[รีวิว] อนงค์: รอมคอมคนรักผี จังหวะเดิม ๆ ที่คุ้นเคย ไม่ใหม่ แต่ก็ดูสบายใจที่สุด

Release Date

01/05/2024

ความยาว

125 นาที

ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ คมกฤษ ตรีวิมล

แฟนฉัน (2546) เพื่อนสนิท (2548) หนูหิ่น เดอะ มูฟวี่ (2549) สายลับจับบ้านเล็ก (2550) ซีรีส์เด็กใหม่ (Girl from nowhere) season 2 (2564)

Our score
7.5

อนงค์

จุดเด่น

  1. การคัดเลือกนักแสดงและการกำกับการแสดง ที่ปรุงบรรยากาศฟีลกู้ดช่วยให้หลบหนีความวุ่นวายของโลกความจริงได้อย่างละมุนกลมกล่อมมาก

จุดสังเกต

  1. งานโปรดักชันอาจยังดูเป็นฉากที่เซ็ตขึ้นด้วยความจงใจให้มีความแฟนตาซี แต่งานซีจีก็ไม่เนียนเอามาก ๆ แบบหาข้ออ้างไม่ได้
  2. เส้นเรื่องธรรมดา จังหวะการเล่าเรียบง่าย จังหวะมุกก็เอาเพลินมากกว่าเอาฮา โดยรวมอาจไม่สุดในแง่หนังตลกหรือหนังผี แต่ก็สุดยอดในความตั้งใจเป็นหนังฟีลกู้ด
  • บท

    7.5

  • โปรดักชัน

    7.0

  • การแสดง

    8.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    7.5

Major Cineplex logo
สนับสนุนโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ: โจ เกมเมอร์หนุ่ม เขาได้รับมรดกเป็นบ้านเก่าของเจ้าคุณปู่ ทว่าบ้านนี้มีของแถมเป็นผีชื่อ คุณอนงค์ ลูกสาวเจ้าของบ้านที่หายตัวไปเมื่อ 80 ปีก่อน โจที่กล้วก็กลัวแหละ แต่จะเอายังไงดี หนี้ก็มี ผีสาวคนนี้ก็น่ารัก

ถ้าเป็นคนที่ดูหนังมานานสักหน่อย จุดน่าสนใจที่สุดของหนังเรื่องนี้คงเป็นชื่อของผู้กำกับอย่าง เอส – คมกฤษ ตรีวิมล ที่หากเป็นช่วงหนึ่งเขาคือผู้กำกับที่โดดเด่นที่สุดในหมู่เพื่อน ๆ รวม 6 คนที่ร่วมกันกำกับหนัง ‘แฟนฉัน’ (2546) ทั้งยังมีผลงานที่ลายเซ็นชัดในแนวหนังรักหนังตลก และคงเป็นหนังในดวงใจใครหลายคนทั้ง ‘เพื่อนสนิท’ (2548)  ‘หนูหิ่น เดอะ มูฟวี่’ (2549) และ ‘สายลับจับบ้านเล็ก’ (2550) ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็ห่างหายไปจากพื้นที่หนังโรงอย่างน่าเสียดายในฝีมือ แม้จะมีมาแจมในการทำซีรีส์และผลงานอื่น ๆ บ้างก็ตาม การกลับมาลงทำหนังฉายโรงครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่แฟน ๆ ของคมกฤษคงตั้งตารอมานาน

สำหรับคนที่ไม่คุ้นชื่อของคมกฤษ ตัวหนังก็ยังมีความน่าสนใจอื่นที่ชวนดึงดูดให้เข้าไปชมอยู่ไม่น้อย ทั้งว่ามันเป็นหนังรอมคอมเกี่ยวกับคนและผีที่ให้บรรยากาศใกล้เคียง ‘พี่มาก..พระโขนง’ (2556) หนังพันล้านของ โต้ง – บรรจง ปิสัญธนะกูล จะเรียกว่าคนไทยขาดหายและโหยหาหนังแนวนี้ที่ทำถึงในด้านคุณภาพ ทั้งตลกและโรแมนติกมานานกว่า 10 ปีกันเลยทีเดียวจนกระทั่งเรื่องนี้

อนงค์

หนังเล่าเรื่องของ โจ วัยรุ่นแคสต์เกมที่จับพลัดจับผลูได้บ้านโบราณมาหนึ่งหลัง เขาตั้งใจขายเอาเงินไปใช้หนี้ ทว่าเมื่อพบเจอกับบรรดาผีที่อาศัยอยู่ในบ้านที่เป็นมิตรและจิตใจใสสะอาดอย่างคนยุคก่อนอย่างไม่น่าเชื่อ โจจึงทำสัญญาแลกเปลี่ยนจะช่วยให้พวกเขาได้ไปสู่สุคติด้วยการค้นหากระดูกที่ฆาตกรเอาไปซ่อนไว้ในส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้าน แลกกับการที่พวกผีจะช่วยเขาทำธุรกิจบ้านผีสิงเอาเงินไปล้างกับเจ้าหนี้สุดโหด แต่ระหว่างนั้นเขาก็เกิดความผูกพันกับทั้งพวกผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน เด็กวัยรุ่นท้องถิ่น และผีโดยเฉพาะ อนงค์ ที่เขาตกหลุมรักตั้งแต่แรกเจอเลย แม้จะเป็นฉากสุดสยองที่เห็นเธอถูกจำลองการตายทุกเที่ยงคืนก็ตาม

น่าสังเกตว่าหนังวางเส้นเรื่องให้ง่ายและสะอาดมาก หลายอย่างเราก็พอจะเดาได้เลยว่ามันจะเดินไปอย่างไร แต่มันก็มีรายละเอียดที่มีเสน่ห์ให้ชวนติดตามไป แม้จะรู้ทั้งรู้อยู่แล้วเช่นกัน ในขณะเดียวกันมันก็มีเส้นเรื่องย่อยที่คอยหยอดเข้ามาทั้งเจ้าหนี้ ทั้งแฟนเก่า ทั้งความรักคนกับผี ทั้งปริศนาฆาตกรในอดีต ที่ทำให้หนังไม่น่าเบื่อ และมีจังหวะเคลื่อนไปข้างหน้าแบบกำลังพอดี เป็นหนังฟีลกู๊ดที่วางตัวได้ละเมียดแบบคิดมาดีเนียนกริบเลยทีเดียว

อนงค์

ด้านนักแสดงนำก็ถือว่ามาฉายในจังหวะที่ดีของทั้งคู่ คือ โบว์ – เมลดา สุศรี และ จี๋ – สุทธิรักษ์ ทรัพย์วิจิตร กำลังขึ้นหม้อทั้งคู่มีผลงานที่การันตีความนิยมมากพอและฐานแฟนคลับที่ค่อนข้างดี ทั้งการแสดงในแนวรอมคอมของทั้งคู่ก็ออกมาอย่างน่ารักน่าชัง ไม่ว่าสถานการณ์ของหนังจะเป็นอย่างไร หากอนงค์หรือโจยิ้มหรือเล่นหน้าเล่นตา เราก็รู้สึกผ่อนคลายอารมณ์ไปด้วย ถือเป็นข้อได้เปรียบที่หนังคัดเลือกนักแสดงได้มีเสน่ห์ลงตัวกับหนัง ยิ่งโบว์เองต้องท้าทายกับการแต่งหน้าผีที่บางช่วงก็ดูน่ากลัวมาก แต่เราก็ยังรู้สึกถึงความอ่อนโยนและน่ารักภายในของตัวอนงค์อย่างดี

นักแสดงแถวสองที่คอยเติมบทชงบทเองก็ถือว่าลงตัวมาก ทั้ง พวง แก้วประเสริฐ หรือน้าพวง เชิญยิ้ม ที่รับบทผู้ใหญ่ที่ทำตัวเปิ่น ๆ น่ารักอย่างที่ตัวแกเป็นมาตลอด, ธามไท แพลงศิลป์ ในฐานะเด็กรถซิ่งที่ดูเกเร แต่ก็มีมุมน่ารักกับพ่อ และเป็นผู้ช่วยของพระเอกได้ จนถึงกับมีฉากขายที่สำคัญของเรื่องให้อมยิ้มร่วมกับโจ เช่นเดียวกับแจ็ค เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์ หรือแจ็ค แฟนฉัน, ฝน มอนสเตอร์ฝน และออม ปุณยวีร์ จึงเจริญ ศิลปินจากกลุ่ม CGM48 ที่แต่ละคนสามารถวางการแสดงให้พอดีกับหนังได้ไม่มากไม่น้อยเกินไป ต้องยอมรับทั้งการคัดเลือกนักแสดง และการกำกับการแสดงของหนังจริง ๆ เพราะการคุมตัวละครให้มันพอดีกับรสของหนังที่ต้องเลี้ยงความกลมกล่อมน่ารักน่าหยิกไปแบบพอดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งนักแสดงเสริมแต่ละคนก็พร้อมจะปล่อยแสงปล่อยพลังกันล้นจออยู่แล้ว

อนงค์

หนังยังได้เปรียบจากการอยู่ในวงการมายาวนานของคมกฤษที่ทำให้เขามีอดีตนักแสดงที่เคยร่วมงานมาหลายคน ถึงขนาดที่ทำให้มีนักแสดงรับเชิญมาช่วยเล่นกันคับคั่ง แม้บางคนจะโผล่มาแค่หลักไม่ถึงนาทีก็ตาม ตั้งแต่ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, พีค – ภัทรศยา เครือสุวรรณศิริ, ต้าเหนิง – กัญญาวีร์ สองเมือง, ป๋อมแป๋ม – นิติ ชัยชิตาทร, ปิงปอง – ธงชัย ทองกันทม และอีกมากมาย ซึ่งก็รวมถึงการแสดงครั้งสุดท้ายที่เราอาจได้เห็นบนจอใหญ่ของ ดีเจโก – ตฤณ เรืองกิจรัตนกุล ที่จากไปเมื่อปลายปีก่อนด้วย

มันก็ทำให้คนที่ดูรู้สึกถึงความ Nostalgia และหวนคิดถึงบางอย่างที่ปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการวางตัวละครทุกตัวให้มีความน่ารักและอุดมคติมาก ๆ ไม่ว่าจะวัยรุ่นก๊วนซิ่งที่เป็นเด็กจริงใจแบบที่ไม่ค่อยจะเจอในชีวิตจริง ผู้ใหญ่ใจดีที่มาช่วยเหลืออย่างไม่หวังผลประโยชน์ มันมีความชนบทความเก่าแบบที่ไม่คุ้นชินในยุคสมัยนี้อีกแล้ว

ซึ่งสิ่งหนึ่งที่หนังทำได้อย่างเนียนมาก คือจังหวะการเล่าของหนัง การหยอดมุก การวางเหตุผลเรียงร้อยไปแบบต่อก้อนอิฐสร้างบ้าน มันเรียบง่าย สะอาด และลงตัวมาก เป็นจังหวะของหนังยุคก่อนที่ยังไม่ต้องเร่งรีบและเข้าไวออกไวมากเกินไป ไม่มีคำหยาบเกินบริบทให้ต้องมาขุ่นหู ไม่มีความโฉ่งฉ่างให้ระคายตา เป็นหนังรักใด ๆ ที่ละมุนแม้จะอยู่ในพล็อตที่แฟนตาซีมาก ๆ ก็ตาม จังหวะพวกนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันมีกลิ่นลายเซ็นของคนยุคหนึ่งที่น่าคิดถึงอยู่ และเชื่อว่าคนดูหนังไทยมาประมาณหนึ่งน่าจะรู้สึกดีไม่น้อยทีเดียวที่ได้เจอคนคุยในจังหวะเดียวกัน ซึ่งไม่ได้เจอกันมานาน

อนงค์

อย่างไรก็ดี มันก็มาพร้อมข้อที่อาจเป็นจุดด้อยของหนังที่น่าจะเป็นแผลใหญ่มากไปด้วย เพราะความต้องคุมโทนหนังให้น่ารักพอกรุบกริบ มันจึงเป็นหนังแบบอมยิ้มฟีลกู๊ด ไม่ได้ตลกร่วนหรือฮาชุดใหญ่อะไรแบบนั้นทั้งที่มีศักยภาพไปถึงได้ ซึ่งเข้าใจได้เช่นกันว่าผู้สร้างต้องการแค่เท่านี้มากกว่า ถ้าคนดูตั้งใจเข้าไปขำเถิดเทิงง้างขากรรไกรไปก๊ากมาแต่ไกล นี่ยังไม่ใช่หนังในแบบนั้น ในขณะเดียวกันในแง่ความสยดสยองน่ากลัวของผีมันก็มีมากสุดเพียงการแต่งหน้าแต่งตาที่ถึงใจเท่านั้น ทั้งการนำเสนอความเฮี้ยนที่ต้องตายซ้ำ ๆ ทุกคืน หรือการหลอกหลอนคนที่มาบ้านผีสิงที่เน้นขายซีจี มันก็ออกไปในทางคอมิกไม่สมจริง และไม่ได้ทำให้เนียนตานัก เหมือนมีโจทย์การทำคลุมเอาไว้แล้วว่าอย่างไรนี่ต้องเป็นหนังที่ปลอดภัยกับการชมทั้งครอบครัว แม้จะมีเด็กเล็กเข้าไปดูด้วยก็ตาม ดังนั้นใครหวังหนังที่โตกว่านั้น โฉ่งฉ่างกว่านั้น นี่ไม่ใช่ด้วยประการทั้งปวง

อนงค์