Release Date
18/07/2024
ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับศิวโรจณ์ คงสกุล
ที่รัก (Eternity), ซีรีส์ Remember You คือเธอ, ซีรีส์ 3:23 สัญญาสัญญาณ
ความยาว
7 ตอน ตอนละประมาณ 45 นาที
Our score
7.0สืบสันดาน (Master of the House)
จุดเด่น
- การสร้างสรรค์เรื่องราวนั้นผ่านการประกอบสร้างจากเรื่องราวที่คนคุ้นเคย ให้ออกมาเป็นแฟนตาซีอย่างละครไทยซึ่งต้องคิดมาอย่างละเอียดและซับซ้อนมาก เป็นส่วนที่น่าทึ่งและน่าจดจำอย่างมาก
- การแสดงของทั้งตัวหลักและตัวประกอบในเรื่องล้วนทำได้น่าประทับใจ แม้หลายจุดอาจรู้สึกมากเกินไปบ้าง
จุดสังเกต
- ฟอร์มการนำเสนอแบบละครไทยเป็นดาบสองคม ที่สร้างเอกลักษณ์แต่ก็ทำให้เกิดอคติล่วงหน้า
- โปรดักชันโดยเฉพาะงานภาพและการใช้ซีจียังดูต่ำกว่ามาตรฐานงานสากลไปหน่อย
-
บท
8.5
-
โปรดักชัน
6.5
-
การแสดง
7.5
-
ความสนุกตามแนวหนัง
7.0
-
ความคุ้มค่าการรับชม
7.0
เรื่องย่อ: หลังการเสียชีวิตอย่างผิดปกติของท่านเจ้าสัว บรรดาลูก ๆ และภรรยาหม้ายสาวที่มาจากตำแหน่งคนใช้ ก็เข้าสู่วังวนแย่งชิงมรดกที่พร้อมเผยสันดานดิบและความชั่วช้าในแบบคนรวย ที่พวกคนธรรมดาทำได้เพียงเฝ้ามอง ปล่อยยินยอมต่ออำนาจ หรือจะลุกขึ้นขัดขืน
ดูอย่างผิวเผินซีรีส์ไทยจากเน็ตฟลิกต์เรื่องล่าสุดเรื่องนี้ อาจต้องฝ่าฟันคำครหานานับประการ จากการถูกเปรียบเทียบในแง่คุณภาพของตัวงานที่ออกจะไปคล้ายคลึงได้ทั้งงานละครไทยที่คุ้นตาจากเรื่องราวครอบครัวคนรวย สังคมคนใช้ และศึกแย่งชิงมรดกของพวกคนเลว ในขณะเดียวกันมู้ดของภาพและตัวเรื่องที่ไปในแนวทางดราม่าเชือดเฉือน มีการพูดถึงเรื่องชนชั้น ก็อาจชวนไปเทียบงานดราม่าฝั่งเกาหลีไปได้อีก ทว่าตัวซีรีส์เองก็มีความพยายามสร้างเอกลักษณ์บางอย่างที่เราคงหาดูจากที่ไหนไม่ได้เช่นกัน
ซีรีส์นี้เป็นผลงานของผู้กำกับ กานต์-ศิวโรจณ์ คงสกุล ที่เดินทางมาจากสายหนังอิสระ สายหนังประกวด จนได้รับโอกาสทำงานที่ใหญ่ขึ้น และลดความเป็นหนังส่วนตัวลงมาก ส่วนตัวเริ่มจำชื่อเขาได้จากหนังสั้นเรื่อง ‘เสียงเงียบ’ ที่ได้มีโอกาสฉายในโรงร่วมกับหนังรุ่นใหญ่อีกหลายคน ความละเมียดในแง่โปรดักชัน ความคิดเยอะซ่อนนัยยะอย่างชาญฉลาดชวนให้พูดคุยต่อหลังหนังจบ นั่นคือความประทับใจแรกในตัวของศิวโรจณ์ จนเขาเริ่มเด่นชัดขึ้นในแง่การสื่อสารด้านความสัมพันธ์ของมนุษย์ การสื่อสารอารมณ์ โดนเฉพาะหนังเรื่องยาวอย่าง ‘ที่รัก (Eternity)’ ที่เอาความทรงจำของครอบครัวมาถ่ายทอดได้อย่างมีเสน่ห์แตกต่างจากหนังไทยตระกูลเดียวกัน จนกระทั่งมีผลงานรีเมกหนังและซีรีส์เกาหลีในฉบับไทยให้ได้จดจำชื่อเขาในวงกว้างขึ้น
กันตนาเองเป็นหนึ่งในค่ายที่เก่งในเรื่องคอนเทนต์ไทย คลุกคลีกับวงการสื่อโดยเฉพาะรายการและละครโทรทัศน์ตั้งแต่สมัยช่องฟรีทีวีจนมาถึงทีวีดิจิทัลเรียกว่าก็อ่านกลุ่มเป้าหมายคนดูละครไทยได้ขาด การจับมือกับผู้กำกับศิวโรจณ์จึงเกิดความคาดหวังจากผู้ชมได้ทั้งแง่ที่ว่ามันจะเป็นละครไทยแบบที่คนดูมานานจนร้องอี๋ หรือมันจะเป็นการส่งเสริมกันให้ได้รสชาติใหม่ที่คุ้นลิ้นคนไทยด้วยและแปลกใหม่พร้อมบุกตลาดนานาชาติได้อีก ซึ่งผลลัพธ์โดยส่วนตัวมองว่ามันเป็นการเอาฟอร์มแบบละครไทยมาปรับปรุงให้มีลูกเล่นทั้งด้านโปรดักชันและการแสดง ตลอดจนการเล่าเรื่องที่ยกระดับขึ้น แต่ก็ยังหนีฟอร์มของความเป็นละครไม่พ้น
ซึ่งมันก็อาจยังไม่โดดเด่นเพียงพอสำหรับคนที่ตราหน้าว่าละครไทยอีกแล้วได้อยู่ดี ทั้งนี้ก็เข้าใจได้เพราะเมื่อเทียบกับคอนเทนต์ไทยทางเน็ตฟลิกซ์ที่เป็นซีรีส์เหมือนกันหลายเรื่องก่อนหน้านั้น มันฉีกขาดจากภาพจำเดิม ๆ ได้อย่างชัดเจนกว่า มีมาตรฐานแบบหนังหรือซีรีส์ที่เป็นสากลกว่า ไม่ว่าจะแง่โปรดักชันหรือความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งตอกย้ำภาพของ ‘สืบสันดาน’ ว่าไม่ฉีกจากเดิม ๆ
ดังนั้นตัว ‘สืบสันดาน’ แม้จะมีลูกเล่นเยอะ เช่นการตัดต่อแบบเชื่อมฉากสลับลำดับเวลาเดินไปข้างหน้าและย้อนหลังเล่าอดีต ด้วยการใช้องค์ประกอบภาพคล้ายกัน (Match Cut) ที่น่าตื่นตาตื่นใจในความกล้าของทีมสร้าง แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องคุ้นเคยคอละคร และเรียกร้องสมาธิในการชมและจัดลำดับเหตุการณ์ด้วยประมาณหนึ่ง ก็ทำให้รู้สึกว่ากลุ่มเป้าหมายนั้นคลุมเครือว่าจะเน้นว่าให้ใครชอบ แม้จะดูมีอะไรที่ใหม่มาก ทว่าพอดูไปในฉากแต่ละฉากมันก็มีความเป็นละครไทยอยู่ การแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ งานภาพองค์ประกอบศิลป์ที่ดูเชยในบางฉาก ยิ่งชัดเจนกับการใช้ซีจีหรือการตกแต่งด้วยเทคนิคพิเศษที่มันคุณภาพไม่ได้สูงมากคล้ายกับที่เราชอบล้อเลียนละครยุคหนึ่ง จึงยิ่งตอกย้ำความรู้สึกคนที่ไม่ชอบ จนทำให้คนที่ไม่ชอบอาจเบือนหน้าไปก่อนที่จะได้เลาะเปลือกความเป็นละครไทยของตัวซีรีส์ออกมาว่าเนื้อแท้นั้นมันมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจทีเดียว
เราได้เห็นว่า ‘สืบสันดาน’ นั้นมีความคิดเยอะในการรื้อโครงสร้างโลกความจริงแล้วประกอบสร้างขึ้นใหม่ให้เป็นงานแฟนตาซี มีความพุ่งสุดและเป้าประสงค์ที่ชัดเจนอย่างที่ละครไทยควรทำ เราอาจโดนหลอกด้วยหน้าฉากว่ามันคือซีรีส์แนวสืบสวนหาตัวคนร้ายอย่างที่คุ้นชินเวลามีการตายปริศนา ทว่าเมื่อดูไปเราจะรู้ว่าคำเฉลยนั้นไม่ได้มีความสำคัญมากที่สุดในเรื่องเลย ถึงขนาดบางช่วงเราลืมสงสัยไปแล้วว่าใครคือคนฆ่าท่านเจ้าสัว
เพราะเป้าหมายจริงคือซีรีส์ต้องสามารถสร้างตัวละครที่คนดูจะหมั่นไส้จนถึงขยะแขยงแบบที่พูดกันติดปากในยุคหนึ่งว่า นักแสดงบางคนเดินตลาดนัดบางช่วงไม่ได้เลยเพราะจะเจอแม่ค้าฟาดหน้าด้วยเปลือกทุเรียน ซึ่งบทบาทหลักนี้ต้องยอมรับว่า แก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล นั้นบทส่งให้เรายิ่งเกลียดตัวละครของเขาได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นความท้าทายที่เขาก็จะต้องเป็นตัวละครที่เลวในแบบที่หามิติที่น่าเห็นใจแทบไม่เจอเลยทีเดียว ในขณะที่ตัวละครอื่นก็มีพื้นที่ในการสร้างความเกลียดชังทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อย่างไม่ยิ่งหย่อน และสร้างภาพครอบครัวที่ชั่วช้าขึ้นมา อาจมีเพียงเจ้าสัวเท่านั้นที่เป็นคนดี แต่แสงแห่งความดีนั้นก็ตายไปแล้วตั้งแต่ฉากแรกของซีรีส์ นั่นคือทีมสร้างดึงจุดแข็งของละครไทยมาใช้ได้อย่างดี เพราะละครไทยยุคเก่ามักเล่นกับเส้นดำ-ขาวอย่างชัดเจน ทำให้คนดูเชียร์และเกลียดได้ง่าย
ทว่า ‘สืบสันดาน’ มีท่าเล่นที่หักความรู้สึกคนดูไปอีก โดยลบ ‘กฎแห่งกรรม’ ไม่ให้ทำงาน คนทำเลวยิ่งเลวได้มากขึ้น ๆ อย่างที่ไม่มีใครทำอะไรได้ อำนาจเงินอำนาจพระเดชนั้นถูกใช้ได้แบบคนดูต้องกำหมัดแล้วกำหมัดอีก จนเกิดคำถามว่าทำไมพวกตัวละครฝั่งที่ถูกกระทำอย่าง ไข่มุก นางเอกซึ่งรับบทโดย ญดา-นริลญา กุลมงคลเพชร กับแก๊งคนใช้ของเธอนั้นถึงไม่รวมตัวกันเอาคืนบ้าง หนำซ้ำยังยอมสละพลังการเอาคืนทิ้งแล้วศิโรราบอย่างน่าหงุดหงิดเสียอีก ซึ่งตรงนี้คนดูก็ยิ่งรู้สึกว่ามันยิ่งไม่สมเหตุสมผลขึ้นเรื่อย ๆ เพราะขัดสามัญสำนึกของมนุษย์ปุถุชน แต่นั่นกลับน่าจะเป็นจุดที่ผู้สร้างต้องการให้เรื่องไปถึง เพราะคำถามมันจะกลับมาที่เราเองในท้ายที่สุด
ว่าสิ่งที่เราเห็นว่าไม่สมเหตุสมผลเกินจริงในเรื่องราวทั้งหมดนั้น เรากลับเผชิญมันผ่านข่าวและเหตุการณ์ในสังคมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คำพูดที่เราคุ้นชินอย่าง ‘ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป’ นั้นในโลกความจริงนั้นเสียงดังกว่า ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ เป็นไหน ๆ มันจึงชวนให้เราต้องกลับไปคิดถึงหลาย ๆ ประโยคที่เกิดเป็นบทสนทนาหรือไดอะล็อกในเรื่อง ว่าจริงแล้วมันกำลังพูดเรื่องอะไรอยู่กันแน่ ตัวละครนี้แทนสัญญะของอะไร ส่วนตัวมองว่ามันเป็นภาพสะท้อนการเสพติดอำนาจนิยมในสังคมยุคใหม่ได้อย่างแยบคายทีเดียว เมื่อบรรลุมาถึงจุดนี้เราจึงไม่สามารถพูดได้เลยว่านี่คือซีรีส์ที่ล้มเหลว มันเล่นกับความรู้สึกเราจนสำเร็จไปแล้วต่างหาก แต่มันอาจเข้าถึงเนื้อสาระจริง ๆ ในเรื่องได้ยากสักหน่อยเท่านั้นเอง