Release Date
12/09/2024
แนว
ดราม่า/ระทึกขวัญ
ความยาว
1.35 ช.ม. (95 นาที)
เรตผู้ชม
PG-13
ผู้กำกับ
เจ.ซี. ลี (J.C. Lee)
Our score
7.1Bad Genius | แบด จีเนียส
จุดเด่น
- ตัวหนังค่อนข้างเคารพต้นฉบับมาก ๆ ไม่ได้พยายามดัดแปลงจนมั่ว
- พล็อต การถ่ายทำ ตัดต่อ ยังดูสนุก ให้อารมณ์ที่ใกล้เคึยงกับต้นฉบับ
- เรื่องราวในองก์สุดท้ายมีความแตกต่างจากหนังต้นฉบับ พูดเรื่องที่ใหญ่กว่าการศึกษาได้น่าสนใจ
จุดสังเกต
- เรื่องราวช่วงต้น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกับต้นฉบับเป็นส่วนใหญ่ คนที่ดูแล้วอาจรู้สึกช้ำ
- โปรดักชัน ทุนสร้างบางจุดยังจับได้ว่าทุนต่ำ จนทำให้หนังหลาย ๆ ส่วนขาดอรรถรสและความ Impact บางอย่างไป
- คัลลินา เหลียง เป็นตัวแบก การแสดงโดยรวมทำได้ดี แต่ยังไม่ถึงขั้นโดดเด่นจับใจ เบเนดิกต์ หว่อง ช่วยเติมมิติเรื่องราวในฐานะพ่อและผู้อพยพขึ้นมาอีกนิด
-
คุณภาพด้านการแสดง
7.0
-
คุณภาพโปรดักชัน
6.6
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
6.6
-
ความบันเทิง
7.5
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
7.8
เมื่อ 7 ปีที่แล้ว มีหนังไทยเรื่องหนึ่งที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ที่ไม่ได้แค่เห่อกันในไทย แต่มันยังทะลุไปไกลถึงระดับโลก นั่นก็คือ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ (2560) ผลงานกำกับเรื่องที่ 2 ของ บาส นัฐวุฒิ พูนพิริยะ จากค่าย GDH ที่สร้างความนิยมในไทยและปิดจบตัวเลขรายได้ทั่วประเทศ 182 ล้านบาท กวาดรางวัลจากเวทีชั้นนำในไทยมากมาย เคยทำสถิติเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ 16 สาขา ชนะ 12 สาขา ก่อนจะถูกซื้อไปฉายในต่างประเทศทั่วโลก ทำรายได้รวมมากกว่า 1,840 ล้านบาท กลายเป็นหนังไทยที่ทำรายได้ในต่างประเทศสูงที่สุดตลอดกาล แล้วก็มีการต่อยอดออกมาเป็น ‘ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์’ (2563) ที่ได้ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ มากำกับ
และด้วยความที่พล็อตเรื่องราวการโกงข้อสอบของครูพี่ลินที่สนุกเหมือนราวกับดูหนังทริลเลอร์ ฮอลลีวูดก็เลยขอรีเมก ‘ฉลาดเกมส์โกง’ ให้กลายเป็นฉบับหนังฮอลลีวูดที่ใช้ชื่อแบบตรง ๆ ว่า ‘Bad Genius’ จากทีมผู้สร้างหนังรางวัลออสการ์ ‘CODA’ (2021) โดยได้ เจ.ซี. ลี (J.C. Lee) โปรดิวเซอร์และมือเขียนบทซีรีส์ ‘How to Get Away with Murder’ (2015-2017), ‘Love, Victor’ (2020-2022) และ ‘The Morning Show’ (2019) มาลุยงานกำกับหนังครั้งแรก และร่วมเขียนบทกับจูเลียส โอนาห์ (Julius Onah) ผู้กำกับ ‘The Cloverfield Paradox’ (2018)
เนื้อหาของ ‘Bad Genius’ เล่าเรื่องของ ลินน์ คัง (คัลลินา เหลียง – Callina Liang) สาวนักเรียนทุนผู้เปี่ยมพรสวรรค์ของโรงเรียนชื่อดัง ที่มีความใฝ่ฝันอยากเข้าเรียนด้านดนตรีที่ The Juilliard School โรงเรียนสอนศิลปะชื่อดังของนิวยอร์ก ในขณะที่ เม้ง คัง (เบเนดิกต์ หว่อง – Benedict Wong) พ่อของลินน์ เจ้าของร้านซักรีดในซีแอตเทิล ต้องการให้เธอเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง MIT มากกว่า
เธอมีโอกาสให้ความช่วยเหลือ เกรซ (เทย์เลอร์ ฮิกสัน – Taylor Hickson) ในการโกงข้อสอบ ก่อนที่เธอจะใช้ความฉลาดระดับอัจฉริยะในการรับจ้างโกงข้อสอบให้กับเกรซและพัท (ซามูเอล บรอน – Samuel Braun) เพื่อนร่วมชั้นฐานะดี จนในที่สุด เพื่อต้องการตามความฝันในการสอบวัดผล S.A.T. ที่ใช้สมัครยื่นเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ทั่วโลก พวกเขา รวมทั้งแบงค์ (จาบารี แบงส์ – Jabari Banks) นักเรียนทุนจอมเนิร์ด จึงต้องแท็กทีมร่วมกันทำปฏิบัติการโกงข้ามไทม์โซน โดยมีอนาคตของพวกเขาเป็นเดิมพัน
แน่นอนว่าหลายคนคงสงสัยว่าฉบับรีเมกมันมีอะไรที่ต่างไปจากต้นฉบับมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเอาจริง ๆ ถ้าวัดจากองค์ประกอบโดยรวม ๆ มันยังเป็นหนังที่เคารพต้นฉบับมากทีเดียวนะครับ ตั้งแต่เรื่องของชื่อตัวละครที่ถ่ายสำเนียงมาเป็นฝรั่งแบบเต็ม ๆ (แม้จะรู้สึกแปร่ง ๆ กับฝรั่งผิวดำชื่อแบงค์ กับพัทที่น่าจะออกเสียงว่าแพทมากกว่า) รวมถึงพล็อต การดำเนินเรื่อง โปรดักชัน ลูกเล่นการตัดต่อที่มีกลิ่นอายจากต้นฉบับราว ๆ 75-80% รวมถึงพล็อต กลไกการโกงข้อสอบของลินน์ โปรดักชัน แม้แต่ไดอะล็อกบางจุด และแนวทางการเล่าเรื่องแบบหนังจารกรรมที่อ้างอิงกลิ่นอายบางส่วนมาจากต้นฉบับ คือถ้าคุณไม่เคยดูมาก่อน อารมณ์ที่ได้จากหนังเรื่องนี้ก็ใช้คำว่าแทบไม่ต่างมากนักจากต้นฉบับล่ะครับ
จะมีต่างบ้างก็ตรงการเล่าเรื่องที่มีความรวดเร็วขึ้นกว่าต้นฉบับ แม้ว่าคนดูชาวไทยจะรู้และจำพล็อตได้ทะลุปรุโปร่งหมดแล้ว แต่การบิลต์อารมณ์ความเป็นหนังจารกรรมในฉบับนี้ก็ยังคงทำได้ใกล้เคียง อาจจะขาดความเนิร์ด ความล้ำบางอย่างจากต้นฉบับไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ คือถ้าคนที่ไม่เคยดูก็ยังคงดูสนุกได้ เพราะด้วยเทคนิคอะไรต่าง ๆ มันฉลาดและสนุกมาตั้งแต่ต้นฉบับอยู่แล้ว แต่ถ้าใครที่เคยดูแล้ว ‘ครูพี่ลิน’ เวอร์ชันออกแบบ (ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) ก็ยังคงลอยมาทับซ้อนกับ ‘ครูพี่ลินน์’ แบบอดไม่ได้อยู่ดี
แต่สิ่งที่แตกต่างจากต้นฉบับอย่างแท้จริงก็คือ การปรับบริบทต่าง ๆ ในแง่ของวัฒนธรรมและประเด็นสังคม ให้มีความเป็นอเมริกัน มีความเป็นโลกตะวันตกมากขึ้นนั่นเอง ตัวหนังยังคงพูดถึงความบิดเบี้ยว ปากว่าตาขยิบในเรื่องของค่านิยมทางการศึกษา สะท้อนเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมเอาไว้เช่นเดียวกับต้นฉบับ แต่ในฉบับนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าตัวหนังหันโฟกัสไปที่ประเด็นที่เป็นสากลและใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอิสระในการทำตามความฝันโดยที่ไม่จำเป็นต้องแคร์หน้าตาทางสังคม ชีวิตและความยากลำบากของกลุ่มผู้อพยพที่ต้องดิ้นรนเพื่อหาที่ยืนในดินแดนแปลกถิ่น การถูกบีบบังคับจากการเลือกปฏิบัติต่อชนชาติ ชนชั้น ความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มคนต่างสีผิว ไม่ว่าจะทั้งคนเอเชียน-อเมริกัน แอฟริกัน-อเมริกัน หรือแม้แต่คนขาวก็ตาม
ตัวหนังฉลาดตรงการใช้ตัวละครลินน์และพ่อในการเสนอความต่างของการหาที่ยืนในฐานะผู้อพยพ ในขณะที่ผู้อพยพรุ่นใหม่อย่างลินน์ เลือกที่จะเปิดหน้าสู้กับระบบ และข้ามฝั่งไปเล่นนอกระบบ พ่อของเธอกลับยอมโอนอ่อนผ่อนตามแรงเสียดทานทุกกระเบียดตามสไตล์ผู้อพยพรุ่นเก่า ก่อนที่ตัวหนังจะลากเข้าสู่การขมวดปมในองก์สุดท้ายที่ฉีกแหวกจากหนังต้นฉบับไปคนละทาง โดยเฉพาะการพูดถึงทุนนิยมทั้งในแง่มุมทางกฎหมาย หรือประเด็นของการที่คนรวยมักใช้คนจนเป็นเครื่องมือ หรือเรียกว่าเป็นการทำนาบนหลังคน (จน) ก่อนที่ตัวหนังจะแอบหักมุมเล็ก ๆ ด้วยการใช้ความโกงเป็นเครื่องมือในการดัดความบิดเบี้ยวเหล่านั้นอีกที
แต่ทุกอย่างที่ว่ามานั้นก็ต้องเผชิญกับข้อสังเกตใหญ่ ๆ ที่เป็นอุปสรรคของตัวหนัง นั่นก็คือเรื่องทุนสร้าง ที่แม้ว่างานสร้างหนังโดยรวมจะทำออกมาไม่แย่เลย แต่พอเป็นงานจากสตูดิโอเล็ก ๆ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่ทุนสร้างก็จำกัดจำเขี่ยไปด้วย รายละเอียดบางอย่างที่ต้องใช้ทุน ใช้คนเยอะ ๆ หรืองานโชว์งานโปรดักชันจ๋า ๆ เพื่อเล่าเรื่องเหมือนกับที่ต้นฉบับทำไว้ หรือถ้าบริบทไหนที่ไม่เหมือน หรือเอาความเป็นอเมริกันมาแทนบริบทแบบไทย ๆ ไม่ได้ ก็ใช้วิธีตัดออกไปเลย ซึ่งมันก็ทำให้หนังขาดรายละเอียดความสมจริงบางอย่าง ขาดแรงกระแทก ขาดอารมณ์ร่วม ขาดอรรถรส ขาด Conflict บางอย่างที่บีบคั้นตัวละครและตัวหนังไปพอสมควร
อีกจุดที่น่าเสียดายก็คือ พอตัวหนังมันเดินเรื่องเร็ว แน่นอนว่ามันก็กระชับฉับไวดี แต่ตัวหนังก็ค่อนข้างขาดการปูพื้นหลังของตัวละครที่น่าสนใจ และยิ่งประกอบกับทุนสร้างจำกัด ตัวหนังก็เลยใช้วิธีสื่อสารทุกอย่างผ่านไดอะล็อกแทน ก็เลยทำให้ตัวหนังขาดพลังในการสื่อสารประเด็นดราม่าหนัก ๆ โดยเฉพาะปูมหลัง ความสัมพันธ์ (และขัดแย้ง) ของบางตัวละครออกมาให้คนดูรู้สึก เข้าใจ และเอาใจช่วยได้จนถึงที่สุด คือสุดท้ายแม้ว่าตอนจบจะทำให้มุมมองที่มีต่อตัวละครบางตัวเปลี่ยนไปได้แบบเดียวกับต้นฉบับ แต่มันก็ชวนให้รู้สึกขาดความ Impact ที่จะเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงนั้น จนไม่รู้ว่าเราควรจะรู้สึกยังไงดีกับตัวละครแต่ละตัวหลังจากหนังจบ
ส่วนในพาร์ตการแสดง เอาจริง ๆ ยอมรับว่าผู้เขียนยังแอบชอบชุดนักแสดงของหนังต้นฉบับมากกว่า อาจจะเพราะว่าเข้ากับบริบทความดราม่าแบบไทย ๆ มากกว่าหรือเปล่าไม่ทราบได้ และถึงแม้ว่านักแสดงเหล่านี้จะค่อนข้างหน้าใหม่เสียเยอะ แต่ก็ถือว่ารับบทกันออกมาได้ค่อนข้างดี การแสดงของ ซามูเอล บรอน ก็เรียกว่าได้ว่าถอดแบบมาจากเจมมี่เจมส์ (ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) อยู่หน่อย ๆ คัลลินา เหลียง ก็เป็นตัวแบกที่อุ้มชูหนังเอาไว้ได้ประมาณหนึ่ง ส่วน เบเนดิกต์ หว่อง ก็ช่วยเติมมิติให้กับบทบาทพ่อของลินน์ให้มีสีสันขึ้นมาอีกเล็กน้อยในฐานะนักแสดงสมทบ เพียงแต่ว่าโดยรวม ๆ ก็ยังไม่ถือว่ามีนักแสดงคนไหนโดดเด่นที่สุด
แม้งานรีเมกเวอร์ชันนี้จะไม่ได้สมบูรณ์แบบเสียทีเดียว แต่หากเทียบกับการสอบ เวอร์ชันต้นฉบับคือสอบผ่านฉลุย (เหมือนลินน์) ส่วนเวอร์ชันนี้ถือว่าข้ามเส้นตัดเกรดมาได้ (เหมือนเกรซ) ไม่ถึงขั้นสอบตก หลุดไปเป็นหนังเกรด B แบบงานรีเมกหนังไทยเมื่อก่อน ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าตัวหนังได้อานิสงส์จากหนังต้นฉบับที่ทำเอาไว้ดีมาก ๆ ด้วย กับองก์สุดท้ายที่กล้าฉีกเรื่องราวไปพูดในประเด็นที่ใหญ่และมีความเป็นสากลมากขึ้น ภายใต้โครงสร้างเรื่องราวที่ยังเคารพต้นฉบับอยู่ สำหรับคนที่ยังไม่เคยดู การเริ่มดูเวอร์ชันนี้ก็ถือว่าไม่เสียหลาย และสำหรับคนที่เคยดูแล้ว องก์สุดท้ายก็น่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักพอที่จะเข้าไปหาคำตอบในเวอร์ชันนี้ แม้หลังดูจบคุณจะชื่นชอบ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ มากกว่าหรือไม่ก็ตาม