[รีวิว] The Ministry of Ungentlemanly Warfare: ตลกร้ายไม่สุด จุดระเบิดไม่เต็ม ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ติดเกรงใจความอิงประวัติศาสตร์

Release Date

01/05/2024

ความยาว

120 นาที

ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ Guy Ritchie

ซีรีส์ 'The Gentlemen' (2024) 'Operation Fortune: Ruse de guerre' (2023) 'The Man from U.N.C.L.E.' (2015)

[รีวิว] The Ministry of Ungentlemanly Warfare: ตลกร้ายไม่สุด จุดระเบิดไม่เต็ม ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ติดเกรงใจความอิงประวัติศาสตร์
Our score
6.5

The Ministry of Ungentlemanly Warfare

เป็นอีกงานที่กาย ริตชีดูเหมือนเป็นตัวเองน้อยกว่าที่ควร

จุดเด่น

  1. ทีมนักแสดงที่ดี มีเสน่ห์ เนื้อเรื่องจากเหตุการณ์จริงได้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์สงครามโลกในภารกิจที่ยังไม่เคยถูกเล่า

จุดสังเกต

  1. บทไม่ค่อยเอื้อต่อนักแสดง
  2. ทิศทางการเล่าเรื่องและการกำกับยังไม่ชัดเจนเหมือนรักพี่เสียดายน้อง ยังมีส่วนเกินที่น่าจะจัดวางได้เนียนกว่านี้
  3. ไม่ชัดว่าจะอยากซีเรียสเป็นหนังสงครามกึ่งสารคดีหรือหนังบันเทิงแอ็กชันตลกร้าย เพราะการเดินเรื่องจริงจัง ตัวร้ายจริงจัง แต่ตัวนำฝั่งพระเอกบุคลิกแต่ละตัวหลุดโลกมาก
  • บท

    6.0

  • โปรดักชัน

    7.0

  • การแสดง

    7.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    6.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    7.0

เรื่องย่อ: แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง ว่าด้วยองค์กรลับของเอียน เฟลมมิง ผู้แต่งนิยายสายลับชื่อก้องโลกอย่าง เจมส์ บอนด์ ภายใต้การสั่งการของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ วินสตัน เชอร์ชิลล์ ที่อุทิศตนเพื่อใช้ยุทธวิธี “อันหยาบคาย” เพื่อทำสงครามกับพวกนาซี

จากหนังสือประวัติศาสตร์สงครามโลกของดาเมียน ลูอิส (Damien Lewis) ชื่อ ‘Churchill’s Secret Warriors: The Explosive True Story of the Special Forces Desperadoes of WWII’ ที่เล่าเรื่องราวของทีมลับที่ปฏิบัติการทางทหารด้วยวิธีการแบบกองโจรทีมแรกในปฏิบัติการ Operation Postmaster ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้คำสั่งโดยตรงของนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่าง วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)

ซึ่งแนวทางดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของกองทัพอังกฤษและหลายฝ่ายเนื่องจากพื้นที่ปฏิบัติการตัดกำลังรบนาซีครั้งนี้อยู่ในสเปนที่วางตัวเป็นกลาง ทำให้การลอบรุกล้ำเข้าไประเบิดท่าเรือสนับสนุนเรือดำน้ำของนาซีจะกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศของอังกฤษและสเปนได้ แต่เชอร์ชิลล์ก็ต้องเสี่ยงถูกถอดตำแหน่งนายก เพื่อแลกกับผลของสงครามที่จะเปิดน่านน้ำทางทะเลให้ปลอดภัยจนอเมริกาสามารถส่งกองเรือเข้าร่วมสงครามได้ เรียกว่ามีต้นทุนเนื้อหาที่ดีพอจะเอามาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์

The Ministry of Ungentlemanly Warfare

นอกจากหนังสือในปี 2014 ทีมสร้างยังได้ข้อมูลจากเอกสารลับของเชอร์ชิลล์ที่ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะในปี 2016 มาเพิ่มมุมมองด้านการสั่งการให้ชัดเจนขึ้นด้วย อย่างไรก็ดีผู้กำกับ กาย ริตชี (Guy Ritchie) เองก็ขึ้นชื่อในการดัดแปลงเรื่องราวได้เป็นเอกลักษณ์ของตนเองในแนวทางตลกร้ายที่เข้มข้นขบขันในบทสนทนาและสถานการณ์ที่คาดเดาได้ยาก ที่เห็นการดัดแปลงชัดก็อย่างผลงานนิทานคนแสดง ‘Aladdin’ (2019) หรือ นิยายคนแสดง ‘Sherlock Holmes’ (2009) จึงอนุมานเอาได้ว่าเนื้อหาในภาพยนตร์นี้แม้ใช้บุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แต่ก็เป็นการนำเสนอใหม่ผ่านจินตนาการของริตชีเสียมากกว่า

ซึ่งส่วนตัวก็คาดหวังกับการเล่าประวัติศาสตร์ผ่านลายมือเฉพาะตัวของริตชีพอสมควร ถึงขนาดว่ามันอาจเป็นคู่เทียบกับหนังแนวใกล้กันอย่าง ‘Inglourious Basterds’ (2009) ของผู้กำกับเควนติน ทารันทิโน (Quentin Tarantino) ที่มีทั้งทีมนักแสดงชุดใหญ่ การรบกองโจรกับนาซี บทสนทนากวน ๆ และแม้กระทั่งการมีนักแสดงอย่าง ทิล ชไวเกอร์ (Til Schweiger) มารับบทในหนังคล้ายกันอีก แต่ต้องยอมรับว่าหนังของริตชีนอกจากไม่อาจเป็นหนังที่ทดแทนรสชาติเดียวกันได้ แถมเทียบกับงานเก่าของผู้กำกับเองก็ถือว่ายังไปไม่สุดเสียสักทาง

สำหรับแฟนหนังของกาย ริตชี พูดให้นึกภาพตามออก นี่คือความพยายามเล่าเรื่องจริงด้วยฉากหลังซีเรียสแบบที่พยายามเล่าใน ‘Guy Ritchie’s the Covenant’ (2023) ทว่าตัวละครกลับแฟนตาซีเหมือนหลุดมาจากหนัง ‘Operation Fortune: Ruse de Guerre’ (2023) โดยแนวหนังนั้นคล้ายไปทางหนังสงครามสายลับใน ‘The Man from U.N.C.L.E.’ (2015) เอาทั้งหมดมารวมกันแล้วรสชาติออกไปทางส่วนแย่ของแต่ละเรื่องมากกว่าการดึงรสเด่นออกมา

The Ministry of Ungentlemanly Warfare

หนังพยายามต้องแบกการเล่าเรื่องในส่วนของทีมบริหารอย่างฝั่งเชอร์ชิลล์ หรือผู้บัญชาการภารกิจอย่าง โคลิน ‘เอ็ม’ กุบบินส์ (Colin ‘M’ Gubbins) และลูกมือหน่วยข่าวกรองอย่าง เอียน เฟลมมิง (Ian Fleming) เพื่อให้เห็นความกดดันในเชิงการเมืองภายในและความเสี่ยงของภารกิจจะส่งผลถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อมองย้อนไปเมื่อหนังจบก็พบว่าจริง ๆ แล้วตัดพาร์ตเหล่านี้ไปเลยก็ได้ เพราะการจดจ่อกับแค่ทีมหน้างานที่ก็มีตัวละครหลายตัวให้ต้องเกลี่ยเวลานำเสนอก็เป็นความยากพอแล้ว ยังต้องแบ่งสมองไปเข้าใจการเมืองภายในทีมบริหารอีกก็ดูจะมากเกินไปกับหนังแอ็กชันประวัติศาสตร์เอามัน แถมส่วนของดราม่าการเมืองนั้นก็ไม่ได้ทำได้สนุกหรือน่าลุ้นอะไรเลย เหมือนเติมให้มันมีเท่านั้น เอาเวลาไปเล่าทีมจารชนเป็นหลักแล้วทั้งเชอร์ชิลล์ ทั้งเอ็ม และเฟลมมิง นั้นเอามาเป็นกิมมิกท้ายเรื่องเอาก็ได้ น่าจะว้าวและมีพื้นที่ให้ริตชีโชว์ของได้ดีกว่านี้

ด้านเฮนรี คาวิลล์ (Henry Cavill) ยังคงเดินหน้าหาบทบาทที่น่าจดจำอย่างต่อเนื่อง น่าเสียดายว่ารอบนี้ก็ยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องสำหรับเขา เพราะบทบาท กุส มาร์ช-ฟิลลิปส์ (Gus March-Phillipps) หรือกัส หัวหน้าทีมลับนี้ แม้จะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่หนังก็เลือกตัดภูมิหลังหรือมิติของตัวละครออกไปจนเราเห็นเพียงเปลือกของตัวละครที่เป็นคนเอาแน่เอานอนไม่ได้ เก่งแต่ไม่น่าเชื่อถือ ทำตัวเหมือนโจรกระจอก หรือขี้เมาตลอดเวลา ราวกับว่าต้องมีปมอะไรบางอย่างในอดีตที่หนักหนา

เมื่อขาดการพูดถึงไปเราก็ไม่แน่ใจว่ากัสจะมุ่งมั่นไปกับภารกิจโต้นาซีครั้งนี้ไปด้วยความรู้สึกแบบใด ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดกับทุกตัวละคร แต่ตัวละครอื่นยังมีการเล่าย้อนเล็กน้อยว่าพวกเขาถูกกระทำจากนาซีอย่างไรจึงกลายเป็นคนโฉดชั่วโรคจิตที่ทำทุกอย่างได้เพื่อฆ่านาซี อย่างตัวละครของนักแสดง อลัน ริตช์สัน (Alan Ritchson) ที่มีผลงานก่อนหน้าในบทนำของซีรีส์ ‘Reacher’ (2022-2024) แต่มันก็เล่าภูมิหลังของตัวละครหรือมิติความคิดของตัวละครน้อยมาก จนเหมือนแค่มีตัวละครให้ดันเส้นเรื่องไปข้างหน้าเสียมากกว่า อันนี้ต้องบอกว่านักแสดงก็พยายามช่วยเต็มที่แล้ว อย่าง แบบส์ โอลุซานโมกุน (Babs Olusanmokun) ที่เป็นสมาชิกทีมผิวดำหรือนักแสดงสาวหนึ่งเดียวอย่าง ไอซา กอนซาเลส (Eiza González) ทั้งคู่พยายามใส่มิติตัวละครลงไปเองค่อนข้างมากผ่านการแสดงในแต่ละฉาก ตัวคาวิลล์เองก็พยายามเช่นกันแต่มันอาจไม่พอเมื่อเขารับบทเด่นที่สุดของเรื่อง อันนี้คงต้องโทษริตชีเป็นหลักที่ดีไซน์หนังเน้นเส้นเรื่องมากกว่าเน้นตัวละครมากไปแบบนี้

The Ministry of Ungentlemanly Warfare

อีกหนึ่งชื่อที่ทำให้หนังน่าสนใจคือผู้อำนวยการสร้างอย่าง เจอร์รี บรักไฮเมอร์ (Jerry Bruckheimer) ที่สร้างหนังบล็อกบัสเตอร์มาจำนวนไม่น้อย แถมช่วงที่จับคู่กับผู้กำกับ ไมเคิล เบย์ (Michael Bay) นั้นก็สร้างตำนานระเบิดภูเขาเผาเกาะจนเป็นที่จดจำ คาดหวังว่าเรื่องนี้ก็น่าจะมีฉากแอ็กชันที่อลังการเช่นนั้น ซึ่งพูดกันตรง ๆ คือมีนะ ใหญ่จริง ระเบิดจริง แต่มันไม่ว้าวเอาเสียเลย เป็นการสร้างระเบิดที่สิ้นเปลืองเหลือเกินเมื่อเทียบกับอารมณ์ตื่นตาตื่นใจที่ได้กลับมา

อย่างไรก็ดีหากจะถามว่าแล้วหนังเรื่องนี้เป็นแนวอะไรมากที่สุด ก็คงพูดได้ว่านี่เป็นหนังแนวแอ็กชันนั่นแหละ เพราะแนวอื่นของเรื่องมันด้อยกว่าชัดเจน ไม่ว่าจะตลกร้าย ดราม่า ระทึกขวัญ การเมือง หรือแนวอิงประวัติศาสตร์ก็ตาม ดูเอามันเพลิน ๆ ได้สนุกร่วม 2 ชั่วโมง ถ้าไม่ติดความแปลก ๆ เหมือนเอาแก๊งจ่าดับ จำเปาะไปเป็นตัวละครนำในหนัง ‘Saving Private Ryan’ อย่างไรอย่างนั้น ก็คงม่วน ๆ ดีล่ะนะ

The Ministry of Ungentlemanly Warfare
The Ministry of Ungentlemanly Warfare