[รีวิว] Alien: Romulus: รวมฮิตจักรวาลเอเลี่ยน แอ็กชันสยองสดใหม่ในอารมณ์ดั้งเดิม
Our score
7.7

Release Date

15/08/2024

แนว

สยองขวัญ/ไซไฟ/ระทึกขวัญ

ความยาว

2.07 ช.ม. (127 นาที)

เรตผู้ชม

R

ผู้กำกับ

เฟเด อัลวาเรซ (Fede Álvarez)

[รีวิว] Alien: Romulus: รวมฮิตจักรวาลเอเลี่ยน แอ็กชันสยองสดใหม่ในอารมณ์ดั้งเดิม
Our score
7.7

Alien: Romulus | เอเลี่ยน โรมูลัส

จุดเด่น

  1. งานโปรดักชันอลังการสมจริง วิชวล ฉาก แสง เสียง สีสัน ฉากสถานีอวกาศ อวกาศ สมจริงสุด ๆ
  2. อัดความสยองขวัญมาแบบครบสูตร เป็น Don't Breathe ที่มีลุงตาบอดเหมือนกัน แต่ไอ้ตัวนี้เลือดเป็นกรดด้วย
  3. บทของเคลี สแปนี โดดเด่น การแสดงของ เดวิด จอนส์สัน น่าจับตามอง
  4. งาน Practical Effect ให้ความรู้สึกที่มีกลิ่นอายหนังเอเลี่ยนยุคเก่าอยู่ แต่ก็มีการปรับใหม่ให้ดูโหดกว่าเดิม
  5. ขยายจักรวาลของ Alien ได้น่าสนใจ แต่ยังไม่ทิ้งรูปแบบเดิม ๆ ที่เป็นจุดเด่น

จุดสังเกต

  1. พล็อต ซีเควนซ์ต่าง ๆ ไม่ได้มีอะไรใหม่เป็นพิเศษ คนที่เข้าใจ Lore แบบ Alien มาแล้วอาจไม่เซอร์ไพรส์
  2. Pacing หนังบางช่วงมีอาการเร็วไปบ้าง ช้าไปบ้าง
  3. ในอีกด้าน งาน Practical Effect ก็แอบทำให้บางคนรู้สึกดูแข็ง ๆ ได้เหมือนกัน
  4. แอบรู้สึกว่าหนังสั้นไปนิด บางประเด็นเลยถูกเล่าเอาไว้แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ
  • คุณภาพด้านการแสดง

    7.6

  • คุณภาพโปรดักชัน

    9.0

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    6.7

  • ความบันเทิง

    7.4

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    7.7


Major Cineplex logo
สนับสนุนโดย Major Cineplex

หลังจากความล้มเหลวแบบติด ๆ ตั้งแต่ ‘Alien 3’ (1992) และ ‘Alien Resurrection’ (1997) จนถึงภาคต้นอย่าง ‘Alien: Covenant’ (2017) ก็เลยพาให้เราไม่ได้เห็นน้องซีโนมอร์ฟ (Xenomorph) ออกมาอาละวาดอยู่นานทีเดียว จนมาถึงปีนี้ น้องกลับมาอาละวาดอีกครั้งใน ‘Alien: Romulus’ ภาค Standalone ที่มีไทม์ไลน์อยู่คั่นกลางระหว่างภาคคลาสสิกทั้ง ‘Alien’ (1979) ฉบับสยองขวัญของ ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) และ ‘Aliens’ (1986) ภาคแอ็กชันของ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) โดยภาคนี้ได้ เฟเด อัลวาเรซ (Fede Álvarez) ผู้กำกับสายระทึกขวัญโหดสลัดจาก ‘Evil Dead’ (2013) และ ‘Don’t Breathe’ (2016) มากำกับและเขียนบทร่วม โดยได้ปู่สก็อตต์รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ด้วยตัวเอง

เหตุการณ์ใน ‘Alien: Romulus’ เกิดขึ้นในปี 2142 หรือ 20 ปีหลังจากเหตุการณ์ใน ‘Alien’ (1979) ในอาณานิคมเหมืองอวกาศ Jackson’s Star ที่มีอากาศหายใจ แต่ไร้แสงสว่าง ควบคุมดูแลโดยบริษัท Weyland-Yutani ทุกคนที่อาศัยอยู่ในอาณานิคมต้องทำงานเพื่อดำรงชีพ เรน คาร์ราดีน (เคลี สแปนี – Cailee Spaeny) และแอนดี (เดวิด จอนส์สัน – David Jonsson) หุ่น Synthetic ที่พ่อผู้ล่วงลับมอบไว้ให้ดูแลเธอ ใฝ่ฝันอยากจะหลีกหนีจากสัญญาทาส แล้วหลบหนีออกไปจากอาณานิคมแสนมืดมิด ไปยังดวงดาวที่มีแสงอาทิตย์ส่องสว่างอันไกลโพ้นที่มีชื่อว่า อีวากา 3 (Yvaga III)

Alien Romulus 2024 Photo courtesy of 20th Century Studios

เรนและแอนดี ร่วมมือกับ ไทเลอร์ (อาร์ชี เรอโนซ์ – Archie Renaux) แฟนเก่า, เคย์ (อิซาเบลา เมอร์เซด – Isabela Merced) น้องสาวของเคย์ รวมทั้ง บียอร์น (สไปก์ เฟิร์น – Spike Fearn) และนาวาร์โร (ไอลีน วู – Aileen Wu) คิดแผนการลักลอบใช้ยานคอร์เบอแลน 4 (Corbelan IV) เดินทางขึ้นไปยังเรเนอซองส์ (Renaissance) สถานีอวกาศร้างถูกปลดระวางที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เรมัส (Remus) และโรมูลัส (Romulus) พวกเขาต้องการบุกเข้าไปเพื่อขโมยชิ้นส่วนยานไปขาย แต่สิ่งที่นักสำรวจรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่ทันล่วงรู้ก็คือ ในสถานีอวกาศแห่งนี้ มีฝูงมฤตยูที่อันตรายที่สุดในจักรวาลซ่อนตัวอยู่

สิ่งที่ผู้เขียนชอบเกี่ยวกับตัวหนังก็คือ แม้มันจะให้ความรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปดู ‘Alien’ และ ‘Aliens’ อย่างละครึ่งอะไรแบบนั้น ไม่ว่าจะด้วย Easter Egg รวมทั้งตัวละครลับ ๆ ที่อ้างอิงมาจากภาคก่อน ๆ เอาไว้แบบบาง ๆ รวมทั้งบรรยากาศ และแน่นอนว่ารวมถึงสูตรพล็อตการหนีเอาตัวรอดจากเอเลี่ยนบนสถานีอวกาศในแบบที่วนเวียนอยู่ในภาคหลัก ๆ แต่สิ่งที่ภาคนี้เป็น มันไม่ใช่แค่การจับเอา Reference มายัดมั่ว ๆ แล้วทำตัวเป็นแค่แฟนเซอร์วิสเฉย ๆ แต่เป็นการเชื่อมโยงจักรวาลของ Alien ด้วยการหยิบเอาปมและ Lore อย่างละนิดละหน่อยจากทุกภาคมา Crack ได้อย่างน่าสนใจมาก

Alien Romulus 2024 Photo courtesy of 20th Century Studios

คือถ้าภาคก่อน ๆ จะเป็นการเน้นไปที่สถานการณ์ของการเอาตัวรอดของมนุษย์จาก Xenomorph บนสถานีอวกาศ ภาคนี้ก็คงเป็นการบิดเรื่องราวที่เป็นผลมาจากโลกใบเดิมด้วย สิ่งที่หนังยืม Reference มาอย่างชัดเจนก็คงหนีไม่พ้นภาค 1 ที่เป็นต้นเรื่องของเหตุการณ์ในภาคนี้ด้วย ส่วนภาค 2 จะเป็นการอิงอารมณ์ความเป็นทริลเลอร์-แอ็กชันมาใช้เสียมากกว่า แต่สิ่งที่น่าจะคาดไม่ถึงและเจ๋งมาก ๆ คือ การอธิบายโลกของมนุษย์ในยุคอาณานิคมอวกาศ โลกที่มนุษย์ตกเป็นทาสของธุรกิจที่ผูกขาดและเอารัดเอาเปรียบ โรคระบาด รวมทั้งสภาวะจิตใจ การปฏิบัติตัวของมนุษย์ที่มีต่อมนุษย์ และมนุษย์กับหุ่น Synthetic

ภาคนี้มันจึงไม่ใช่การเชื่อมโยงโลกแบบสุ่มสี่สุ่มห้า หรือแค่พยายามจะสร้าง เอลเลน ริปลีย์ คนใหม่เฉย ๆ แต่เป็นการเล่าเรื่องของโลกที่เด็ก Gen-Z พยายามจะดิ้นรนออกจากโลกอันแสนหดหู่ หนีจากการเป็นทาสของโมเดลธุรกิจอันแสนโหดร้ายแล้วไปตายเอาดาบหน้ากับ Xenomorph และ Facehugger ที่เป็นผลพวงจากเป้าหมายและความทะเยอทะยานของบริษัท Weyland-Yutani ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงภาค ‘Prometheus’ (2012) และ ‘Alien: Covenant’ (2017) ได้ด้วย

Alien Romulus 2024 Photo courtesy of 20th Century Studios

แม้ว่าหนังจะค่อนข้างมีรายละเอียดที่ต้องเก็บค่อนข้างเยอะ แต่ตัวหนังเซตอัป Lore ของเอเลี่ยนเอาไว้ให้คนที่ไม่คุ้นเคย หรือคนรุ่นใหม่ดูแล้วเข้าใจได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าอยากดูสนุกขึ้น เข้าใจความเป็น Retrospective ของตัวแฟรนไชส์มากขึ้น ผู้เขียนแนะนำว่า ทำการบ้านกับภาค 1-2 และ ‘Prometheus’ เป็นหลักได้เลยครับ หรือถ้าไม่มีเวลา ดูเฉพาะภาค 1-2 ก็ได้ แต่เอาจริงเนื้อเรื่องมันก็ Standalone และจบในตัวในระดับที่ดูภาคนี้เดี่ยว ๆ ก่อนได้เหมือนกันนะครับ

แล้วด้วยความที่คุณอัลวาเรซแกเขียนบทร่วมกับ โรโด ซายาเกซ (Rodo Sayagues) มือเขียนบทจากใน ‘Evil Dead’ (2013), ‘Don’t Breathe’ (2016) และ ‘Don’t Breathe 2’ (2021) ก็รับประกันได้เรื่องความโหด เรียกว่าหลังจากให้เวลากับองก์แรกไปแล้ว ความสยองนี่คือมาทุกรูปแบบ เป็นการต่อยอดรูปแบบทางสยองขวัญแนวบ้านผีสิงผสมกลิ่น Slasher แบบ ‘Alien’ บวกกับทางแอ็กชันแมน ๆ แบบ ‘Aliens’ ผสมกับแนวทางของตัวเองได้น่าสนใจดี มีการเล่นกับจังหวะความเคว้งคว้าง เงียบงัน มืดมิดที่ชวนขนลุก มีจังหวะ Jump Scare นิดหน่อย มีฉากการเอาตัวรอดจากเอเลี่ยนที่ชวนให้นึกถึงโจรที่กำลังหนีลุงตาบอดใน ‘Don’t Breathe’ อยู่กลาย ๆ โดยเฉพาะองก์สุดท้ายนี่คือพีกผีบ้าผีบอมาก ส่วนฉากแรงโน้มถ่วงก็เล่นเอาเวียนหัวไปเลย

Alien Romulus 2024 Photo courtesy of 20th Century Studios

อีกสิ่งที่ให้คะแนนเต็มก็คืองานโปรดักชัน โดยเฉพาะฉากยานและสถานีอวกาศที่สร้างขึ้นจริง ๆ ที่ได้กลิ่นอายความแอนะล็อกจากภาคแรกมาเต็ม ๆ รวมทั้งฉากอวกาศและพร็อปที่ออกแบบได้สวย สมจริง และอลังการตาแตกมาก ๆ อีกสิ่งที่เป็นจุดขายก็คือ การกลับมาใช้ Practical Effect ทั้งการใช้คนสวมชุดแสดงเป็น Xenomorph และการสร้าง Facehugger รวมทั้งบางองค์ประกอบที่เป็น Animatronics ถ้าชอบความความย้อนยุคก็จะชอบเลย แต่ถ้าใครไม่ชอบความหุ่นเชิดแข็ง ๆ ก็อาจยี้ได้เหมือนกัน อีกอย่างคือ นี่คือภาคที่ใช้ศักยภาพด้านงานภาพ มุมกล้อง เพลงสกอร์ การวางจังหวะเสียงดัง-เสียงเงียบได้ระทึกมาก ๆ ถ้างบถึง จัดระบบ IMAX ก็คุ้มอยู่นะ

สิ่งที่ถือว่าเป็นข้อสังเกต แต่เป็นสิ่งที่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเหมือนกันก็คือ การใช้พล็อตสูตรสำเร็จหนังเอาตัวรอดเอเลี่ยนในแบบที่คุ้นเคยในภาคหลัก ซึ่งถ้าใครที่เป็นแฟนหนังอยู่แล้วก็จะรู้สึกว่ามันซ้ำทางจนเกือบจะหมดลุ้นนิด ๆ รวมทั้ง Pace ของบางซีเควนซ์ที่ดูเร่งรัดแบบแปลก ๆ หรือการกระทำบางอย่างที่ดูง่ายและจงใจอยากได้ผลลัพธ์มากไปหน่อย รวมถึงความสดใหม่ที่แทรกเข้ามาในองก์สุดท้าย ที่น่าจะชวนเสียงแตกไม่น้อย คือมันก็ทั้งลุ้น ทั้งพอจะเข้าใจได้ แต่มันก็แปลกและพิศวงมากพอที่จะเสี่ยงโดนล้อเหมือนกัน

Alien Romulus 2024 Photo courtesy of 20th Century Studios

นอกจากนั้น ตัวหนังก็นับว่ายังมีความเจ๋งในการผสานเรื่องราวที่มีหัวใจ มีความลึกซึ้ง การสร้างตัวละครที่มีความห่ามและไหวพริบแบบคนหนุ่มสาวมากขึ้นกว่าภาคก่อน ๆ (แม้จะทำอะไรงง ๆ เด๋อ ๆ ไปบ้าง แต่คงไม่ถึงขั้นวิ่งลื่นล้มเลือดน่ะนะ) รวมทั้งการแทรกแบ็กกราวนด์และสัญญะเกี่ยวกับความเป็นพี่เป็นน้อง (เรมัส-โรมูลัส) การเสริมดราม่าความสัมพันธ์ฉันพี่น้องของคนกับหุ่น Synthetic ซึ่ง เคลี สแปนี สามารถรับบทเรน ได้อย่างมีไหวพริบ และมีเสน่ห์แบบที่แตกต่างจากริปลีย์ ส่วน เดวิด จอนส์สัน ก็สามารถปลดล็อกการแสดง และรับบทเป็นหุ่นแอนดี น้องชายผู้เคียงข้างกับเรนได้อย่างน่าจดจำสุด ๆ

หนังภาคนี้คงไม่ได้ตอบโจทย์ในแง่ของการค้นหาสิ่งแปลกใหม่เหมือนบรรดาภาคต่อ หรือไปทาง Epic เข้ม ๆ แบบภาคต้นที่ปู่สก็อตต์ทำไว้ อันนั้นคงต้องเป็นเรื่องอนาคต (ที่ขึ้นอยู่กับผลตอบรับของภาคนี้เป็นสำคัญ) ตรงข้าม มันคือหนังที่ยังคงใช้ฟอร์แมตพล็อตแบบเดิม ๆ นี่แหละ แต่มันคือหนังที่รวมจุดเด่นจากหนังในแฟรนไชส์เอเลี่ยนทุกภาคมา Crack และขยายจักรวาลได้อย่างลงตัว คนไม่ใช่แฟน ก็ยังบันเทิงไปกับจังหวะสยองขวัญกระอักกระอ่วน ผสมฉากแอ็กชันในแบบที่ผู้กำกับถนัด แม้จะไม่ใช่ภาคที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่ก็นับว่าเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ที่น่าจะมีบทบาทในการขยายจักรวาลหนัง ‘Alien’ ในอนาคตแหงเลย