Release Date
27/02/2024
แนว
ผจญภัย/ดราม่า/ประวัติศาสตร์
จำนวนซีซัน
1 ซีซัน (10 ตอน)
เรตผู้ชม
TV-14
ครีเอเตอร์
ราเชล คอนโดะ (Rachel Kondo), จัสติน มาร์ค (Justin Marks)
Our score
8.6Shōgun | 将軍 | โชกุน
จุดเด่น
- ควบคุมความเป็นญี่ปุ่นในภาพรวม รายละเอียด และจิตวิญญาณความเป็นญี่ปุ่นมีครบเหมือนดูซีรีส์ญี่ปุ่นในสเกลฮอลลีวูด
- งานสร้าง ภาพ องค์ประกอบ อลังการแทบไม่มีจุดหลุด บรรยากาศความเป็นญี่ปุ่นโบราณสมจริงมาก
จุดสังเกต
- ตัวละครค่อนข้างเยอะ ต้องออกแรงจำชื่อ/อำนาจ/ความสัมพันธ์/บทบาทในเรื่องค่อนข้างเยอะพอสมควร
- เส้นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นการเมือง ความขัดแย้ง การแย่งชิงอำนาจของบรรดาโชกุน ซามูไร ศักดินาญี่ปุ่นค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร ต้องค่อย ๆ ละเลียด
-
คุณภาพด้านการแสดง
8.2
-
คุณภาพโปรดักชัน
8.5
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
8.8
-
ความบันเทิง
8.4
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
9.1
แต่เดิม ‘Shōgun’ หรือ ‘โชกุน’ เป็นหนังสือนิยายอิงประวัติศาสตร์ ผลงานการเขียนของ เจมส์ คลาเวลล์ (James Clavell) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1975 ตัวนิยายเป็นการดัดแปลงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นของการเรืองอำนาจของระบบศักดินาในญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันว่า ‘โชกุน’ ในช่วงคริสตศักราช 1600 ผ่านสายตาของอันจิน หรือ จอห์น แบล็กธอร์น (John Blackthorne) ต้นหนเรือชาวอังกฤษที่อ้างอิงมาจากตัวตนจริงของ วิลเลียม อดัมส์ (William Adams) หรือ มิอุระ อันจิน (三浦按針) นักเดินเรือชาวอังกฤษคนแรกที่ได้เข้าไปยังญี่ปุ่น และเข้าไปพัวพันกับเกมการเมืองช่วงชิงอำนาจ ในวงล้อมของไดเมียวโทรานางะ (Yoshi Toranaga) อ้างอิงต้นแบบมาจากโชกุน โทกุงาะวะ อิเอยะสุ (徳川家康) โชกุนคนแรกแห่งยุคเอโดะ มียอดขายรวมทั่วโลกมากกว่า 15 ล้านเล่ม
ตัวหนังสือเคยถูกดัดแปลงเป็นมินิซีรีส์ 9 ตอนของช่อง NBC ในปี 1980 และเคยดัดแปลงทั้งละครบรอดเวย์ เกม และล่าสุด แพลตฟอร์มสตรีมมิง FX ก็นำเอานิยายเรื่องนี้มาดัดแปลง โดยได้ ราเชล คอนโดะ (Rachel Kondo) เชื้อสายญี่ปุ่น และสามี จัสติน มาร์ค (Justin Marks) คนเขียน Story ให้กับ ‘Top Gun: Maverick’ (2022) รับหน้าที่เป็นครีเอเตอร์และกำกับ 2 ตอนแรกให้กับซีรีส์เรื่องนี้ และได้ ฮิโรยูกิ ซานาดะ (Hiroyuki Sanada) หรือลุงชิเหน๋ที่เรารู้จักกันดีมาร่วมแสดงนำ และเป็นโปรดิวเซอร์ดูแลภาพรวมของความเป็นญี่ปุ่น รวมทั้งบรรดาทีมงาน ที่แม้ว่าจะเป็นงานสเกลฮอลลีวูด แต่ก็มีทีมงานญี่ปุ่นเข้าไปร่วมทำงานและแสดงด้วย (ตามความประสงค์ของซานาดะเอง) จนออกมาเป็นมินิซีรีส์ความยาว 10 ตอนเรื่องนี้ครับ
เรื่องราวของซีรีส์ ‘Shōgun’ เริ่มต้นขึ้นในยุคศักดินาญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 ก่อนการวายชนม์ โชกุนไทโกะได้แต่งตั้งรัชทายาทที่ยังทรงพระเยาว์เกินกว่าจะขึ้นครอง แต่เพื่อความเรียบร้อย ไทโกะได้แบ่งอำนาจการปกครองให้กับไดเมียวผู้สำเร็จราชการ 5 คนจาก 5 ตระกูล แต่ด้วยเกมการเมือง ทำให้ โยชิอิ โทรานางะ (ฮิโรยูกิ ซานาดะ – Hiroyuki Sanada) ไดเมียวผู้ปกครองแคว้นคันโต ต้องเผชิญกับการท้าทายอำนาจของคู่แข่ง ในเวลาเดียวกัน กองเรือขนส่งสินค้าของชาวดัตช์ 5 ลำที่มีลูกเรือรวมกว่า 500 คนได้ถูกพายุพลัดหลงสูญหายไปในทะเลหมด เหลือแต่เพียงเรือ อิรัสมัส (Erasmus) ที่มี จอห์น แบล็กธอร์น (คอสโม จาร์วิส – Cosmo Jarvis) ต้นหนชาวอังกฤษคอยดูแลอยู่
เขาและเรือลำนี้พลัดหลงเข้ามายังดินแดนญี่ปุ่น แบล็กธอร์นจึงถูกไดเมียว คาชิงิ ยาบูชิเงะ (ทาดาโนบุ อาซาโน – Tadanobu Asano) ผู้ปกครองจังหวัดอิซุ (ในแคว้นคันโต) จับตัวมาเป็นเชลย แต่ในที่สุด เขาต้องเข้าไปเผชิญกับความยากลำบากในการเอาตัวรอดบนแผ่นดินเถื่อนที่เขาไม่เคยรู้จัก และยังต้องเข้าไปเป็นเบี้ยหมากของไดเมียวโทรานางะ โดยมี โทดะ มาริโกะ (แอนนา ซาไว – Anna Sawai) หรือท่านหญิงมาริโกะ ล่ามหญิงผู้นับถือศาสนาคริสต์ผู้เสื่อมเสียเกียรติยศ คอยเป็นล่ามให้ และเธอเองก็ยังต้องการพิสูจน์ถึงความจงรักภักดีของเธอให้เป็นที่ประจักษ์ ท่ามกลางเกมการเมืองระบบศักดินา ความขัดแย้งของคนต่างศาสนาในดินแดนอันลึกลับแห่งนี้
แม้ว่าผู้เขียนจะได้มีโอกาสดูซีรีส์เรื่องนี้ไปเพียง 2 ตอนนะครับ ซึ่งโดยรวมแล้วก็ขับเคลื่อนด้วย Pace ที่ไม่ช้าแต่ก็ไม่เร็ว แต่ก็ถือว่าเป็นช่วงเริ่มแรกของเนื้อหาทั้งก้อนที่คลี่คลายอะไรบางอย่างเอาไว้ให้ผู้ชมได้มากพอสมควร (จนนึกไม่ออกเลยว่าอีก 8 ตอนเรื่องราวมันจะไปถึงขั้นไหน) สำหรับผู้เขียน สิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับการติดตามซีรีส์เรื่องนี้ให้ทันต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นโบราณ สงครามการเมืองที่มีเรื่องของความเป็นเทือกเถาเหล่ากอ การเล่นพรรคเล่นพวก บทบาทของผู้ชายและผู้หญิงในสังคมยุคโชกุน ความเชื่อและธรรมเนียมยึดถือที่แตกต่างกันเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งความสัมพันธ์ของบรรดาบุคคลที่อยู่ในวงล้อมเกมการเมืองที่เกิดขึ้นและถูกอธิบายเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรกครับ สายตาของคนดูในตอนแรก ๆ จึงไม่ต่างอะไรกับสายตาของแบล็กธอร์น ที่ต้องพบกับ Culture Shock เมื่อได้พบกับดินแดนสนธยาที่มีทั้งความสุนทรีย์และป่าเถื่อน
อันที่จริง แม้วิถีและจิตวิญญาณแห่งญี่ปุ่นก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวนักนะครับ คงน่าจะเคยเห็นเรื่องเกี่ยวกับวิถีแห่งบูชิโดของซามูไร หญิงสาวรับใช้ที่มีหน้าที่ลับ ความโหดร้ายผิดมนุษย์มนาของชนชั้นปกครองที่กระทำต่อคนที่ต่ำกว่า การคว้านท้อง หรือ เซ็ปปุกุ (切腹) เพื่อลงโทษตัวเองและรักษาเกียรติ ที่เป็นตัวบ่งบอกถึงวิถีซามูไรที่กล้าเผชิญความตายแบบไม่หวั่นเกรง นิสัยความถ่อมตน ความละเอียดพิถีพิถันในการทำสิ่งต่าง ๆ การแต่งกวี การมองเรื่องเพศเป็นเรื่องสุนทรีย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยผ่านหูผ่านตาคนที่เสพวรรณกรรมแนวซามูไร แนวญี่ปุ่นโบราณ หรือแม้แต่การนำเสนอผ่านตัวละครชาวญี่ปุ่นโบราณในหนังฮอลลีวูดมาบ้างอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้ทำได้น่าสนใจเลยก็คือ มันไม่ใช่แค่เพียงกิมมิกที่ทำให้คนญึ่ปุ่นดูเป็นคนญี่ปุ่น (จากสายตาของคนต่างชาติ หรือฮอลลีวูด) เฉย ๆ แต่ตัวซีรีส์ทำให้เห็นชัดเลยว่า สิ่งเหล่านี้มันฝังลึกในสายเลือดและเป็นธรรมชาติของคนญี่ปุ่นจริง ๆ
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจ ซึ่งก็ต้องชมเชยทีมงานที่พยายามจะนำเสนอเรื่องราวนี้ผ่านสายตาของคนญี่ปุ่นจริง ๆ นี่ยังไม่นับรวมกำแพงทางภาษาของคนโบราณที่ยากลำบากก็เช่นกัน อันนี้ต้องชื่นชมซีรีส์ด้วยล่ะที่ตัดสินใจไม่ให้ตัวละครทุกคนพูดอังกฤษเหมือน ๆ กันไปหมด และมันก็กลายเป็น Conflict ที่แบล็กธอร์นต้องเจอ พอสื่อสารลำบากก็ยากที่จะไว้ใจใครได้ ซึ่งทั้งหมดนี้มันก็เลยทำให้ซีรีส์ประสบความสำเร็จในแง่ของการทำให้คนดูได้เห็นภาพรวมของญี่ปุ่นยุคโบราณในแบบเดียวกับสายตาของแบล็กธอร์น
ในขณะที่ซีรีส์เองก็ไม่ได้แค่ต้องการนำเสนอความ Culture Shock (แตก) ผ่านสายตาของคนนอกเท่านั้น เพราะสิ่งที่แบล็กธอร์นและคนดูต้องเจอก็คือ บรรดาเกมการเมืองและความสัมพันธ์ในวังวนศักดินาญี่ปุ่นที่มีความซับซ้อนและคุกรุ่นมาแล้วก่อนหน้า ใน 2 ตอนแรกจึงเป็นการประกอบเรื่องราวทุกอย่างเข้าด้วยกันให้ผู้ชมพอเข้าใจ ตั้งแต่ปัญหาระหว่างประเทศ ปัญหาภายในประเทศจากการเปลี่ยนผ่านการปกครองจากกษัตริย์ไปสู่โชกุน การแย่งชิงอำนาจของตระกูลผู้ครองศักดินา และมุมมองที่ศักดินาญี่ปุ่นมีต่อชาวตะวันตกทั้งสเปนและโปรตุเกส สถานะเป็นต่อ-เป็นรองในเกมการเมืองของมิชชันนารีชาวคาทอลิก คณะเยซูอิต ที่ไม่ได้แค่เข้ามาสอนศาสนาและภาษา และตอนนั้นแหละที่ตัวซีรีส์เองค่อย ๆ ถอยออกมามองชาวตะวันตกด้วยสายตาของชาวญี่ปุ่น (และศักดินาญี่ปุ่น) ด้วยเช่นกัน โดยมีแบล็กธอร์นที่กลายเป็นเหมือนหมากตัวที่ 3 ที่ดันทะลึ่งเข้ามาในเกมนี้แบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ และเขาเองก็อาจเป็นได้ทั้งตัวเปลี่ยนและล้มเกมการเมืองกระดานนี้ได้เลยทีเดียว
ส่วนในแง่โปรดักชัน ก็ต้องชื่นชมฝั่งของฝรั่งแหละครับที่ยอมเปิดทางให้ความเป็นญี่ปุ่นเข้ามาแทรกซึมได้มากขนาดนี้ ในขณะที่ก็ยังได้งานโปรดักชันสเกลซีรีส์ดัง ๆ ของฮอลลีวูด ทั้งงานด้านภาพ เสียง การใช้สถานที่ (ที่ไม่ได้ถ่ายในญี่ปุ่นจริง ๆ แต่ดันไปถ่ายที่ชายฝั่งรัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดาที่ดูมีความญี่ปุ่นแทน) รวมทั้งการให้นักแสดงญี่ปุ่นมาเล่นเป็นคนญี่ปุ่นจริง ๆ และได้ทีมงานของญี่ปุ่นมาดูแลองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้ง พรอป คอสตูม ลวดลายผ้า การแต่งหน้า สีผิว เส้นผมของตัวละคร (เพื่อบ่งบอกศักดินา) และการเคลื่อนไหวร่างกายแบบคนญี่ปุ่น ที่ต้องมีทีมงานเฉพาะทางมาเป็นคนดูแลเป็นการเฉพาะ ซึ่งอันนี้ก็ต้องยกเครดิตส่วนหนึ่งให้กับ ฮิโรยูกิ ซานาดะ ในฐานะโปรดิวเซอร์ที่เข้ามาดูแลให้ซีรีส์เรื่องนี้มีความเป็นญี่ปุ่นแบบแท้ ๆ ที่ถูกห่อหุ้มด้วยงานโปรดักชันแบบฮอลลีวูด ไม่ใช่หนังฮอลลีวูดที่มีคนญี่ปุ่นแบบตัวประกอบเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต
แม้จะเป็นแค่ 2 ตอนแรก แต่ผู้เขียนเองก็พอจะรู้สึกได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้มีความกล้าหาญสูงมาก และน่าจะ Epic มากพอที่จะประสบความสำเร็จได้ครับ ด้วยองค์ประกอบ 2 อย่างที่ประกอบเข้ากัน ทั้งการถ่ายทอดจิตวิญญาณแบบญี่ปุ่นที่เข้าถึงตั้งแต่บทและการแสดง ในคราบของโปรดักชันฟอร์มยักษ์สไตล์ฮอลลีวูด ถ้าไม่ดวงกุดซะก่อน ตอนต่อ ๆ ไปก็น่าจะได้เห็นอะไรที่ลึกขึ้น ยิ่งใหญ่ขึ้น
เพราะขนาด 2 ตอนแรกก็มีเรื่องการเมืองข้นคลั่กมากทีเดียว ด้วยความซับซ้อนระดับนี้ สิ่งที่ผู้เขียนอยากแนะนำก็คือ ถ้าจะให้แนะนำในการชมให้เข้าใจเรื่องราว ผู้เขียนคงแนะนำได้แค่ว่าควรดูอย่างตั้งใจครับ เพราะผู้เขียนเองก็ต้องค่อย ๆ ดู กรอแล้วกรออีกหลาย ๆ รอบ จนพอจะมองภาพรวมออกว่าใครเป็นใคร ใครทำอะไรกับใคร ใครมีความสัมพันธ์กับใคร หรือจะหาแผนผังมาเปิดดูประกอบด้วยก็ไม่เสียหลาย
ตอนนี้ผู้เขียนได้แต่ภาวนาว่า หนึ่ง ขอให้ซีรีส์เรื่องนี้ไไม่โดนดาบซามูไรกระซวกจนตกม้าตายแถวตอนปลายซีซันเหมือนซีรีส์หลาย ๆ เรื่อง ขอให้ไปตลอดรอดฝั่งจนติดโผซีรีส์แห่งปีนี้ไปเลย เพราะโดยรวม ๆ ซีรีส์เรื่องนี้ก็มีศักยภาพถึงพร้อมที่จะกลายเป็นซีรีส์แห่งปีได้ไม่ยากเลย ดูคะแนนจาก Rotten Tomatoes ก็ได้ และสอง อย่าให้ลุง ฮิโรยูกิ ซานาดะ ต้องร้องชิเหน๋อีกเลยครับ ขอร้อง