Release Date
04/04/2024
แนว
สยองขวัญ
ความยาว
2.00 ช.ม. (120 นาที)
เรตผู้ชม
R
ผู้กำกับ
อาร์คาชา สตีเวนสัน (Arkasha Stevenson)
Our score
7.5The First Omen | กำเนิดอาถรรพ์หมายเลข 6
จุดเด่น
- เชื่อมต่อกับเรื่องราวของภาคแรกต้นฉบับได้อย่างพอดี และสร้างจักรวาลเอาไว้ได้โดยไม่ต้องปาหมอน
- นีล ไทเกอร์ ฟรี เป็นกึ่ง ๆ ตัวแบกหนังที่เอาอยู่ในทุกโมเมนต์ ทั้งมุมใจดีและใจแตก น่ารักและน่ากลัว
- องค์ประกอบภาพ การใช้เสียง+ความเงียบช่วยสร้างบรรยากาศ ความสยองมาแบบค่อย ๆ แต่น่าขยะแขยงชวนเหวอ
- เก็บและเลือกจิตวิญญาณจากภาคแรกมาใช้ได้ดี แก่นเรื่อง โทนความสยองยุค 70s ผสมกับจังหวะแบบยุคใหม่ลงตัว
จุดสังเกต
- จังหวะสยองขวัญอาจไม่ถูกคอหนังสยองยุคใหม่ และคนที่ดูภาคแรกมาแล้ว หรือหวังอยากได้ฉากโหดแรง ๆ พิศดาร
- การปูเรื่องในองก์แรกค่อนข้างนาน ต้องอาศัยความใจเย็นพอสมควร
- ถ้าดูภาคแรกฉบับปี 1976 ก็จะดูได้อย่างเต็มอิ่ม แต่ดูภาคนี้ก่อนแล้วค่อยย้อนไปดูก็ไม่ผิดบาป
-
คุณภาพด้านการแสดง
7.2
-
คุณภาพโปรดักชัน
7.4
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
8.0
-
ความบันเทิง
7.6
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
7.4
แม้จะเป็นแฟรนไชส์ที่อาจไม่คุ้นชื่อสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่เมื่อ 48 ปีที่แล้ว ‘The Omen’ เวอร์ชันปี 1976 เป็น 1 ในหนังสยองขวัญระดับ (เกือบจะเป็น) ตำนานที่เป็นคลื่นลูกใหม่ของหนังสยองขวัญระดับปรากฏการณ์ ‘The Exorcist’ (1973) และเป็นคลื่นลูกใหม่ของหนังแนวบูชาซาตาน ต่อต้านพระเจ้า (Antichrist) ไล่หลังมาจาก ‘Rosemary’s Baby’ (1968) และว่ากันว่าฉากการตายโหด ๆ ของหนังชุดนี้ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับแฟรนไชส์ ‘Final Destination’ แบบกลาย ๆ ด้วย โดยหนัง ‘The Omen’ เป็นผลงานการเขียนบทและเรื่องราว และดัดแปลงฉบับนิยายโดย เดวิด เซลท์เซอร์ (David Seltzer) กำกับโดย ริชาร์ด ดอนเนอร์ (Richard Donner) ผู้กำกับคุ้นชื่อจาก ‘Superman’ (1978) ในตำนาน
ชื่อเสียงของ ‘The Omen’ ภาคแรกไม่ได้มีแค่ด้านคำวิจารณ์และรายได้ที่อยู่ในระดับดีเท่านั้น แต่มันยังสร้างปรากฏการณ์หนัง Antichrist ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศ ฉากการตายแบบโหดพิสดาร ผสมพล็อตแนวสืบสวนสอบสวนแบบหนังสยองขวัญยุค 70s และตัวละครบุตรแห่งซาตาน เดเมียน ธอร์น (Damien Thorn) เด็กชายที่เกิดวันที่ 6 เดือน 6 ปี 1976 เวลา 6 โมงเช้า ความสำเร็จด้านรายได้และกระแส (ชื่นชอบ-ต่อต้าน) ทำให้ 20th Century Fox เข็นภาคต่อออกมา แต่ก็เทียบกับภาคแรกไม่ติด ตั้งแต่เรื่องราวของเดเมียนวัยมัธยมใน ‘Damien: Omen II’ (1978), และปิดฉากเดเมียนวัยผู้ใหญ่ใน ‘Omen III: The Final Conflict’ (1981) และเริ่มตอกฝาโลงตั้งแต่ ‘Omen IV: The Awakening’ (1991) ฉบับหนังทีวีที่เปลี่ยนเพศลูกซาตานเป็นผู้หญิง (ทำไม ? ) และฉบับรีเมกปี 2006 ที่ก็ยังแป้ก ปิดตายแฟรนไชส์จากไปอย่างสงบ
จนมาถึงปีนี้ 20th Century Studios ขอตามกระแสฮอลลีวูดด้วยการการปลุกชีพหนังภาคต่อ แต่ความพิเศษของ ‘The First Omen’ ก็คือมันเป็นหนัง Prequel หรือหนังภาคต้นที่เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนถึงเวลาที่เด็กชายเดเมียนจะถือกำเนิดใน ‘The Omen’ ภาคแรก โดยในภาคนี้ได้ อาร์คาชา สตีเวนสัน (Arkasha Stevenson) ผู้กำกับซีรีส์สยองขวัญ ‘Channel Zero’ (2018) และ ‘Brand New Cherry Flavor’ (2021) มาชิมลางกำกับหนังยาวครั้งแรก และร่วมเขียนบทกับ คีธ โธมัส (Keith Thomas) และ ทิม สมิธ (Tim Smith)
‘The First Omen’ เล่าเรื่องของ ซิสเตอร์มาร์กาเร็ต เดโน (นีล ไทเกอร์ ฟรี – Nell Tiger Free) แม่ชีวัยสาวชาวอเมริกัน ที่ถูกส่งตัวไปยังกรุงโรม อิตาลี ให้มารับใช้ในคอนแวนต์แห่งหนึ่งที่เป็นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า แต่แล้วมาร์กาเร็ตก็ต้องพบกับสิ่งผิดปกติ เมื่อเธอได้พบกับ คาร์ลิตา สกิอันนา (นิโคล โซเรซ – Nicole Sorace) เด็กสาวกำพร้านิสัยเก็บตัวหวาดระแวง และ ซิสเตอร์แองเจลิกา (อิชตาร์ เคอร์รีย์ วิลสัน – Ishtar Currie-Wilson) พี่เลี้ยงของเด็กกำพร้า พร้อม ๆ กับที่เธอต้องเหตุวิปลาศและลางร้ายที่เกิดขึ้นมา จนกระทั่งเธอได้ล่วงรู้ความลับบางอย่างจากบาทหลวงเบรนแนน (ราล์ฟ อิเนสัน – Ralph Ineson) ถึงแผนการลับสยองขวัญของคนบางกลุ่มที่กำลังต้องการปลุกชีพซาตานให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
ด้วยความที่หนังเรื่องนี้มีสถานะเป็น Prequel ของจักรวาล ‘The Omen’ นะครับ แต่พอหลังจากดูจบแล้ว ผู้เขียนกลับรู้สึกว่าตัวหนังมีเจตนาต้องการจะเชื่อมต่อกับหนังต้นฉบับของดอนเนอร์มากกว่าฉบับรีบูตและรีเมก ไม่ว่าจะด้วยเซ็ตติงเวลาที่เกิดขึ้นในยุคนั้นพอดี รวมทั้งการ Easter Egg จากหนังต้นฉบับ ฉากคลาสสิกที่โหดกว่าเดิม พร้อมกับประโยค “It’s all for you, Damien” (เดเมียน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเธอ) รวมทั้งการหยิบข้อมูลจากตัวละครบาทหลวงเบรนแนน (ในฉบับ 1976) เกี่ยวกับวันโลกาวินาศ การกลับมาเกิดของซาตานตามคัมภีร์ไบเบิล หรือแม้แต่การขยายปมจากข้อมูลที่หนังทิ้งเอาไว้ว่า เดเมียนคือบุตรของซาตานที่เกิดจากแม่ชีกับหมาไน รวมทั้งธีมที่ต้องการให้ซาตานลงมามีตัวตนบนโลกในยุคปัจจุบัน และพยายามใช้อิทธิพลในการยึดครองอำนาจ และถ้าใครพยายามจะกำจัดหรือขัดขวาง ก็ล้วนมีอันเป็นไปทุกราย
แม้ว่าตัวหนังจะเชื่อมต่อกับภาคแรกของดอนเนอร์ แต่ผู้เขียนก็อยากแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องดูก่อนนะครับ ไปดู ‘The First Omen’ ก่อนเลยก็ได้ แล้วย้อนกลับมาดู ‘The Omen’ อีกที เพราะตัวหนังมันเจ๋งตรงที่นอกจากจะตอบคำถามและเชื่อมปมบางอย่างเข้ากับภาคแรกได้อย่างครบถ้วนและพอดิบพอดีกับภาคแรกแบบไร้รอยต่อ เหมือนเป็น ‘Rogue One’ ที่มาเชื่อมจักรวาล ‘Star Wars’ ได้พอดีกันอะไรแบบนี้
และที่ผู้เขียนแอบโล่งใจก็คือ ตัวหนังเลือกที่จะแฟร์ ๆ ในการจบเรื่องราวของตัวหนังเอาไว้ที่เหตุการณ์ใน ‘The Omen’ เพียงเท่านั้น ไม่ได้พยายามจะโกงหรือปาหมอนด้วยการตัดจบ ดัดแปลงเรื่องให้ยืดออก หรือกั๊กเอาไว้มีภาค 2 แต่ในขณะเดียวกัน ตัวหนังก็ทิ้งปมและตัวละครเผื่อเอาไว้เป็นภาคต่อหรือ Spin-Off ที่เหมาะสมสำหรับการขยายจักรวาลได้ด้วย (นี่หว่า) มันเลยเป็นความโล่งใจที่ตัวหนังไม่ได้โกงเราเหมือนที่หนังฮอลลีวูดหลายเรื่องทำกัน
สำหรับใครที่เคยผ่านตาหรือเคยดูมาแล้วก็จะพอรู้สึกได้ว่ามันแตกต่างออกไปจากภาคอื่น ๆ ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องที่มีกลิ่นอายความเป็นกอธิกอย่างชัดเจน รวมทั้งการที่ผู้กำกับหญิงอย่างสตีเวนสันเองได้รับอนุญาตให้ใส่เอกลักษณ์ของตัวเองลงมาในหนังได้มากพอสมควร สิ่งที่ได้เห็นในหนังชัดเจนก็คือ การเล่าจากมุมมองของผู้หญิงเป็นครั้งแรกครับ ที่ผ่านมาเราจะได้เห็นมุมมองจากเดเมียน และมุมมองของผู้ชายเป็นหลัก ในขณะที่ภาคนี้สามารถนำเอาความเป็นผู้หญิงมาเล่าเป็นแกนกลาง ทั้งเรื่องของความตึงเครียด ความอึดอัด ความเจ็บปวดของผู้หญิงที่อยู่ภายใต้ความเชื่อของศาสนจักรในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ภาพของผู้หญิงที่ถูกตัดสินและถูกเลือกปฏิบัติจากคนมีอำนาจ สิทธิในเนื้อตัวของผู้หญิง การล่วงละเมิดทางเพศ และการมองผู้หญิงเป็นเพียงภาชนะรองรับให้ซาตานกลับมาเกิด
ตัวหนังค่อย ๆ ฉายให้เห็นภาพของความยากลำบากของผู้หญิงที่ถูกตัดสินว่าบกพร่อง และพวกเธอถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับกลุ่มคนที่ต่อต้านในพระเจ้า ประกอบกับภาพของความหละหลวม ไม่เคร่งครัด และหมิ่นเหม่ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับวงล้อมของคนภายในคริสตจักรด้วย รวมทั้งภาพของสังคมอิตาลียุค 70s ที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่-คนหัวสมัยใหม่หัวขบถหัวรุนแรง และไม่ยอมเชื่อในพระเจ้า ทุกอย่างสบช่องให้กลุ่มต่อต้านพระเจ้าใช้ผู้หญิงจึงมีอำนาจเป็นเพียงทางผ่านให้ซาตาน (ที่เป็นเพศชาย) กลับมาเกิด และยึดครองอำนาจทั้งมวลที่ใช้ขับเคลื่อนทุกสิ่งให้เป็นไปตามความประสงค์ของตัวมันเอง ดังเช่นเดเมียนที่ปรากฏใน ‘The Omen’ และภาค ‘The Final Conflict’ นั่นเอง
ใครที่หวังว่า ‘The First Omen’ จะให้บรรยากาศความสยองขวัญแบบประสาทแตกหลอนคลั่ง อาจจะต้องผิดหวังนะครับ มันคงไม่ใช่หนังที่หวังผลกับจังหวะแบบหนังสยองขวัญยุคใหม่ที่ดูเอาอารมณ์ผวาแตกตื่น เห็นผีแหวะ ๆ น่ากลัว หรือสนุกมือกับบรรดาฉากทริลเลอร์ ได้เห็นคนถูกทรมาน ถึงเลือดถึงเนื้อ หรือแม้แต่ใครที่หวังอยากเห็นฉากทริลเลอร์พิศดารแบบภาคแรกก็อาจจะผิดหวังนิดหน่อยด้วยแหละ เพราะภาคนี้ค่อนข้างมีน้อยไปนิดถ้าเทียบกับภาคอื่น คือมันก็ยังพอมีบ้างแหละ แต่ก็ต้องชมว่าตัวหนังกล้าที่จะรักษาจิตวิญญาณ จังหวะบางอย่างของแฟรนไชส์ การสร้างบรรยากาศความไม่น่าไว้วางใจและไม่ชอบมาพากล แอบแทรกมุกฮากับซีนฟีลกู๊ดให้ตายใจ ผสมการเล่าเรื่องแบบหนังสืบสวนสอบสวน (แบบที่ดอนเนอร์ทำไว้ได้ดีในภาคแรก) ซึ่งครึ่งแรกของหนังจริง ๆ มันก็ค่อนข้างจะเดินเรื่องช้าอยู่มากพอสมควร
แต่พอลากเข้าสู่ครึ่งหลังที่เป็นการเฉลยปมทุกอย่าง ก็เรียกว่าจัดเต็มบรรยากาศดิบเถื่อน อึดอัด สะอิดสะเอียน ที่ไม่ได้เกิดจากการใส่ฉากโหด ๆ หรือเอาผีมาตุ้งแช่ แต่เป็นการเอาความน่ากลัวเหล่านั้นมาให้เห็นกันจะ ๆ เล่าด้วยการสร้างบรรยากาศที่หยิบวิธีการแบบหนังสยองขวัญยุคเก่ามาใช้โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคนิคพิเศษ ตั้งแต่การใช้ปฏิกิริยาทางร่างกายเพื่อแสดงความสยองขวัญ รวมทั้งการใช้เทคนิค Cinematography ในการเล่าเรื่องทั้งมุมกล้อง องค์ประกอบภาพ การจัดแสง ตัดต่อ รวมทั้งการออกแบบเสียงหลอน ๆ และการเล่นกับจังหวะความเงียบ ที่ไม่ได้ต้องการให้เราสะดุ้งแบบ Jump Scare แต่เป็นการรวมองค์ประกอบทางจิตวิทยาแทบทุกอย่างที่สร้างความสยองขวัญ กระอักกระอ่วน เสียวไส้ สะอิดสะเอียน ชนิดที่ผู้หญิงดูแล้วเจ็บปวดแน่ ๆ เพราะขนาดผู้ชายยังดูแล้วเสียวไส้ไม่น้อยเลยนะครับ
และจะไม่พูดถึงพาร์ตของนักแสดงก็คงไม่ได้ครับ โดยเฉพาะนักแสดงนำอย่าง นีล ไทเกอร์ ฟรี (Nell Tiger Free) นักแสดงสาวชาวอังกฤษวัย 24 ปี เคยรับบทรับเชิญเป็น เมอร์เซลลา บาราเทียน (Myrcella Baratheon) ในซีรีส์ ‘Game of Thrones’ ซีซัน 5-6 (2015 – 2016) ซึ่งก็ต้องบอกว่าแสดงได้ดีเกินคาดนะครับ เป็นตัวเกือบแบกหนังที่ได้โชว์ของและเอาอยู่ ไม่ว่าจะเสน่ห์ที่ขึ้นจอ รวมทั้งการแสดงในบท มาร์กาเร็ต รวมทั้งการใช้ปฏิกิริยาทางร่างกายในการแสดงออกทั้งความใจดี ความกลัว และบ้าคลั่งได้เอาอยู่ทีเดียว นักแสดงอีกคนที่ผู้เขียนมองว่าน่าจับตาไม่น้อยก็คือ บาทหลวงเบรนแนน ที่รับบทโดย ราล์ฟ อิเนสัน (Ralph Ineson) ซึ่งจะเป็นตัวละครสำคัญที่จะกลายมาเป็นผู้ส่งสาร และเผชิญหน้ากับคำสาปซาตานในภาคแรก (ที่รับบทโดย แพทริก โทรตัน, Patrick Troughton) อีกด้วย
คือไม่รู้ว่าบังเอิญหรือจงใจนะครับ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วก็เพิ่งจะมีหนังแนวคริสตจักรอีกเรื่องอย่าง ‘Immaculate’ ที่ดันมีโครงเรื่องบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน แน่นอนผู้เขียนคงไม่บังอาจตัดสินว่าเรื่องไหนดีกว่ากันหรอกนะครับ ไปดูแล้วเปรียบเทียบกันเองจะดีกว่า บอกได้แค่เพียงว่าส่วนตัวผู้เขียนชอบภาพรวมที่ ‘The First Omen’ ทำได้ชัดเจนกว่าในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการที่หนังรู้จุดประสงค์ของตัวเองอย่างชัดเจน การสอดแทรกประเด็นผู้หญิงกับศาสนจักรได้ชัดเจนเข้าถึงและยิงได้ค่อนข้างเข้าเป้ากว่า รู้ในสิ่งที่เป็นแก่นกระพี้ของตัวหนัง (ซึ่งก็เป็นมรดกตกทอดมาจาก ‘The Omen’ อีกทีนั่นแหละ) แล้วก็เอามาใช้ได้อย่างค่อนข้างจะคุ้มค่ามากที่สุดของแฟรนไชส์ได้อย่างไม่ล้าสมัยเลย แม้จะเล่าเรื่องที่มีความย้อนยุคมาก ๆ ก็ตาม
คือตัวหนังมันอาจจะไม่ได้โหดดิบแรงสะใจที่สุด แต่มันเป็นหนังสยองขวัญที่กล้าทำและไปถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งของยุคนี้เลยก็ว่าได้ และความพิเศษก็คือ แม้ตัวหนังจะแตกต่างจากภาคอื่น แต่กลับเป็น Prequel ที่สามารถคลี่คลายปม และเชื่อมโยงกับภาคแรกได้อย่างสนิทแนบเนียน พร้อม ๆ ไปกับการขยายจักรวาลได้อย่างน่าสนใจ ชนิดที่จะทำให้ลืมฉบับรีเมกและรีบูตไปได้อย่างหมดสิ้น