Release Date
22/05/2024
แนว
แอ็กชัน/ผจญภัย/ไซไฟ
ความยาว
2.28 ช.ม. (148 นาที)
เรตผู้ชม
R
ผู้กำกับ
จอร์จ มิลเลอร์ (George Miller)
Our score
8.4Furiosa: A Mad Max Saga | ฟูริโอซ่า : มหากาพย์แมดแม็กซ์
จุดเด่น
- ฉากแอ็กชันอาจไม่สะใจเท่า Fury Road แต่ได้อารมณ์เรื่องราวดราม่า+ผจญภัยแบบ Mad Max ภาคแรก ผสม Vibe แบบ Fury Road ที่เชื่อมจักรวาลกันได้อย่างสนิทแนบแน่นมาแทน
- อันยา เทเลอร์-จอย อาจจะไม่ได้ถึงกับช่ำชองด้านแอ็กชัน แต่ก็ถือว่าทำได้ดี อารมณ์ผ่านสีหน้าและแววตาที่สะกดได้อยู่หมัด
- คริส เฮมส์เวิร์ธ สลัดภาพ Thor เป็นวายร้ายเถื่อน ๆ โรคจิตได้บ้ามาก
- งานสร้าง โปรดักชัน ฉากแอ็กชัน ตัดต่อ มุมกล้อง ยังดีงามไม่แพ้ Fury Road
จุดสังเกต
- มี Pace บางช่วงจริง ๆ ที่รู้สึกว่ากระชับได้มากกว่านี้
- อย่าคาดหวังฉากแอ็กชันยาว ๆ มัน ๆ วินาศสันตะโรแบบ Fury Road เด็ดขาด
- CGI แอบลอยให้รู้สึกได้นิด ๆ แต่ไม่ถึงกับแย่
-
คุณภาพด้านการแสดง
8.0
-
คุณภาพโปรดักชัน
8.3
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
8.2
-
ความบันเทิง
8.6
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
9.0
เมื่อเกือบ ๆ 40 ปีที่แล้ว หลังจากจบไตรภาคถนนโลกันตร์ ‘Mad Max’ จากวิสัยทัศน์ของ จอร์จ มิลเลอร์ (George Miller) ที่เล่าเรื่องราวของแม็กซ์ ร็อกคาแทนสกี (Max Rockatansky) อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เปลี่ยนตัวเองกลายมาเป็นนักสู้พเนจร และเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว เรื่องราวความโหดร้ายของโลกหลังการล่มสลาย ถูกหยิบนำมาปัดฝุ่นเล่าใหม่ใน ‘Mad Max: Fury Road’ (2015) ที่ประสบความสำเร็จเกินคาด ทั้งรายได้และคำวิจารณ์ คว้ารางวัลด้านเทคนิคจากเวทีออสการ์มาได้ถึง 6 รางวัล
และ 10 ปีต่อมา เรื่องราวของอีสาวนักสู้แขนเดียว ผู้ต้องการเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดที่เธอจากมา ช่วงเวลา 2 ทศวรรษก่อนเหตุการณ์ใน Fury Road กำลังจะถูกบอกเล่าผ่านเรื่องราวและสายตาของฟูริโอซ่าวัยสาว ก่อนที่เธอจะถูกเรียกขนานนามว่า อิมเพอเรเตอร์ ฟูริโอซ่า (Imperator Furiosa) ใน ‘Furiosa: A Mad Max Saga’ ที่ยังคงได้มิลเลอร์มาดูแลวิสัยทัศน์ของตัวเองเช่นเคย และยังคงเขียนบทร่วมกับนิโค ลาธูริส (Nico Lathouris) ที่เคยเขียนบทให้กับ Fury Road มาแล้ว
‘Furiosa: A Mad Max Saga’ เล่าเรื่องของฟูริโอซ่าวัยเด็ก ที่อาศัยอยู่อย่างสงบสุขในดินแดนที่ถูกเรียกขานว่า Green Place of Many Mothers พื้นที่เขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์ในตำนานเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ทุกอย่างล่มสลาย แต่แล้วฟูริโอซ่าก็ถูกแก๊งมอเตอร์ไซค์ผู้ยิ่งใหญ่ที่มีชื่อว่า ไบก์เกอร์ ฮอร์ด (Biker Horde) จับตัวไป ฟูริโอซ่าถูกจับมาอยู่ใต้การควบคุมของดีเมนทัส (คริส เฮมส์เวิร์ธ – Chris Hemsworth) Warlord ผู้นำโรคจิตของ Biker Horde
ดีเมนทัสเกิดความเหิมเกริม ต้องการบุกยึดป้อมปราการสำคัญที่ดูแลโดยวอร์ลอร์ดจอมเผด็จการ อิมมอร์ทัน โจ (ลาชี ฮูล์ม – Lachy Hulme) มาเป็นของตัวเอง ทั้งบุลเล็ตฟาร์ม (Bullet Farm), แก๊สทาวน์ (Gas Town) และซิทาเดล (The Citadel) ฟูริโอซ่า (อันยา เทเลอร์-จอย – Anya Taylor-Joy) ต้องดิ้นรนและเติบโตท่ามกลางการเอาตัวรอดระหว่างสงครามแย่งชิงทรัพยากรและอำนาจของวอร์ลอร์ดทั้ง 2 โดยมี เพรโทเรียน แจ็ก (ทอม เบิร์ก – Tom Burke) นักขับรถบรรทุก War Rig ผู้หยิบยื่นโอกาสให้กับเธอ ฟูริโอซ่าในวัยสาว เฝ้ารอวันที่เธอจะหาทางกลับบ้าน และหาทางลงมือแก้แค้นดีเมนทัสด้วยตัวเอง
แม้ว่าเซตติงโลกของ Fury Road กับหนังเรื่องนี้จะเชื่อมโยงกันอยู่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน แต่สิ่งที่ภาคนี้เป็น มันไม่ใช่การพยายามรังสรรค์ฉากแอ็กชันหวาดเสียวเร้าใจ เพลงประกอบบวกบรรยากาศสุดพลุ่งพล่าน งานสร้างรถยนต์สุดพิลึกพิลั่นแต่โคตรเท่แบบที่ Fury Road เป็นขึ้นมาใหม่อีกรอบ แต่ด้วยความที่ตัวหนังมีโจทย์ในการเล่าเรื่องที่มีไทม์ไลน์เหตุการณ์กินเวลาหลัก 15 ปี++ ไม่ใช่เรื่องราว 3 วัน 2 คืนจบเหมือน Fury Road หรือ Mad Max ภาคอื่น ๆ ภาคนี้มันจึงมีการเน้นไปที่เรื่องราว มีความพยายามจะขยายจักรวาลด้วยการเล่าเรื่องราว อธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากกว่า
ซึ่งนั่นก็เลยทำให้เราได้เห็นหน้าตาของ The Green Place of the Many Mothers ที่มีอยู่จริง ได้เห็นรถ War Rig ยังใหม่เอี่ยม ได้เห็นสาเหตุที่ฟูริโอซ่าแขนขาด ได้เห็นตำนานสงครามและความยิ่งใหญ่ ฯลฯ และแน่นอนว่ารวมถึงการชูให้เห็นถึงการล่มสลายของ The Wasteland ที่กำลังทวีความรุนแรง สวนทางกับการเติบโตของฟูริโอซ่าที่ต้องดิ้นรนท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเลวร้าย และความขัดแย้ง เรื่องราวปูมหลังและมิติของตัวละครบ้าอำนาจของดีเมนทัส หรือแม้แต่ของอิมมอร์ทัน โจ ได้อย่างน่าสนใจยิ่งขึ้น ไม่ใช่เหตุการณ์แอ็กชันที่เดินเรื่องเป็นเส้นตรงเข้าใจง่ายแบบที่ Fury Road เป็น
ค่อนข้างเห็นได้ชัดเลยว่า มิลเลอร์พยายามเอาเรื่องราวในจักรวาลนี้ และลีลาเอกลักษณ์ของตัวเขาเองมาร้อยเรียงเหตุการณ์ที่มีความเป็นตำนาน (Lore) บางอย่าง มีความเป็นนิทานปรัมปราที่บอกเล่าประวัติของนักสู้หญิงแขนเดียวที่พยายามขับ War Rig ลักลอบพาสาวในฮาเร็มของอิมมอร์ทัน โจ ในซิทาเดลเพื่อเดินทางกลับบ้าน (ใน Fury Road) และก็ยังมีความพยายามสอดแทรกจริตแบบหนังมหากาพย์สงคราม ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของฟูริโอซ่าแบบเบา ๆ ด้วย ซึ่งเป็นสงครามรถซิ่งในสไตล์ Mad Max ที่มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น (จากแต่เดิมที่มักจะเป็น Lore ที่ถูกอ้างถึงในจักรวาลเฉย ๆ)
แน่นอนว่ามันก็เลยทำให้ Pace การเล่าเรื่องโดยรวมจึงแตกต่างไปจาก Fury Road ด้วยท่าทีวิธีการเล่าที่มีการแบ่งออกเป็นบท หรือ Chapter มีการ Skip เวลาข้ามช่วงอย่างรวดเร็ว แถมในบาง Chapter ก็แทบจะเป็นการเน้นงาน Visual ให้เห็นภาพการกระทำของตัวละครแบบเกือบจะเพียว ๆ เลยด้วยซ้ำ เพื่อจะเล่าเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับฟูริโอซ่าที่มีมากมาย ไหนจะต้องโฟกัสไปที่การยึดทรัพยากรของดีเมนทัสอีก
ก็เป็นธรรมดาที่ฉากแอ็กชันอาจจะถูกลดทอนลง เพื่อให้เวลากับเส้นเรื่องที่มิลเลอร์พยายามอธิบายเพื่อขยายจักรวาลออกไปให้มากขึ้น หรือแม้แต่ใครที่อยากเจอน้องจอย (ฟูริโอซ่าตอนโต) วาดลีลาแอ็กชัน ก็ต้องรอเวลานานอยู่เหมือนกัน คือถ้าเป็นคอแอ็กชันก็อาจจะรู้สึกว่าเสน่ห์ของ Fury Road มันหายไปพอสมควรจนพาลไม่ชอบภาคนี้ไปเลยก็ได้
คือยังไง Fury Road ก็ยังคงชนะในแง่ของ Vibe ความบ้าพลัง ความขโมยซีนในแบบที่ Furiosa อาจจะขาดหายไปบ้าง และบรรดาฉากแอ็กชันก็อาจจะไม่ได้สดใหม่ แต่ Furiosa ก็ยังคงมีฉากแอ็กชันที่มีความหลากหลายมากขึ้น และยังคงน่าประทับใจไม่แพ้กัน ทั้งฉากไล่ล่าแบบเดียวกับ Fury Road ที่จัดเต็มยาว 15 นาที ฉากแอ็กชันไล่ล่าแนวระเบิดเขาเผากระท่อม ฉากการซุ่มโจมตีด้วยอาวุธปืน แอ็กชันแบบตัวต่อตัว ฉากไล่ล่าแบบตัวต่อตัวด้วยรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ที่ยังชวนให้หายใจไม่ทั่วท้อง ฉากแก้แค้นที่หาทางลงได้สวย รวมทั้งฉากโหดเรต R ที่ภาคนี้ถือว่าดิบเถื่อนรุนแรงกว่า Fury Road อีก
ถ้าเปรียบเทียบกับ Mad Max เรื่องราวของฟูริโอซ่าจึงมี Vibe บางอย่างคล้ายกับ ‘Mad Max’ (1979) ที่มีความใส่ใจในพล็อตและเนื้อเรื่องมากกว่า ‘Mad Max 2: The Road Warrior’ (1981) ที่ซัดแอ็กชันเพียว ๆ โดยไม่ต้องสนว่าตานี่ทำไมถึงต้องกินอาหารหมา แล้วออกเดินทางไปหาน้ำมัน แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องชื่นชมว่า มิลเลอร์ยังคงรักษา Pace การเล่าเรื่องได้ดีไม่แพ้ Fury Road เลย แม้หนังจะยาวถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่หนังสามารถเลี้ยง Pace หนังให้น่าติดตามไปตลอดได้ จะแอบมี Pace แก้แค้นตอนท้าย ๆ เรื่องที่รู้สึกว่ามันสั้นห้วนไปหน่อย น่าจะไปได้สะใจได้กว่านี้ แต่โดยรวมก็ถือว่าไม่ผิดหวัง
อีกส่วนที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะคาดหวังไม่น้อยก็คือบรรดาตัวละคร โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวละครฟูริโอซ่าจากชาร์ลิซ เธอรอน (Charlize Theron) มาเป็นน้องจอย (เพราะลุงมิลเลอร์แกไม่อยากใช้ De-Aged) คือแน่นอนแหละด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง คุณเธอรอนดูจะมีกายภาพความล่ำและลีนมากกว่าน้องจอย แต่หนังก็ยังคงเชื่อมเรื่องราวให้ออกมาเชื่อมโยงได้เป็นอย่างดี และแน่นอนว่าไม่ต้องห่วงเรื่องการแสดงของน้องจอยที่พลิกมารับบทคาแรกเตอร์บู๊ครั้งแรก ที่แม้ว่าจะยังเห็นร่องรอยความเป็นมือใหม่ แต่น้องก็ยังใช้สายตาแสดงอารมณ์จากภายในออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม จนไม่อาจละสายตาไปจากหน้าจอยามที่กล้องจับภาพ Close-Up ดวงตาของน้องจอยได้เลยจริง ๆ
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้แหละว่าการแสดงแบบบ้าพลังของดีเมนทัส ที่รับบทโดยพ่อหมีเฮมส์เวิร์ธ ที่ลงทุนสลัดภาพฮีโรกล้ามโต โชว์ลีลาการรับบทเป็นผู้นำที่มีทั้งความน่าเกรงขาม แต่ก็ยังมีความโรคจิตและติงต๊องหน่อย ๆ แย่งซีน แย่งความสนใจจากน้องจอยไปพอสมควรนะครับ กว่าจะได้โฟกัสน้องจอยอีกทีก็ตอนที่แก้แค้นกันนั่นแหละ แล้วอีกอย่างคือ พอดีเมนตัสดูมีลูกบ้า ขี้โม้โอ้อวด เหมือนจะโหดแต่ก็มีความกระจอก มันเลยเป็นตัวเปรียบเทียบให้จอมเผด็จการหน้าหม้ออย่าง อิมมอร์ทัน โจ ใน Fury Road ดูลุ่มลึกขึ้นมานิดหน่อยเหมือนกันนะ (55)
สิ่งแรกที่ผู้ชมควรจะทำที่ผู้เขียนอยากแนะนำก็คือ จงอย่าคาดหวังว่ามันจะมีแอ็กชันบ้าพลังวินาศสันตะโรแบบจัดเต็มเหมือนกับ Fury Road เป็นอันขาดนะครับ เพราะมันแทบจะคนละเรื่องเลยแหละ แน่นอนว่าฉากแอ็กชันก็ยังคงมีให้และจัดเต็มสมการรอคอย งานดีไซน์ มุมกล้อง ตัดต่อที่ยังคงทรงพลังและสมบูรณ์แบบในเกือบทุกมิติ เพียงว่ามันอาจจะไม่ได้มี Vibe เขย่าเร้าเขย่าใจได้เทียบเท่ากัน แต่สิ่งที่ Furiosa เป็นและทำได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันก็คือการขยายจักรวาล Post-Apocalypse ที่เป็นแก่นกลางของจักรวาล Mad Max ออกไปให้ไกลให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และมีความเป็นกึ่ง ๆ หนังแอ็กชันผสมกับมหากาพย์สงครามได้น่าสนใจ และมิลเลอร์ก็ยังคงมี Pace จังหวะการเล่าเรื่องที่ยังคงเฉียบคม รวมทั้งการแสดงของน้องจอย และพี่หมีที่ไม่ผิดหวัง ทำให้ Furiosa ออกมาโคตรโหด โคตรอันตราย และไม่ควรพลาดจริง ๆ