แนว
ดราม่า/แอ็กชัน
ความยาว
2.10 ช.ม. (130 นาที)
เรตผู้ชม
18+
ผู้กำกับ
พุฒิพงษ์ นาคทอง
Our score
9.2วัยหนุ่ม 2544 | In Youth We Trust
จุดเด่น
- บทสะท้อนภาพของโลกของคนข้างใน ความโหดร้าย ความไร้ซึ่งความหวัง และความโหดร้ายของโลกภายนอกได้หดหู่อึดอัดมาก
- สะท้อนสังคมยุคนั้นเกี่ยวกับเรื่องของยาเสพติด มุมมองต่อคนที่ติดคุก และมุมมองของเกย์ในสังคมยุคนั้นได้ตรงไปตรงมา
- มีแผงนักแสดงที่น่ากลัวมาก ตั้งแต่นักแสดงหลักจนถึงสมทบ
- การใส่ลายเซ็นของผู้กำกับที่สะท้อนธีมและตรงยุคสมัย
จุดสังเกต
- โปรดักชันบางจุดยังแอบมีจุดที่ดูแล้วเอ๊ะ แต่ยังพอมองข้ามได้
- แอบเสียดายมิติของบางตัวละครที่น่าจะขยี้ได้มากกว่านี้
-
คุณภาพด้านการแสดง
9.5
-
คุณภาพโปรดักชัน
8.5
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
9.2
-
ความบันเทิง
9.1
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
9.7
หลังจากที่ ‘4 KINGS อาชีวะ ยุค 90’ (2562) และ ‘4 KINGS 2’ (2566) สร้างปรากฏการณ์หนังไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาให้คึกคักหนาหู ทั้งเสียงคำชื่นชม ในฐานะ 1 ในปรากฏการณ์หนังไทยที่ฝ่ายุคมืด ทำรายได้เกินหลักร้อยล้านบาททั้ง 2 ภาค ได้รับคำชื่นชมในฐานะหนังแอ็กชันอาชญากรรมที่นำเรื่องจริง และอีกด้านมุมของสังคมไทยมาตีแผ่ รวมทั้งกระแสต่อต้านจากหลาย ๆ ฝ่าย มาปีนี้ ค่ายหนังไทยเลือดแรง เนรมิตรหนัง ฟิล์ม และ ฉายแสง แอด.เวนเจอร์ หยิบเอาเรื่องราวสุดดาร์กของคนข้างใน และโลกหลังกำแพงคุกวัยหนุ่มมาตีแผ่ใน ‘วัยหนุ่ม 2544’ หนังเรื่องใหม่จากผลงานการกำกับและเขียนบทร่วมของ พุฒิพงษ์ นาคทอง ที่มีไอเดียมาก่อน ‘4 KINGS’ จะเกิดขึ้น
‘วัยหนุ่ม 2544’ ว่าด้วยเรื่องราวของ เผือก (ณัฏฐ์ กิจจริต) เด็กหนุ่มที่ต้องใช้ชีวิตอย่างโหดร้ายในสลัม และฟลุ๊ค (ภูมิภัทร ถาวรศิริ) ที่ถูกส่งตัวเข้ามายังคุกวัยหนุ่มหลังจากก่อคดีอุกอาจ ก่อนที่พวกเขาจะพบกับความจริงสีเทาในโลกหลังกำแพงที่พวกเขาไม่เคยพบ ทั้งมิตรภาพ และวงจรอุบาทว์แห่งความขัดแย้งของคน 2 บ้าน ทั้งเบียร์ (อารักษ์ อมรศุภศิริ) พ่อบ้าน และบอย (ทศพล หมายสุข) ยอดบ้าขาโหดแห่งบ้านคลองเตย และบ้านฝั่งธน ที่ประกอบไปด้วยพ่อบ้าน บังกัส (อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี) และยอดบ้า ฝรั่ง/กอล์ฟ (เบนจามิน โจเซฟ วาร์นี) ท่ามกลางการควบคุมของเรืองฤทธิ์ (สหัสชัย ชุมรุม) ผู้คุมที่ทุกคนเรียกว่า ‘นาย’ ชีวิตและความฝันของทั้งคู่ในการชดใช้กรรม และออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่จึงเริ่มเลือนราง เหลือเพียงความหวังที่จะอยู่รอดไปจนถึงวันพรุ่งนี้ หรือไม่เขาอาจจะต้องใช้ชีวิตที่เหลือด้วยผลกรรมครั้งใหม่
หากหนังที่ว่าด้วยโลกและคนที่อยู่หลังกำแพง ตั้งแต่ ‘น.ช. นักโทษชาย’ (2545) ไปจนถึง ‘The Shawshank Redemption’ (1994) คือการบอกเล่าเรื่องของความโหดร้ายของสภาพชีวิตของคนข้างใน ไปจนถึงเรื่องราวเปี่ยมความหวังและศรัทธาในการได้มาซึ่งอิสรภาพ และในขณะที่ ‘4 KINGS’ แม้จะเป็นการสะท้อนภาพความโหดร้ายของสังคม แต่มันก็ประกอบไปด้วยท่วงท่าลีลาสไตล์จิ๊กโก๋ยุคตลับเทป และไดอะล็อกเจ้าบทเจ้ากลอนลีลารุงรังชวนหมั่นไส้ ‘วัยหนุ่ม 2544’ คือการยกระดับการโฟกัสที่ง่าย น้อย แต่ได้ผลในด้านการสะท้อนภาพความสิ้นหวังที่รุนแรงหนักหน่วง อย่างที่หนังไทยน้อยเรื่องจะทำได้
ตัวหนังเล่าเรื่องด้วยท่าทีที่เรียบง่ายขึ้น ในขณะที่เส้นเรื่องหลักเกี่ยวกับชีวิตและชะตากรรมของเผือกและฟลุ๊คที่กลายเป็นอาชญากร และถูกรับเข้ามายังทัณฑสถานวัยหนุ่มในฐานะผู้ต้องขัง ‘แรกเข้า’ ที่ต้องพบกับความโหดร้ายวิปริตของคนข้างใน ทั้งอำนาจของพ่อบ้านและลิ่วล้อที่เรียกกันว่ายอดบ้า ก่อนที่ชะตากรรมจะพาทั้ง 2 คนต้องพบกับบททดสอบและบทสรุปที่แตกต่างกันของพวกเขาเอง ในขณะที่ตัวหนังก็จะพยายามย้อนเล่าไปถึงปูมหลังชีวิต และสาเหตุที่ทำให้เผือกและฟลุ๊คต้องเข้ามาอยู่ข้างใน ซึ่งสิ่งที่ตัวหนังทำได้น่าประทับใจส่วนหนึ่งก็คือ การสะท้อนสภาพชีวิตและปัญหาสังคมแบบไทย ๆ หรือแม้แต่ปัญหาเกี่ยวกับเพศสภาพ ที่มันก็แอบมีความเป็น ‘4 KINGS 2’ เวอร์ชันรวบรัดอยู่นิดหน่อย
แน่นอนแหละว่าตัวหนังก็ต้องการถ่ายทอดชีวิตและความเป็นอยู่อันโหดร้ายของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะการเป็นผู้ต้องขังในช่วงเวลาที่ปัญหายาเสพติดระบาดหนัก ปัญหาสังคมและครอบครัวในชุมชนแออัด การถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่อันแร้นแค้นและไร้มนุษยธรรม ที่ถูกร้อยเรียงผ่านเรื่องราวและสถานการณ์ความรุนแรงป่าเถื่อนโหดร้ายที่อวลอยู่ในหมู่ผู้ต้องขังชายแท้ และแอบสอดแทรกกลิ่นอายทางถนัดในแบบผู้กำกับเข้าไปอีกนิดหน่อย ซึ่งก็ต้องพูดกันตามตรงว่า การใส่เพลงแบบตรงยุคใน ‘4 KINGS’ คือความหวังผลทาง Cinematic (ในขณะที่บางคนก็ไม่ชอบตรงที่มันทำให้ช่างกลดูเท่) แต่ลายเซ็นที่ใส่เข้ามาใน ‘วัยหนุ่ม 2544’ คือการสะท้อนธีมผ่านบรรยากาศย้อนยุคที่ทำให้ภาพรวมของหนังชัดเจนขึ้นมาจริง ๆ ไม่ได้ใส่มาเพื่อเท่หรือเพื่อให้ตรงยุคเฉย ๆ
คือเอาแค่ว่าการที่เผือกและฟลุ๊คต้องเจอกับสถานการณ์ที่พาตัวเองเข้ามาอยู่ข้างใน การถูกลิดรอนอิสรภาพและตัวตนตั้งแต่แรกเข้า การถูกนายบังคับใช้อำนาจตามอำเภอใจ การตกอยู่ใต้อำนาจของบ้านที่ถูกควบคุมโดยพ่อบ้านที่ปกครองแบบมาเฟียวิปริตที่ทำทุกวิถีทางด้วยความป่าเถื่อน และบ้านที่ปกครองด้วยพระเดชพระคุณ (ที่ไม่ได้แปลว่าจะมีชีวิตราบรื่นปลอดภัย) การอาศัยอยู่ในพื้นที่และบรรยากาศที่มืดอับ คับแคบ สกปรก ทรุดโทรม ล้าสมัย ไร้ซึ่งมนุษยธรรมอย่างสิ้นเชิง สร้างบรรยากาศและอารมณ์หดหู่และหนักหน่วงราวกับถูกจำคุกเสียเอง ไหนจะเรื่องของสภาพสังคม ความยากจน ครอบครัว การเติบโตมาท่ามกลางครอบครัวและความรักของทั้งคู่ที่ไม่เคยถูกเติมเต็ม คือสิ่งที่บังคับให้พวกเขามาอยู่จุดนี้
แต่เอาจริง แม้ตัวหนังมันจะโหดร้ายแบบติดเรต R มากขนาดไหน แต่สิ่งที่สร้างความน่ากลัวให้กับหนังได้หดหู่ยิ่งกว่าก็คือ เรื่องราวของชีวิตที่พลิกผันอย่างรุนแรงจากการตัดสินใจเพียงแค่ครั้งเดียว คุกไม่ใช่แค่การจองจำเฉพาะร่างกาย แต่มันคือปีศาจที่ค่อย ๆ ริบและกลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างไปจากผู้ต้องขัง ริบในสิทธิเนื้อตัวและร่างกาย ริบในสิทธิ์การป้องกันตัว ริบความยอมรับในตนเอง ถูกบีบบังคับให้ต้องลืมเลือนทางเลือกในชีวิต ลืมอดีตและอนาคต แม้แต่ความฝันและความหวังก็ถูกริบเอาไปหมด เหลือแค่การคิดหาทางเอาตัวรอดไปวัน ๆ
และในที่สุด พวกเขาก็ส่งต่อวงจรอุบาทว์แห่งความรุนแรงที่ไร้เหตุผล วนเวียนต่อกันไปไม่รู้จบ ในขณะที่โลกภายนอกก็มองคนข้างในราวกับเดนคนที่ถูกทิ้งรวมและแสร้งทำเป็นลืม มีฉากหนึ่งที่ไม่มีความรุนแรงอะไรเลย แต่มันรุนแรงกับความรู้สึกของ (ผู้ชมที่เอาตัวเองเข้าไปแทน) คนข้างในมาก ๆ มากซะผู้เขียนดูแล้วถึงกับจุกอกจนน้ำตาไหลไปเลย คือมันเป็นอะไรที่เจ็บปวด หดหู่ และโหดร้ายเกินกว่าจะเท่จริง ๆ นะ คือถ้ามีใครออกมาพูดว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้วัยรุ่นอยากเอาอย่าง อยากเบียวตาม ‘วัยหนุ่ม ฯ’ อันนี้ก็แล้วแต่พี่เลยครับ
เรื่องของตัวละครก็เป็นอะไรที่ต้องลงรายละเอียดครับ ถ้าเป็นวงดนตรี ก็ต้องนับว่าเป็นซูเปอร์กรุ๊ปที่มีหัวหน้าวงที่เอาใจใส่ในภาพรวมและบรรยากาศ เป็นแผงที่ปรับไดอะล็อกภาษาเขียนให้ดูเป็นธรรมชาติ และมอบการแสดงดี ๆ ให้ได้ จะไม่แปลกใจเลยถ้านักแสดงแผงนี้จะมีชื่อเข้าชิงรางวัลปีหน้าแบบพึ่บพั่บ ไล่ไปตั้งแต่ณัฏฐ์ ที่สามารถรับบทดราม่าและขยี้ทุกอย่างได้ทรงพลัง เป็นกัปตันที่นำพาผู้ชมให้เข้าถึงห้วงอารมณ์ไร้ความหวังได้อย่างยอดเยี่ยม ในขณะที่เอม ภูมิภัทร สามารถรับบทเป็นเกย์ในยุคที่ถูกสังคมและชายเป็นใหญ่ต่อต้าน ด้วยท่าทีอันอ่อนไหว เป็นบทที่คนดูจะรู้สึกสมเพชในตอนแรก แต่จะสงสารเวทนาจับใจในภายหลัง เป็นแผงหน้าที่คาดหวังรางวัลนักแสดงนำชายได้เลย
ในขณะที่แผงหลังอย่างนักแสดงสมทบก็นับว่าจี๊ดจ๊าดไม่แพ้กัน ไล่ไปตั้งแต่ฝั่งพ่อบ้าน ในขณะที่พี่เป้ อารักษ์ คือเบียร์ พ่อบ้านวิปริตที่มอบการแสดงอันชั่วร้ายระยำตำบอนตั้งแต่หัวจรดเท้า (อันนี้ชมนะพี่) ส่วนพี่จ๋าย ไททศมิตร คือบังกัสที่หลายคนจะรัก คิดถึง และกอดเขาได้อย่างสนิทใจ เช่นเดียวกับเบนจามิน ในบทฝรั่ง หรือไอ้กอล์ฟยอดบ้าได้อย่างที่คนในอยากจะสนิทสนมด้วย ในขณะที่จี๊ด แสงทอง และก้อย อรัชพร คือส่วนเติมเต็มบทของเผือกได้อย่างน่าสนใจ การแสดงของพี่ต๊อบ สหัสชัย (ซึ่งเคยรับบทผู้คุมมาแล้วใน ‘น.ช. นักโทษชาย’, 2545) ที่แม้การแสดงของพี่ต๊อบจะเติมให้คนเป็น ‘นาย’ เข้าไปได้อย่างมีมิติน่าสนใจ แต่ก็อยากให้บทขยี้เรื่องของพี่เขาได้มากกว่านี้อีก
แน่นอนว่ามันอาจไม่ใช่หนังไทยที่สมบูรณ์แบบในระดับเลอเลิศทุกกระเบียด เพราะก็แอบยังมีงานโปรดักชัน บทพูด มิติตัวละคร รวมถึงกริยาและการตัดสินใจของตัวละครบางจุดที่แอบชวนให้เอ๊ะอ๊ะระหว่างรับชม แต่อย่างน้อยมันก็เป็นอะไรที่พอจะมองผ่านไปได้ ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและพัฒนาการของทีมงานที่ยกระดับขึ้นอย่างน่าสนใจ
ไม่ว่าจะในแง่ของบทที่ยังคงลายเซ็นและกลิ่นอายของผู้กำกับ การสะท้อนด้านมืดของสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมาและสื่อสารได้อย่างแม่นยำมากขึ้น การถ่ายทำที่ใส่ใจมากขึ้น รวมทั้งการแสดงของนักแสดงที่พอเหมาะพอดี ประกอบรวมกันกลายเป็นเรื่องเล่าของโลกหลังกำแพงที่ทรงพลังที่สุดครั้งหนึ่ง และมันก็ทรงพลังมากพอที่ทำให้คำศัพท์ของคนข้างในที่ฮิตกันในโซเชียลมีเดีย อาทิ “เซ็ตหย่อ สูดต่อ ซูดผ่อ สีหม่อ สองห่อ ใส่ไข่”, “อย่าซีเล็ง เดี๋ยวซู้หลิ่ง เดี๋ยวสลิ้งแตก แล้วจะซะง่อง”, “ซายหย่อ สูดเด๋”, หรือมุก “หนมน้า ๆ” กลายเป็นเรื่องที่ขำไม่ออกไปเสียแล้ว