] The Zone of Interest – วิมานเถ้ากระดูก งานเหวอแตกสไตล์ Jonathan Glazer
จุดเด่น
- เป็นหนังต่อต้านการเล่าเรื่องที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอมาก
- นักแสดงทุกคนทำหน้าที่ได้ดี แม้เทคนิคการถ่ายทำจะทำให้การแสดงไม่โดดเด่น แต่ให้ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมชาติและเราเชื่อว่ากำลังเฝ้ามองชีวิตประจำวันพวกเขาจริง ๆ
- เป็นหนังที่เล่าเรื่องด้วยภาพและเสียงใช้ประโยชน์จากระบบโรงภาพยนตร์ได้คุ้มค่าที่สุดเรื่องหนึ่ง
จุดสังเกต
- เป็นหนังที่อาจจะไม่เหมาะกับคนที่อยากดูหนังที่มีพลอตเรื่องชัดเจน เพราะถือเป็นหนังเฝ้ามองชีวิตที่ผู้ชมต้องปะติดปะต่อเรื่องราวเอาเอง
-
บทภาพยนตร์
7.5
-
โปรดักชัน
7.0
-
การแสดง
7.5
-
ความบันเทิง
7.0
-
ความคุ้มค่าในการรับชม
7.0
ว่ากันตามหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วหนังอย่าง ‘The Zone of Interest’ อาจต้องถูกจัดหมวดหมู่ในเรื่องเล่าประเภทต่อต้านการเล่าเรื่อง (Anti-Narrative Mode) ซึ่งตามในนิยายจริง ๆ จะกล่าวถึงตัวละครสมมติชื่อ พอล ดอล นายทหารระดับสูงของนาซีที่มีหน้าที่ดูแลค่ายเอาช์วิทซ์ (Auschwitz) ที่แอบส่องภรรยาของเขากำลังเล่นชู้ และพอลวางแผนฆาตกรรมภรรยาและชู้รักโดยไม่ได้แยแสความสยดสยองที่เขากระทำต่อชาวยิว
แต่ในภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของผู้กำกับ โจนาธาน เกลเซอร์ (Jonathan Glazer) ผู้กำกับชาวอังกฤษที่มีผลงานเพียง 4 เรื่องในรอบ 23 ปี กลับตัดปมขัดแย้งที่กระตุ้นให้เกิดเรื่องราว (Dramatic Action) ด้านบนออก แล้วให้เราไปตามติดชีวิตแสนสุขีใกล้ค่ายล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยเปลี่ยนชื่อตัวละครโดยใช้ชื่อบุคคลจริงในประวัติศาสตร์อย่าง รูดอล์ฟ ฮอส (Rudolf Höss) ซึ่งนักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่เคยคุยกับฮอสเคยบรรยายถึงเขาว่าเป็นคน ‘ที่ไม่แยแสต่อโลกเกินกว่าจะรู้สำนึกผิด’ (There is too much apathy to leave any suggestion of remorse)
โดยสิ่งที่เราจะได้เห็นในชีวิตประจำวันของฮอส (รับบทโดย คริสเตียน ฟรีเดล,Christian Friedel) อย่างงานบริหารค่ายเอาช์วิทซ์คือการนั่งฟังเซลล์แมนขายนวัตกรรมเตาเผาศพยิวที่มีคุณสมบัติในการเผาร่างได้ครั้งละ 500 ศพในตอนต้นเรื่อง จากนั้นเราจะพบว่าชีวิตการงานของฮอสเริ่มสั่นคลอนเพราะมีคำสั่งย้ายเขาออกจากเอาช์วิทซ์ซึ่งฮอสได้สร้างบ้านดั่งวิมานไว้ ทำให้เขาพยายามวิ่งเต้นเพื่อให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตในฝันของนาซีกับภรรยาอย่าง เฮดวิก (รับบทโดยซานดรา ฮุลเลอร์, Sandra Hüller) และลูก ๆ
ในขณะเดียวกันหนังก็ยังมีเหตุการณ์ย่อย ๆ ที่ถูกแทรกเข้ามาทั้งกรณีแม่ยายของฮอสมาเยี่ยมครอบครัวแล้วเฮดวิกได้สาธยายความดีงามของชีวิตในวิมานติดค่ายกักกันนี้ หรือกระทั่งภาพจากกล้องอินฟราเรดที่กำลังจับภาพเด็กสาวคนหนึ่งที่แอบเอาอาหารไปซุกซ่อนไว้ให้เหล่านักโทษในค่าย ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดเวลาเพียง 105 นาทีของหนังคนดูจะไม่ได้เห็นภาพความโหดร้ายใด ๆ มีเพียงผลพวงที่มาจากค่ายเช่นเสียงร้องโหยหวนขณะเด็ก ๆ ในบ้านกำลังเล่นสนุกกันอยู่หรือเถ้ากระดูกที่ลอยมาตามน้ำขณะที่ฮอสพาลูก ๆ ไปตกปลา
ไม่เพียงเรื่องราวที่ไม่มีปมขัดแย้งคอยกระตุ้นอารมณ์เท่านั้นแต่งานกำกับภาพของหนังโดย ลูคาสซ์ ซาล (Łukasz Żal) ที่เคยได้ออสการ์ไปแล้วจากหนังขาว-ดำของโปแลนด์เรื่อง ‘Ida’ ซาลได้ร่วมกับเกลเซอร์ในการใช้วิธีซ่อนกล้องตามจุดต่าง ๆ ในบ้าน ถึงขนาดโฟกัสพูลเลอร์ (Focus-puller) หรือคนคอยหมุนโฟกัสกล้องยังต้องซ่อนตัวอยู่ชั้นใต้ดินด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นแนวคิดเหมือนการทำหนังสายสัจนิยม (Realism) ที่กล้องมีหน้าที่สังเกตการณ์ (Observing) และไม่ตัดสินว่าสิ่งที่คนดูเห็นถูกหรือผิด แต่ในขณะเดียวกันมันยังเป็นเหมือน’นั่งร้าน’ ที่พาคนดูจินตนาการถึงความโหดร้ายภายนอกกำแพงซึ่งนำมาความสยดสยองและแสนอึดอัดให้เกิดกับคนดูตลอดเวลารับชม (แม้ภาพที่เห็นจะสวยงามดั่งภาพวาดก็ตาม)
และอีกปัจจัยที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือเรื่อง ‘เสียง’ ตั้งแต่ซาวด์ดนตรีประกอบสุดหลอนในวิช่วลแบบแอบสแตรก (Abstract) ที่ได้ มิกา เลวี (Mica Levi) ที่เคยร่วมงานกับเกลเซอร์มาแล้วใน ‘Under the skin’ หนังปี 2013 ที่ทำให้งานภาพที่เหมือนไม่สำคัญทั้งภาพดอกไม้หรือภาพจอดำมืด ภาพที่มีแต่สีแดง ดนตรีของเลวีนับว่ามีส่วนช่วยให้ภาพพวกนี้แสดงถึงภาวะความไม่ปกติบางอย่างที่หนังเลือกจะไม่ให้เราเห็นได้ดีมาก และอีกหนึ่งองค์ประกอบเรื่อง ‘เสียง’ ที่น่าสนใจได้แก่งาน ดีไซน์เสียงของ จอห์นนี เบิร์น (Johnnie Burn) ซาวด์ดีไซเนอร์ที่รับหน้าที่ในการออกแบบเสียงให้หนัง
โดยเสียงหนึ่งที่มีความโดดเด่นมาก ๆ ที่ผู้ชมจะได้ยินตลอดทั้งเรื่องได้แก่ เสียงหวูดต่ำ ๆ ซึ่งใช้แทนเสียงของเตาเผาศพคนยิว ซึ่งเดิมทีเสียงเตาเผาศพจริงจะมีความแหลมทำให้เบิร์นต้องนำเสียงมาปรับแต่งให้เป็นโทนต่ำอีกครั้งจนได้ซาวด์สุดหลอน นอกจากนี้ในฉากบทสนทนาธรรมดาการทำงานก็ไม่ได้ง่ายเช่นกัน เพราะใช้วิธีการซ่อนไมโครโฟนในบ้านร่วม 20 ตัวในการบันทึกเสียงบทสนทนา ทำให้ซาวด์บทสนทนาออกมาประหนึ่งว่าผู้ชมกำลังแอบฟังชีวิตชาวบ้านซึ่งเป็นงานหินไม่น้อยเพื่อให้คงคุณภาพของงานเสียงสำหรับฉายในโรงภาพยนตร์ได้อย่างไร้ที่ติเช่นนี้
สรุปแล้ว ‘The Zone of Interest’ หนังที่ได้เข้าชิงออสการ์ 5 สาขาได้แก่ หนังยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทดัดแปลงยอดเยี่ยม ,บันทึกเสียงยอดเยี่ยม และ หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม อาจจะไม่ใช่หนังที่ดูเพื่อความบันเทิงแบบเอะอะมะเทิ่งได้เหมือนหนังชิงออสการ์เรื่องอื่น และถือเป็นหนังในแดนอาร์ตเฮาส์ ซีเนมา (Arthouse Cinema) ด้วยซ้ำ แต่ขอยืนยันนะครับว่าหนังเรื่องนี้คือหนังที่ควรชมในโรงภาพยนตร์สักครั้ง เพราะการดีไซน์งานภาพ เสียงและการกำกับที่กึ่ง ๆ ละครเวที กึ่ง ๆ สารคดีแบบนี้ไม่ได้ปรากฎในหนังฉายโรงบ้านเราบ่อยครั้งนักนะครับ
หนังฉายวันที่ 7 มีนาคม 2567 ฉายต้อนรับงานประกาศผลรางวัลออสการ์ 1 สัปดาห์ครับ แต่ข่าวล่าสุดคือหนังจะเปิดรอบพิเศษระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2567 ด้วย สามารถกดภาพด้านล่างเพื่อเช็กรอบฉายได้เลย
***