[รีวิว] Taklee Genesis : ตาคลี เจเนซิส สำเร็จในเรื่องยาก แต่พลาดในเรื่องง่าย

Release Date

12/09/2024

ความยาว

147 นาที

ผลงานแนวไซไฟก่อนหน้าของผู้กำกับ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

13 เกมสยอง (2547), เกรียน ฟิคชั่น (2556), มอนโด รัก/โพสต์/ลบ/ลืม (2566)

[รีวิว] Taklee Genesis : ตาคลี เจเนซิส สำเร็จในเรื่องยาก แต่พลาดในเรื่องง่าย
Our score
6.5

Taklee Genesis : ตาคลี เจเนซิส

จุดเด่น

  1. ฉลาดในการผูกเรื่องราวความเชื่อ พิธีกรรม วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และการเมืองเข้ามาในเรื่องได้น่าสนใจมาก ๆ
  2. ฉากซีจีมีจัดเต็มทั้งเรื่องจริง ๆ

จุดสังเกต

  1. บทสนทนา กับการแสดง การวางบุคลิกตัวละครยังไม่ค่อยลงตัว
  2. การสร้างฉากสถานการณ์ยังมีปัญหาความสมเหตุสมผลเหมือนกัน
  3. งานออกแบบศิลป์ดูแฟนตาซีและทำการบ้านน้อยไปหน่อย
  • บท

    6.0

  • โปรดักชัน

    7.0

  • การแสดง

    6.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    7.5

เรื่องย่อ: เมื่อทุกการเดินทาง นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงระดับจักรวาล ระหว่างภารกิจช่วยพ่อจากอีกมิติเวลาของสเตลล่า กับความล่มสลายของจักรวาล สิ่งไหนจะเกิดขึ้นก่อนกัน

หนังไซไฟสัญชาติไทยอาจเป็นของแสลงสำหรับคอหนังไทยไม่น้อย และแต่ละครั้งที่มีการสร้างก็มักมาจากแรงทะเยอทะยานของฝั่งผู้สร้างมากไปกว่าความคาดหวังของฝั่งคนดูอยู่บ่อยครั้ง แต่กระนั้นไซไฟก็ยังเป็นแนวหนังที่เป็นความท้าทายระดับชาติ ซึ่งแต่ละประเทศอยากก้าวข้ามกำแพงการเล่าเรื่องและด้านโปรดักชันในแนวนี้เพื่อไปปักธงในเวทีโลก ให้ได้เห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมหนังในประเทศของตนว่าพัฒนาถึงขั้นไหนแล้ว

และนี่คือครั้งแรกที่ผู้กำกับ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่เก่งในทางเล่าเรื่องและค่ายเนรมิตรหนัง ฟิล์ม ที่กล้าในการลงทุนด้านไอเดียใหม่ ๆ พร้อมกับงานโปรดักชันซีจีที่อยากยกระดับหนังไทยตั้งแต่ ‘แสงกระสือ’ (2562) จนถึง ‘ไลโอ โคตรแย้ยักษ์’ (2565) เพื่อท้าทายความเชื่อที่ว่าคนไทยทำหนังไซไฟให้ดีได้ยาก จนถึงกับเข้าตาทางค่ายวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ขอมารับเป็นผู้จัดจำหน่ายทั่วโลก

ซึ่งความคาดหวังส่วนตัวจะไม่หวังด้านงานโปรดักชันไว้สูงมากมายอยู่แล้ว เพราะรู้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรของอุตสาหกรรมหนังเราดี แต่หวังว่าวิสัยทัศน์ของมะเดี่ยวจะทำให้งานซีจีน้อยแต่มาก มาแล้วใช่ไปกับเรื่องก็เพียงพอ และที่คาดหวังไว้สูงกว่าคือไอเดียความเป็นไซไฟ การเล่าเรื่อง พัฒนาสร้างตัวละคร รวมถึงฉากดราม่าที่น่าจดจำอันเป็นลายเซ็นหนังมะเดี่ยว และนี่คือจุดตั้งต้นก่อนการดูหนังเรื่องนี้

ในแง่เนื้อเรื่อง ถือว่าหนังเปิดฉากได้น่าสนใจทีเดียว เรื่องเล่าขานตำนานแหวนวิเศษของดอนหาย หมู่บ้านชนบทที่มีความเชื่อว่าต้องบูชาหุ่นรูปคนที่ทำจากเนื้อสัตว์ดิบทุกปี และทำให้เรารู้จักครอบครัวของ สเตลล่า (นีน่า-ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน) เด็กน้อยลูกครึ่งที่แอบตามพ่อชาวอเมริกันเข้าไปในป่าต้องห้าม และพัวพันกับปรากฏการณ์ที่อธิบายไม่ได้ ซึ่งทำให้พ่อเธอหายตัวไป โดยลุงผู้ใหญ่จำนูญ (ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล) ที่ได้ไปช่วยพาเธอออกมาจากป่า บอกว่าเธอแค่ฝันไป และพ่อก็หนีออกจากหมู่บ้านไปแล้ว ทิ้งไว้เพียงวิทยุสื่อสารยุคสงครามเวียดนามเป็นของต่างหน้า

Taklee Genesis ตาคลี เจเนซิส

เรื่องราวหลักเกิดขึ้นใน 30 ปีให้หลัง เมื่อสเตลล่าในวัยผู้ใหญ่ (พอลล่า เทย์เลอร์) กำลังเผชิญวิกฤตครอบครัว ทำให้เธอต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งคำว่าลูกเป็นภาระที่เธอแอบบ่นก็กลายเป็นปมในใจของลูกสาวอย่าง วาเลน (นีน่า ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน) การกลับมาบ้านดอนหายของสองแม่ลูกเพื่อพบคุณยายที่ป่วย ทำให้สเตลล่าได้รับสัญญาณวิทยุจากพ่อที่บอกว่าเขาติดอยู่ในห้วงอวกาศและต้องการให้เธอช่วย การเดินทางพาพ่อกลับบ้านจึงเกิดขึ้น โดยได้ความช่วยเหลือของ อิษฐ์ (ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล) เพื่อนสมัยเด็กที่ตอนนี้กลายเป็นครูหนุ่มของหมู่บ้าน และก้อง (วอร์ วนรัตน์ รัศมีรัตน์) ลูกชายของลุงจำนูญที่ดูหนุ่มตลอดเวลา และมีภูมิหลังที่ยังคลุมเครือ

มาถึงจุดนี้จะเห็นว่าหนังมีความเป็นแฟนตาซีผจญภัยทำภารกิจอยู่ในเนื้อของการกระโดดข้ามเวลาและสถานที่ที่เป็นแนวไซไฟ เราเห็นว่าหนังพยายามเคลื่อนไปด้วยความต้องการของสเตลล่า และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการเดินทางจะสร้างพัฒนาการของตัวละครคล้าย ‘The Time Machine’ (2002) ที่ตัวเอกยิ่งแก้ไขยิ่งทำให้ปมปัญหาพันกันมากขึ้น ในขณะที่ตัวอิษฐ์เองก็ทำหน้าที่เป็นตัวละครสนับสนุนสำคัญที่พยายามสร้างจังหวะผ่อนคลายให้หนังเสมอด้วยมุกตลกเล็ก ๆ ของเขา ซึ่งระหว่างดูก็ชวนคิดไปถึงบทบาทของตัวละครอย่าง ฮาน โซโล ใน ‘Star Wars’ อยู่ไม่น้อย เช่นเดียวกันก้องก็เป็นตัวละครที่มีความลับบางอย่างและพร้อมจะเป็นทั้งมิตรและศัตรูเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนของหนังได้ตลอด ส่วนน้องวาเลนก็เป็นตัวละครแบบเจ้าหญิงที่มักตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย สร้างจุดลุ้นให้เรื่องราว ก็นับว่าเป็นแก๊งสูตรสำเร็จของหนังแนวผจญภัยแฟนตาซีที่ดูดี

แต่ปัญหาหลักที่พบคือ พอลล่า เทย์เลอร์ ยังเคาะสนิมการแสดงได้ไม่หมด บางฉากเล่นดีมาก ในขณะที่บางฉากก็แทบส่งอารมณ์อะไรออกมาไม่ได้เลย มีแต่คำพูดที่ยัดปากมากกว่าจะรู้สึก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมองว่าบทหนังและบทสนทนาไม่ได้เอื้อให้เราเห็นใจหรือเอาใจช่วยตัวละครนี้มากนักด้วย เพราะขณะที่อุปสรรคเดินไปและเรื่องก็เริ่มเห็นแววหายนะจากการกระทำของเหล่าตัวเอกมากขึ้น สเตลล่ายังเป็นตัวละครที่ความคิดและบุคลิกพัฒนาไปช้ากว่าพล็อตมากจนเราเริ่มไม่เชื่อในตัวละครนี้ และเช่นกัน ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล ก็ดูดีจนเราตามไม่ทันว่าตัวละครของเขาจะเป็นพวกขี้เล่นและตัวโจ๊กของเรื่อง และแม้จะปรับจูนแล้วว่าเขาจะเป็น ฮาน โซโล ของหนังเรื่องนี้ แต่การแสดงกับบทพูดของเขาก็ยังประหลาดไม่เข้ากับจังหวะของเรื่อง จึงดูผิดที่ผิดทางไปมากอยู่ดี ส่วนที่ดีของแก๊งตัวเอกและพยุงหนังจริงกลับกลายเป็น วอร์ วนรัตน์ รัศมีรัตน์ และน้องนีน่า ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน เสียอีกที่เล่นดีและเข้าเนื้อกว่ารุ่นใหญ่

Taklee Genesis ตาคลี เจเนซิส

ในส่วนดราม่าที่คาดหวังได้จากงานของมะเดี่ยว ในเรื่องนี้ก็มีการหยอดวางตามจุดต่าง ๆ ไม่ได้ขาด แต่อาจเพราะมีหลายปมในความสัมพันธ์ รวมถึงธีมความคิดหลายอย่างที่อยากแตะถึง มันเลยอาจไม่ได้เป็นหนังที่เรารู้สึกถึงแก่นความคิดเด่นในเรื่องเดียว มันมีทั้งความเป็นหนังครอบครัว หนังเพื่อน หนังให้กำลังใจคนที่ผิดพลาด หนังเข้าใจหลักธรรมชาติความเชื่อ หนังความต่างของเด็กและผู้ใหญ่ และสารพัดจะพูดถึง จุดนี้ทำให้ฉากดราม่าอาจจะไม่ได้เล่นผู้ชมได้หนัก เพราะมันกระจาย ๆ ไปหลายเรื่องมาก พอวกกลับมาที่ธีมหลักก็เลยเบาไป และที่สำคัญรอบนี้ฉากดราม่าหรือฉากที่ชวนจำมันจัดวางแปลก ๆ มาก จนเราอาจไม่อิน เช่น ระหว่างที่หนีการไล่ล่าของตัวอะไรสักอย่าง ยังไม่ทันพ้นภัยแต่ตัวละครได้กลับมาเจอกันก็ใส่บทสนทนาซึ้ง ๆ เข้ามาหลายท่อน คือสำหรับคนดูมันซึ้งตามไม่ลง เพราะยังลุ้นกับการหนีอยู่ว่าตัวละครจะรอดไหม แล้วกลายเป็นความรำคาญเสียอีกว่าจะตายอยู่แล้วทำไมไม่หนีก่อนค่อยคุย อะไรเทือกนั้น

แม้จะรู้สึกพลาดหวังกับการกำกับการแสดงและการสร้างฉากดราม่าที่น่าจดจำ แต่ในแง่ของการเล่าเรื่องต้องยอมรับว่า มะเดี่ยวจัดหนักจัดเต็ม วางเส้นเรื่องโครงเรื่องได้สนุกมาก มีความเชื่อมโยงและซับซ้อนในระดับที่คนดูตามได้ทัน สร้างสถานการณ์ให้ฉากหลังมีความหลากหลาย และดีไซน์เซอร์ไพรส์ได้สนุก มีหลายอย่างที่รอให้ผู้ชมไปพบเองในโรงหนังที่บอกก่อนจะไม่สนุก และที่ประทับใจมากคือการหยอดปมประวัติศาสตร์หลายอย่างเข้ามา ทั้งประเด็นสงครามเวียดนาม ที่ความสัมพันธ์ไทย-อเมริกา-ลาว ถูกเอามาสร้างตัวละครกลุ่มหนึ่งได้น่าสนใจ ประเด็นการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในไทยช่วงหนึ่งก็ถูกเอามาใช้ ประเด็นอุดมการณ์ระหว่างชนบทกับเมือง คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คนถืออำนาจรัฐและคนชายขอบ ถูกแซมเอาไว้อย่างดีในเนื้อเรื่องการผจญภัยแบบไซไฟ อันนี้เป็นเรื่องยากที่ทำสำเร็จและต้องชมแรง ๆ ทั้งส่วนไซไฟและส่วนสังคม ถ้าจะติงนิดเดียวก็คือเสียดายที่ความยาวหนังมันไม่พอจะเล่าได้ละมุนทุกรายละเอียด บางช่วงเหมือนรีบ ๆ ต้องไป ยังคิดขณะดูว่าถ้าเป็นหนังสือนิยายอาจจะอินไปกับตัวละครต่าง ๆ ได้มากกว่านี้

มาถึงส่วนของโปรดักชัน อันนี้ไม่เคยคิดดูแคลนเลย เชื่อว่างานซีจีคนไทยเองก็ทำได้ในระดับที่ดี เรื่องนี้อาจมีฉากซีจีมากกว่าปกติสักหน่อย จากที่คิดว่าเขาอาจใช้ทำน้อยแต่เน้น ๆ ให้ได้มาก มันกลับเป็นการจัดเต็มตลอดเรื่อง ต้องชื่นชมความทะเยอทะยานและความสามารถของหนังไทย แต่เข้าใจว่าพอเป็นฉากสเกลใหญ่มาก ๆ คงทำช็อตซีจีเยอะไม่ไหว ทำให้ต้องอาศัยเป็นการเล่าถึงมากกว่าจะให้ตัวละครได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น ก็เสียอรรถรสอยู่เหมือนกัน ลองนึกภาพระหว่างเราดูตัวละครขับรถเข้าไปใกล้กรงทีเร็กซ์ขณะที่ไฟฟ้าที่กรงดับ กับอีกแบบตัวละครนั่งในห้องจิบกาแฟแล้วเล่าว่าสักปีก่อนกรงทีเร็กซ์ไฟฟ้าดับแล้วเกิดเรื่องชวนสยองขึ้น มันก็ให้ความสนุกต่างมากโขอยู่

Taklee Genesis ตาคลี เจเนซิส

แม้งานซีจีจะอลังการเต็มล้นไปตลอดหนัง แต่ขณะเดียวกันมันก็มาด้วยจุดที่ดูจะลดทอนความสำคัญลงไปหน่อย คือการออกแบบศิลป์ ของหนัง จะว่าด้วยทุนก็ใช่ หรือจะว่าด้วยความมีอะไรต้องไปเน้นมากกว่าอย่างซีจี ทำให้รู้สึกว่าการออกแบบหลายอย่างดูต่ำกว่ามาตรฐานหนังมะเดี่ยวไปสักหน่อย ทั้งฉากหมู่บ้านอารยธรรมโบราณที่ พร็อป-ฉาก-คอสตูม ไม่ช่วยให้รู้สึกสมจริงเลย หรือฉากแก๊งเด็กโลกอนาคตที่ทรงผมเฟี้ยวฟ้าวจนประหลาดใจว่าในยุคสงครามปราบปรามทำไมคนถึงยังพิถีพิถันกับทรงผมได้แนวขนาดนั้น เหมือนทำการบ้านมาแต่ยังตีโจทย์ไม่แตกดีเท่าไหร่นัก

สรุปแล้วก็คงต้องบอกว่า หนังไซไฟไทยอาจไม่ได้ขึ้นไปสู้กับฮอลลีวูดหรือฝั่งตะวันตกที่แนวคิดวิทยาศาสตร์อยู่ในรากกว่าอยู่แล้ว แต่การสร้างเอกลักษณ์ไซไฟแบบเน้นเนื้อเรื่องผสานความเชื่อและประวัติศาสตร์ คล้ายที่หนังลาว ‘บ่มีวันจาก’ (2562) ก็ทำไว้นั้น อาจสร้างแนวหนังไซไฟแบบอาเซียนให้แข็งแรงขึ้นและติดตลาดโลกได้มากขึ้นก็ได้ แต่แน่นอนว่าสเกลงานที่ใหญ่ก็ต้องการการสนับสนุนที่มากตาม ทั้งเงิน บุคลากร และเวลา อย่างเรื่องนี้เห็นได้เลยว่าเพราะพะวงกับเรื่องยาก ๆ ทำให้อาจมีเวลาเกลาส่วนง่าย ๆ ที่เคยเจนจัดเชี่ยวชาญน้อยไปสักหน่อย ไม่งั้นคงสมบูรณ์แบบกว่านี้มาก

Taklee Genesis ตาคลี เจเนซิส