Release Date
25/04/2024
แนว
แอ็กชัน/ผจญภัย/ตลก
ความยาว
2.08 ช.ม. (128 นาที)
เรตผู้ชม
PG-13
ผู้กำกับ
เดวิด ลิตช์ (David Leitch)
Our score
8.4The Fall Guy | สตันท์แมนคนจริง
จุดเด่น
- งานโปรดักชัน-งานสตันท์อลังการหายห่วง มีให้ดูแบบจุใจ
- มุกฮาลั่น ๆ เพียบ โดยเฉพาะ Easter Egg จิกกัดฮอลลีวูดที่เกรียนมาก
- กอสลิง-บลันต์ คือคู่ขวัญที่น่ารักมาก ๆ โรแมนติกได้โดยไม่ต้องทำอะไรมากมาย
จุดสังเกต
- ถ้าเป็นคนดูหนังหรือติดตามฮอลลีวูดมาในระดับหนึ่ง จะเข้าใจมุกฮอลลีวูดและดูสนุก ฮามุกเฉพาะทาง มุกจากหนังมากกว่าปกติ
- แอ็กชันและบทกลาง ๆ เรื่องแอบตกท้องช้างนิดหน่อย
- งาน CGI ยังไม่สมบูรณ์แบบนัก มีหลุด ๆ นิดหน่อย แต่ถือว่าไม่เลวร้าย
-
คุณภาพด้านการแสดง
7.9
-
คุณภาพโปรดักชัน
8.6
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
7.8
-
ความบันเทิง
9.0
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
8.9
เดวิด ลิตช์ (David Leitch) ชื่อนี้ไม่ใหม่ในวงการฮอลลีวูดเลยครับ เพราะนอกจากเราจะรู้จักเขาในฐานะของโปรดิวเซอร์แฟรนไชส์หนัแอ็กชันทริลเลอร์ของยุคนี้อย่าง ‘John Wick’ ทั้ง 4 ภาค และ ‘Nobody’ (2021) รวมทั้งการเป็นผู้กำกับสายแอ็กชันสีนีออนวิ้งวับที่มีผลงานระดับบล็อกบัสเตอร์มากมาย ตั้งแต่ ‘Atomic Blonde’ (2017), ‘Deadpool 2’ (2018), ‘Fast & Furious Presents: Hobbs & Shaw’ (2019), และรวมทั้ง ‘Bullet Train’ (2022) ภายใต้บริษัทโปรดักชัน 87North ที่เขาก่อตั้ง
แต่ถ้าย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 1990 ลิตช์อาจไม่คุ้นชื่อสำหรับคนดู แต่สำหรับคนเบื้องหลังฮอลลีวูด เขาคือสตันท์แมนคนจริงมืออาชีพที่ผ่านงานการเสี่ยงตายในหนังดังมากมายอาทิ ‘Fight Club’ (1999), ‘The Matrix Reloaded’ (2003), ‘The Matrix Revolutions’ (2003), ‘The Bourne Ultimatum’ (2007) ฯลฯ นอกจากนั้นเขายังทำหน้าที่เป็นสตันท์ตัวแทน หรือ Stunt Double ให้กับนักแสดงดัง ๆ มาแล้วหลายคน ที่บ่อยหน่อยก็อย่างเช่น แบรด พิตต์ (Brad Pitt), คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves), ฮิว แจ็กแมน (Hugh Jackman) และอีกนับไม่ถ้วน
ปีนี้ ลิตช์เลยขอเอาประสบการณ์จากการเป็นสตันท์แมนมืออาชีพ มาถ่ายทอดเรื่องราวเป็นครั้งแรกใน ‘The Fall Guy’ หนังเปิดโปรแกรมซัมเมอร์ประจำปีนี้ ที่ไม่เชิงรีเมก แต่เป็นการหยิบแรงบันดาลใจมาจากทีวีซีรีส์ฮิตของช่อง ABC ที่ฉายในช่วงปี 1981 – 1986 จากผลงานของ เกลน เอ. ลาร์สัน (Glen A. Larson) ที่เล่าเรื่องของ โคลต์ ซีเวอร์ (Colt Seavers) สตันท์แมนฮอลลีวูดที่มีชีวิตอีกด้านด้วยการออกปราบปรามอาชญากรในยามวิกาล โดยได้ ดรูว์ เพียร์ซ (Drew Pearce) ผู้กำกับ ‘Hotel Artemis’ (2018) มือเขียนบท ‘Iron Man 3’ (2013) และ ‘Hobbs & Shaw’ มารับหน้าที่เขียนบท
‘The Fall Guy’ เล่าเรื่องของ โคลต์ ซีเวอร์ส (ไรอัน กอสลิง – Ryan Gosling) สตันท์แมนยอดฝีมือ ที่เกิดพลาดท่าในระหว่างแสดงจนทำให้เขาต้องวางมือ และพาให้ความสัมพันธ์ของเขากับ โจดี โมเรโน (เอมิลี บลันต์ – Emily Blunt) ตากล้องหญิงที่เคยคบหากับเขาจบไม่สวยไปด้วย จนวันหนึ่ง เขาถูกเรียกให้กลับมารับงานสตันท์ในกองถ่ายหนังฟอร์มยักษ์ ‘Metalstorm’ ที่โจดีเป็นผู้กำกับครั้งแรก แต่ไม่ใช่แค่นั้น ผู้อำนวยการสร้างบริหาร เกล เมเยอร์ (ฮันนาห์ แวดดิงแฮม – Hannah Waddingham) พบว่า ทอม ไรเดอร์ (แอรอน เทย์เลอร์-จอห์นสัน – Aaron Taylor-Johnson) นักแสดงชื่อดังผู้รับบทนำในหนังเรื่องนี้กลับหายตัวไปอย่างลึกลับ Stunt Double ขาประจำอย่างโคลต์ จึงต้องรับงานสตันท์สุดโหด พร้อมกับรับหน้าที่ค้นหาทอมเพื่อให้กลับมาแสดงหนังต่อ แถมยังต้องเคลียร์ปัญหาถ่านไฟเก่าสุดจะวุ่นวายไปพร้อมกัน
แน่นอนว่าพอตัวหนังหยิบเอาอาชีพสตันท์แมนมาเล่า ตัวหนังก็เลยเล่าเรื่องของคนทำงานอาชีพสตันท์ออกมาให้ได้เห็นในช่วงองก์แรก ที่น่าสนใจก็คือ ตัวหนังไม่ได้แค่สะท้อนภาพของคนทำงานอาชีพสตันท์ ที่อุทิศทั้งร่างกายและจิตใจ แต่มักจะไม่ค่อยได้รับเครดิตแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย (คือถ้าไม่หาชื่อตัวจิ๋ว ๆ ในเครดิต ก็ต้องมีข่าวบาดเจ็บ-เสียชีวิตในกองถ่ายก่อนนั่นแหละถึงจะมีคนรู้จัก) หรือแค่สะทัอนภาพของชีวิตจริงสตันท์แมน ทั้งอาการบาดเจ็บของสตันท์ที่ทำให้อาชีพต้องยุติจนต้องหันไปทำอาชีพอื่น รวมทั้งสภาพจิตใจของคนสตันท์ที่ต้องอดทนสู้ แม้ข้างในจะเหน็ดหน่ายกับปัญหาหลายอย่าง (ที่เอาจริงก็หดหู่เกินจะฮาอยู่นะ)
ในขณะเดียวกัน ตัวหนังก็เล่าและจิกกัดเบื้องหลังการทำงานในกองถ่ายหนังไปด้วย ซึ่งการเลือกหนังไซไฟมหากาพย์อวกาศ ที่ปกติแล้วมีกระบวนการหน้ากองที่โคตรจะซับซ้อน ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีในการถ่ายทอดความยุ่งยากวายป่วงในกองถ่ายได้ชัดเจนมาก เพราะสตันท์เองก็ต้องทำงานเคียงข้างไปกับฝ่ายอื่น ๆ ด้วย ตั้งแต่นักแสดงตัวหลัก หัวหน้าทีมสตันท์ แผนกที่เกี่ยวกับโปรดักชัน เอฟเฟกต์ คอสตูม พรอป อาวุธ ระเบิด สลิง ยานพาหนะ CGI การทำ Deepfake ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงคนเขียนบท ผู้จัดการนักแสดง ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ แต่พอมันตั้งโจทย์เป็นหนังแอ็กชันคอมเมดี้ ตัวหนังมันก็จะมีความฮาแบบล้น ๆ สมจริงบ้างไม่สมจริงบ้าง แต่ก็ยังดีที่บทสมดุลทุกอย่างเอาไว้ได้อย่างพอดี มุกที่ล้นเลยไม่ล้นจนรก แต่ล้นแบบเปิ่น ๆ จนเรียกเสียงฮาได้ไม่น้อยเลย
ไอเดียที่ฉลาดของลิตช์ในการเล่าหนังเรื่องนี้ได้น่าสนใจก็คือ การที่บทหนังพยายามจะแหย่ขาเข้ามาให้ใกล้กับความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ใช่แค่ล้อจริตของคนกองถ่าย หรือเบื้องหลังขำ ๆ ของคนทำหนังเฉย ๆ แต่ยังพาลไปล้อป๊อปคัลเจอร์ฮอลลีวูดที่หนังหยิบมาจิกกัดแหย่หยอกได้ร้ายกาจมาก ตั้งแต่ Quote จากหนัง เพลง ข่าวซุบซิบดาราฮอลลีวูดที่เกิดขึ้นจริง หรือแม้แต่มุกเนิร์ดจัด ๆ อย่างการหันมาล้ออาชีพสตันท์แมน หรือการล้อเล่นกับวิชวลและภาษาหนัง ซึ่งถ้าใครติดตามข่าวฮอลลีวูด เป็นนักดูหนัง หรือเข้าใจในศาสตร์ของหนังคร่าว ๆ ก็จะเข้าใจและระเบิดเสียงฮาไปกับบรรดา Easter Egg แสบ ๆ ในหนังได้สนุกขึ้นอีกนิด แต่โดยรวมทั่ว ๆ ไปก็ยังได้ฮาอยู่ ไม่ได้เนิร์ดจนเข้าใจยากอะไรขนาดนั้น
พอเข้ากลางเรื่อง ตัวหนังก็เริ่มเข้าสู่พาร์ตของความเป็นหนังทริลเลอร์ขำ ๆ ที่ก็ยังอยู่ในโทนตลกโปกฮาเช่นเคย ยังคงมีฉากแอ็กชันคอมเมดี้ล้น ๆ คละเคล้าด้วยเส้นเรื่องดราม่าโรแมนติกคอมเมดี้ที่ตีคู่กันได้ไงก็ไม่รู้ (อันนี้ชมนะครับ 55+) จริง ๆ จะว่าเป็นจุดสังเกตก็ได้แหละ เพราะตัวหนังช่วงกลางเรื่องค่อนข้างตกท้องช้างพอสมควร โดยเฉพาะพาร์ตอาชญากรรม และพาร์ตโรแมนติกของพระนางที่ยังเกิดอาการขาด ๆ เกิน ๆ ในการเล่าเรื่องจนเกิดอาการแอบหลุดไปจาก Conflict ที่หนังต้องการจะปูเรื่องไว้ไปบ้าง แต่ก็ยังชดเชยได้ด้วยฉากแอ็กชันคอมเมดี้ลีลาเวอร์วังแพรวพราว ที่แอบชวนให้คิดถึงหนังบู๊ของเฮียเฉินหลงแบบเบา ๆ
และแน่นอนว่าพอพูดถึงสตันท์ งานแอ็กชัน และงานสตันท์แบบ Practical Stunts แบบเน้นการถ่ายทำจริงเหมือนหนังยุคเก่า ๆ ก็เรียกได้ว่าจัดเต็มหายห่วง ทั้งช็อตรถพลิกคว่ำ (Cannon Rolls) โดย โลแกน ฮอลลาเดย์ (Logan Holladay) สตันท์ผู้เชี่ยวชาญด้านขับรถที่ทำลายสถิติโลกด้วยจำนวน 8 รอบครึ่ง รวมทั้ง เบน เจนกินส์ (Ben Jenkin) Stunt Double ของกอสลิงที่เน้นฉากผาดโผนทั่ว ๆ ไป, จัสติน อีตัน (Justin Eaton) สตันท์ศิลปะป้องกันตัว และ ทรอย บราวน์ (Troy Brown) สตันท์แสดงฉากตกจากที่สูง จนถึงองก์สุดท้ายที่ประโคมฉากสตันท์มาให้แบบโคตรบันเทิง ที่ว่าใหญ่แล้วก็ยังใหญ่กว่านี้ ว้าวกว่านี้ แรงกว่านี้ได้อีก คือพูดได้เต็มปากว่าหนังเรื่องนี้คือ Show Reel งานสตันท์ชั้นยอดที่ทั้งตื่นตาตื่นใจ และโคตรมันตั้งแต่ฉากแรก จนถึงฉาก Mid-Credit สุดท้ายจริง ๆ
อีกจุดที่เกินคาดสำหรับผู้เขียนก็คือ แม้หนังเรื่องนี้จะเต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมบู๊ ๆ แมน ๆ ระเบิดเขาเผากระท่อม แต่เคมีระหว่างกอสลิง (จาก ‘Barbie’) และบลันต์ (จาก ‘Oppenheimer’) ที่นอกจากจะถ่ายทอดความเป็นอดีตคู่รักง้องแง้งที่หาเรื่องหาทำใส่กันอย่างสนุกสนานบ้าบอคอแตกแล้ว เคมีของทั้งคู่ยังเป็นอะไรที่น่ารักน่าชัง หวานทะลุความเกรียนดุดันบ้าระห่ำของตัวหนังออกมาได้ไงก็ไม่รู้ และเคมีนี้แหละที่ทำให้เส้นเรื่องโรแมนติกคอมเมดี้ที่พูดถึงเรื่องการทุ่มสุดตัวเพื่อสานฝันให้กับคนที่ตัวเองรัก ก็นับว่าเป็นอะไรที่เสริมความน่ารัก และโรแมนติกเคล้าเสียงฮาแบบห่าม ๆ ได้แบบที่ไม่รู้สึกเลี่ยน รวมทั้งนักแสดงอีกหลายคนที่รับบทของตัวเองได้น่าประทับใจไม่แพ้กัน
คือในแง่ของหนัง นี่คือหนังป๊อปคอร์นแห่งปีที่บันเทิงและมันสลัด ๆ เลยครับ มันบันเทิงแบบไม่รู้จะบรรยายหรือจำกัดความได้ยังไง มันเป็นทั้งหนังซ้อนหนังเกรียน ๆ ล้น ๆ หนังจิกกัดคนกองถ่ายและฮอลลีวูด ที่อาจชวนให้นึกถึง ‘Tropic Thunder’ (2008) แต่คลีนกว่า เป็นหนังแอ็กชันคอมเมดี้ลีลาแพรวพราว เป็นหนังรอมคอมที่มีทั้งความเรื้อนและน่ารักในเวลาเดียวกัน รวมทั้งงานโชว์ฉากสตันท์ที่อัดมาให้แบบจุใจไม่มีผิดหวัง พร้อมทั้งเซอร์ไพรส์ชวนกรี๊ดที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง และขอแนะนำว่า ฉากสตันท์อลังการระดับนี้ ควรดูในโรงกับจอใหญ่ครับ
ถ้าลิตช์ตั้งใจอยากให้หนังเรื่องนี้เป็นเหมือนกับจดหมายรักในอาชีพสตันท์ แต่สำหรับผู้เขียน มันคือหนังที่สตันท์เองก็อยากบอกรักทั้งฮอลลีวูดและคนดูแบบเนียน ๆ ด้วยต่างหาก เพราะนี่คือหนังที่ฉายให้เห็นถึงคุณูปการสำคัญของอาชีพสตันท์แมนที่มีต่อฮอลลีวูด เพราะพวกเขาคือบุคลากรที่อุทิศทั้งร่างกายและจิตใจ ทำงานทุกแบบที่เสี่ยงอันตรายและเสี่ยงสิ้นชื่อ เพื่อมอบความบันเทิงให้แก่ผู้ชมมาโดยตลอด และความรักเหล่านี้มันก็ถ่ายทอดออกมาผ่านศิลปะและการเล่าเรื่องที่เป็นมืออาชีพที่ปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้เขียนเชื่อเลยว่า ใครที่ได้ดูก็คงรู้สึกรัก และรู้สึกถึงการมีอยู่ของสตันท์แมนในหนังหลากแนวที่จะดูเรื่องถัดไปอย่างแน่นอน และเวทีออสการ์ก็ควรจะมอบรางวัลให้กับบุคลากรด้านนี้บ้างเสียทีนะ