[รีวิว] วิมานหนาม: หนามใดเล่าจะแหลมและเน่าเท่าหนามแห่งความไม่เท่าเทียม
Our score
7.8

Release Date

22/08/2024

แนว

ดราม่า

ความยาว

2.05 ช.ม. (125 นาที)

เรตผู้ชม

PG-13

ผู้กำกับ

นฤเบศ กูโน

[รีวิว] วิมานหนาม: หนามใดเล่าจะแหลมและเน่าเท่าหนามแห่งความไม่เท่าเทียม
Our score
7.8

วิมานหนาม | The Paradise of Thorn

จุดเด่น

  1. สะท้อนภาพความไม่เท่าเทียมที่ทำให้ตัวละครทะเยอทะยาน ผ่านพล็อตชิงดีชิงเด่นน้ำเน่าได้อย่างน่าสนใจ
  2. โปรดักชันโดยรวมดีมาก ทั้งงานภาพ มุมกล้อง เพลงสกอร์ แสง สี ที่มีความเป็นสากล
  3. เจฟ ซาเตอร์ รับบทได้มีความดื้อและแรดมาก ส่วนอิงฟ้ารับบทเป็นชาวบ้านได้เหมือนมากกกก
  4. เป็นการทลายกรอบแบรนด์ของ GDH ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว

จุดสังเกต

  1. ตอนไคลแมกซ์องก์สุดท้ายรู้สึกว่าฉิบหายซ่องแตกไม่ค่อยถึง รวมทั้งการกระทำบางอย่างของตัวละครที่ไม่ซื้อ
  2. ตอนสรุปจบแอบรู้สึกหาทางลงง่ายไปหน่อย ถ้าเล่นแบบช็อกแตกไปเลยจะดีกว่านี้มาก
  3. จังหวะการหักมุมกลางเรื่องที่บางคนอาจจะรู้สึกไม่ชอบได้เหมือนกัน
  • คุณภาพด้านการแสดง

    7.7

  • คุณภาพโปรดักชัน

    8.1

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    7.6

  • ความบันเทิง

    7.7

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    7.8


Major Cineplex logo
สนับสนุนโดย Major Cineplex

หลังจากที่ GDH ประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับ ‘หลานม่า’ ที่ทำรายได้และคำวิจารณ์งดงาม และกำลังทยอยไปเข้าฉายในต่างประเทศอยู่ในขณะนี้ ค่ายหนังอารมณ์ดีก็ได้ฤกษ์เข็นโปรเจกต์ใหม่อย่าง ‘วิมานหนาม’ ที่เป็นความร่วมมือกับสตูดิโอน้องใหม่ ใจ สตูดิโอ (Jai Studio) โดยหนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทหนังฉายโรงครั้งแรกของ บอส นฤเบศ กูโน ผู้กำกับและเขียนบทที่เคยสร้างชื่อให้กับซีรีส์ดัง ๆ อาทิ ‘My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน’ (2562) และ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ (2563-2564)

เรื่องราวของ ‘วิมานหนาม’ เล่าถึงชีวิตของ ทองคำ (เจฟ ซาเตอร์) และเสก (พงศกร เมตตาริกานนท์) คู่รักเกย์ที่ช่วยกันปลูกบ้านหลังเล็ก ๆ บนที่ดินสวนทุเรียนของเสกในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทองคำช่วยทำงานและใช้เงินก้อนใหญ่ทั้งชีวิตไถ่ถอนที่ดินที่ติดจำนองคืนมาให้เสก และหวังจะใช้ที่แห่งนี้เป็นวิมานแห่งรัก โดยมีโฉนดที่ดินเสมือนเป็นทะเบียนสมรสของทั้งคู่ แต่แล้วเหตุการณ์กลับพลิกผัน เมื่อเสกกลับเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ชีวิตของทองคำจึงต้องพบกับความยากลำบากในยามที่การสมรสเท่าเทียมยังไม่ทันมาถึง

The Paradise of Thorn 2024 GDH Jai Studio

บ้านและสวนทุเรียนจึงต้องตกเป็นของแม่แสง (สีดา พัวพิมล) แม่ของเสกผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกตามกฎหมาย แถมยังพาโหม๋ (อิงฟ้า วราหะ) ลูกสาวที่เก็บมาเลี้ยง และจิ่งนะ (หฤษฎ์ บัวย้อย) น้องชายของโหม๋เข้ามาถือครองสิทธิ์โดยพลการ ทองคำจึงต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อทวงคืนบ้าน สวน และทุเรียนทุกลูกที่เขาลงมือสร้างมาด้วยตัวเอง ในขณะที่โหม๋ก็พร้อมที่จะช่วยแม่แสงแย่งชิงกลับคืนมาในฐานะกรรมสิทธิ์ของครอบครัวเช่นเดียวกัน

แม้ตัวหน้าหนังจะชวนให้นึกถึงภาพของความไม่เท่าเทียมของชุมชนชาว LGBTQIA+ ที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากข้อกฎหมายที่ไม่ครอบคลุม และตัวหนังในองก์แรกก็พยายามจะสอดแทรกปัญหาต่าง ๆ ที่คนเหล่านี้ต้องเจอ โดยเฉพาะปัญหาทางด้านกฎหมายจุกจิกวุ่นวายที่คนเป็น LGBTQIA+ (และคนที่คิดจะใช้ชีวิตคู่ในยามที่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง) ต้องเผชิญ

The Paradise of Thorn 2024 GDH Jai Studio

ในองก์แรกจึงค่อนข้างเน้นไปที่การใช้ชีวิตสมรสผ่านกลิ่นโรแมนติกแบบ BL ที่ดำเนินบนความกะพร่องกะแพร่งของทองคำและเสก ซึ่งล้วนเกิดจากการขาดหลักฐานการเป็นคู่ชีวิตที่เรียกว่าทะเบียนสมรส ที่ทำให้ภาพการหมั้นหมาย การแต่งงาน การมอบอำนาจ และการจัดการมรดกของทั้งคู่บิดเบี้ยวจนถึงขั้นที่ต้องติ๊งต่างเอาบ้านเป็นวิมานเรือนหอ และเอาโฉนดที่ดินมาเป็นทะเบียนสมรส

แต่สิ่งที่ตัวหนังแอบเอาไว้และเกินจากตัวอย่างไปอย่างคาดไม่ถึง และมันชวนให้นึกถึง Vibe บางอย่างในหนัง ‘Parasite’ (2019) แบบกลาย ๆ ก็คือการเล่าเรื่องความผิดเพี้ยนของเหล่าตัวละครที่ต่างพร่องในบางสิ่งบางอย่าง โดยเฉพาะความเท่าเทียม และสิทธิ์อันชอบธรรมในฐานะมนุษย์ (ที่อาศัยอยู่ภายในรัฐ) ในขณะที่คนฟากหนึ่งคือ LGBTQIA+ ที่อยู่ในดินแดนที่ตัดขาดโอกาส และการทำความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศอย่างแทบจะสิ้นเชิง ในขณะที่คนอืกฟากหนึ่ง คือตัวแทนของคนจนที่โดนเอารัดเอาเปรียบจนแทบไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก และอีกฝั่งหนึ่งก็คือ ‘คนนอก’ ที่ถูกมองเป็นกาฝากที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียง เพราะไม่ต้องการจะตกไปจากขอบของธรรมเนียมและสถานะทางสังคมที่ตัวเองอิงแอบอาศัยอยู่

The Paradise of Thorn 2024 GDH Jai Studio

ถ้า ‘หลานม่า’ คือการชิงผลประโยชน์ผ่านมุมมองของครอบครัวชนชั้นกลางชาวไทยเชื้อสายจีน และการสะท้อนภาพของความเข้าอกเข้าใจอันลึกซึ้งอันดีระหว่างญาติมิตร วิมานหนามก็คือการแหกแผลชีวิตบัดซบอันเป็นผลจากนโยบายภาครัฐ ที่ก่อให้เกิดเป็นความสัมพันธ์แห่งผลประโยชน์ และนำไปสู่ความแตกแยก ที่ถูกเล่าผ่านเส้นเรื่องไม่ซับซ้อน ก่อนจะค่อย ๆ แกะเปลือกให้เห็นความเป็นละครน้ำเน่าแม่ผัว-ลูกสะใภ้ที่ค่อย ๆ ใช้หนามเชือดเฉือนกันผ่านพล็อตชิงดีชิงเด่น ชิงโง่ชิงฉลาด หาเหลี่ยมหามุมบนความได้เปรียบเสียเปรียบทางกฎหมายหรือสถานะสังคม และไดอะล็อกที่จิกกัดเผ็ดแสบจนต้องร้องอื้อหือ ก่อนจะคลี่คลายทะลุหนามแหลมคมเข้าไปพบเนื้อในความเป็นมนุษย์ของตัวละครที่ถูกความบัดซบเหล่านั้นกดเอาไว้ รวมทั้งผลลัพธ์จากความรักและความไว้ใจที่แสนจะหอมหวานและแหลมคม

อีกสิ่งที่ผู้เขียนชื่นชมโดยส่วนตัวก็คือ การเลือกสวนทุเรียน และพื้นเพของความเป็นชาวไทใหญ่บนดอยในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาเป็นโลเคชันหลัก ซึ่งนอกจากจะถ่ายทอดผ่านงานโปรดักชันคุณภาพดี เพลงสกอร์ที่มีกลิ่นความเป็นหนังทริลเลอร์ปั่นประสาท มุมกล้องที่มีความเป็น Art House การตัดต่อที่ถ่ายทอดความเป็นต่างจังหวัดออกมาได้สวยและมีความเป็นสากลมาก ๆ สิ่งที่ตัวหนังทำได้ดีก็คือ การใช้ความเป็นต่างจังหวัดที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ไม่ว่าจะเรื่องของความห่างไกลจากโครงสร้างพื้นฐาน ระยะทางของตัวละคร และ Vibe บางอย่างของคนต่างจังหวัด เป็น 1 ในแกนขับเคลื่อนเรื่องราวที่สำคัญไม่ต่างอะไรกับสัญญะความแตกต่างของห้องคนจน-บ้านคนรวยใน ‘Parasite’ เลยแหละ

The Paradise of Thorn 2024 GDH Jai Studio

ในแง่โดยรวม ตัวหนังถือว่ามีธีมและโทนการเล่าเรื่องอยู่ในระดับที่ดีนะครับ ตัวหนังค่อย ๆ สลับเล่ามุมมอง จังหวะชีวิต อุปสรรค และอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละฝั่ง ระหว่างทางมีจังหวะตลกร้ายให้ขำ ค่อย ๆ บีบคั้นด้วยอารมณ์ทริลเลอร์ ก่อนจะระเบิดโทนความตลกร้ายและตึงเครียดซ่องแตก จนไปถึงการตัดสินใจทำสิ่งอันเลยเถิด ที่ก็ชวนให้นึกถึง ‘Parasite’ อีกเหมือนกัน

แต่ก็แอบมีข้อสังเกตในองก์ที่ 3 ที่แม้ตัวหนังจะอุตส่าห์ปูทางตลกร้ายมาโดยตลอด แต่ก็แอบน่าเสียดายที่ตัวหนังแอบมีความเซฟ เล่นท่าง่ายในระดับหนึ่ง รวมทั้งการกระทำของตัวละครบางจุดที่ไม่ชวนให้ซื้อเลย จนแอบรู้สึกว่าหนังหาทางลงง่ายไปหน่อย และยังไม่ชวนให้รู้สึกถึงโศกนาฏกรรมความฉิบหายบรรลัยซ่องแตกอย่างที่ตัวหนังอุตส่าห์ปูมา และอย่างที่ใจอยากเห็น (และอยากช็อกแตกคาเก้าอี้) สักเท่าไหร่

The Paradise of Thorn 2024 GDH Jai Studio

ส่วนของตัวละคร แม้จะมีอาการติดเล่นใหญ่บ้าง แต่ก็เรียกได้ว่าตัวหนังให้ความสำคัญกับพฤติกรรมและความรู้สึกของตัวละครให้ดูมีทั้งความน่าเกลียด และน่าสงสารได้อย่างมีมิติ ไม่ว่าจะเป็นระดับมือโปรอย่างแม่สีดา พัวพิมล ที่ดีงามในระดับไม่ต้องพูดถึงเยอะ เป็นชาวบ้านร้าย ๆ ได้แสบสันดีจริง ๆ ส่วน 2 นักแสดงที่รับบทครั้งแรกอย่าง เจฟ ซาเตอร์ ที่รับบทได้มีความขบถหัวดื้อ แต่แอบมีความแรดและร้ายมาก ๆ (อันนี้ชมนะครับ) ส่วนอิงฟ้า วราหะ ก็แสดงได้อย่างน่าสงสารแกมหมั่นไส้ มีรังสีความทะเยอทะยาน อีกอย่างคือ อิงฟ้ารับบทชาวบ้านได้เหมือนมากกก เหมือนยันชุดลงไปถึงท่าทาง สายตา และการพูดเลยแหละ (เอ่อ อันนี้ก็ชมนะครับ)

สำหรับผู้เขียน ถ้า ‘หลานม่า’ คือก้าวแรกแห่งความสำเร็จของ GDH ในยุคใหม่ หนังเรื่องนี้ก็คงเป็นจังหวะการทลายและท้าทายกรอบ Branding ของ GDH ที่ว่าด้วยสารของวัยรุ่น อารมณ์ ทัศนคติแบบชนชั้นกลาง และอารมณ์อันเปี่ยมสุขที่เป็นเซฟโซน ไปสู่การเล่าเรื่องตลกร้ายจริตจะก้านอันเผ็ดร้อน แฝงนัยเกี่ยวกับประเด็นสังคมอันแหลมคม และความเป็นมนุษย์ที่แสนจะน้ำเน่าและตรอมตรมได้อย่างน่าสนใจ และมีงานโปรดักชันที่มีความเป็นสากลได้อย่างท้าทายและกล้าหาญมาก ๆ ถ้าเทียบเป็นความสุกของทุเรียน ประมาณองก์แรก-ครึ่งแรกขององก์ 2 คือทุเรียนเนื้อไก่ฉีกที่หวานนิดหอมหน่อย กินได้แบบเพลิน ๆ ส่วนครึ่งหลังทั้งหมดคือทุเรียนเนื้อปลาร้า ที่แม้จะแอบเลี่ยนบ้าง แต่ก็เรียกได้ว่าหอมฉ่ำจัดจ้านทีเดียว


The Paradise of Thorn 2024 GDH Jai Studio