Release Date
14/11/2024
แนว
อาชญากรรม/ระทึกขวัญ
ความยาว
1 ซีซัน (8 ตอน)
เรตผู้ชม
16+
ครีเอเตอร์/โชว์รันเนอร์
เบน วัตคินส์ (Ben Watkins)
Our score
7.8Cross | ครอส ซีซัน 1
จุดเด่น
- การเสนอคดีฆาตกรรมที่มีทั้งเคสแฟนตาซีแบบแมส ๆ ดูง่าย และคดีลึกลับซับซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อสังคมที่เดาตัวคนร้ายได้ยากมาก
- การแสดงของ อัลดิส ฮอดจ์ และ ไอเซอาห์ มุสตาฟา คือคู่หูอีกคู่ที่มีการแสดงอันดีเยี่ยมและน่าจับตามอง
จุดสังเกต
- เป็นการนำเสนอเรื่องราวคดีฆาตกรรม 2 เคสในไทม์ไลน์เดียวกัน ที่ต้องใช้พลังในการตั้งใจดูมากหน่อย
- มีตัวละครค่อนข้างเยอะ และบางตัวละครก็ส่งผลต่อเรื่องราวน้อยมาก ในขณะที่น่าเสียดายที่มีบทบาทน้อยไปหน่อย
-
คุณภาพด้านการแสดง
7.9
-
คุณภาพโปรดักชัน
8.1
-
คุณภาพของบท
7.8
-
ความบันเทิง
7.6
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
7.5
เรียกว่าปีนี้ Prime Video มือขึ้นกับผลงานซีรีส์แนวแอ็กชัน-อาชญากรรมที่ได้รับคำชมล้นหลามหลายเรื่องทีเดียวครับ ตั้งแต่ ‘Reacher’ ซีซัน 2 ที่คนชมทั้งบ้านทั้งเมือง หรืองานรีเมก ‘Mr. & Mrs. Smith’ ที่ได้ไปต่อซีซัน 2 แล้ว มาถึงปลายปี เป็นคิวของซีรีส์ฆาตกรรมระทึกขวัญ ‘Cross’ จากชุดนิยายขายดีของเจมส์ แพทเทอร์สัน (James Patterson) ที่เคยถูกดัดแปลงเป็นหนังทั้ง ‘Kiss the Girls’ (1997) และ ‘Along Came a Spider’ (2001) ที่ได้ มอร์แกน ฟรีแมน (Morgan Freeman) รับบทนักสืบครอสแนวบุ๋นละมุนละม่อม ก่อนจะกลับมาในฉบับรีบูต ‘Alex Cross’ (2012) ที่คราวนี้ได้ ไทเลอร์ เพอร์รี (Tyler Perry) มารับบท แต่ด้วยรายได้และคำวิจารณ์ไม่ค่อยดี นักสืบครอสก็เลยถูกสั่งพักไปยาว ๆ
ส่วนเวอร์ชันซีรีส์นี้ ไม่ได้เป็นการอ้างอิงจากหนังสือมาตรง ๆ นะครับ แต่เป็นการหยิบเอาตัวละคร อเล็ก ครอส (Alex Cross)และเรื่องราวจากหนังสือหลาย ๆ เล่มมาผสมใหม่ โดยได้ เบน วัตคินส์ (Ben Watkins) รับหน้าที่เป็นโชว์รันเนอร์ โปรดิวเซอร์ และเขียนบทในบางตอนด้วย และได้ อัลดิส ฮอดจ์ (Aldis Hodge) เจ้าของบทบาท Hawkman จาก ‘Black Adam’ (2022) มารับบทเป็น อเล็ก ครอส (Alex Cross) นักสืบและนักจิตวิทยานิติเวชที่ต้องใช้ความสามารถในการล้วงลึกเข้าไปจิตใจของเหยื่อ และแรงจูงใจของเหล่าฆาตกร รวมทั้งรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ร่วม
ี’Cross’ ซีซันแรก บอกเล่าเรื่องราวของ อเล็กซ์ ครอส (อัลดิส ฮอดจ์ – Aldis Hodge) นักสืบคดีฆาตกรรม และนักนิติจิตวิทยาคนดังของกรมตำรวจและสำนักงานสอบสวนกลางแห่งเมืองวอชิงตันดีซี จากความสามารถในการล้วงลึกลงไปในจิตใจของเหล่าบรรดาอาชญากรและเหยื่อเพื่อหาผู้กระทำผิด แต่นั่นก็ทำให้ มาเรีย ครอส (ชอนเต ชูลเลอร์ เออร์วิง – Chaunteé Schuler Irving) ภรรยาของครอส ถูกสังหารอย่างเป็นปริศนาโดยไม่ทราบสาเหตุ ในขณะเดียวกัน ครอสก็ต้องเผชิญกับคดีปริศนาครั้งใหญ่ เมื่อวอชิงตันดีซีต้องพบกับคนตายอย่างเป็นปริศนา
ครอสและจอห์น แซมป์สัน (ไอเซอาห์ มุสตาฟา – Isaiah Mustafa) เพื่อนและคู่หูนักสืบสมญานาม ทูจอห์น จึงต้องล้วงลึกค้นหาเบาะแสเพื่อตามล่าหาฆาตกรต่อเนื่องที่ต้องการสังหารคนเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง รวมทั้งการหายตัวไปเป็นปริศนาของแชนนอน วิทเมอร์ (อิลอยซ์ มัมฟอร์ด – Eloise Mumford) ภัณฑารักษ์สาว แต่มันก็ไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะอดีตอันลึกลับของครอสก็กำลังไล่ตามมาทำลายหน้าที่การงาน รวมทั้งครอบครัวที่ประกอบไปด้วย นานามามา/เรจินา ครอส (ฮวนนิตา เจนนิงส์ – Juanita Jennings) ย่าของครอส และลูก ๆ ทั้งเดมอน ครอส (เคเล็บ เอไลจาห์ – Caleb Elijah) และ แจนนี ครอส (เมโลดี เฮิร์ด – Melody Hurd) ให้สิ้นซาก
ถ้าใครคุ้นเคยกับตัวละคร อเล็กซ์ ครอส ไม่ว่าจะเคยอ่านหนังสือ หรือเคยดูหนังในฉบับทั้งของลุงฟรีแมนและเพอร์รี ก็จะพอคุ้นเคยและเห็นความแตกต่างว่า นักสืบ อเล็กซ์ ครอส นั้นไม่ได้เป็นนักสืบแนวบู๊ที่เน้นการบุกตะลุยล้างผลาญศัตรูให้สิ้นซาก แต่เป็นการเน้นจิตวิทยาในการค่อย ๆ แกะรอยหาคนร้ายจากการล้วงลึกเข้าไปยังจิตใจของเหล่าบรรดาเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ร่องรอยโรคทางจิตวิทยาที่ยังคงหลงเหลือในหลักฐาน และในแทบทุกภาค นักสืบครอสก็มักจะต้องพบกับปัญหาที่พัวพันมาถึงตัวเขาเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่าจิตวิทยาก็ยังคงเป็นเครื่องมือในการบำบัดปัญหาที่เขาต้องเผชิญ ความสูญเสียคนที่รัก หรือบางครั้งเขาก็ต้องเยียวยาและเก็บงำความอ่อนไหวของตัวเองด้วยเกราะกำบังของความเป็นผู้ชาย เป็นพ่อ เป็นผู้นำ และฮีโรที่ผู้คนหวังพึ่งพา
ใน ‘Cross’ ซีซันแรก จะเป็นการเล่าเรื่องที่ดูผิวเผินก็จะมีความซับซ้อนหน่อย เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในไทม์ไลน์เดียวกันจนจบทั้ง 8 ตอน แต่หลัก ๆ ก็จะเป็นการเล่าคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้น 2 คดีครับ คดีแรกก็จะเป็นคดีที่ดูแฟนตาซีหน่อย เป็นเรื่องของคดีฆาตกรรมต่อเนื่องของฆาตกรต่อเนื่องที่ถูกเรียกว่าเป็นแฟนบอย (Fanboy) เพราะว่าเป็นการฆาตกรรมแปลก ๆ ด้วยการตามหาเหยื่อที่มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับฆาตกรตัวจริงในอดีต และฆาตกรคนนี้ก็จะทำการแปลงโฉมเหยื่อให้กลายเป็นฆาตกรแบบเหมือนกันเป๊ะ ๆ ก่อนจะลงมือฆาตกรรม แล้วก็ลงมือหาเหยื่อรายใหม่ ส่วนอีกคดีก็คือการตามไล่ล่าตัวการที่เข้ามาวุ่นวายกับชีวิตของครอสและครอบครัว ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของครอสในอดีต
ในแง่ของความเป็นหนังฆาตกรรม ซีรีส์เรื่องนี้อาจไม่ได้ตอบโจทย์ในแง่ของความมันระห่ำหรือความตื่นเต้นระทึกขวัญนะครับ เพราะตัวของ อเล็กซ์ ครอส นั้นมีความเป็นบุ๋นมากกว่าบู๊ ทุก ๆ การไขเบาะแสของเขาเลยมักจะอยู่ในรูปของบทสนทนาเชิงจิตวิทยา มากกว่าจะเน้นการบุกตะลุยเข้าต่อสู้ห้ำหั่น ในขณะที่ฉากหวาดเสียวก็ถูกทำให้สมจริงและดูโหดร้ายหดหู่ มากกว่าจะเขย่าขวัญให้ตื่นตระหนก ซึ่งคดีทั้ง 2 แบบถูกนำเสนอด้วยท่าทีที่ต่างกัน ในขณะที่คดีแฟนบอยนั้นดูมีความเป็นคดีฆาตกรรมแมส ๆ ดูง่าย เลือกที่จะเปิดเผยตัวคนร้ายให้คนดูรู้ทันนักสืบครอส 1 ก้าว แล้วหันไปเน้นการไล่ตามจับตัวคนร้ายแทน ซึ่งแน่นอนว่ามันก็แอบ Cliché ประมาณหนึ่ง แต่พาร์ตที่ผู้เขียนคิดว่าสนุกและลึกกว่าคือเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับอดีตของครอส ที่ดูสมจริงสมจัง ซีเรียส และเดายากถ้ายังดูไม่จบซีซัน
สิ่งที่ทำให้ซีรีส์นี้มีความร่วมสมัย แต่ก็แอบทำให้เรื่องราวช่วงแรกมีความยุ่งเหยิงประมาณหนึ่ง โดยเฉพาะการที่ผู้สร้างเลือกวิธีการเล่าทั้ง 2 คดีในไทม์ไลน์เดียวกัน รวมทั้งการสอดแทรกประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับคดีฆาตกรรมภรรยา เรื่อยไปจนถึงอดีตของครอสที่ไม่ได้อยู่บนไทม์ไลน์เดียวกัน ตั้งแต่ประเด็นเกี่ยวกับชุมชนคนผิวดำที่ชวนให้นึกถึง Black Lives Matter แต่ขมกว่ามาก เพราะคราวนี้เป็นเรื่องของคนดำทำกับคนดำด้วยกัน ไหนจะเรื่องวิกฤติศรัทธาที่ประชาชนมีต่อตำรวจ หรือแม้แต่ความไว้วางใจที่ตำรวจมีต่อตำรวจด้วยกันอีก
การเสนอเรื่องราวอีกจุดที่ซีรีส์ทำได้น่าสนใจก็คือ การตามติดตัวตนของครอส ในฐานะของคนที่ใช้จิตวิทยาเป็นอาวุธในการสืบเสาะหาเบาะแสและแรงจูงใจ รวมทั้งปะติดปะต่อคดีให้เข้าที่เข้าทาง แต่กลายเป็นว่าครอสเองก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันและปัญหาทางจิต เพราะในขณะที่ครอสเชื่อว่าตัวเองเป็นตำรวจที่โด่งดังจากการทำสิ่งที่ถูกต้องตามครรลองครองธรรม เชื่อว่าตนเองเป็นฮีโร (Hero Complex) ที่มีหน้าที่พิทักษ์ความยุติธรรมและไล่ล่าตัวผู้ร้าย แต่แท้ที่จริงแล้ว ครอสก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องเผชิญทั้งแรงกดดันในฐานะพ่อ, หลาน, เพื่อน, ผู้นำ, ตำรวจ ไปจนถึงประชาชนจากสิ่งที่เขาทำในอดีต พยายามจะลืมความทรงจำและอดีตอันเลวร้าย แต่สุดท้ายอดีตเหล่านั้นก็ย้อนกลับมาเล่นงานครอสอย่างรุนแรงด้วย
ถ้าในแง่ของการแสดง แน่นอนว่าต้องยกให้กับ อัลดิส ฮอดจ์ เจ้าของบทนักสืบ อเล็กซ์ ครอส ซึ่งด้วยฝีมือการแสดงและการที่ซีรีส์เปิดโอกาสและให้เวลาโชว์มิติของคาแรกเตอร์ได้มากกว่า เราก็เลยได้ตามติดชีวิตของครอสที่เป็นกราฟตั้งแต่ความรู้สึกการอยากเป็นฮีโร การเผชิญหน้าท้าทายกับอันตราย ไปจนถึงการเสียเปรียบเหลี่ยมมุมของอาชญากรที่ซ่อนเหลี่ยมเชิง และหักศอกกันแบบดื้อ ๆ ได้เห็นมุมความอ่อนแอของคนเป็นสามีที่สูญเสียภรรยา เป็นพ่อที่เป็นห่วงลูก ๆ เป็นหลานที่เป็นห่วงย่า กลัวภัยคุกคามจะตามล่าครอบครัวจนเผลอหลุดตัวตนอีกด้านออกมา
และที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ ไอเซอาห์ มุสตาฟา ผู้รับบท จอห์น แซมป์สัน เพื่อนคู่หูคนละขั้วของครอสที่ดูผ่อนคลายกว่า แต่ก็มีความจริงจัง มีความเป็นทั้ง Sidekick ในหน้าที่การงาน และมีความเป็นเพื่อนและ Bromance ที่คอยเกื้อหนุนครอสอยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีข้อสังเกตอีกนั่นแหละ เพราะซีรีส์เรื่องนี้มีตัวละครค่อนข้างเยอะ ก็เลยแอบเสียดายตัวละครบางตัวที่ดูน่าจะมีบทบาทสำคัญกับบทบาทของครอสมากพอสมควร แถมเป็นตัวละครอีกตัวที่ดูมีเสน่ห์มาก ๆ เสียด้วย แต่ก็หายไปเสียดื้อ ๆ อย่างนั้นแหละ
แม้ว่ามันจะยังมีจุดสังเกตทั้งการนำเสนอคดีฆาตกรรม 2 เคสที่ต้องตั้งใจดูเพื่อแยกแยะมากหน่อย รวมทั้งการที่ตัวซีรีส์เรื่องนี้อาจไม่ได้มีนักแสดงเบอร์ใหญ่ หรือคาแรกเตอร์ที่ดึงดูดใจให้รับชมตั้งแต่แรก (เพราะเอาเข้าจริง ยุคนี้คือยุคที่ซีรีส์ฆาตกรรมและคาแรกเตอร์นักสืบมีเยอะแยะเต็มไปหมด) แต่ในแง่ของการดัดแปลงจากเรื่องราวจากหนังสือต้นฉบับ ซีรีส์ชุดนี้ก็ยังพอจะยกให้เป็น Alex Cross ในเวอร์ชันที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งในแง่ของการวางคดีที่ทำออกมาให้ติดตามได้อย่างเข้มข้น แม้จะแอบมีความซับซ้อนอยู่ รวมทั้งการนำเสนอตัวตนของครอสซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของคาแรกเตอร์นี้เลยก็ว่าได้ น่าสนใจว่าหลังจากนี้ เรื่องราวคดีฆาตกรรมและวิกฤติตัวตนของสายลับสายบุ๋นคนนี้จะครองใจผู้ชมได้มากน้อยขนาดไหน คำตอบก็น่าจะมาพร้อมกับตอนที่ซีซัน 2 ที่ได้รับอนุมัติให้สร้างแล้วเข้าฉายจริงนั่นแหละครับ