[รีวิวซีรีส์] อนาฅต : ไซเบอร์พังก์ลอกคราบคนไทย ไซไฟธีมแข็งที่ยังมีจุดขาดเกิน
Our score
8.1

Release Date

04/12/2024

แนว

ไซไฟ/ดราม่า

ความยาว

1 ซีซัน (4 ตอน)

เรตผู้ชม

16+

ผู้กำกับ

ปวีณ ภูริจิตปัญญา

[รีวิวซีรีส์] อนาฅต : ไซเบอร์พังก์ลอกคราบคนไทย ไซไฟธีมแข็งที่ยังมีจุดขาดเกิน
Our score
8.1

อนาฅต | Tomorrow and I

จุดเด่น

  1. เป็นหนังไซไฟที่มีแก่นในการตีแผ่ความเป็นไทย ๆ และความเป็นคนไทยได้เข้มข้นน่าติดตาม
  2. การแสดงของเหล่านักแสดงหลักน่าสนใจ และมีวิธีการแสดงที่น่าสนใจมาก
  3. งานโปรดักชัน CGI เรียกได้ว่าดีที่สุด เป็นความหวังของไซไฟไทย

จุดสังเกต

  1. ด้วยเวลาที่ยาวยืดเกินไป และการกระทำแปลก ๆ ทำให้พลังของแก่นตัวหนังหายไปพอสมควร
  2. การใส่เสียงเอฟเฟกต์ตบมุก ขัดความเป็น Cinematic ของตัวหนังไปพอสมควร
  • คุณภาพด้านการแสดง

    8.0

  • คุณภาพโปรดักชัน

    9.0

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    7.6

  • ความบันเทิง

    7.9

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    8.1


ดูเหมือนว่าคอนเทนต์ออริจินัลไทยในโปรเจกต์ ‘ทีไทย ทีมันส์’ ของ Netflix ประเทศไทย จะยังมีอะไรให้คนดูได้ว้าวอยู่เรื่อย ๆ เลยครับ ไม่เว้นแม้แต่ไตเติลส่งท้ายปีอย่าง ‘อนาฅต’ มินิซีรีส์ Anthology จบในตอน ที่ได้ ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับ ‘บอดี้ ศพ19’ (2550), ‘สี่แพร่ง’ (2551) และ ‘ห้าแพร่ง’ (2552) ทำหน้าที่กำกับและร่วมเขียนบท โดยตัวซีรีส์จะพาผู้ชมไปสำรวจเมืองไทยผ่านโลกอนาคตที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาท้าทายแนวคิด ศีลธรรม ประเด็นสังคม และความเชื่อแบบไทย ๆ

โดยภาพรวม แน่นอนแหละว่ามันก็แอบชวนให้คิดถึงซีรีส์ ‘Black Mirror’ และ ‘อนาฅต’ เองก็ค่อนข้างจะเน้นภาพรวมของเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อ ‘สังคมไทย’ ตั้งแต่เรื่องความตาย, การโคลนนิง, เพศ, ปรัชญาพุทธ ไปจนถึงโลกร้อน แต่สิ่งที่ทั้ง 4 ตอนของ ‘อนาฅต’ นำเสนอคือเรื่องของการค้นหาจุดตัดระหว่างเทคโนโลยี กับการนำเสนอความเป็น ‘คนไทย’ และความเป็น ‘ไทย ๆ’ ที่อุดมไปด้วยความ ‘ปากว่าตาขยิบ’ และ ‘ดีชั่วรู้หมดแต่อดไม่ได้’ ต่างหาก

ไม่รู้ว่าเจตนาไหม แต่ถ้าดูวิธีการเรียงเรื่อง ก็จะเห็นอะไรที่น่าสนใจซ่อนอยู่ครับ เพราะซีรีส์ดูจะตั้งใจเรียงเรื่องราวที่ไกลตัวที่สุด ตั้งแต่ ‘นิราศแกะดำ’ ที่เปิดด้วยปรัชญาเกี่ยวกับความตาย รวมไปถึงการค้นหาตัวตน (ซี่งไม่ควรสปอยล์), ในขณะที่ ‘เทคโนโยนี’ คือการมีอยู่ของเรื่องเพศแบบไทย ๆ และการต่อสู้ระหว่างแนวคิดที่แตกต่าง, ‘ศาสดาต้า’ คือการปะทะกันของพุทธพาณิชย์ ส่วน ‘เด็กหญิงปลาหมึก’ คือการพูดถึงเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ๆ ทั้งปัญหาโลกร้อน โรคระบาด ความยากจน และการละเลยจากภาครัฐ

Tomorrow and I 2024 NetflixTH

ดูเหมือนซีรีส์จะเรียงตอนที่มีความ ‘สากล’ ในแง่แนวคิดและพล็อตไว้ก่อน และเก็บเรื่องที่มีความ ‘บ้าน ๆ’ ที่สุดไว้ตอนท้าย ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นไซไฟที่ไม่ได้วางตัวให้ Hi-Concept เนิร์ดจัด ๆ แต่มันเป็นไซไฟที่มีความใกล้ และน่าจะเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต และยังเป็นเครื่องมือในการเสียดสีให้เห็นถึงทางออกของศีลธรรมแบบคนไทย ด้วยวิธีการแบบไทย ๆ ที่มีความย้อนแย้ง ทั้งพุทธพาณิชย์, รัฐที่ล้มเหลว, ความขัดแย้งทางความคิด, การล่วงละเมิดทางเพศ, สภาวะอากาศแปรปรวน ไปจนถึงทรงซ้อ และปิงปองโชว์

ความดีงามอีกจุดก็คืองานโปรดักชัน ไล่ไปตั้งแต่โลเคชัน, คอสตูม, พร็อป และงาน CGI ที่ดีครับ จะมีที่รู้สึกยังเป็นก้อน ๆ บ้าง แต่ก็ถือว่าเล็กน้อยมาก ส่วนตัวผู้เขียนชอบโปรดักชันและ CGI ของตอน ‘เทคโนโยนี’ มากที่สุด เพราะมีการนำเอาสไตล์ Retrofuturism มาใช้ได้ตรงธีมเรื่องเพศมาก ๆ รองลงมาคือ ‘นิราศแกะดำ’ ที่ดีไซน์งานภาพอวกาศ และธีมโลกอนาคตได้เรียบง่ายแต่สมจริง ส่วนอีก 2 ตอน มีความคล้ายกันในแง่การผสมผสานสีสันลวดลายไทย ๆ เข้ากับงานแนวไซเบอร์พังก์มากกว่า

‘อนาฅต’ เป็นงานไซไฟที่มีธีมแข็งแรงมากนะครับ และเป็นงานขายไอเดียที่กล้าหาญและหนักหน่วงทีเดียว แต่ในอีกแง่หนึ่ง พอแต่ละตอนมันยาวราวหนังสั้น สิ่งที่ถมลงไประหว่างองค์ประกอบของเรื่อง ตั้งแต่คอนเซปต์ไซไฟล้ำ ๆ ไปจนถึงพล็อตหักมุมเหวอแตก มันเลยเต็มไปด้วยบรรดาซีเควนซ์ที่ล้วนไม่ขาดก็เกินในทางใดทางหนึ่ง ตั้งแต่การแสดงอันฉูดฉาดเกินเบอร์, พล็อต, พฤติกรรม และแรงจูงใจของตัวละครที่ชวนให้เอ๊ะอ๊ะระหว่างดู หรือแม้แต่การใส่เสียงตบมุกในบางตอน ก็ทำให้ความ Cinematic มันพร่องลงไปพอควร

Tomorrow and I 2024 NetflixTH

อีกสิ่งที่เป็นข้อสังเกตก็คือ การใช้องค์ประกอบที่มีความใกล้ หรือซ้ำทางบ่อย ๆ ตั้งแต่คาแรกเตอร์แบบนีโอ (ศาสดาต้า) และเจสสิกา (เทคโนโยนี) และซีเควนซ์การวิจารณ์ความล้มเหลวของภาครัฐ เพราะทั้ง 4 เรื่องมีการวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐใส่มาอยู่เนือง ๆ ที่ชัดสุดก็ ‘เด็กหญิงปลาหมึก’ ที่ตั้งหน้าตั้งตา Satire บางรัฐบาลแบบโต้ง ๆ ซึ่งในมุมหนึ่ง เข้าใจว่ามันคือการเชื่อมโยงธีมเข้าหากัน และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐก็ควรเป็นเรื่องที่ทำได้ (อย่างถูกครรลอง) แต่ก็แอบรู้สึกว่า ถ้าซีรีส์กล้าฉีกแนวทางกว่านี้ ก็จะมีความเป็น Anthology ที่เล่าเรื่องได้สุดทางมากกว่านี้

โดยรวม ๆ แล้ว ‘อนาฅต’ คือมินิซีรีส์ที่น่าสนใจด้วยธีมไซไฟอนาคตที่ลอกเปลือกให้เห็นแก่นของสังคมไทย และคนไทยด้วยคอนเซปต์แข็ง ๆ งานโปรดักชันที่ทำถึง มีแก่นแกนของแต่ละตอนที่น่าสนใจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็ยังมีองค์ประกอบที่ยังมีความขาด ๆ เกิน ๆ มีความซ้ำทาง มีหลายจุดที่ชอบ และบางจุดที่เฉย ๆ ถ้าเกิด Netflix ประเทศไทยให้ซีรีส์นี้ได้ไปต่อ ก็แอบอยากเห็นเรื่องราวที่มีความส่วนตัวมากขึ้น หนักแน่นขึ้น กระชับขึ้น เพราะไม่ว่ายังไง ซีรีส์เรื่องนี้คือ ‘อนาฅต’ ของคอนเทนต์ไซไฟไทยที่น่าสนใจมาก ๆ อยู่ดี

เรื่องย่อ-รีวิวเจาะลึกแต่ละตอนของซีรีส์ (ไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)

‘นิราศแกะดำ’ (Black Sheep) 7.3/10

Tomorrow and I 2024 NetflixTH

เรื่องราวของนนท์ (ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์) ที่ต้องพบความสูญเสีย หลังจากที่ หมอนุ่น (วรันธร เปานิล) ภรรยาสุดที่รักได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนกระสวยอวกาศ ระหว่างทางกลับสู่โลก หลังเสร็จสิ้นภารกิจบนสถานีอวกาศ นนท์ไม่อาจยอมรับความจริงนี้ได้ จึงขอความช่วยเหลือจากวี (ตรีชฎา หงษ์หยก) นักวิทยาศาสตร์เจ้าของบริษัทโคลนนิงสัตว์เลี้ยง ให้ทำการท้าทายธรรมชาติด้วยการโคลนนิง เพื่อให้ภรรยาของเขามีชีวิตกลับมาอีกครั้ง

สำหรับผู้เขียน นี่น่าจะเป็นตอนที่ไซไฟจ๋า ๆ มากที่สุดแล้วล่ะ เพราะเป็นการผสมวิทยาศาสตร์หลายแขนง ทั้งอวกาศ การแพทย์ การโคลนนิง รวมทั้งศีลธรรมของการโคลนนิงมนุษย์ที่ยังเทา ๆ ในขณะที่ตัวหนังก็ยังแฝงประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อเกี่ยวกับความตายและดวงวิญญาณแบบไทย ๆ แนวคิดการปล่อยวางสรรพสิ่ง รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับความเป็น ‘แกะดำ’ ที่สปอยล์ไม่ได้ โดยรวมคอนเซปต์มันก็เป็นสากล และเอาเข้าจริงก็เข้าใจง่ายสุดในทั้งหมด รวมทั้งการแสดงของบอย-ปกรณ์ และอิ้งค์-วรันธรก็น่ารักดี การผสมพล็อตไซไฟเข้ากับเรื่องโรแมนติก และการยอมรับในตัวตนและเส้นทางของแต่ละคนก็นับว่าเข้มข้น

แต่ก็แอบติดนิดตรงกว่าที่ตัวหนังจะเข้าสู่ Plot Twist ก็ต้องเจอกับ Execute ประหลาด ๆ ของตัวละคร และพล็อตการโคลนนิง ปูมหลังของหมอนุ่น และเข้าสู่ปมที่แท้จริงของตัวเรื่อง เพื่อซุกซ่อนปมเอาไว้ให้มิดชิด ก็เลยต้องพึ่งพาการเล่าเรื่องอ้อมออกไปไกล ๆ ก่อน เป็นตอนที่จะแอบเหนื่อยกับความรุ่มร่ามตอน 2 องก์แรก แต่ปมของเรื่องที่แอบแฝงไว้ตอนท้ายก็นับว่าชวนอึ้งไม่น้อย (รอดูไปจนถึงท้ายเครดิตนะครับ ยิ่งจะทำให้แก่นของเรื่องยิ่งดาร์กขึ้นไปอีก)

‘เทคโนโยนี’ (Paradistopia) 8.1/10

Tomorrow and I 2024 NetflixTH

เรื่องราวของคุณเจส ‘เจสสิกา’ (วิโอเลต วอเทียร์) ลูกสาวของหญิงขายบริการในเมือง Gamalore ที่เติบโตมากลายเป็นนักธุรกิจหญิง ที่มาพร้อมกับโปรเจกต์สตาร์ตอัป ‘PARADISE X’ ศูนย์ความบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่แห่งแรกที่ให้บริการด้วยเซ็กซ์โรบอตที่พัฒนาจากฐานข้อมูลของโสเภณีมืออาชีพทุกรูปแบบ เธอและแฟนหนุ่ม วิธ (ธามไท) จะสามารถก้าวผ่านข้อจำกัดทางศีลธรรม และหลักจริยธรรมอันดีงามของบ้านนี้เมืองนี้ไปได้หรือไม่

เป็นตอนที่ผู้เขียนชอบที่สุด แต่ก็ต้องหรี่เสียงเยอะหน่อยตอนดู (555) สิ่งที่ชอบนอกจากดีไซน์ความล้ำแบบเชย ๆ ในสไตล์ Retrofuturism หมัดเด็ดก็อยู่ที่การแสดงของคุณวิโอเลตนี่แหละ ทั้งเสื้อผ้าหลากแนวเอย จริตจะก้านเอย เป็นการแสดงเล่นใหญ่ที่ดูน่ารัก เซ็กซี่แกมน่าหมั่นไส้ ส่วนปมเรื่องก็ว่าด้วยเรื่องของการท้าทายขนบทางเพศแบบไทย ๆ การวิ่งเต้นใต้โต๊ะ ประเด็น Sex Robot ที่ยังเทา ๆ ทั้งในแง่ความเป็นธรรมชาติ รสนิยมทางเพศ แม้แต่แง่ของศีลธรรม การล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งการต่อสู้ของแนวคิดเสรีนิยม (ทางเพศ) และอนุรักษ์นิยม ที่ดำเนินด้วยพล็อตหนังก่อร่างสร้างธุรกิจที่ใส่ความโจ๋งครึ่ม 18+ แบบเชย ๆ เข้าไปผสม

เป็นตอนที่ผู้เขียนรู้สึกว่าบันเทิงสุดใน 4 ตอนแล้วล่ะ แม้จะมีบางช่วงที่แอบมีตกท้องช้างเหมือนกัน โดยเฉพาะบรรดาซับพล็อตหรือซีเควนซ์หรือ Execute ที่ไม่จำเป็นมากนัก และยังไม่อาจกลมกลืนกับเส้นเรื่องหลัก ๆ ได้ รวมทั้งการเฉลยปมในตอนท้ายที่เผยให้เห็นปูมหลังของตัวละคร และอธิบายที่มาที่ไปของทั้งเรื่องราวได้ชัดเจนขึ้น แต่ก็แอบเสียดายที่น่าจะขยี้ปูมหลังให้ดาร์กกว่านี้ได้อีก

‘ศาสดาต้า’ (Buddha Data) 7.0/10

Tomorrow and I 2024 NetflixTH

ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับศรัทธาและพุทธศาสนา เมื่อพระอเนก (เรย์ แมคโดนัลด์) อดีตวิศวกรไอที ผู้ยังเชื่อมั่นในวิถีดั้งเดิมของศาสนา ต้องพบกับความท้าทายใหม่จากผู้คนที่เริ่มหมดศรัทธาในศาสนาพุทธ และหันไปนับถือ ULTRA อุปกรณ์ AI ที่นำเอาคำสอนดั้งเดิมมาปัดฝุ่นใหม่ ปฏิวัติการทำบุญและทำความดี ซึ่งคิดค้นโดยนีโอ (ภูมิภัทร ถาวรศิริ) CEO ที่เชื่อว่า ทำบุญชาตินี้ต้องได้ใช้ชาตินี้ พระอเนกและอะตอม (พงศธร จงวิลาส) อดีตเพื่อนร่วมงาน จึงต้องร่วมมือกันเพื่อหาวิธีกอบกู้ศรัทธาแบบดั้งเดิมกลับคืนมา

เป็นตอนที่แอบมีความเป็นซีรีส์ ‘สาธุ’ อยู่ในทีเหมือนกัน แต่อยู่ในรูปของพุทธศาสนาที่กำลังถูก Disrupt ด้วย AI จนกระทั่งตัวหนังพาเข้าไปสู่ Conflict ที่ว่าด้วยความขัดแย้งกันของพุทธพาณิชย์ 2 ขั้วที่ย้อนแย้งซึ่งกันและกัน ซีนที่ทรงพลังที่สุดสำหรับผู้เขียนคือการถกเถียงกันของพุทธพาณิชย์แบบดั้งเดิมที่ผู้คนเสื่อมศรัทธาไปแล้ว และพุทธพาณิชย์แบบ AI ที่ทำให้คนเอาแต่บ้าบุญ บ้าคำคม บ้าความดี มากกว่าจะเข้าถึงแก่นสารที่แท้จริง

แม้โดยรวมจะเผยความเทาของพุทธพาณิชย์ และเชื่อมโยงเข้าสู่แก่นความเป็นศาสนาพุทธได้น่าสนใจ และตีแสกหน้าความเป็นพุทธแบบไทย ๆ ได้ร้ายมาก แอบทิ้งท้ายให้คนดูคิดต่อว่า สุดท้ายแล้วแก่นของศาสนา หรือแก่นของความดีมันคืออะไรกันแน่ แต่ก็แอบเสียดายที่น่าจะมีพล็อตคู่แข่งธุรกิจให้สู้กันได้สูสีดุเดือดมากกว่านี้ รวมทั้ง Pacing บางซีนที่รู้สึกว่ามันยาวยืดไปสักหน่อย แต่พี่เรย์ พี่เผือก และพี่เอมก็ยังเป็นส่วนผสมทางการแสดงที่น่าสนใจ

‘เด็กหญิงปลาหมึก’ (Octopus Girl) 6.5/10

Tomorrow and I 2024 NetflixTH

ปี พ.ศ. 2594 ประชากรไทยต้องอาศัยอยู่ในโลกที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องจากสภาวะโลกร้อน ซ้ำร้าย พวกเขาต้องเผชิญกับโรคระบาดชนิดใหม่ที่แพร่กระจายผ่านน้ำ ทำให้ผู้คนล้มป่วย ความหวังจึงมีเพียงวัคซีนมนุษย์น้ำที่จะช่วยชีวิตได้ แต่ผลข้างเคียงของมัน ทำให้ผู้รับวัคซีนมีหนวดงอกเหมือนปลาหมึก ชาวชุมชนแออัดนีโอคลองเตยทั้งกัลปังหา (วณิชชยา พรมปนฤทธิชัย), มุก (ชนัญธิชา ชัยภา) และครูฝ้าย (ธงชัย ทองกันทม) จะเอาตัวรอดจากวิกฤตการณ์นี้ไปได้อย่างไร

จะบอกว่าใจร้ายก็ใช่ แต่ก็ต้องบอกว่านี่เป็นตอนที่ชอบน้อยที่สุดแล้วล่ะ เป็นตอนที่หยิบเอาประเด็นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมโลก ภาวะโลกรวน อุทกภัย โรคระบาด วัคซีน ผ่านการจิกกัดเสียดสีการจัดการของภาครัฐที่แสนจะล้มเหลวในการจัดการในภาวะวิกฤติ (ที่ดูก็รู้ว่าเสียดสีรัฐบาลไหน) รวมทั้งประเด็นขม ๆ เกี่ยวกับชีวิตของเด็กที่ต้องเติบโตมาท่ามกลางความยากจน สภาพแวดล้อมอันโหดร้าย แถมโดนภาครัฐละเลย ประชาชนก็เลยได้แต่เล่นมุกขันขื่น 5 บาท 10 บาทกลบเกลื่อนตามสไตล์คนไทยติดตลกไปวัน ๆ จนกว่าจะโดนภัยพิบัติเล่นงาน

คือจริง ๆ มันเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และเอาเข้าจริงมันก็ใกล้ตัวคนไทยมากด้วยแหละ แต่ด้วยการนำเสนอที่มันคัลต์มาก ๆ แถมยังพลิกหน้าพลิกหลัง จากความน่ารักของเด็ก ๆ สลับมุกตลกคาเฟ สลับ Mood อบอุ่น สลับสถานการณ์ดาร์ก ๆ แถม Execute ของตัวละครก็เล่นใหญ่จนคุม Mood โดยรวมเอาไว้ไม่อยู่ และพอยิ่งตัวเรื่องพยายามเลี้ยงหนังด้วยทางเบาสมอง ก็ยิ่งทำให้ยิ่งพาให้คนดูถอยห่างจากประเด็นที่เป็นใจความสำคัญออกไปเรื่อย ๆ กว่าจะมาอีกทีก็ต้องรอตอนจบ ที่จะว่า Epic หรือปาหมอนก็ได้เหมือนกัน


Tomorrow and I 2024 NetflixTH