Release Date
19/04/2024
แนว
ไซไฟ/แอ็กชัน/ผจญภัย
ความยาว
2.03 ช.ม. (123 นาที)
เรตผู้ชม
13+
ผู้กำกับ
แซ็ก สไนเดอร์ (Zack Snyder)
Our score
5.2Rebel Moon Part Two: The Scargiver | Rebel Moon ภาค 2: นักรบผู้ตีตรา
จุดเด่น
- ฉากแอ็กชันช่วงไคลแม็กซ์องก์สุดท้ายที่มีปริมาณเยอะขึ้น ออกแบบพิถีพิถันขึ้น สนุกเร้าใจขึ้นกว่าภาคแรก
- งานสร้างและ CGI ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เข้าใกล้มาครฐานหนังฉายโรงมากขึ้น
จุดสังเกต
- จังหวะสโลว์โมชันตามสไตล์สไนเดอร์ที่ยังคงทำร้ายหนังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อใช้ในฉากที่ไม่จำเป็นขนาดนั้น
- การเล่าเรื่องครึ่งแรกยังน่าเบื่อ และบทก็ยังวางโครงเรื่องเพื่อสร้างจักรวาลได้ไม่ดีแบบเดียวกับภาคแรก
- ตรรกะบางอย่างของบางตัวละครไม่ชวนให้น่าเอาใจช่วยเลย
-
คุณภาพด้านการแสดง
5.5
-
คุณภาพโปรดักชัน
7.5
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
4.2
-
ความบันเทิง
4.5
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
4.5
เมื่อปลายปีที่แล้ว แซ็ก สไนเดอร์ (Zack Snyder) เจ้าพ่อ Epic Dark Hell ได้ฤกษ์ปล่อยผลงานออริจินัลของตัวเองอีก 1 ผลงานกับทาง Netflix นั่นก็คือ ‘Rebel Moon’ ภาคที่ 1 ที่ใช้ชี่อว่า ‘A Child of Fire’ หรือ ‘บุตรแห่งเปลวไฟ’ ปฐมบทมหากาพย์ไซไฟอวกาศที่พี่เขาต้องการอยากจะปลุกปั้นให้กลายเป็นจักรวาลหนังไซไฟอวกาศภายใต้วิสัยทัศน์ Epic Dark Hell ที่พอออกฉายแล้วก็อย่างที่ทราบกันดีว่า ผลตอบรับที่ออกมาก็แป้กพอควร จนนึกไม่ออกเลยว่าอนาคตจักรวาลนี้มันจะไปไหวไหมเนี่ย
แต่เรื่องราวมันยังไม่จบ เลยต้องมาสานต่อเรื่องราวกันอีกครั้งใน ‘Rebel Moon’ ภาคที่ 2 ที่ใช้ชื่อตอนว่า ‘The Scargiver’ หรือ ‘นักรบผู้ตีตรา’ ที่สไนเดอร์ยังคงกำกับ เป็นโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับภาพ และเขียนบทร่วมกับ เคิร์ต จอห์นสตาด (Kurt Johnstad) ผู้เขียนบท ‘300’ ทั้ง 2 ภาค และ เชย์ แฮตเทน (Shay Hatten) ผู้เขียนบท ‘Army of the Dead’ และ ‘Army of Thieves’ อีกเช่นเคย
เรื่องราวใน ‘Rebel Moon Part Two: The Scargiver’ เกิดขึ้นหลังจากภาคแรก หลังจากที่โครา (โซเฟีย บูเตลลา – Sofia Boutella) หญิงสาวผู้แปรพักตร์จากมาเธอร์เวิลด์ ได้รวบรวมนักรบฝีมือดี เพื่อโค่นล้มพลเรือเอก แอตติคัส โนเบิล (เอ็ด สไครน์ – Ed Skrein) ผู้บัญชาการกองทัพแห่ง มาเธอร์เวิลด์ (Motherworld) ที่เวลานี้ปกครองโดย บาลิซาเรียส (ฟรา ฟี – Fra Fee) จอมทรราชย์ผู้ก่อการปฏิวัติสังหารองค์กษัตริย์และราชินี โคราได้นำ กุนนาร์ (มิคิล เฮาส์แมน – Michiel Huisman) ชาวนาผู้เป็นคนรัก, นายพลไททัส (ไจมอน ฮอนซู – Djimon Hounsou) อดีตผู้บัญชาการสงคราม, เนเมซิส (แบดูนา – Bae Doo-na) ปรมาจารย์นักดาบหญิง, ทารัค (สตาซ แนร์ – Staz Nair) อดีตเชลยสงครามและ มิลิอัส (เอลิส ดัฟฟี – Elise Duffy) อดีตทหารหญิงของกลุ่มกบฏบลัดแอ็กซ์ เดินทางกลับมายังดวงจันทร์แห่งเวลท์ (Veldt)
แต่ข่าวร้ายบังเกิด เมื่อมีข่าวว่า พลเรือเอกโนเบิล ผู้บัญชาการจอมวิปริตกลับฟื้นจากความตาย และต้องการจะบุกไปยังเวลท์เพื่อแย่งชิงพืชผล โครา และเหล่านักรบ จึงระดมกำลังชาวบ้านในหมู่บ้านเกษตรกรแห่งเวลท์ที่มีอยู่เพียงหยิบมือ เพื่อต่อต้านกองกำลังของมาเธอร์เวิลด์ที่กำลังจะมาเยือนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ในขณะเดียวกันที่ จิมมี (พากย์เสียงโดย แอนโธนี ฮอปกินส์ – Anthony Hopkins) หุ่นยนต์อดีตทหารกองทัพมาเธอร์เวิลด์ก็กำลังเฝ้ามองสงครามที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ห่าง ๆ
หากภาคที่แล้วคือการหยิบยืมพล็อตการเมือง-แอ็กชัน-ผจญภัยแบบ ‘Star Wars’ บวกกับพล็อตล้างแค้น-สงคราม-แย่งชิงทรัพยากรแบบ ‘Dune’ บวกกับพล็อตรวมพลฮีโรแบบ ‘Seven Samurai’ (1954) บวกกับจังหวะความดาร์ก-ไซไฟ-แฟนตาซีหน่อย ๆ ในแบบที่เขาทำเอาไว้ใน ‘Zack Snyder’s Justice League’ (2021) ส่วนภาคนี้อาจเปรียบเทียบได้กับ ‘Star Wars: Episode V – The Empire Strikes Back’ (1980) ที่เป็นการรวมตัวกันต่อสู้ของชาวบ้านตาสีตาสาตัวเล็ก ๆ ที่ว่ากันตามตรงก็คือพล็อตถือว่าค่อนข้างเชยหนักกว่าภาคแรกซะอีก คือพล็อตเชยมันก็ไม่ผิดหรอก แต่พอบทมันไม่รัดกุม บทที่เชยยังไงก็ดูเชย
อีกสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็น 1 ในตัวบั่นทอนที่ทำให้ตัวหนังและจักรวาลด่างพร้อยมากพอสมควร ก็คงหนีไม่พ้นสไตล์แบบสไนเดอร์นั่นแหละ คือจริง ๆ สไตล์จัดจ้านเป็นเอกลักษณ์มันก็เป็นพรสวรรค์นะ แต่บางทีมันก็เป็น ‘กับดัก’ ทางความคิดสร้างสรรค์ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสไนเดอร์ที่นับว่าเป็นผู้กำกับวิชวลจัดจ้านชัดเจนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าจะบรรดางานภาพชัดตื้น ที่ถึงขนาดลงทุนดัดแปลงเลนส์ขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ รวมทั้งบรรดาฉาก Slow Motion ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้เขียนเองก็ชอบนิด ๆ ด้วยซ้ำนะครับ
แต่พอมาภาคนี้ ชัดเจนเลยว่า สไตล์ภาพ Slow Motion ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขามันช่างฟุ่มเฟือยและทำร้ายหนังได้จริง ๆ แม้ภาคแรกจะสโลว์จนเรื่องเนือยอืด แต่กับภาคนี้มันกลายเป็นสโลว์โมชันที่ทั้งอืดและเต็มไปด้วยความฟุ่มเฟือย เพราะพี่สโลว์ไม่เว้นแม้แต่ฉากเกี่ยวข้าว! แถมซีนนี้ดันยาวมากด้วย ที่ยิ่งปวดร้าวก็คือ พอถึงจุดหนึ่ง ซีนเกษตรกรก็ดันไม่มีประโยชน์อะไรในเชิงกลยุทธ์ในสงครามอีกต่างหาก หนังเลยเต็มไปด้วยภาพของชาวนาเกี่ยวข้าวแบบ High Frame Rate ที่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรนอกจากทำให้หนังดูเท่ กับทำให้หนังยืดเฉย ๆ เผลอ ๆ ฉากเกณฑ์ชาวบ้านซ้อมรบที่ดู Cliche จัด ๆ ยังมีประโยชน์กับสงครามมากกว่าอีกมั้ง
เพราะขนาด Star Wars ยังต้องให้เวลา 3 ภาคแรกในการปูเรื่องตัวละคร ความขัดแย้งทางการเมือง ก่อนจะลากไปสู่เส้นเรื่องผจญภัยและเข้าสู่สมรภูมิสงครามเลยนะ นับประสาอะไรกับการสร้างโลกด้วยเวลา 1 ชั่วโมงแรกของหนัง 2 ภาค หรือแม้แต่เส้นเรื่องที่โคราหนีออกมาจากมาเธอร์เวิลด์
ซึ่งเอาจริง ๆ เส้นเรื่องนี้แหละที่แข็งแรงสุดและน่าจะขยี้เพิ่มได้อีกเยอะมาก แต่พอมันเป็นแค่การเล่าจากปาก มันเลยเป็นเพียงการเฉลยปมที่ทิ้งค้างเอาไว้จากภาคแรก เติมให้ตัวละครมีมิติอะไรบางอย่างเท่านั้นเอง
อีกอย่างที่เสียดายคือ ตัวหนังแอบพยายามเล่นกับความหมายของคำว่า ‘The Scargiver’ หรือนักรบผู้ตีตรา ที่จะเชื่อมโยงกับเบื้องหลังของโคราอีกที แต่พอสุดท้ายหนังไม่ได้หยิบเอาเรื่องนี้มาเล่นอย่างจริงจัง Conflict ที่มีก็พลอยพาให้ตัวละครพยายามทำอะไรงี่เง่าและเสียของจนได้ อีกความเสียดายก็คือ ตัวละครบางตัวที่ดันเป็นแค่เพียงตัวแทงก์ที่โผล่มาถล่มเอาเท่เฉย ๆ โดยรวมหนังจึงแทบไม่มีช่องว่างให้ตัวละครใดได้มีพัฒนาการให้เห็น ผลก็คือ เราเลยได้เห็นตัวละครทำอะไรแบบทื่อ ๆ ไร้มูลเหตุจูงใจ ทำอะไรงี่เง่า ๆ เหมือนลืม Conflict ตัวเองจนไม่รู้จะมีอารมณ์ร่วมไปด้วยได้อย่างไร และนั่นก็ยิ่งพาให้จักรวาลยิ่งด่างพร้อยหนักไปอีก
ในขณะที่เนื้อเรื่องอีกเศษ 1 ส่วน 4 ตัวหนังก็ยังวนกลับไปใช้วิธีการแบบภาคแรก คือให้นักรบแต่ละคนมานั่งเล่าปูมหลังของตัวเอง รวมทั้งที่มาที่ทำให้พวกเขามาเข้าร่วมต่อสู้กับทรราชย์ (ที่มาขอแย่งข้าวกินฟรี) เป็นนัยว่าเพื่อเติมมิติให้กับตัวเองที่อยู่ดี ๆ ก็โผล่มา และไม่ได้เล่าไว้ในภาคแรกให้กลมขึ้นเฉย ๆ พร้อมกับการกระจายซีนให้เห็นมุม เห็นเสน่ห์ที่ต่างออกไปของบรรดาตัวละครแข็ง ๆ อีกคนละนิดหน่อย
ยังดีที่ภาคนี้พยายามลดเส้นเรื่องผจญภัยลง ไม่ต้องไปเจอตัวละครงง ๆ (ที่ไม่รู้มาทำไมและทำอะไรก็ไม่รู้) เหมือนกับภาคแรก แต่สุดท้ายมันก็ลงเอยแบบเดียวกับภาคที่แล้วเลยครับ คือมันไม่ได้ทำให้รู้สึกถึงการสร้างเรื่องราว สร้างจักรวาล และสร้างให้คนดูรู้สึกถึง Conflict ที่พวกเขาต้องการต่อสู้กับทรราชย์จนอยากเอาใจช่วยได้เลยแม้แต่น้อย
ส่วนในแง่ของโปรดักชัน อันนี้ก็ต้องยอมรับว่า พี่แซ็กแกก็ยังคงไม่สุกเอาเผากิน (อย่างน้อยน่ะนะ) ในแง่ของโปรดักชัน งานสร้าง เพราะว่าในยุคที่ CGI ทำได้สารพัดอย่าง หนังเรื่องนี้ก็ยังคงพึ่งพา Practical Effect ค่อนข้างเยอะ (ใน Netflix มีเบื้องหลังให้ดูด้วยนะครับ) ทั้งการถ่ายในสถานที่จริง ใช้บ้านจริง ระเบิดบ้านจริง ยานอวกาศจริง ฯลฯ ทำให้โปรดักชันงานสร้างดูอลังการและสมจริงกว่าภาคแรกมากขึ้นในอีกระดับหนึ่งเลย
อีกจุดที่ยังถือว่ามีอะไรให้ชมได้สนิทใจก็คือบรรดาฉากแอ็กชัน คือยอมรับเลยว่าเป็นฉากแอ็กชันที่ทำดีกว่าภาคแรกขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และเรียกได้ว่าเป็นการออกแบบ Sequence ได้น่าตื่นเต้นด้วย แม้แรก ๆ จะยังมีจังหวะย้วยยืด สโลว์โมชัน รวมทั้งซีนการต่อสู้แบบแยกเดี่ยวยังแอบย้วย (ยิ่งฉากฟันดาบของเนเมซิสนี่ยิ่งแอบน่าเสียดาย) แต่พอเข้าช่วงไคลแม็กซ์ แม้จะพอเดาได้ แต่ฉากแอ็กชันใหญ่สุดในท้ายเรื่องก็เรียกว่ากระตุกกราฟให้ลุ้นสนุกได้มากขึ้นพอสมควร (และพอมีสโลว์โมชันในฉากแอ็กชันเท่ ๆ ก็ยิ่งเห็นชัดเลยว่า ฉากเกี่ยวข้าวสโลว์โมชันไม่จำเป็นต้องยาวขนาดนั้นก็ได้)
ไม่อยากสรุปแต่ก็ต้องสรุปนั่นแหละครับว่า ‘Rebel Moon’ ทั้ง 2 ภาคคือภาพยนตร์ความยาว 4 ชั่วโมงเศษ ๆ ที่ยังพอมีฉากแอ็กชันสงครามเจ๋ง ๆ ให้ดู แต่มันก็แค่นั้นเลยจริง ๆ เพราะมันเป็นหนัง 4 ชั่วโมงที่เต็มไปด้วยสโลว์โมชันจนหนังยืดย้วย การปูเรื่องราวความขัดแย้งในจักรวาล (ระหว่างโครากับมาเธอร์เวิลด์) ที่รวบรัดตัดความเกินไป รวมทั้งการปูตัวละครที่ขาดมิติและความเชื่อมโยง จนกลายเป็นจักรวาลหนังสงครามอวกาศที่มีฉากแอ็กชันค่อนข้างดี มีตัวละครเอกดี แต่กลับไม่สามารถเล่าเรื่องราวของผู้คน และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในจักรวาลได้อย่างเฉียบคม
ส่วนตัวผู้เขียนยอมรับว่า แอบหมดความหวังนิด ๆ กับบรรดาฉบับ Director’s Cut เรต R ความยาว 6 ชั่วโมง ที่พี่สไนเดอร์แกจะปล่อยออกมาในอนาคตไปแล้วล่ะครับ ผู้เขียนก็ได้แต่ภาวนาว่า แทนที่จะปล่อย Director’s Cut ที่มีฉากรุนแรงกับภาพโป๊เปลือยแบบที่พี่เขากำลังจะทำ สู้เอาทั้ง 2 ภาคไปตัดเล็ม จัดเรียงหมวดหมู่ เรียง Sequence ลำดับ Conflict ใหม่ ตัดตัวละครที่เกินมา ตัดสโลว์โมชันถ่วงเวลาที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง ถึงตอนนั้น Netflix จะให้พี่ทำอีก 6 ภาค หรืออีกสักกี่ 10 ภาคอันนี้ก็แล้วแต่พี่เลยครับ