Release Date
04/10/2024
แนว
ไซไฟ/ระทึกขวัญ
ความยาว
1.39 ช.ม. (99 นาที)
เรตผู้ชม
18+
ผู้กำกับ
กัลเดอร์ กัซเตลู-อูร์รูเดีย (Galder Gaztelu-Urrutia)
Our score
7.3The Platform 2 | เดอะ แพลตฟอร์ม 2 | El hoyo 2
จุดเด่น
- แฝงและวิพากษ์ประเด็นสังคมเกี่ยวกับแนวคิดการปกครอง และตั้งคำถามกับมนุษยธรรมได้ลึกและน่าคิดตาม
- มิติของตัวละครที่ต้องใช้เวลาปะติดปะต่อผ่านเรื่องราวมากพอสมควร แต่ถ้าจับทางได้จะเข้าใจ
- งานโปรดักชันโดยรวมยังคงทำออกมาได้เนี้ยบเทียบเท่าภาคแรก การออกแบบงานสร้าง แสง เทคนิคพิเศษอลังการ มี CGI แอบหลุดบ้างแต่ก็ถือว่าน้อย
จุดสังเกต
- ธีมเรื่องและสัญญะเนื้อเรื่องค่อนข้างซับซ้อน และไม่ได้มีการเฉลยปมหลาย ๆ อย่างที่ชัดเจน คนที่ไม่ชอบตีความสัญญะอาจไม่ชอบเลย
- จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูภาคแรกมาก่อน เผลอ ๆ ดูจบแล้วก็ต้องกลับไปดูภาคแรกซ้ำอีกอยู่ดี
- บทพากย์ไทยยังไม่ค่อยไหลลื่น ถ้าดูเอาเพลินก็พอไหว แต่ก็มีรายละเอียด สำเนียง การใช้คำแบบแปร่ง ๆ
-
คุณภาพด้านการแสดง
6.7
-
คุณภาพโปรดักชัน
8.1
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
6.5
-
ความบันเทิง
7.1
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
7.9
เมื่อตอนปี 2020 ช่วงโรคระบาด Netflix มีหนังไซไฟระทึกขวัญดิสโทเปียพล็อตแปลกประหลาดจากสเปนเรื่องหนึ่งที่สร้างความฮือฮาไปทั่วอย่าง ‘The Platform’ (2019) หรือ ‘El Hoyo’ (The Hole) ในภาษาสเปน ผลงานการกำกับและเขียนบทของกัลเดอร์ กัซเตลู-อูร์รูเดีย (Galder Gaztelu-Urrutia) ที่สร้างปรากฏการณ์ความสะอิดสะเอียนปนหดหู่ช่วงล็อกดาวน์ มาพร้อมกับสัญญะที่คนดูต้องขบตีให้แตก จนมาถึงปีนี้ คุกนรกแนวตั้งก็กลับมาสร้างความขยะแขยงอีกครั้งใน ‘The Platform 2’ ที่ขับเคลื่อนด้วยเรื่องราวและตัวละครใหม่ที่ถูกจับมาขังในคุกแนวตั้งแห่งนี้
‘The Platform 2’ ยังคงเล่าเรื่องจากสถานที่คุมขังที่มีชื่อว่า ศูนย์จัดการตนเองแนวตั้ง (Vertical Self-Management Center) ที่มีนักโทษอยู่ชั้นละ 2 คนเท่านั้น ทุกวัน อาหารจะถูกเคลื่อนย้ายผ่านแพลตฟอร์มจากชั้นบนลงมาชั้นล่าง นักโทษจะมีเวลารับประทานอาหารจำกัดก่อนที่แท่นจะเคลื่อนตัวลงไป และหากมีการกักตุนอาหารเอาไว้ในห้อง อุณหภูมิห้องจะเปลี่ยนเป็นร้อนจัดหรือเย็นจัดเพื่อลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน นักโทษแต่ละคนจะมีสิทธิ์นำของที่ตนเองเลือกติดตัวเข้ามาได้เพียงคนละ 1 ชิ้นเท่านั้น และทุก ๆ เดือน นักโทษจะถูกสุ่มย้ายไปยังห้องใหม่ซึ่งอาจอยู่สูง หรือไม่ก็ต่ำกว่าเดิม ซึ่งหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงอาหารด้วย
ซามิอาติน (โฮวิก คุชเคเรียน – Hovik Keuchkerian) ชายร่างใหญ่ กับ เปเรมปวน (มิเลนา สมิต – Milena Smit) ศิลปินสาว กลายเป็นนักโทษหน้าใหม่ที่ต้องมาอยู่ร่วมกัน และเผชิญความกดดันของกฎระเบียบใหม่ที่ดากิน บาบี (ออสการ์ แจนาดา – Óscar Jaenada) ชายตาบอดที่ตั้งตนขึ้นมาเป็นผู้นำของเหล่านักโทษ ออกคำสั่งให้ผู้คนกินเฉพาะแต่อาหารที่ตัวเองเลือกเพื่อแจกจ่ายอาหารไปให้ถึงคนชั้นล่างอย่างทั่วถึง ใครฝ่าฝืนห่วงโซ่นี้จะต้องโทษตั้งแต่ถูกทำร้ายจนถึงประหารชีวิต พวกเขาจะยอมทำตามกฎระเบียบอันโหดร้ายเพื่อมนุษยธรรม หรือเลือกที่จะปลดแอกเพื่อให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ
แม้เรื่องราวในภาคนี้จะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นใหม่ และตัวละครในภาคนี้ก็ดูจะไม่ซ้ำกับภาคที่แล้ว แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากแนะนำเป็นอย่างยิ่งหลังดูจบคือ จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะกลับไปดูภาค 1 ก่อนดูภาคนี้ครับ เรียกว่าเป็นภาคบังคับเลยแหละ คือถึงแม้ว่าเนื้อหาจะไม่ได้ปะติดปะต่อกัน และในตอนต้น ๆ เรื่องก็มีการอธิบายกลไกต่าง ๆ เกี่ยวกับคุกแนวตั้งเอาไว้ให้เราพอทราบรายละเอียดพอสมควร แต่ด้วยความที่หนังค่อนข้างเดินเรื่องเร็ว และมีบางอย่างที่เชื่อมโยงกับภาคแรกอยู่ ก็อาจจะทำให้ถึงขั้นงงไปเลยได้เหมือนกัน
ในภาคนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าตัวหนังไม่ได้แค่พาเราโฟกัสเกี่ยวกับการต่อสู้กับคุกแนวตั้ง หรือค้นหาที่มาต้นตอของคุกแห่งนี้ แต่หันไปโฟกัสการเล่าเรื่องของสังคมและผู้คนที่หล่อเลี้ยงระบบ (หรือไม่ก็อาจเป็นผลพวงจากการถูกระบบบังคับ) อีกที สิ่งที่ภาคนี้แตกต่างจากภาคแรกก็คือ มันไม่ได้เน้นความเข้มข้นจากบรรดาฉากอาหารอันน่าสะอิดสะเอียน หรือการผจญภัยเพื่อไขปริศนาความลึกลับของคุกแนวตั้ง แต่หันไปโฟกัสกับประเด็นปัญหาของคนข้างในที่เกิดขึ้นเพราะกฎระเบียบที่พวกเขาสร้างกันเองและเชื่อว่าเป็นกฎที่ถูกต้องที่สุดแทน รวมทั้งฉากแอ็กชันในภาคนี้ที่ถือว่าป่าเถื่อนถึงเลือดถึงเนื้อกว่าภาคแรกพอสมควร
หากภาคที่แล้วคือการใช้แท่นวางอาหารและระดับชั้นของนักโทษแทนสัญญะของชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ และระบบการจัดการทรัพยากรจากส่วนกลางอันง่อยเปลี้ย รวมถึงการดิ้นรนปลดแอกไปสู่อิสรภาพอย่างแท้จริง ภาคนี้คือการตั้งคำถามถึงการบังคับใช้กฎของผู้คนในสังคมและในสถานการณ์ต่าง ๆ แม้ว่าบางทีการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบมันจะทำให้ทุกอย่างดูราบคาบเรียบร้อย แต่การบังคับใช้โดยอ้างกฎระเบียบ มนุษยธรรม หรือทำเพราะความเชื่อและศรัทธาในตัวบุคคลผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘ผู้ที่ถูกเจิม’ โดยไม่สนว่าจะขัดกับตรรกะ หรือเป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่
ตัวหนังใช้ตัวละครที่เหมือนเป็นตัวแทนของ ‘พระอาจารย์’ ที่มาโปรด ‘ผู้ที่ถูกเจิม’ ที่เป็นคนนำสารแห่งความเท่าเทียมมาบังคับใช้ และเชื่อว่าตนมีมนุษยธรรมมากพอที่จะควบคุมการเฉลี่ยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยให้ทั่วถึงและเท่าเทียมตามสารของพระอาจารย์ แม้มนุษยธรรมเหล่านั้นจะมีที่มาจากการโน้มน้าวหรือบังคับขู่เข็ญ ใช้การฆ่าเพื่อหยุดการฆ่า จนในที่สุดมันก็ฟอร์มตัวเองขึ้นมาเป็นระบบสังคมนิยมที่โอบอุ้มคนไว้ด้วยระบบแห่งความเท่าเทียม แปรเปลี่ยนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ที่เชิดชูผู้นำให้กลายเป็นที่เคารพสักการะดังเช่นพระเจ้า
และที่ร้ายที่สุดก็คือ พระเจ้าองค์เดียวกันนี้แหละที่ไล่กำจัดแนวคิดของผู้เห็นต่างจากตนเอง หรือผู้ที่เชื่อว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรีในการเลือกและเป็นได้เท่าที่ตัวเองอยากจะเป็น กินอะไรก็ได้อย่างที่ตัวเองอยากกิน ซึ่งแม้จะไม่ใช่ระบบที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน แต่เป็นระบอบที่ทำให้ทุกคนมีเท่าเทียมกันในเชิงสิทธิเสรีภาพ และทันใดนั้น ‘ผู้ที่ถูกเจิม’ ก็เปลี่ยนสภาพกลายเป็นทรราชผู้คุมกฎเหล็กของระบบฟาสซิสต์ (Fascism) ที่มุ่งเน้นการรักษาคำสอนของพระอาจารย์ การล้อมปราบ กำจัดผู้เห็นต่างและทำผิดกฎระเบียบ เพื่อรักษาห่วงโซ่ให้กับตนเองและคนที่เป็นสาวกของตนแทน
สิ่งที่ผู้เขียนชอบแง่มุมหนึ่งที่หนังเลือกที่จะขยี้ประเด็นนี้ต่อ ก็คือการให้ตัวละครที่เคยถูกบังคับ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎเหล่านั้น มาเป็นผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎเหล่านั้นด้วยตนเอง รวมไปถึงมุมมองของผู้ที่เลือกจะเคารพหรือต่อต้านกฎที่อยู่ในสถานะที่แตกต่างกัน อารมณ์ประมาณว่าบางครั้งการเลือกเคารพกฎได้ก็เพราะตัวเองยังไม่เดือดร้อน ด้วยความที่ตัวหนังในภาคนี้พาคนดูปิดตายเสมือนโดนขังร่วมไปกับตัวละครแบบเบ็ดเสร็จ (ขนาดภาคที่แล้วยังมีพาออกมาบ้าง) ตัวหนังเลยพยายามทำให้ตัวละครที่เป็นตัวนำค่อย ๆ สร้างมิติทางคาแรกเตอร์ผ่านทางบทพูด การกระทำ พฤติกรรม แรงจูงใจ รวมถึงปูมหลังชีวิตก่อนจะมาอยู่ในคุกผ่านบทสัมภาษณ์ที่มีรายละเอียดบางอย่าง
ซึ่งนี่ก็เป็นอีกส่วนที่คนดูต้องตามให้ทันด้วยนะครับ โดยเฉพาะช่วงรอยต่อของตัวละครที่ล้วนต่างก็มีมิติของความเป็นคนดีและคนเลว และการเปลี่ยนจากคนที่อยู่ใต้กฎ มาเป็นผู้บังคับใช้กฎ มาเป็นผู้แหกกฎ และสุดท้ายก็เลือกที่จะปลดแอกตัวเองจากความผิดพลาดในอดีตของตัวเอง แน่แหละว่ามันก็มีอะไรที่น่าสนใจ เพียงแต่ว่ามันยากจนทำให้การกระทำบางอย่างของตัวละครดูงง ๆ ขาด ๆ เกิน ๆ ไปหน่อย ไหนจะต้องจำฝักฝ่ายของตัวละครที่มีมากหน้าหลายตาอีก คือภาคแรกมีตัวละครให้โฟกัสอยู่แค่ 2-3 คนเองนะ เฮ้อ
ก่อนที่ตัวละครจะพาเส้นเรื่องลากเข้าพาร์ตของการขมวดเรื่องเพื่อพยายามจะเชื่อมต่อกับธีมใหญ่ของเรื่องที่วางไว้ในภาคแรก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอธิบายภาพรวมของคุกแนวตั้งและความลับของชั้น 333 ซึ่งก็ถือว่าเป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์อยู่นะ รวมทั้งการเฉลยปริศนาบางอย่างที่ทิ้งไว้ตั้งแต่ภาคที่แล้ว ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่ผู้เขียนแนะนำเลยว่าต้องกลับไปดูภาคแรก เพราะมันจะมีจุดที่บ่งบอกว่าภาคนี้จริง ๆ แล้วเป็น Prequel หรือภาคต้นก่อนเหตุการณ์ในภาคแรกอยู่ด้วย แต่ด้วยความเล่นท่ายากเกี่ยวกับการใส่สัญญะที่จะเชื่อมโยงกลับไปยังธีมหลักของภาคแรก เลยทำให้แม้ภาคนี้จะเป็นการคลี่คลายอธิบายความจากภาคแรก แต่ภาคนี้ก็ยังเต็มไปด้วยปริศนาเซอร์เรียลที่ชวนมึนจนต้องกลับไปดูภาคแรกด้วย และก็ยังมีบางจุดที่คนสร้างก็ปล่อยเซอร์เอาไว้แบบนั้นเลย
แม้ว่าภาคแรกจะเต็มไปด้วยปริศนาปลายเปิดที่ตีความได้หลากหลาย แต่ด้วยพล็อตแปลกใหม่และการผจญภัยที่มีธีมไม่ซับซ้อน คนก็เลยชอบและไม่ได้ถึงกับดูยากจนเกินไป ในขณะที่ภาคนี้ แม้จะเป็นภาคที่ยังมีบรรยากาศระทึกให้ขนลุก มีประเด็นเกี่ยวกับการปกครองที่น่าสนใจ แต่มันก็เป็นอะไรที่เข้าถึงได้ยากกว่าภาคแรกพอสมควร ไม่ว่าจะสัญญะด้านระบอบ การกระทำและมิติของตัวละคร รวมถึงสัญญะเซอร์เรียลของคุกแนวตั้งและเจตจำนงของตัวละครที่ยังเป็นปริศนา ทำให้ภาคนี้เป็นอะไรที่ดูเอาบันเทิงเอาระทึกได้ แต่ปริศนาระหว่างทางนี่ก็เล่นเอามึนสมองอยู่พอสมควร